พิชญ์วิเคราะห์เกมประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมสิทธิมนุษยชนยังเดินได้

24 มิ.ย. 2559 ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "84 ปี 2475 อนาคตประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์เกมประชาธิปไตยเดินยาก ขณะเกมสิทธิมนุษยชนยังเดินได้ ใช้มุม "เปลี่ยนผ่านวิทยา" เข้าใจทหารเพื่อจำกัดทหารจากการเมือง รายละเอียดมีดังนี้

 

วิเคราะห์เกมประชาธิปไตยเดินยาก ขณะเกมสิทธิมนุษยชนยังเดินได้  
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นสลับกันไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตยและการรัฐประหาร ทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยาเป็นการพิจารณาถึงการสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายเข้ามาเล่นในเกมประชาธิปไตย โดยไม่ใช่การรอคอยไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ทฤษฎีนี้มักจะถูกวิจารณ์คือ มันให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของชนชั้นนำ โดยมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าชนชั้นนำไม่ขยับ แต่นั่นถูกเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือ ในฐานะประชาชนเราจะสร้างแรงจูงใจอะไร เงื่อนไขอะไรที่ทำให้ชนชั้นนำขยับ ผู้เล่นสำคัญอันหนึ่งในชนชั้นนำคือ ทหาร เราไม่ได้มองในฐานะแค่ศัตรูของประชาธิปไตย แต่โจทย์คือ จะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้กองทัพออกไปจากการเมืองและอยู่ได้ด้วย

“คนที่ไม่เข้าใจกรอบทฤษฎีนี้มักพูดว่า มองไม่เห็นประชาชน ในการเปลี่ยนผ่านวิทยาสิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกรอบคิดของทหารเองและจะทำยังไงให้เขาออก เราต้องดูด้วยทหารเขาสร้างระบอบพันธมิตรอย่างไรที่ทำให้เขาอยู่ยาว นอกจากปัจจัยทางอุดมการณ์”

ในทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยสิ่งที่เกิดเสมอคือ “การเปลี่ยนไม่ผ่าน” แล้วอยู่ในพื้นที่สีเทา ซึ่งเราอาจต้องเถียงกันว่าจริงหรือเปล่าที่พื้นที่นั้นมันรอการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง หรือจริงๆ แล้วมันคือความจริงทางการเมือง

ส่วนสำคัญอีกอย่างคือ “การแบ่งปันอำนาจ” มันไม่ได้แปลว่า แบ่งกันอย่างเท่ากัน แต่เป็นสถานการณ์เทาๆ เป็นสถานการณ์แห่งการต่อรอง มันต้องมีพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายมีที่ยืน อะไรทำให้เกิดเงื่อนไขเช่นนั้น

“ผมคิดว่าการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยเดินยาก แต่เกมการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเดินต่อ มันเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน และอาจเป็นไปได้ว่าเกมในอนาคตที่ทำให้ทหารเข้ามาสู่การเมืองไม่ได้ ไม่ใช่การสั่งสอนประชาธิปไตยทหาร แต่เป็นทหารเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยทำรัฐประหารบ่อยเป็นอันดับ 4 ของโลก คือประมาณ 18 ครั้งนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตัวเลขนี้มากกว่าทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้ปี 2475 ยังมีปัญหาที่ถกเถียงกันในทางวิชาการว่าจะเรียกมันว่าอะไร แต่สำหรับพิชญ์เห็นว่ามันคือ การเปลี่ยนระบอบ (regime change)

คำถามที่มากับทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านและการล่มสลายเหล่านี้ คือ

1. จะทำอย่างไรให้ “ประชาธิปไตย” เป็นกฎกติกาเดียวในสังคม ทุกฝ่ายยอมรับว่าจะเล่นในเกมประชาธิปไตย

2. สังคมไทยมักพยายามใช้อำนาจนอกรูปแบบประชาธิปไตยจัดการกับปัญหาประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยสามารถจัดการปัญหาได้จากภายใน

3. การเล่นเกมประชาธิปไตยเป็นการเล่มเกมที่แพง คนบางคนคิดว่าเล่นไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายก็ชนะเอาๆ หรืออาจเป็นได้เขามีทรัพยากรอื่นที่ไม่ต้องเล่นเกมประชาธิปไตย คำถามจึงเป็นว่าจะทำให้คนเหล่านั้นมีแรงจูงใจมาเล่นเกมประชาธิปไตยได้อย่างไร

4. ปัญหาในการออกแบบประชาธิปไตยช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทำอย่างไรจะสร้างบรรยากาศที่จะทำให้คนรู้สึกว่าจะชนะและแพ้สลับกันไปได้อย่างไร การออกแบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อนอย่างที่พยายามกันอย่างมากจะแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า

5. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นความหวังหรือเปล่า ถ้าประชาธิปัตย์แพ้ทุกครั้งขนาดนี้จะสร้างสถาบันทางการเมืองอะไรมาคานอำนาจประชาธิปไตยในระบบ นี่เป็นการออกแบบสถาบันให้ยั่งยืน ให้คนส่วนน้อยที่มีอำนาจมากอยากจะเล่นในเกมประชาธิปไตย

0000

 

สรุป 7 เงื่อนไขให้ทหาร (และการปกครองรูปแบบอื่น) อยู่ยาว
สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า

ประชาธิปไตยของประเทศไทยในวันที่ครบ 7 รอบ (84 ปี) ทำให้เราได้ผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมีเสียงสนับสนุนให้อยู่ต่ออีกเป็นระยะเวลานาน

หากแบ่งประเภทของประชาชนช่วงประชามติจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก จะเลือกตั้งไม่เอาเผด็จการ ขอไปเลือกตั้งก่อน กลุ่มที่สอง กลุ่มที่ยังไม่ต้องการเลือกตั้ง เลือกไปกลัวเสียของ และกลุ่มสุดท้าย เฉยๆ อย่างไรก็ได้ เชื่อว่าทั้งสามกลุ่มมีสัดส่วนใกล้เคียงกันมากและน่าสนใจว่าผลลัพธ์การประชามติจะออกมาอย่างไร

หากเราคาดเดาเมื่อถึงวันที่ประชาธิปไตยไทยอายุครบ 8 รอบ (96 ปี) เราจะเจอกับประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน สามารถดูได้จากประสบการณ์ของประเทศที่เคยเป็นอดีตคอมมิวนิสต์และเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในเวลาต่อมา 30 ปีผ่านไป มันเกิดความหลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตในหลายกรณี เช่น ประชาธิปไตยยังถูกท้าทายแม้แต่ในประเทศที่ก้าวหน้า ดังกรณีของ Donald Trump ที่ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และการประชามติของสหราชอาณาจักรที่จะออกหรือไม่ออกจาก EU

กรณีต่อมา คนจนตื่นรู้ขึ้นมามากขึ้น มีข้อมูลยืนยันทั่วโลกว่าคนเหล่านี้มีความรู้ทางการเมืองสูงกว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูง และคนชั้นกลางที่สิ้นศรัทธาต่อประชาชน ไม่ได้มีแค่เฉพาะประเทศไทย

และสุดท้าย บริบทความสำเร็จของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเช่น จีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ได้กลายเป็นไอดอลสำหรับหลายประเทศ ทำให้เห็นว่าอเมริกาเริ่มไม่ขึงขังในหลายกรณีที่เรียกร้องให้หลายประเทศเป็นประชาธิปไตย

สติธรยังระบุความไร้สามารถของประชาธิปไตย 4 ประการ ประกอบไปด้วย

1.ไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม
2.ไม่สามารถทำให้คนรู้สึกว่าการมีส่วนร่วมของพวกเขามีความหมาย
3.ไม่สามารถทำให้เกิดความแน่ใจได้ว่ารัฐบาลจะทำในสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและไม่ทำตามสิ่งที่ประชาชนต้องการ
4.ไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการจัดระเบียบและการไม่แทรกแซงกิจกรรมของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ฉลาดเท่านั้น ฝ่ายเผด็จการเองก็มีการปรับตัวมีด้วย จึงขอสรุป 7 เงื่อนไขที่ทำให้การปกครองทุกรูปแบบรวมถึงระบอบทหารด้วยสามารถอยู่บริหารประเทศได้ยาว ดัดแปลงมาจาก 6 ปัจจัยที่ทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนจากหนังสือ Economic Origins of Dictatorship and Democracy เขียนโดย Acemoglu Daron และ James A. Robinson

1. ทำให้ภาคประชาสังคม “รู้สึกว่า” มีพื้นที่ในการต่อสู้ และรู้สึกว่าข้อเรียกร้องบางอย่างได้รับการตอบสนอง และเป็นนโยบายรัฐบาล

2. มีการขับเคลื่อน การทำงานผ่านโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ทำให้ประชาชน “รู้สึกว่า” อำนาจตัดสินไม่ผูกขาดอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง คณะใดคณะหนึ่ง เช่น การคงอยู่ขององค์กรอิสระต่างๆ

3. การรักษาสภาวะเศรษฐกิจ มิให้เผชิญวิกฤตร้ายแรง หรือหากเผชิญหน้ากับวิกฤตทางเศรษฐกิจก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชน นักลงทุนได้ด้วยจุดเด่นของความมีเสถียรภาพสูง

4. จัดโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างรัฐ เอกชน และ ประชาชน อย่างประเทศไทยก็จะเป็น “ประชารัฐ”

5. ต่อเนื่องจากข้อ 4 ทำให้รู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำลดลง ประชาชนรับได้

6. ฉวยประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ ทำให้การเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำยังเดินได้ดีอยู่ จะทำให้คนเหล่านี้มาสนับสนุนรัฐบาล

7. รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องหรือมาตรการตอบโต้ของนานาชาติ

 

ทำความเข้าใจหลัก "ประชามติ"-ยกสภาพหลัง รธน.2521
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ในแง่ทฤษฎี ประชามติก็เป็นกลไกหนึ่งในการตัดสินใจของสังคมในเรื่องสำคัญๆ เวลาพูดถึงประชามติ มันไม่ได้มีเรื่องการตัดสินใจเอาหรือไม่เอาอย่างเดียว ในแง่ทฤษฎียังมีการเสนอกฎหมาย การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ประชามติจึงมีขอบข่ายมากกว่าที่เราคิด ผลที่ตามมาของทั่วโลกคือ มีผลผูกพันรัฐบาลต้องทำต่อ แต่ก็มีอีกหลายอันที่เป็นเพียงการฟังเสียงประชาชนว่าคิดอย่างไร แล้วรัฐบาลตัดสินใจอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นักคิดบางส่วนเห็นว่าประชามติอาจมีผลตรงข้ามกับการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย เพราะมีส่วนสร้างความน่าเบื่อหน่ายทางการเมือง เป็นพิธีกรรมในการลงคะแนน ผลของประชามติอาจทำให้การมีส่วนร่วมลดลงได้ และบ่อยครั้งก็มีการใช้ประชามติที่เป็นผลประโยชน์ต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วย มันจึงไม่ใช่สิ่งที่เลิศเลอ บางทีมีผลทางลบได้ และแทนที่จะพูดถึงความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง แต่มันบีบให้ประชาชนเลือกเพียงไม่กี่ทาง

ประเด็นต่อมา เวลาพูดถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมือง หรือร่างรัฐธรรมนูญนี้ หลายคนบอกว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบและอาจสะท้อนการเมืองคล้ายกับช่วงปี 2521 หากดูรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมันถูกสร้างขึ้นหลังการรัฐประหารซ้ำ หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 มีการรัฐประหารเกิดขึ้นซึ่งเป็นกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งที่ช่วงชิงอำนาจและการจัดการได้

ผมเห็นด้วยว่า 6 ตุลาคมไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมืองดังที่ อ.สุรชาติ บำรุงสุข ได้เคยกล่าวไว้ว่า “มันเป็นกระบวนการที่ถูกสร้างและสั่งสมมาของการใช้มาตรการทางทหารจัดการปัญหาคอมมิวนิสต์ที่ตกผลึกทั้งความคิดและการกระทำ เป็นจุดสูงสุดของการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงของสังคมไทย ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้สังคมไทยยุคนั้นอาจก้าวสู่สงครามกลางเมือง” และจากนั้นเมื่อธานินท์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ ก็ประกาศแผนจุลจอมเกล้าที่ระบุจะใช้เวลา 12 ปีในการทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่รัฐบาลธานินท์ก็อยู่ได้เพียง 1 ปีแล้วเกิดการรัฐประหารโดยทหารกลุ่มเดียวกัน ดึงเอาเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ มาเป็นนายกฯ เป็นการรัฐประหารที่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งภายในปีเดียว

เราจะเห็นว่าสมัยก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องภายในของผู้มีอำนาจ แต่หลัง 2540 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญต้องผ่านการทำประชามติ ฉบับปี 2550 สำคัญยิ่งยวดในการสร้างกติกาที่ไม่ยืดหยุ่นต่อความท้าทายในอนาคต และวิธีที่จัดการง่ายที่สุดคือฉีกทิ้ง

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2521 หลายคนบอกเป็นช่วงประชาชนฟื้นตัว เป็น “อาการลงแดง” ของชนชั้นกลาง กลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวสังคมนิยม และผมว่ามันสะท้อนชัดอีกครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพียงแต่เปลี่ยนตัวละคร ปัจจัย ทำให้คนจำนวนมากยอมทิ้งหลักการ หันไปยอมรับโอบกอดเผด็จการทหาร

เงื่อนไขของร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่อะไร ถ้าประชามติไม่ผ่านคงต้องนับศูนย์ใหม่ แต่ถ้าผ่าน มีการเลือกตั้ง มีสถาบันการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราอ่านได้จากกรณีรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งอาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน เคยกล่าวไว้ว่า รัฐประหาร 20 ตุลาคม เป็นเรื่องอำมาตย์ที่มีปฏิกิริยาต่อรัฐบาลขวาจัด เป็นระบอบเผด็จการครึ่งใบ ขณะที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก สรุปว่า เป็นระบอบการเมืองที่ไม่ได้ให้อะไรนอกจากแนวทางอันต่อเนื่องจากการปฏิวัติที่ชาญฉลาดขึ้นในทางการเมือง ด้วยการผ่อนปรนการกดขี่จากอดีต แต่หากดูการมีส่วนร่วมโดยรวมแล้วยังไม่กระจายสู่ผู้ยากไร้วงกว้างอย่างแท้จริง ที่สำคัญมันทำให้เกิดนักการเมืองข้าราชการ

“ผมไม่ได้พูดถึงอนาคต แต่พูดถึงผลของรัฐธรรมนูญ 2521”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท