ปอท.ให้คาถากันภัยผู้ใช้อีเมล์-เฟซบุ๊ก ป้องหลอกโอนเงิน ระบุห้ามมึน ห้ามซื่อ ห้ามขี้เกียจ

ผบก.ปอท. ระบุ 3 เดือนผ่านมา คนไทยโดนแฮ็ก เฟซบุ๊ก-อีเมล์ ถูกหลอกโอนเงินกว่า 20 ล้าน ชี้วิธีที่คนร้ายใช้ขโมย PASSWORD เช่น เดาจากเลขวันเดือนปีเกิด หรือเบอร์โทร สร้างหน้าเพจปลอมขึ้นมา แล้วแจ้งว่า PASSWORD ของท่านกำลังจะหมดอายุ  หรือปล่อย SPYWARE เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ 

 
พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผบก.ปอท.
 
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผู้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวถึงภัยออนไลน์ว่าในระยะเวลา 3 เดือนผ่านมา คนไทยโดนแฮ็ก เฟซบุ๊กและอีเมล์ และสร้างความเสียหาย โดยถูกหลอกโอนเงินกว่ายี่สิบล้านบาท ส่วนวิธีที่คนร้ายใช้ในการหลอกขโมย PASSWORD  สำหรับแฮ็กเฟซบุ๊กนั้นมี  3 วิธี  วิธีแรกคือเดาจากเลขวันเดือนปีเกิด หรือเบอร์โทรศัพท์ และเหยื่อการเดา PASSWORD จะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป  เนื่องจากมักตั้ง PASSWORD เป็นวันเดือนปีเกิดและเบอร์โทรศัพท์เพื่อกันลืม ซึ่งเป็นการง่ายที่คนร้ายจะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้บนอินเตอร์เน็ต    
 
วิธีต่อมาคือ สร้างหน้าเพจปลอมขึ้นมา แล้วแจ้งว่า PASSWORD ของท่านกำลังจะหมดอายุ หรือแจ้งว่ามีคนร้ายกำลังจะแฮ็ก เฟซบุ๊ก  เพื่อความปลอดภัยให้คลิกไปตามลิงค์ที่ให้มาเพื่อทำการเปลี่ยน PASSWORD ใหม่ โดยเมื่อหลงกลคลิกไปตามลิงค์หน้าเพจ ปลอมนั้น  ก็จะให้เราใส่ PASSWORD อันใหม่และ PASSWORD ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้คนร้ายได้ PASSWORD ไปทันที  ส่วนวิธีสุดท้ายคือคนร้ายจะปล่อย SPYWARE เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์  โดยที่ SPYWARE นั้นทำลายระบบ และเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั่นก็แปลว่าคนร้ายจะสามารถรู้ PASSWORD ได้ทันที
 
สำหรับการแฮ็กเฟซบุ๊ก สิ่งที่สร้างความเสียหายคือ โจรจะสวมรอยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก และส่งข้อความหาเพื่อนๆ ญาติๆว่ากำลังเดือดร้อน หรือต้องการใช้เงินด่วนให้โอนเงินไปให้ตามเลขที่บัญชีที่โจรให้มา ถ้าเกิดหลงเชื่อขึ้นมา พวกเขาต้องมาสูญเสียเงินมากมายให้โจรไป ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนตกเป็นเหยื่อ จำนวนมากดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนว่าห้ามตั้ง PASSWORD เป็นหมายเลขดังกล่าวเด็ดขาด งดข้อมูล PASSWORD ในหน้าเพจที่ส่งมาหรือตามลิงค์ต่างๆ หากต้องการเปลี่ยน PASSWORD สิ่งที่ควรทำคือการเข้าไปที่เว็ปไซต์ของเฟสบุ๊กโดยตรงเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลคือ และท้ายสุดให้ไปตั้งค่าระบบความปลอดภัยของเฟซบุ๊ก ซึ่งได้มีรองรับ และหากมีเพื่อนเฟซบุ๊กมาหาและบอกให้เราโอนเงินให้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ต้องโทรเช็คเจ้าตัวโดยตรงทุกครั้งว่าข้อความที่ส่งมาเป็นของเขาจริงหรือเปล่า
 
สำหรับการแฮ็กอีเมลล์นั้น ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะเป็นบริษัทที่ต้องติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศทางอีเมลล์  เมื่อแฮ็กไปเข้าอีเมล์แล้ว โจรจะเฝ้าดูการโต้ตอบอีเมล์อย่างใจเย็น รอจนถึงเวลาที่สั่งสินค้า และโอนเงินค่าสินค้าไปให้บริษัทนั้น จังหวะนี้โจรจะสวมรอย ส่งอีเมล์มาแจ้งว่าบริษัทได้เปลี่ยนบัญชีรับโอนเงินเป็นบัญชีใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือบัญชีของโจรนั่นเอง
 
สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปตั้งค่าความปลอดภัยเพิ่มเติมในกรณีนี้คือ ต้องใส่รหัสพิเศษอีกตัวที่ทาง ผู้ให้บริการอีเมล์เช่น GMAIL, HOTMAIL หรือ YAHOO จะส่งมาให้ทางมือถือทาง SMS เพื่อใส่ควบคู่กับ PASSWORD ไปด้วย โดยรหัสนี้  (รหัส OTP) จะถูกส่งมายังมือถือเท่านั้นทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าอีเมล์ของคุณได้แน่นอน ซึ่งระบบความปลอดภัย 2 ชั้นแบบนี้ ค่ายอีเมล์ต่างๆมีให้ทุกคนได้ใช้ฟรี แค่สละเวลาเพียงสองสามนาที การทำธุรกิจก็จะปลอดภัยขึ้น
 
หากอยู่ๆบริษัทที่เราเคยซื้อของกันเป็นประจำอยู่แล้ว ส่งอีเมล์มาแจ้งว่าบริษัทได้เปลี่ยนเลขที่บัญชีในการโอนเงินเป็นอีกบัญชีหนึ่ง แล้วบอกให้เราโอนเงินค่าสินค้าที่จะซื้อไปยังบัญชีใหม่แทน ห้ามเชื่อเด็ดขาด ต้องได้รับการยืนยันทางโทรศัพท์เท่านั้นถึงจะมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกหลอก เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าอีเมล์ที่ได้รับไม่ได้มาจากบริษัท แต่มาจากคนร้ายนั่นเอง
 
ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลสูงสุดในการป้องกันผู้ประกอบการจากการตกเป็นเหยื่ออีเมล์สแกม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจึงได้ร่วมมือทุกธนาคาร โดยส่งวิทยากรเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรมพนักงานธนาคารที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การโอนเงินต่างประเทศ และการบริการลูกค้า เพื่อให้นำความรู้ไปแนะนำลูกค้า โดยเนื้อหาในการอบรมจะครอบคลุมถึงทุกมิติของการหลอกลวงทางอีเมล์ เช่นลักษณะคดีที่เกิดขึ้น พฤติการณ์และกลอุบายของอาชญากร วิธีการสังเกตและป้องกัน รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตัวของลูกค้าหากพบว่าตนเองตกเป็นเหยื่ออีเมล์สแกมแล้ว โดยบก.ปอท. และธนาคารทุกธนาคารเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะสามารถป้องกันผู้ประกอบการจากการตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งเป็นการยกระดับการให้บริการของธนาคารในการดูแลลูกค้าต่อไป
 
ทั้งนี้ ผบก.ปอท. ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าหากประชาชนต้องการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยโดยเฉพาะการไม่ตกเป็นเหยื่อหลอกโอนเงินนั้น มีคาถาสั้นๆอยู่เพียง 3 ข้อที่อยากให้จำไว้เสมอเมื่อต้องอยู่ในโลกออนไลน์คือ 1. ห้ามมึน คืออย่าเป็นเพียงผู้ใช้เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจหาความรู้ในการป้องกันตัวเองเลย ประชาชนต้องคอยหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอทั้งในเรื่องการป้องกัน และอาชญากรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น 2. ห้ามซื่อ เนื่องจากคนร้ายมีวิธีการหลอกลวงต่างๆมากมายเพราะฉะนั้นต้องหัดเป็นคนช่างสังเกตและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เพราะแทบทุกสิ่งในโลกออนไลน์นั้นสามารถปลอมได้หมด และ 3.อย่าขี้เกียจ นั่นคือถ้าหากผู้ให้บริการต่างๆมีระบบความปลอดภัยอะไรมาให้ใช้ ต้องใช้ให้หมด อย่าขี้เกียจไปเซ็ตค่าทั้งที่จริงแล้วใช้เวลาเพียงไม่เกิน 5 นาที ดีกว่าต้องเสียเงินมากมายให้คนร้ายไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท