ภัควดี วีระภาสพงษ์: เราควรมองวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาอย่างไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในเวเนซุเอลาเป็นที่จับตามองและได้รับรายงานในสื่อทั่วโลก  มันกลายเป็นตัวอย่างที่สื่อกระแสหลักและผู้เชี่ยวชาญสำนักเสรีนิยมใช้อ้างถึงความล้มเหลวของการบริหารประเทศที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม  ในประเทศไทยเอง เราก็มักได้ยินการโยงวิกฤตการณ์เช่นนี้กับคำสำเร็จรูป โดยเฉพาะคำว่า “ประชานิยม” กับ “การโอนกิจการเป็นของภาครัฐ (nationalization)”  พร้อมกับสรุปง่าย ๆ ว่าการบริหารประเทศตามแนวทางนี้จะต้องจบลงด้วยภาพความล้มเหลวทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงดังที่เวเนซุเอลากำลังเผชิญ

ผู้เขียนเชื่อว่าการบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดีอูโก ชาเวซและประธานาธิบดีนิโกลาส มาดูโร ตามแนวทางที่เรียกว่า “การปฏิวัติโบลิวาร์” นั้น ย่อมมีข้อบกพร่องและความผิดพลาดอย่างร้ายแรง จนกระทั่งทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน  ข้อนี้คงปฏิเสธไม่ได้และป่วยการเปล่าที่จะไปกล่าวโทษพล่อยๆ เป็นสูตรสำเร็จว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้  แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนคิดว่าการสรุปง่าย ๆ ว่าลัทธิประชานิยมและการโอนกิจการเป็นของภาครัฐย่อมนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็เป็นการสรุปแบบสูตรสำเร็จเช่นกัน  เรากำลังตกเป็นเหยื่อของสื่อกระแสหลักที่พยายามโน้มน้าวให้เราเห็นว่า ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เท่านั้นที่เป็นคำตอบทางเศรษฐกิจ  หากพยายามเฉไฉออกจากแนวทางนี้ ก็จะโดนบทลงโทษแบบเวเนซุเอลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ส่วนสื่อกระแสหลักในประเทศไทยก็โยงวิกฤตการณ์ในเวเนซุเอลากับลัทธิประชานิยม เพื่อชี้ให้เห็นความเลวร้ายของลัทธิประชานิยมและสร้างภาพให้คนไทยตื่นกลัวกับคำคำนี้โดยมีนัยยะที่โยงไปถึงระบอบทักษิณกับพรรคเพื่อไทยอีกโสดหนึ่ง  แม้กระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดงปัญญาชนหลายคนที่สนับสนุนระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ก็พยายามชี้ว่า นี่คือบทลงโทษของการดำเนินการตามแนวทางสังคมนิยมที่มีการโอนกิจการเป็นของภาครัฐเป็นนโยบายสำคัญ

ผู้เขียนคิดว่าการคิดเช่นนี้เปรียบเสมือนการหลับตาข้างหนึ่ง  วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลามิใช่เหตุการณ์หายากที่นานๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน  อันที่จริง นับตั้งแต่ระบบทุนนิยมครองความเป็นใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลกตั้งแต่สองศตวรรษก่อน ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมานับครั้งไม่ถ้วน  ไม่ว่าจะเป็นครั้งใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนก็เลวร้ายหาน้อยไม่  วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัว เช่น วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 เป็นฝันร้ายของคนไทยจำนวนไม่น้อย  วิกฤตการณ์ทางการเงิน 2008 หรือที่เรามักเรียกว่าวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนหลายล้านคนจมในปลักหนี้สิน ล้มละลายหรือกระทั่งกลายเป็นคนไร้บ้าน

