'ถอดรื้อการศึกษาไทย' ชี้มอบความรู้ตายตัว ตัดตอนโรงเรียน – ชุมชน

ย้อนมองการศึกษาไทย นักวิชาการชี้ที่ผ่านมาศึกษาเพื่อสอบ มอบความรู้ตายตัว ต่างประเทศเชี่อมโยงโรงเรียน-ชุมชน ขณะที่ไทยตัดตอนออกจากกัน การศึกษายังกระจุกตัว แบ่งชนชั้นและบริหารทรัพยากรไม่เป็นจนขาดคุณภาพ

23 มิ.ย. 2559 ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), กับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (TCE Center) และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเวทีเสวนา “ถอดรื้อการศึกษาไทย” มีวิทยากรประกอบด้วย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจิตวิทยาการเรียนรู้, ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย, อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ที่ ห้องอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การศึกษาไม่ใช่เพื่อสอบ ประเสริฐชี้ 3 ทักษะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมอบให้เด็ก

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจิตวิทยาการเรียนรู้ กล่าวว่า การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้ กระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานควรให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้วิธีหาคำตอบพร้อมแก้ไขและดำเนินชีวิตต่อไปได้ ดังนั้นการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงไม่ใช่การสอบและการมอบความรู้ที่ตายตัวให้เด็กไปทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หากมีอยู่ 3 ทักษะที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานควรจะมอบให้เด็กก่อนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที

ทักษะการเรียนรู้ ตามหลักจิตวิทยาและแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่สร้างได้ในเด็กทุกคน สร้างโดย 1. criticized thinking เริ่มตั้งแต่หัดคิด หัดพูดว่าไม่รู้ ไม่เชื่อเป็น 2. communication สื่อสารออกมา 3. collaboration การคิดแตกต่างแล้วพูดออกมาและถกเถียงกันได้ 4. creativity ประเทศไทยติดกับคนเก่งคิดอะไรได้คนเดียวแต่ความจริงทุกอย่างเกิดจากคนหลายคน
ทักษะชีวิต มักถูกหมายถึงความดีความงาม แต่ในทางจิตวิทยา คือ ความสามารถที่จะกำหนดเป้าหมาย วางแผน ตัดสินใจประเมิน ยอมรับและมีความยืดหยุ่น โดยสร้างได้ตั้งแต่เด็กประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา

ทักษะไอที เป็นตัวแปรสำคัญทางการศึกษา ทุกวันนี้เด็กไทยมีความสามารถในการใช้ไอทีเพื่อตอบรับชีวิตตนเองได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าตอบรับได้จริงต้องมีทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิตก่อน ไอทีต้องเข้ามารับใช้ชีวิตเด็กไทยไม่ใช่เข้ามาบริโภคเด็กไทย เด็กไทยต้องวิเคราะห์และปรับไอทีให้เข้ากับชีวิตได้
 

ตั้งคำถามเด็กไทยกำลังเรียนอะไร เสนอบูรณาการเนื้อหา-ปรับใหม่

ประเสริฐ ตั้งคำถามว่าเด็กไทยกำลังเรียนอะไรอยู่และเสนอว่าควรเลิกวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมและภาษาก่อน แล้วค่อยๆ บูรณาการ มาเป็น 4 วิชาที่เด็กควรจะเรียน ได้แก่ สุขภาพ เด็กบางคนเรียนไปแทบตายแต่กินยาลดความอ้วน หลงอุบายขายยา อุบายขายโรคของแพทย์, การเงิน การใช้เงิน การบริหารเงิน เพราะอย่างไรก็ตามเด็กต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ในอนาคต, สิ่งแวดล้อม ถ้าเกิดแผ่นดินไหว ทักษะของเด็กที่เรียนเก่งอาจเอาตัวไม่รอด เพราะไม่รู้การป้องกัน, ประชาสังคม มีความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา และอื่นๆ ควรอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ครูควรจะสอนโดย Problem based learning หรือ PBL โดยต้องให้มีการแบ่งกลุ่ม และกลุ่มมีความหลากหลาย ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือ “การลงมือทำ” หลักการและการทำ PBL ที่ดี คือ ต้องให้เด็กทุกคนทำได้ มีความสามารถที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง ที่ผ่านมา “เด็กถูกตราหน้าว่าโง่” เพราะเขาเข้ากลุ่มไม่ได้ หากนำเด็กไปอยู่ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทุกคนจะมีเรื่องที่ทำได้

ตอนหนึ่ง ประเสริฐ กล่าวว่า โครงสร้างใหญ่ที่ต้องเปลี่ยน คือ การประชุมครู การประชุมในระบบราชการที่เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ทบทวนรายงาน และเสนอเพื่อพิจารณา แต่ที่ควรจะเป็นคือต้องยกเรื่องของนักเรียนขึ้นก่อน ที่ผ่านมา มักมีการแก้ปัญหาเด็กดื้อ เด็กเรียนไม่เก่ง ด้วยการลงโทษเด็ก แต่แท้จริงแล้วถ้าเด็กไม่ดีนั้นเพราะกระบวนการเรียนรู้ของครูมีปัญหา ไม่น่าสนใจ เด็กเรียนแล้วไม่ภาคภูมิใจ ฯลฯ ทั้งนี้ เขาย้ำทิ้งท้ายว่าการวาดหน้าตาการศึกษาสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก่อนที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการศึกษา
 

การศึกษาต่างประเทศเป็นมากกว่าเรื่องโรงเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนได้ดี

อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ทุกคนควรถูกดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่อยากให้มองเรื่องการศึกษาเป็นเพียงเรื่องโรงเรียน เพราะการศึกษามีทั้งในและนอกโรงเรียน ยกตัวอย่าง โรงเรียนที่ญี่ปุ่นเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน ครู และชุมชนเข้าด้วยกัน โรงเรียนมองว่าโรงเรียนเป็นของชุมชน และชุมชนมีภาระหน้าที่ร่วมกันกับครูในการจัดการศึกษาให้เด็กในชุมชน เช่น กิจกรรมการปลูกต้นไม้ เรียนเรื่องแมลง เรียนเรื่องแม่น้ำมีการสำรวจพื้นที่ในชุมชน ได้เรียนระบบนิเวศ การทำแผนที่ ฯลฯ เชื่อมโยงได้หลายวิชา ทั้งหมดนี้มีผู้ปกครอง สถาบันวิจัยในชุมชน โรงเรียนมัธยม และนักศึกษามาช่วยดูแลเด็กประถมในการศึกษาพื้นที่แห่งนี้ ดังนั้นเด็กจะถูกสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองของพื้นที่นั้น ในต่างประเทศที่การศึกษาประสบความสำเร็จจะเห็นว่าโรงเรียนเป็นของชุมชนและให้ความสำคัญกับการคิดหลักสูตรการศึกษา

การศึกษาไทยกระจุกตัวในเมือง แบ่งชนชั้นจนเด็กแพ้

“ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนเด็กเก่ง แต่เด็กเก่งถูกกระจุกอยู่เพียงบางโรงเรียน ความฝันของผม คือ อยากเห็นการศึกษาที่มีคนหลากหลาย การพัฒนาหลักสูตรที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมจัดทำอย่างรอบคอบ ยืดหยุ่นในการนำไปใช้ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อผู้เรียนได้จริง” อรรถพลกล่าว

อรรถพล กล่าวต่อว่า มีเด็กที่แพ้อยู่ในระบบการศึกษาจำนวนมาก บางโรงเรียนตั้งอยู่ติดกับห้างสรรพสินค้าแต่นักเรียนไม่มีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ ไม่กล้าเข้าห้างสรรพสินค้า หรือมีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ติดกัน ห่างกันไม่กี่ป้ายรถเมล์ โรงเรียนแห่งแรกมีเด็กห้องละ 50 คน อีกโรงเรียนมีเด็กห้องละ 15 คน นี่ไม่ใช่แค่เป็นการปล่อยการศึกษาในเมืองให้กระจุกตัวแต่เหมือนปล่อยให้มีการแบ่งชื่อแบ่งชั้นของโรงเรียนอยู่ด้วย


 

โรงเรียนขนาดเล็กขาดทรัพยากร ส่งผลลดคุณภาพการศึกษา

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสทางการศึกษาและให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษามากขึ้น ในปี 2554 มีช่องว่างทางการศึกษาน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปี 2529 แต่คุณภาพผลสัมฤทธิ์ในด้านการศึกษาประเทศไทยยังต่ำมากทั้งเมื่อเทียบในเอเชีย เวียดนามยังนำหน้าไทยทั้งที่ไทยลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาสูงมาก

ตอนหนึ่ง ดิลกะ กล่าวว่า การจัดรูปแบบเครือข่ายโรงเรียนให้มีจำนวนน้อยลงแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีทรัพยากรการเรียนการสอนที่ดีขึ้น จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำได้มากที่สุด ทั้งนี้ พบปัญหาการเรียนรู้มีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กประจำหมู่บ้าน เช่น โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ขาดทรัพยากรที่จะให้การศึกษามีคุณภาพสูงได้ การมีครูไม่ครบชั้นส่งผลให้เด็กที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมในโรงเรียนขนาดเล็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ งานวิจัยยังพบว่าการเพิ่มจำนวนครูต่อห้องเรียนจะส่งผลกระทบทางบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพของครูมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
 

โรงเรียนถูกแยกจากชุมชน อำนาจรัฐยังผูกขาดการศึกษา

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผอ.TCIJ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา เราจะเห็นเพียงระบบโรงเรียน ยังไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปการเรียนรู้หรือไม่ได้คิดสิ่งที่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งเหล่านี้เป็นมายาคติที่ลึกที่สุดแต่คงเป็นเพราะการอยู่ในยุคสมัยที่ต้องมีระบบอะไรบางอย่างที่มาจัดการคน ดังนั้นเราอาจจะปฏิรูปการศึกษาโดยการปฏิรูปโรงเรียนก็ได้ แต่การปฏิรูปโรงเรียนกลับเป็นการให้น้ำหนักกับการบริหารงบประมาณ จำนวนครู และผูกติดกับระบบราชการ ยังต้องรองบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งเธอคิดว่าไม่ใช่สาระสำคัญ ส่วนสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นจากการปฏิรูปการศึกษา คือ ปฏิรูปหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอน

สุชาดา กล่าวว่า เมื่อการปฏิรูปการศึกษาถูกตีโจทย์ว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ครูเก่ง ครูดีเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ดังนั้นเราจะคิดถึงการให้เงินเดือน ทำให้เวลานี้อาชีพครูกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยม เราคิดว่าเรื่องทางโครงสร้างต้องเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ชุมชนจะไม่รู้ ชุมชนไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียน ซึ่งเป็นการตัดตอนปัญหาจากประวัติศาสตร์ ที่โรงเรียนถูกทำให้แยกจากชุมชน ชุมชนถูกทำให้โง่ พึ่งตัวเองไม่ได้

สุชาดากล่าวต่อว่า การศึกษาทางเลือกไม่ใช่เส้นทางคู่ขนานกับการศึกษาหลักในโรงเรียนแต่ต้องบูรณาการ ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับโรงเรียนมีการทำงานร่วมกัน  ช่วยกันออกแบบบริหารงบประมาณ พ่อแม่จะไม่บอกว่าเป็นภาระของโรงเรียนอีก ดังนั้น ผู้ปกครองต้องเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ใช่มีหน้าที่แค่ไปส่งลูกหน้าโรงเรียนแล้วจ่ายค่าเล่าเรียน ทั้งนี้เธอตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า เราจะสร้างทางเลือกอะไรได้บ้างในประเทศที่ไร้ทางเลือกแห่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท