Skip to main content
sharethis

สำรวจพื้นที่การรับรู้และความทรงจำร่วมสมัยที่มีต่อ เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้ก่อการคณะราษฎร “สายวิทยาศาสตร์” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก หัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม และข่าวเรื่องหวย 36 ล้านจาก ดร.ตั้ว

โดยเรื่องเล่าของ ดร.ตั้ว กลับมาใหม่อีกครั้งในช่วงต้นปี 2547 เมื่อบุคลากรองค์การเภสัชกรรมถูกหวยรางวัลที่ 1 รวม 6 ราย เป็นเงิน 36 ล้าน ตามมาด้วยเหตุการณ์นักเสี่ยงโชคแห่ไปรูปปั้น ดร.ตั้ว กินเวลา 2 งวดติดต่อกัน

รูปปั้นเภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้ก่อการคณะราษฎรและผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม รูปปั้นตั้งอยู่ที่หน้าตึกบัญชาการองค์การเภสัชกรรม ถ.พระราม 6 นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกันคือที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ.พระราม 6 มีรูปปั้นครึ่งตัวของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม อีกด้วย

ในเช้าวันที่เมฆฝนครึ้มตั้งท่าจะตกอยู่ตลอดเวลา ที่มุมเล็กๆ ภายในรั้วขององค์การเภสัชกรรม ติดถนนพระราม 6 ตรงข้ามโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นที่ตั้งของรูปปั้นครึ่งตัวของ เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก ผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม และสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

อาจกล่าวได้ว่ารูปปั้นของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นหนึ่งในพื้นที่ความทรงจำรำลึกที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรแบบรายปัจเจกบุคคล เช่นเดียวกับ อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี และที่หน้าโรงงานน้ำตาล อ.เกาะคา จ.ลำปาง อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่วงเวียนศรีสุริโยทัย จ.ลพบุรี และที่ศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ อ.หล่มศักดิ์ จ.เพชรบูรณ์ รวมทั้งศาลหลวงศุภชลาศัย ที่สนามศุภชลาศัย เขตปทุมวัน ฯลฯ

โดยที่ฐานรูปปั้น ดร.ตั้ว ยังพวงมาลัย พวงมาลัยเจ็ดสี และผ้าแพรอยู่บ้าง นัยว่ายังถูกจดจำและมีผู้มาสักการะรูปปั้นของ ดร.ตั้ว อยู่เป็นระยะ แน่นอนย่อมไม่ต่างจากพื้นที่ความทรงจำต่อคณะราษฎรในจุดอื่นๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายและการจดจำ และมีไม่น้อยที่ถูกทำให้พร่าเลือนหรือหายไปตามกาลเวลาหรือบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง

000

ข้างๆ ตึกอำนวยการองค์การเภสัชกรรม คือโรงอาหารและเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ที่นั่นเราได้มีโอกาสสนทนากับ ปราณี มั่นคง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ซึ่งกล่าวถึง ตั้ว ลพานุกรม ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรมว่า "องค์การเภสัชกรรมก่อตั้งขึนเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ทุกวันที่ 5 สิงหาคม จึงถือเป็นวันสถาปนาองค์การเภสัชกรรม กิจกรรมหนึ่งคือวางพวงมาลาเพื่อเคารพและรำลึกถึงพระคุณของ ดร.ตั้ว ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม โดยบุคลากรในองค์การเภสัชกรรมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างรับรู้เกี่ยวกับผลงานของตั้ว ลพานุกรม"

 

ชีวิตและการศึกษาของตั้ว ลพานุกรม

ตั้ว ลพานุกรม ภาพจากหนังสือ “ดร.ตั้ว ลพานุกรม เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"

 