นอกจากนี้ยังมีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับประเทศอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา ค.ศ. 2001 ซึ่งทำให้ประชาชนตกงานกันเกือบครึ่งประเทศ  วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในกรีซที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2009  ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาในยุโรปและในญี่ปุ่นที่ยืดเยื้อมาเป็นสิบปี  ฯลฯ  เมื่อเราพิจารณาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงทั้งหมดข้างต้น  สาเหตุของภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดมาจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบ “ประชานิยม” “สังคมนิยม” “การโอนกิจการเป็นของภาครัฐ”  แต่เกิดมาจากปัญหาในระบบทุนนิยมเอง  ยิ่งระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบันก็ยิ่งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ถี่ขึ้น และสิ่งที่เกิดพร้อมวิกฤตการณ์ทุกครั้งก็คือการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากประชากรส่วนใหญ่ไปสู่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ  กระทั่งมีการวิเคราะห์กันว่า วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมิใช่การทำงานผิดพลาดของระบบทุนนิยม แต่เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการสะสมทุนของระบบทุนนิยมนั่นเอง

คนไทยมักเข้าใจผิดกันว่า วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอาร์เจนตินาในปี 2001 เกิดมาจากการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม  ทั้งๆ ที่สิ่งที่พอจะกล้อมแกล้มเรียกว่า “ประชานิยม” ในอาร์เจนตินาเกิดขึ้นในยุคประมาณทศวรรษ 1940 สมัยประธานาธิบดีเปโรน ซึ่งห่างจากวิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงนี้ถึงหกสิบปี  หากเราลองค้นดูเอกสารต่างประเทศ  เราจะพบว่าแนวคิดที่เชื่อว่าวิกฤตการณ์ของอาร์เจนตินาเกิดเพราะนโยบายประชานิยมนั้นมีเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น  คำอธิบายของชาวโลกเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในอาร์เจนตินาก็คือ วิกฤตการณ์นี้เป็นผลพวงมาจากระบอบเผด็จการทหารในช่วงทศวรรษ 1970-80 การเปิดเสรีภาคการเงินของอาร์เจนตินาเองบวกกับผลกระทบของวิกฤตการณ์ภาคการเงินในรัสเซียและบราซิล

(อนึ่ง ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใช้คำว่า “ประชานิยม” เป็นคำแทนแนวคิดสำเร็จรูปที่ใช้เรียกนโยบายทางเศรษฐกิจบางอย่าง  ผู้เขียนเห็นว่าคำนี้เป็นคำที่คลุมเครือเหมารวม สร้างความสับสน  ทำให้คนจำนวนมากเหมารวมเอานโยบายสวัสดิการสังคมและนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจบางอย่างว่าเป็น “ประชานิยม” ไปหมด  และสุดท้ายแล้วก็ยังนิยามชัดเจนไม่ได้ว่าอะไรคือ “ประชานิยม” และอะไรไม่ใช่ “ประชานิยม”)

การดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ได้นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแบบที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลาเสมอไป  ในทำนองเดียวกัน การโอนกิจการเป็นของภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งความล่มสลายทางเศรษฐกิจเสมอไปเช่นกัน  หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศในยุโรปก็ใช้นโยบายโอนกิจการเป็นของภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมหนัก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น 

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นก็คือ เราไม่ควรปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของสื่อทุนนิยมกระแสหลักที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อว่า การพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะนำมาซึ่งวิกฤตการณ์  ในความเป็นจริง ลัทธิตลาดเสรีและการไม่พยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็สามารถนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ได้เช่นกันและบ่อยครั้งด้วย  อีกทั้งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่ทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องดำรงชีวิตด้วยค่าแรงต่ำกว่าค่าครองชีพมายาวนานกว่าสองศตวรรษท่ามกลางผลิตภาพอันล้นเกินนั้นควรนับว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างหนึ่ง

สำหรับฝ่ายซ้าย เราไม่จำเป็นต้องสิ้นหวังเพราะความล้มเหลวของการปฏิวัติโบลิวาร์  เราควรเผชิญหน้ากับมันอย่างซื่อสัตย์และค้นหาว่ามีปัจจัยตัวแปรอะไรบ้างที่ทำให้มันไม่ประสบความสำเร็จ  แต่สำหรับฝ่ายขวาที่สนับสนุนระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่และตลาดเสรี  ท่านควรลืมตาสองข้างและปัดกวาดบ้านตัวเองบ้าง เพื่อทำให้ระบบทุนนิยมของท่านสร้างผลดีต่อมนุษยชาติโดยถ้วนหน้าอย่างที่อวดอ้างมาตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท