Skip to main content
sharethis

หากความหมายของโขน คือการแต่งตัวตามขนบธรรมเนียม การอนุรักษ์ และความอลังการของเสื้อผ้า ซึ่งเปรียบเสมือน ‘เครื่องราชูปโภค’ ที่มีหน้าที่เล่นเพื่อความบันเทิงแก่พระมหากษัตริย์เท่านั้น การเต้นโขนที่ถอดความอลังการของเครื่องแต่งกาย หน้าผม หัวโขน และฉากแสงสีที่ดูยิ่งใหญ่ออก พร้อมสอดแทรก ปรับปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนา ย่อมถูกมองว่าเป็นการ ‘ทำลาย’ ศิลปวัฒนธรรม

เจาะลึกความหมายของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ไทย สะท้อนมุมมองที่เกิดขึ้นในแวดวงศิลปะประเภทเวที ความ ‘กลัว’ ที่เกิดขึ้นจากการวิพากษ์สถานการณ์บ้านเมืองและเนื้อหาที่สอดแทรกอยู่ในงาน ผ่านบทสัมภาษณ์พิเชษฐ กลั่นชื่น นักเต้นโขนไทย ผู้ผนวกโขนเข้ากับศิลปะการแสดงร่วมสมัย เล่นด้วยกางเกงสีดำธรรมดา พร้อมกับหัวโขนสีเงินสลับดำที่ไร้ความอลังการใดๆ ของเครื่องแต่งกายเต็มยศและหัวโขนที่เต็มไปด้วยสีสัน

คนต่างชาติต่างยกย่องพิเชษฐในฐานะนักเต้นโขน ผู้อนุรักษ์ศิลปะประเภทนี้โดยการนำสิ่งเดิมมาพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าและสามารถปรับใช้ได้ในปัจจุบัน นอกจากนั้น พิเชษฐยังเป็นนักเต้นโขนไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเทศกาลศิลปะการแสดงนานาชาติจากทั่วโลกมากที่สุด และเป็นเจ้าของ ‘Pichet Klunchun Dance Company’ บริษัทเต้นเอกชนที่มีพนักงานรับเงินเดือนประจำจากการซ้อมเต้นและออกงาน โดยหวังให้อาชีพนี้สามารถเลี้ยงชีพและไม่เป็นเพียงงานอดิเรกอีกต่อไป

ทำไมคุณถึงพูดว่า ‘ประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรม’

พิเชษฐ: คำว่า ‘วัฒนธรรม’ ต้องบวกรวมไปถึงองค์ความรู้ ประเทศเรามีรูปแบบและวิธีการต่างๆ แต่องค์ความรู้ที่อยู่ข้างในไม่เคยถูกอธิบาย พัฒนา หรือสานต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเพียงแค่การทำซ้ำและทำซ้ำในวิธีการที่แตกต่างไป เช่น มันถูกสร้างเป็นหนัง ละคร รูปเขียน หรือดนตรี มันคือสิ่งเดิม เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอ ผมถึงได้บอกว่า ‘เราไม่ได้มีวัฒนธรรม’

วัฒนธรรมต้องถูกหยิบใช้และพัฒนาได้ ต้องสร้างความภาคภูมิใจที่ไม่ใช่ความคลั่งและสามารถเชื่อมต่อไปสู่คนอื่นได้ เช่น หากพูดถึงประเทศที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็งมากๆ อย่างประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่ากิโมโนนั้นอยู่ในทุกๆ พื้นที่ ทั้งในงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ ธุรกิจ และภาพยนตร์ แม้จะถูกพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลาย ตัวมันเองก็ยังมีรูปแบบ และวิธีการที่เป็นแบบเก่าและโบราณ คนรุ่นใหม่จึงเห็นเส้นทางการพัฒนาของมัน แต่ก็ยังสามารถค้นคว้าหาความรู้จากสิ่งเดิมได้

ทุกวันนี้เราหยิบใช้ความเป็นอดีตอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆแล้ว วัฒนธรรมในมุมมองผมคือการมีวัฒนธรรมของวันนี้ และวันข้างหน้าไปพร้อมๆ กันด้วย

เหมือนกับเป็นการแขวน (วัฒนธรรม) ไว้บนหิ้ง

มันรุนแรงยิ่งกว่าการแขวนไว้บนหิ้ง ไทยมีความเชื่อว่าตัวเองมีวัฒนธรรมเพียงชนชาติเดียวบนโลกใบนี้ และเราก็เชื่อว่าเรามีวัฒนธรรมที่ดีที่สุดด้วย เหมือนความเชื่อที่ว่าอาหารไทยอร่อยที่สุดในโลก แต่ร้านอาหารไทยกลับเปิดในญี่ปุ่นน้อยกว่าร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดในไทย ร้านอาหารไทยที่เปิดที่ยุโรปก็น้อยกว่าร้านยุโรปที่เปิดในเมืองไทย แต่ทุกคนก็ยังเชื่อว่าของเราอร่อยที่สุด ถ้าของเราอร่อยที่สุดทำไมเราไม่เปิดเยอะแยะแบบร้านญี่ปุ่นในไทยที่พบได้ทั่วหัวระแหง เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ดีๆ แล้วคุณจะเห็นว่าเรากำลังหลอกตัวเองอยู่

“ทุกวันนี้เราหยิบใช้ความเป็นอดีตอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆแล้ว วัฒนธรรมในมุมมองผมคือการมีวัฒนธรรมของวันนี้ และวันข้างหน้าไปพร้อมๆ กันด้วย”

 

คุณคิดว่าศิลปะในสายตาคนไทยเป็นยังไง

เรามีชุดความคิดเรื่องวัฒนธรรมเพียงชุดเดียวว่า วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ในอดีตที่ผ่านมาศิลปวัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่มนุษย์ไม่รู้ เพื่อปกป้องอะไรบางอย่างที่มนุษย์ไม่ต้องการให้สูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไป เช่น ขบวนท่ารำนาฏศิลป์ไทยมักจะถูกปกป้องด้วยเทพเจ้า การทำให้รู้สึกยากเพื่อให้คนปกป้องดูแล ซึ่งเป็นเหมือนกุศโลบายที่ถูกกำหนดเอาไว้ แต่ในปัจจุบันวิธีการหรือสิ่งเหล่านั้นมันเปลี่ยนแปลงไป นาฏศิลป์ที่ไม่เคยถูกบรรจุเอาไว้ในการเรียนการสอนก็ถูกบรรจุ เสมือนว่าตัวมันถูกปลดปล่อยจากแนวคิดและการปกป้องแบบเดิมแล้ว ฉะนั้น วิธีการคิดและการปกป้องแบบสมัยก่อนก็ควรถูกยกเลิกไปด้วยพร้อมๆ กัน

ที่ผ่านมา การเลือกบุคคลที่จะมารับการถ่ายทอดวิชาจะต้องมีความฉลาด ร่างกายที่พร้อม และความจำที่เป็นเลิศ เพราะสมัยก่อนไม่มีการบันทึก แต่ปัจจุบันการเลือกใครสักคนไม่จำเป็นต้องใช้หลักการและวิธีคิดแบบอดีตอีกแล้ว ควรต้องมองหาองค์ความรู้ของ ‘วันนี้’ ให้ได้

เวลาเราเรียนศิลปะในสมัยก่อน เราไม่ต้องประกอบอาชีพก็ได้เพราะอยู่ในรั้วในวัง มีข้าวกิน แต่วันนี้ทุกคนที่เรียนต้องประกอบอาชีพเพราะไม่มีใครมาเลี้ยงดูเรา ซึ่งหากเราจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพ สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับเปลี่ยน แก้ไข พัฒนา และสร้างใหม่ได้ เพื่อให้มันเป็นที่ยอมรับในฐานะอาชีพมากกว่าเป็นเรื่องของความเชื่อ และหากมีการต่อต้านก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพียงแค่ทำผลงานให้เขาเห็นแค่นั้นเอง

การสูญเสียความเป็นต้นฉบับน่ากลัวไหม

เราจะสูญเสียความเป็นต้นฉบับไปได้ยังไง มันไม่มีวันสูญเสียไป ยกตัวอย่างบทท่อง ‘ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ’ ที่ท่องกันทุกวัน ถามว่าหากมีอีกบทท่องหนึ่งขึ้นมา ที่ใช้ไม้มาลัย-ไม้ม้วนทั้งหมดเท่ากัน และคนรุ่นใหม่มองเห็นวิธีการที่จำง่ายกว่า สั้นกว่า กระชับกว่า แล้วได้ประโยชน์เท่ากัน ทำไมเราต้องดื้อจะทำแบบเดิม เราใช้อดีตกับทุกบริบทและการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากบริบทรอบตัวมันเปลี่ยนไปแล้ว ยังคิดว่า คนประเทศนี้สามารถนั่งดูโขนละครทีละ 5 ชั่วโมง 3 ชั่วโมงได้อยู่เหรอ ไม่ใช่แล้ว การคิดหัวชนฝาแบบนี้ไม่ถูก

คนชอบตั้งคำถามว่า มีของใหม่แล้วของเก่าจะเสียไปไหม ผมพยายามตอบคำถามว่าคนเหล่านี้คิดอะไรอยู่ ผมมักตั้งคำถามทุกครั้งว่า ‘ทำไมคุณถึงเปลี่ยนจากจักรยานเป็นมอเตอร์ไซค์’ เพราะว่าคุณเริ่มที่จะต้องเดินทางเร็วขึ้น คุณจะต้องไปทำงานไกลขึ้นหรือเปล่า คุณก็เห็นอยู่แล้วว่าจักรยานเอาไว้ขี่ไปซื้อของหน้าปากซอยที่รถไม่พลุกพล่าน มันก็ตอบได้ว่าพฤติกรรมต้องสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป

มันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวอะไรบางอย่างหรือเปล่า เราเลยไม่กล้าเปลี่ยนแปลงมัน

เพราะเราไม่มีความร่วมมือกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราจึงต้องสร้างรูปแบบ และชุดความคิดหนึ่ง สำหรับยึดเหนี่ยวเพื่อทำให้ประเทศชาติเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เป็นหลักคิดที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยจอมพล ป. เห็นได้จากเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องมีละครชนิดหนึ่งที่เรียก ‘ละครปลุกใจ’ อย่างละครอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ละครอานุภาพแห่งการเสียสละ แต่วิธีการสร้างแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้วสำหรับตอนนี้ โลกเข้าสู่ยุคที่เรียก ‘เรียลลิตี้ไทม์’ หรือยุคความเป็นตัวตนของบุคคล ทุกคนต้องการมีตัวตนชัดเจน มีสิทธิที่จะเลือก มีเด็กไทยเยอะแยะที่ไม่เคยไปเมืองนอกแต่ชอบวงดนตรีเมืองนอกและไม่ฟังวงดนตรีเมืองไทยแม้แต่นิดเดียว นี่คือความเป็นปัจเจกและการสร้างอะไรกลุ่มก้อนใหญ่ๆ จะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

“ทำไมเราต้องดื้อจะทำแบบเดิม เราใช้อดีตกับทุกบริบทและการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากบริบทรอบตัวมันเปลี่ยนไปแล้ว ยังคิดว่า คนประเทศนี้สามารถนั่งดูโขนละครทีละ 5 ชั่วโมง 3 ชั่วโมงได้อยู่เหรอ ไม่ใช่แล้ว การคิดหัวชนฝาแบบนี้ไม่ถูก”

 

ข้อพิพาทจดทะเบียนโขนเขมร-ไทย อะไรคือปัญหา

ในมิติของกระทรวงวัฒนธรรมต้องหาผลงานที่เป็นรูปธรรมให้ตัวเอง การปกป้องวัฒนธรรมหรือทำให้เกิดกระแสนั้นส่งผลให้เจ้ากระทรวงเป็นเหมือนฮีโร่หรือคนดี ทั้งที่การจดทะเบียนโขนจะจดเมื่อไหร่ก็ได้เพราะโขนไทยก็คือโขนไทย โขนเขมรก็คือโขนเขมร ผมว่ามันเป็นเหมือนการหางานให้ตัวเองและทำให้กระทรวงถูกกล่าวถึง ทั้งๆ ที่มันถูกทำมาแล้วเป็นสิบปี เราก็ยังกลับมาทำอีก แต่ก็ได้ชื่อว่าทำใหม่เพราะเป็นผู้ปกครองกลุ่มใหม่

กรณีนี้มันส่งผลทำให้ประชาชนเข้ามาวิพากษ์ วิจารณ์ โต้เถียง ทะเลาะ มันเป็นกระจกที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่ากระทรวงไม่เคยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างระหว่างโขนไทยและโขนเขมรหรือเส้นแบ่งที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกันกับประชาชนชาวไทยเลยแม้แต่น้อย ในเวลาเดียวกันเขมรก็ไม่เคยให้ความรู้กับประชาชนเขมรเลย จึงทำให้เกิดสงครามของประชาชนผู้ไม่รู้

บทบาทที่รัฐควรมีเพื่อสนับสนุนแวดวงศิลปะคืออะไร

พอเราพูดถึงศิลปะการแสดง โขนจะไม่เอาตัวเข้ามาเกี่ยว เพราะเขาถือว่าตัวเองเป็นวัฒนธรรมที่พิเศษกว่าตรงที่เป็นภาพลักษณ์และความสง่างามของประเทศ ในตอนนี้คนที่ดูแลโขนหรือนักแสดงโขนไม่ได้สนใจเลยว่าโขนจะพัฒนาหรือไม่ เรื่องที่เล่นก็มีเรื่องเดียว บทที่เล่นก็มีไม่กี่บทวนไปวนมา 200 ปีได้แล้ว เพราะเขาเป็นข้าราชการ ซึ่งไม่ได้แสดงเป็นอาชีพและได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หากวันหนึ่งโขนป็อปปูล่ากว่านี้ เล่นเยอะกว่านี้ เขาจะยิ่งโมโหเพราะมันเพิ่มภาระงานให้เขาทั้งที่เงินเท่าเดิม มันไม่มีวันที่จะไปได้มากกว่านี้แล้ว

รัฐรู้ไหมว่าศิลปะทำหน้าที่อะไร หรือมีนโยบายหลักคิดสำคัญอะไรเกี่ยวกับศิลปะ หากยังคิดว่าศิลปะเป็นเพียงเครื่องเฉลิมฉลองหรือของขายแล้วได้เงิน มันก็จะอยู่แบบนี้ตลอดไป แต่หากรัฐเห็นว่าศิลปะคือสวัสดิการของสังคมและเปลี่ยนศิลปะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบเกี่ยวกับอนาคตวันข้างหน้า วงการศิลปะก็จะเปลี่ยนแปลงทันที

งานศิลปะของวันนี้สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้น หากประเทศนั้นถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย งานศิลปะจะขยายตัวได้ทันที แต่หากประเทศนั้นยังเป็นประเทศที่เชื่อเรื่องเทวดาฟ้าดิน ศาสนาแบบงมงาย และไม่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ศิลปะก็จะไปในทิศทางเดียวคือเทพเจ้า ศาสนา ฯลฯ และมีปัญหาเรื่องการนำเสนอความคิดอย่างอิสระของศิลปิน

แสดงว่าสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่เอื้อให้ศิลปินได้แสดงออกอย่างเต็มที่

เราสร้างงานศิลปะแบบร่วมสมัยเพื่อเป็นกระจกที่สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม สร้างงานเพื่อค้นหารูปแบบและหลักคิดใหม่สำหรับอนาคตข้างหน้า เราสร้างเพื่อแสดงทัศนคติมุมมองของศิลปินที่มีต่อสังคม การเมือง การปกครอง ศาสนาหรืออะไรก็แล้วแต่ และเมื่อไหร่ที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย และมีข้อกำหนดว่างานต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ศิลปินไม่สามารถสะท้อนความคิด ทัศนคติของเขาได้ งานศิลปะก็จะไม่สามารถสะท้อนอนาคตได้ นี่คือปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในวันนี้ของคนทำงานศิลปะ

บรรยากาศแบบนี้เหมาะกับงานศิลปะประเภทไหน

ต่อให้สถานการณ์เป็นแบบไหนคุณก็ทำได้หมดในประเทศเรา แต่คุณไม่รู้ว่าทำแล้วจะโดนอะไร คุณไม่รู้ว่าอารมณ์คนที่จะเล่นเราเป็นยังไงถ้าไม่สนับสนุนเขาหรือไม่เอื้อต่อเขา ประเทศนี้ฐานคิดไม่ได้เติบโตมากับความรับผิดชอบและหน้าที่ การเมืองการปกครองเป็นรูปแบบของความรับผิดชอบและหน้าที่ตามกฎกติกาที่มันวางไว้แบบที่ควรจะเป็น แต่ประเทศเรามีรูปแบบและวิธีคิดประหลาดๆ เช่น ประโยคที่พูดว่า ‘เรามีของเราเอง’ เมื่อไหร่ที่เราเริ่มพูดแบบนี้ นั่นเป็นปัญหาแล้ว รูปแบบของเรามันใช้ได้แค่กับวัฒนธรรมครอบครัว เมื่อมีครอบครัวอื่นอยู่ด้วยการใช้วัฒนธรรมแบบนี้ก็คงไม่เหมาะและเหมือนเป็นการแก้ตัว

ที่ผ่านมาคนในวงการอยู่กันอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้

ส่วนหนึ่งของคนที่ทำงานเธียเตอร์หรือเต้นบ้านเรา น้อยมากที่จะพูดถึงหรือวิจารณ์เรื่องเหตุบ้านการเมือง หากวิพากษ์ก็จะมุ่งเน้นไปในเรื่องอดีตอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา มากกว่าในเรื่องของความเป็นปัจจุบัน  ศิลปินในฝั่งนี้ของบ้านเราไม่ได้เทคแอคชั่น ลงไปเล่น หรือสนใจเกมนี้อย่างเต็มที่ มักวิพากษ์วิจารณ์ผ่านอะไรบางอย่างที่ถูกฉาบเอาไว้ จนแทบจะอ่านไม่ออกว่ามีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่

เป็นเพราะอะไร มีความกลัวหรือกังวลไหม

การตัดสินคนถูกคนผิดในบ้านเมืองนี้มันไม่ได้ตัดสินด้วยหลักการและเหตุผล ถูก-ผิดในประเทศนี้มันไม่ได้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย แต่คุณทำอะไรก็ได้ตามความพึงพอใจ เมื่อไหร่ที่มันตัดสินแบบนี้ มันก็ตายแล้ว เราจะไปเสี่ยงกับคนที่ไม่มีหลักการและเหตุผลทำไม ผมคิดว่ามันน่ากลัวมากจนไม่ควรเสี่ยง ถ้าเราสู้กับคนที่ใช้เหตุผลเราพอสู้ได้ แต่ถ้าต้องสู้กับคนที่ใช้ความพึงพอใจและพวกพ้อง ผมสู้ไม่ไหว

เคยแตะประเด็นการเมืองไหม มีผลตอบรับอย่างไร

ประเทศนี้ การแสดงประเภทเวทีถูกเรียกว่า ‘เครื่องราชูปโภค’ และเอาไว้เล่นตอนพระมหากษัตริย์ทานข้าว  ทัศนคติของคนไทยจึงเชื่อว่ามันทำหน้าที่เดียวคือให้ความบันเทิง ครูบาอาจารย์จึงมักไม่ยุ่งเรื่องการเมือง แม้แต่คนชั้นปกครองที่มีสิทธิเซ็นเซอร์หรือจัดการกับมันก็เชื่อว่า มันเป็นเรื่องของความบันเทิงที่มันไม่มีพิษมีภัย จึงทำให้เมื่อสอดแทรกการวิพากษ์เหตุบ้านการเมือง คนที่มาใส่ใจเลยเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากเพราะไม่ได้มีวัฒนธรรมศิลปะประเภทเวทีที่วิพากษ์วิจารณ์ด้านการเมืองมาก่อน ฉะนั้น จึงมีคนน้อยมากที่สามารถอ่านความรู้หรือความหมายของมันแล้วเข้าใจ

“ในมิติของกระทรวงวัฒนธรรมต้องหาผลงานที่เป็นรูปธรรมให้ตัวเอง การปกป้องวัฒนธรรมหรือทำให้เกิดกระแสนั้นส่งผลให้เจ้ากระทรวงเป็นเหมือนฮีโร่หรือคนดี ทั้งที่การจดทะเบียนโขนจะจดเมื่อไหร่ก็ได้เพราะโขนไทยก็คือโขนไทย โขนเขมรก็คือโขนเขมร ผมว่ามันเป็นเหมือนการหางานให้ตัวเองและทำให้กระทรวงถูกกล่าวถึง ทั้งๆ ที่มันถูกทำมาแล้วเป็นสิบปี เราก็ยังกลับมาทำอีก แต่ก็ได้ชื่อว่าทำใหม่เพราะเป็นผู้ปกครองกลุ่มใหม่”

 

มีงานหลายชิ้นที่ผมพูดถึงเรื่องเหตุบ้านการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 ไล่มาเรื่อย แต่ไม่มีใครใส่ใจเพราะเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องความบันเทิง ผมก็ปล่อยออกไปให้มันบันเทิงอย่างที่เขาคิด เช่นเมื่อห้าปีที่แล้วงานชุด ‘ขาว-ดำ’ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ ตัวละครที่ชนะกลับเป็นผู้หญิง งานผมมีกระบวนการที่ละเอียดอ่อนมากกว่าที่จะทำอะไรแบบตรงไปตรงมาจนเกินไป

อาทิตย์ที่แล้ว (16 มิถุนายน 2559) ผมโพสต์ ‘บทความวิชากู’ ในเฟซบุ๊ก ชื่อว่า ‘choreographer โต้ตอบ’ เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับถูกไม่ให้เต้น ส่วนหนึ่งในบทความกล่าวว่า “เมื่อทำการตรวจสอบตามหลักวิชากูที่ได้ร่ำเรียนมา ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป ยังค้นหาไม่พบเลยว่าการเต้นตีเข่าที่ทำขึ้นมานั้นส่งผลร้ายกับการลงประชามติได้อย่างไร เพราะเทคนิคการเต้นของแต่ละคนไม่มีความสมบูรณ์ ภาษาร่างกายที่ถ่ายทอดออกมาก็ไม่ตรงตามหลักการเต้น ภาษาที่ใช้ก็คลาดเคลื่อนเพราะส่วนใหญ่ใช้หลักการแบบ improvisation หลักการนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้อย่างยิ่งถ้าต้องการสื่อสารแบบหวังผลแม่นยำ และถูกต้องในความหมาย”

โดยหลักคิดแล้ว การเต้นประกอบด้วยพื้นที่ เวลา และปฏิกิริยาของร่างกาย ถ้าเกิดสามส่วนนี้เราถึงเรียกมันว่า ‘เต้น’ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องของภาษา คนจะจับคนที่เต้นเพลงตีเข่าควรจะมีความรู้และสามารถอธิบายความรู้เรื่องศิลปะการเต้นให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย ส่วนคนที่จะเต้นก็ควรมาเรียนเต้นให้มันรู้เรื่องว่าจะต้องใช้ท่าแบบไหนให้มันมีความหมายตรงเป้า

ในฐานะนักออกแบบท่าเต้น ผมคิดว่าวิธีการของเขานั้นไม่ถูก หากเราขึ้นศาลกันเพราะท่าเต้นผิด ศาลจะเชิญคนที่มีความรู้เรื่องการใช้ร่างกายมานั่งและแกะท่าเต้นทีละท่า ท่าของเพลงตีเข่าเปรียบเหมือนคนพูดจาไม่รู้เรื่อง เหมือนผมจะอธิบายเรื่องต้มยำกุ้ง แล้วเป็นแบบนี้ “ต้มยำกุ้งนะครับ หอไอเฟลสนุกดี น้ำตกไปที่บ้านเราเลย เฮ้ย เพื่อนทำไมไม่กลับมาสักทีวะ ชั้นงงกับแกมากเลยเนี่ยโดเรม่อนยังไม่กลับบ้านอีก” คือมันไม่รู้เรื่องต้มยำกุ้งเลยแม้แต่นิดเดียว ฉะนั้น ถ้าขึ้นศาลกันตามหลักการและเหตุผล คนพวกนี้ไม่มีความผิดอะไรเลยเพราะมันเต้นไม่ถูกภาษา ผมจึงบอกว่ามันเป็นเรื่องของการตัดสินใจตัวบุคคล กูจะจับหรือกูจะไม่จับมึง จะเล่นมึงหรือจะไม่เล่นมึง พอไม่ใช้เหตุผลก็เลยเป็นเรื่องของความพึงพอใจ

ในส่วนของท่าเต้น ไม่ได้มีอะไรผิด อย่างท่าส่ายนิ้วซ้าย-ขวา (พิเชษฐทำท่าประกอบ) ประกอบเพลงท่อน ‘ไม่รู้ ไม่รู้’ แต่ละคนที่เต้นทำท่าไม่เหมือนกัน เช่น บางคนทำเป็นที่ปัดน้ำฝน บางคนทำเป็นลูกตุ้ม ฯลฯ มันตีความได้เยอะมากเหมือนกับวิธีการที่คุณชอบตีความภาษากันในรัฐธรรมนูญหรืออะไรก็แล้วแต่ การเต้นก็เช่นกัน

“งานศิลปะของวันนี้สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้น หากประเทศนั้นถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย งานศิลปะจะขยายตัวได้ทันที แต่หากประเทศนั้นยังเป็นประเทศที่เชื่อเรื่องเทวดาฟ้าดิน ศาสนาแบบงมงาย และไม่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ศิลปะก็จะไปในทิศทางเดียวคือเทพเจ้า ศาสนา ฯลฯ และมีปัญหาเรื่องการนำเสนอความคิดอย่างอิสระของศิลปิน”

 

หากแยกในส่วนภาษาผมคิดว่าเป็นปัญหานิดหน่อย อาจแค่แสลงใจ แต่ไม่ได้เป็นความผิด ถ้าผิดก็ผิดที่ตัวคนเต้นเพราะมีเบื้องหลังอยู่เยอะ เคสนี้เลยน่าสนใจ เมื่อเราเอาภาษาแบบนี้ผนวกกับพฤติกรรมการเต้นแบบนี้ จากคนกลุ่มนี้รวมกัน นี่แหละคือศิลปะส่งผลกระทบกับจินตนาการและความรู้สึก

ผมยกตัวอย่างการวิเคราะห์ท่าทางจากวิธีการใช้ร่างกาย เช่น การชี้นิ้ว เดินแอ่นอก ซึ่งแสดงถึงความก้าวร้าว แสดงถึงการใช้อำนาจ นอกจากนั้นยังบอกได้อีกว่าคนที่มีลักษณะและใช้ร่างกายแบบนี้ ชี้นิ้วแบบนี้ เดินแบบนี้ เป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจและขี้กลัว จึงต้องทำร่างกายให้ดูน่ากลัว เหมือนเม่นที่ต้องพองขน หรืออึ่งอ่างที่ต้องทำตัวพอง ทั้งๆ ที่มันอ่อนแอมาก

การจับกุมนักแสดง มีผลทำให้คนในวงการเกิดความกลัว และยิ่งไม่กล้าแสดงออกไหม

อาจเป็นเพราะเราไม่ได้เน้นวัฒนธรรมเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และจากสถานการณ์ก็ไม่น่าจะมีคนทำมากขึ้นเพราะไม่ว่าพูดเรื่องนี้เท่าไหร่ก็เหมือน ‘ป่วยการ’ เท่าที่ผมเฝ้าดูประเทศนี้มาไม่มีใครที่จะช่วยเหลือเราได้ มีคนตายเยอะมากทั้งที่ไม่รู้ว่าทำไมตายแล้วก็เงียบไปเฉยๆ ตั้งแต่โตมาเราก็เห็นอยู่แล้วว่าสังคมนี้ไม่ได้ตัดสินด้วยเหตุผล แต่ตัดสินด้วยความพึงพอใจและความแค้น สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือจิตอาฆาตของคน ไม่มีใครยอมรับว่าแต่ละคนล้วนมีความผิดร่วมกัน มีคนที่พยายามจะบอกว่าตัวเองบริสุทธิ์ และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนเองแบบแตะต้องไม่ได้

ประเทศนี้มันมีปัญหาคือถ้าผมพูดฝั่งไหนจะเป็นฝั่งนั้นทันที ทัศนคตินี้มันทำให้ผมแทบไม่อยากคุยกับใครหรือสื่อสารกับใครในเรื่องการเมืองเพราะมันแคบและและมืดบอด คือถ้าเมื่อไหร่ที่มึงไม่อยู่ฝั่งกูมึงผิด ถ้ามึงพูดคำว่ารักชาติหลังจากกู มึงก็ไม่รักแล้ว เหมือนใครพูดก่อนคนนั้นชนะ ผมเคยฟังคนคุยกัน และถามกันว่า ‘ไอ้เชี่ย ทำไมมึงไปอยู่เสื้อแดง’ แต่คนเสื้อแดงจะพูดว่า ‘ไอ้เชี่ย ทำไมมึงไปอยู่เสื้อเหลือง’ ไม่ได้นะ มันเหมือนกับการอยู่เสื้อแดงเป็นคนเหี้ย การอยู่เสื้อเหลืองเป็นคนดี หลักคิดนี้เป็นหลักคิดที่ตลกดี แต่ทุกคนก็คิดกันหมด

เราไม่เคยมีผู้นำ นักการเมือง ครูบาอาจารย์ คนทำงานบริษัทที่ทำความผิดหรือถูกบอกว่าทำความผิด ลาออกสักคนเดียว อันนี้มันชัดเจนว่าตรรกะของคนประเทศนี้คือ ถ้ามึงดื้อแล้วอยู่ มึงถูก ถ้ามึงออกเมื่อถูกกล่าวหา มึงผิดจริง เรามีตรรกะอะไรบางอย่างที่เมื่ออยู่แล้วถูกได้ มันเป็นแบบนี้ เหมือนการพูดว่า ‘คนไม่ดีจะแพ้ภัยตัวเองไปเอง คนที่ดีเทวดาฟ้าดินจะคุ้มครองให้อยู่ต่อไปได้นาน’

มองประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างไร

มันจะเละ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความแตกแยกมากกว่าเดิม สถานการณ์ที่เกิดตอนนี้มันคือการล้างแค้นกันไปมาไม่จบสิ้น ยิ่งล้างแค้นมากเท่าไหร่ คนที่เจ็บแค้นก็มากขึ้นเท่านั้น ศิลปะจะไม่มีบทบาทในการเยียวยา พวกโลกสวยเพ้อเจ้อเท่านั้นที่จะบอกศิลปะสร้างโลก ซึ่งใช้กับประเทศนี้ไม่ได้หรอก สำหรับผมช่วงนี้เป็นช่วงของขบวนการที่จะแตกละเอียด เกิดความขัดแย้ง ม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดงใช้ไม่ได้แล้ว ก็เลยผุดคนอีกแบบหนึ่ง เช่น ม็อบที่ผ่านมาในฝั่งทหารจะใช้คนธรรมดาถือถุงพลาสติก แม่บ้าน มนุษย์ป้า เพื่อไม่ให้เห็นว่าเป็นม็อบจัดตั้ง ยิ่งวิธีการนี้สร้างขึ้นมากเท่าไหร่ ความสับสนของสังคมจะยิ่งมากขึ้น ฉะนั้น ขบวนการในการกลับมารวมกันจะยากจนอาจไม่มีทางเป็นไปได้

“ผมไม่ได้ทำงานเพื่อศิลปวัฒนธรรม ผมทำงานเพื่อตัวเองและพยายามจะเปลี่ยนหลักคิดของทุกคน ว่าพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นแต่ทำเพื่อตัวเอง ผมทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองรำสวยที่สุดโดยไม่ต้องมานั่งบอกว่า ที่ซ้อมรำทุกวันนี้เป็นเพราะอยากให้คนอื่นได้เห็นความงาม ผมจะไม่บ่นว่าผมไม่มีเงิน ถ้าอยากมีเงินก็ไปทำอาชีพอื่นสิ และผมไม่กลัวเลยหากผมทำความผิด แต่เมื่อไหร่ที่มันไม่มีเหตุผลและความยุติธรรมในสังคม ผมกลัว”

 

แสดงว่าต้องมีคนยอมผ่อนบ้าง เพื่อให้กลับสู่ความพอดี

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าเราทะเลาะกัน ไม่พอใจกัน ตอนนี้ทุกคนไม่ยอมรับ และพยายามบอกว่าเราคุยกันได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครคุยกันสักคน ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองอย่าไปก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น การพูดจาอะไรในประเทศนี้ มันยาก เพราะมีข้อแม้ หากผมพูดว่า ‘ทหารผิดตั้งแต่ปฏิวัติ’ ก็จะมีคนค้านว่า ‘จะปล่อยให้คอร์รัปชันมันมีอยู่แบบนี้เหรอ’ ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าคนไม่ได้ยอมรับกติกาพื้นฐานตั้งแต่ต้น ทุกคนก็หากติกาใหม่ไปเรื่อย และใช้ชีวิตแบบไม่รับผิดชอบโดยถือว่าตัวเองเป็นคนดี อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่

ผมไม่ได้ทำงานเพื่อศิลปวัฒนธรรม ผมทำงานเพื่อตัวเองและพยายามจะเปลี่ยนหลักคิดของทุกคน ว่าพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นแต่ทำเพื่อตัวเอง ผมทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองรำสวยที่สุดโดยไม่ต้องมานั่งบอกว่า ที่ซ้อมรำทุกวันนี้เป็นเพราะอยากให้คนอื่นได้เห็นความงาม ผมจะไม่บ่นว่าผมไม่มีเงิน ถ้าอยากมีเงินก็ไปทำอาชีพอื่นสิ และผมไม่กลัวเลยหากผมทำความผิด แต่เมื่อไหร่ที่มันไม่มีเหตุผลและความยุติธรรมในสังคม ผมกลัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net