จากข้อมูลใน วิกิพีเดีย และ หนังสือ "ดร.ตั้ว ลพานุกรม เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย" โดย ภญ.สำลี ใจดี และคณะ พิมพ์เมื่อปี 2552 นั้น ตั้ว ลพานุกรม เกิดเมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 ที่บ้านตำบลถนนสุรวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายเจริญ และนางเนียร ลพานุกรม มีพี่น้อง 5 คน จบการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมเทพศิรินทร์ และโรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปภัมภ์) และได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ไปศึกษาต่อวิชาสามัญ ณ ประเทศเยอรมนี โดยทุนส่วนพระองค์ เมื่อปลายปี 2453

ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 เป็นช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ไทยประกาศสงครามกับเยอรมนี ตั้วจึงถูกจับเป็นเชลยศึกไปคุมขัง ณ ค่ายคุมขังเมือง Celle เขามีโอกาสศึกษาภาษาเพิ่มเติม ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมนี ภาษาฝรั่งเศส ตลอดจนศาสตร์อื่นๆ อย่าง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเรียนเป่าขลุ่ยฝรั่ง

ภายหลังการพักรบสงครามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 ตั้วพ้นจากการเป็นเชลยศึก และเดินทางจากเยอรมนีไปยังประเทศฝรั่งเศส สมัครเข้ากองรถยนต์ไทยที่ไปงานพระราชสงครามยุโรป โดยเขาทำให้เขาทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน และเรียนรู้วิธีการทหาร ต่อมาได้รับยศจ่านายสิบแห่งกองทัพบกไทย และได้รับเหรียญดุษฎีมาลาของรัฐบาลฝรั่งเศส ตั้วเดินทางกลับถึงประเทศไทยพร้อมกองทหารอาสาเมื่อปี พ.ศ. 2462

ปลายปี พ.ศ. 2462 ตั้วได้เดินทางกลับไปบังยุโรปเพื่อศึกษาต่อ โดยทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เข้าศึกษาวิชาเคมีในมหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น และมหาวิทยาลัยแห่งเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสอบไล่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตชั้นเกียรตินิยม โดยเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง "The Influence of Chemical Composition on the Structure of Crystals" ในปี พ.ศ. 2470

 

หนึ่งในผู้ก่อการคณะราษฎร

ทั้งนี้ ตั้วเป็น 1 ใน 7 ผู้ก่อการคณะราษฎรด้วย โดยนักเรียนไทยในยุโรปรวม 7 คน ประกอบด้วย ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส, ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ หรือ ป. พิบูลสงคราม นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส, แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ และตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งหมดประชุมกันที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 นานติดต่อกัน 4 คืน 5 วัน เพื่อวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 6 ด้าน โดยเรียกกันต่อมาว่าเป็น “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร”

ภายหลังสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต เขาเดินทางไปศึกษาต่อในวิชาเภสัชศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมนี และวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2473 แล้วนั้น ตั้วได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยได้แวะไปดูงานทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย และอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก่อนกลับ

เมื่อกลับเข้ารับราชการ เขาเริ่มงานราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 2 ในศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก เมื่อทำงานไปได้เพียงครึ่งปี ก็ได้ร่วมกับคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยในเช้าตรู่ของวันดังกล่าว ตั้ว ลพานุกรม ร่วมเดินทางไปสู่จุดนัดหมายที่บางซื่อ โดยนั่งรถยนต์คันเดียวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลย์เดชจรัส

 

ตั้ว ลพานุกรม ระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.. 2483 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

 

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลคณะราษฎร 2 สมัยแรก สมัยแรกเป็นกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเมื่อมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เขามีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้ออกจากตำแหน่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 นอกจากนี้เขายังมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกันด้วย

เขากลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2481 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเป็นรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งเป็นกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน โดยเขาอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ เมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 รวมอายุได้ 43 ปี และได้รับการยกย่องให้เป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"

 

000

งานบุกเบิกด้านหน่วยงานราชการทางวิทยาศาสตร์

เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 เขาได้กลับมาทำงานด้านวิทยาศาสตร์ต่อ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477 ได้รับตำแหน่งเป็นนักเคมีและรักษาการตำแหน่งเจ้ากรมของศาลาแยกธาตุ

จนกระทั่งเดือนเมษาน พ.ศ. 2478 ศาลาแยกธาตุได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมวิทยาศาสตร์ สังกัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) โดยเขาจึงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก โดยตั้ว ได้จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์ เพื่อฝึกหัดนักเรียนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาโดยบริบูรณ์จากระดับมัธยมศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญทางเคมียิ่งขึ้น

ตั้วให้ความสนใจกับงานวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการวิจัยที่เกี่วข้องกับงานเกษตรกรรม กรมวิทยาศาสตร์ได้วิจัยและส่งเสริมเกี่ยวกับพืชผลการเกษตร เช่น การวิจัยเถ้าไม้เพื่อใช้ทำปุ๋ย การวิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู เกลือ เครื่องปั้นดินเผา งานการสำรวจวิเคราะห์ดิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสนใจด้านการอาหารของประเทศไทยโดยตั้วเป็นผู้ริเริ่มการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ตั้วดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐการด้วยโดยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ไปควบคู่กัน นอกจากนี้ตั้วยังส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ภาษาไทย และวารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไทยในภาษาอังกฤษชื่อ Siam Science Bulletin

 

งานริเริ่มด้านเภสัชกรรม เพื่อลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากต่างชาติ

ทั้งนี้เขาเคยเขียนบทบรรณาธิการหัวข้อ “งานเภสัชกรรม” ลงในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 ตอนหนึ่งย้ำถึงความสำคัญของงานเภสัชกรรม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพึ่งตนเองของรัฐบาลในสมัยคณะราษฎรว่า

รัฐบาลของเรามีความรู้สึกเป็นห่วงในเรื่องนี้เป็นอันมาก จึงคิดหาวางนโยบายพึ่งตนเองก่อนโดยวางโครงการส่งเสริม ขึ้นเป็นต้นว่า ขยายมาตรฐานและปรับปรุงการศึกษาวิชาเภสัชกรรมในมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น เพื่อเพาะผู้มีความรู้ในทานี้ ตั้งกองเภสัชกรรมขึ้น เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องของยา และจะได้สร้างโรงงานทำยาขึ้นในลำดับถัดไป ไม่แต่ประเทศเราเท่านั้น ที่สนใจในเรื่องนี้ ต่างประเทศที่กำลังรู้สึกตัว และหาทางก้าวไปข้างหน้าอย่างเรา ก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน เช่น เปอร์เซียและอียิปต์ เขาได้จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมาวางรากฐานสร้างสถานการศึกษาวิชาเภสัชกรรมขึ้น โดยไม่คำนึงถึงว่า ทุนที่ต้องลงเป็นเดิมพันนั้นเป็นจำนวนเท่าใด

ถ้าจะกล่าวถึงความจำเป็นในการที่เราจะต้องส่งเสริมการเภสัชกรรมเป็นข้อๆ ก็จะได้ดังต่อไปนี้

1. ยาเป็นวัตถุที่มีค่าเหมือนดาบสองคม คือ ถ้าใช้ดีก็เป็นประโยชน์ ใช้ไม่ดีก็เป็นโทษ ฉะนั้นการปรุงยาก็ดี การจำหน่ายก็ดี จึงจำเป็นต้องกระทำโดยผู้มีความรู้ดีและได้รับการศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี ข้อนี้เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นส่วนใหญ่

2. ประเทศเราอุดมไปด้วยพืชสมุนไพรและสิ่งอื่นๆ ที่อาจใช้เป็นยารักษาโรคได้ แต่เรายังมิได้ศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง สรรพคุณอันวิเศษต่างๆ จึงไม่ปรากฏชัดขึ้นตามหลักวิชาการ ถ้าหากเราเริ่มศึกษาค้นคว้าเป็นหลักฐานก็เชื่อว่าจะสามารถดัดแปลงใช้เป็นยารักษาโรคได้เป็นอันมาก ข้อนี้เกี่ยวกับการขุดทรัพย์อันไม่เกิดประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ขึ้น เหมือนกับการขุดแร่ แร่ธรรมดาอยู่ในดินก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่เมื่อขุดขึ้นมาแล้วจึงเป็นทรัพย์ที่มีประโยชน์

3. ในปีหนึ่งๆ ประเทศเราสั่งยามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนล้านๆ บาท เช่น เมื่อ พ.. 2476 เป็นเงิน 1,835,761 บาท พ.. 2480 เป็นเงิน 2,143,441 บาท เป็นต้น ถ้าหากเราทำยาของเราเองขึ้น และใช้ประโยชน์ได้เท่ากันแล้ว เราก็จะสามารถตัดรายจ่ายจำนวนมหึมานี้ลงได้มาก ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจมีสมุนไพรบางอย่างที่เราสามารถจะจำหน่ายให้แก่ต่างประเทศได้ด้วย นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ

4. ในการประการที่สำคัญยิ่ง ก็คือ ในยามฉุกเฉิน เป็นต้นว่าเกิดสงครามขึ้น ถ้าเรายังจำเป็นต้องซื้อยาจากต่างประเทศอยู่แล้ว เมื่อการคมนาคมถูกตัดขาดหรือการซื้อขาย กระทำไม่ได้เหมือนยามปกติ เราจะเอายาที่ไหนมารักษาทหารที่ป่วยเจ็บตลอดจนประชาชนพลเมืองทั่วๆ ไป นี่แหละคือความจำเป็นที่เราต้องส่งเสริมการเภสัชกรรมขึ้นเสียแต่เวลานี้ อย่าได้นึกหวังพึ่งคนอื่นเป็นอันขาด ทุกคนจะต้องรู้จักพึ่งตนเองเสมอไป”

 

ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านเภสัชศาสตร์ครั้งแรก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้ว ลพานุกรม ให้ความสำคัญการกับศึกษาเภสัชศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีกฎหมายรองรับวิชาชีพเภสัชกรรม มีเพียงการรองรับสิทธิการปรุงยาในพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 ทำให้การขายยาเกิดขึ้นโดยไม่ต้องฝึกปฏิบัติทางเภสัชกรรมมาก่อน ประกอบกับการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์ซึ่งอยู่ในฐานะแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิราชพยาบาลไม่ได้รับการสนุบสนุนงบประมาณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้วจึงได้ส่งเสริมการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์โดยจัดหาครูจากกระทรวงและกรมทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมาสอนในแผนกปรุงยา ตั้วยังมีบทบาทในการยกระดับแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2477 ซึ่งแผนกดังกล่าวจะกลายเป็นคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 มีคำสั่งแต่งตั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ ตั้ว ลพานุกรม ซึ่งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ และรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐการ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีการจัดการศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างอาคารเรียนของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์เปิดใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 โดยปัจจุบันเป็นอาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ลดการพึ่งพายาต่างประเทศ จุดกำเนิดองค์การเภสัชกรรม

นอกจากบทบาทด้านการศึกษาเภสัชศาสตร์ ในสมัยที่ ตั้ว ลพานุกรม เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ ยังพิจารณาเห็นว่าประเทศไทยควรมีโรงงานผลิตยาเองเนื่องจากสมุนไพรและวัตถุดิบในประเทศก็มี และเป็นการป้องกันไม่ให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ และทำให้ประเทศมียาสำรองไว้ใช้ในยามคับขัน ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 จึงได้จัดการสร้างโรงงานเภสัชกรรมขึ้น ณ ตำบลพญาไท ในเนื้อที่ประมาณ47 ไร่

ในระยะแรกโรงงานเภสัชกรรมผลิตยาออกจำหน่ายรวม 25 ชนิด ได้แก่ยาฉีด 3 ชนิด ยาเม็ด 7 ชนิด ทิงเจอร์ 9 ชนิด ยาสกัด 1 ชนิด ยาสปิริต 1 ชนิด รวมกับยาที่เคยผลิตมาก่อนตั้งแต่กรมวิทยาศาสตร์ยังเป็นศาลาแยกธาตุอีก 4 ชนิด คือ ยารักษาโรคเรื้อนจากน้ำมันกระเบา 3 ชนิด ยาสกัดวิตามินบี จากรำข้าว 1 ชนิด

ปลายปี พ.ศ. 2483 เนื่องจากทางราชการเห็นว่าโรงงานเภสัชกรรม ดำเนินการในรูปธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมยามากกว่าวิชาการจึงแยกโรงงานเภสัชกรรมออกจากกรมวิทยศาสตร์

ภายหลังการเสียชีวิตของตั้ว ลพานุกรม ในวลาต่อมาปี พ.ศ. 2485 มีพระราชกฤษฎีกาให้โรงงานเภสัชกรรมพ้นจากสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจบริหารงานโดยคณะกรรมการอำนวยการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข

และในเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2506 คณะกรรมการอำนวยการโรงงานเภสัชกรรม และกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบที่จะรวมโรงงานเภสัชกรรมกับกองโอสถศาลาให้เป็นกิจการเดียวกัน และภายหลังจากที่มีการออกพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ก็เริ่มดำเนินงานในฐานะองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา

 

ผลงานและพันธกิจขององค์การเภสัชกรรมยุคหลังตั้ว ลพานุกรม

ปราณี มั่นคง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม

โดยผลการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมนั้น เมื่อเริ่มตั้งโรงงานเภสัชกรรมเมื่อ พ.ศ. 2482 ปีแรก มีรายได้จากการจำหน่ายยา 1 แสนบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 11.05 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2502นั้น ล่าสุดในปี 2558 องค์การเภสัชกรรมมียอดการจำหน่ายยาอยู่ที่ 12,772ล้านบาท แบ่งเป็นยาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเอง 6,552 ล้านบาท และให้ผู้อื่นผลิต 6,220 ล้านบาท โดยยาขององค์การเภสัชกรรมที่มียอดสั่งซื้อมากที่สุดเป็นยาต้านไวรัสเอดส์ ยารักษาโรคความดันและเบาหวาน ชุดทดสอบยาฆ่าแมลง ชุดทดสอบยาบ้า ในส่วนของผู้ผลิตยารายอื่นที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ชุดน้ำยาล้างไต ยาในหมวดซีแอลต่างๆ และหมวดยากำพร้าหรือยาสำหรับรักษาโรคที่พบได้น้อย

ปราณี มั่นคง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวด้วยว่า สิ่งที่องค์การเภสัชกรรมทำนั้นไม่เพียงแค่ผลิตยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น แต่ผลิตยาชนิดอื่นที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนด้วย และผลิตยาสำหรับบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายงบประมาณสูง

จรัล เพ็ชรรัตน์ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวเสริมด้วยว่า นโยบายปัจจุบันขององค์กรเภสัชกรรมคือผลิตยากลุ่มยาในกลุ่มที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับประชาชนในการรักษาโรคในประเทศไทยได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคความดันและเบาหวาน กลุ่มยารักษาโรคหัวใจ กลุ่มยารักษาเอชไอวี และกลุ่มยากำพร้า ซึ่งเป็นกลุ่มยารักษาโรคที่ไม่มีบริษัทเอกชนผลิตเพราะผลิตแล้วอาจขาดทุน

โดยที่ปัจจุบันหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายองค์กร รวมทั้ง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมมีการรณรงค์คัดค้านเนื้อหาใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ.… ซึงจะกระทบต่อระเบียบการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐที่ระเบียบพัสดุฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ระบุให้จัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อาจจะเอื้อต่อธุรกิจยาข้ามชาติ และมีผลทำลายระบบการควบคุมราคายา ที่เดิมองค์การเภสัชกรรมมีส่วนตรึงราคาไม่ให้แพงจนเกินไป

000

หวยรางวัลที่ จาก ดร.ตั้ว:

กำเนิดใหม่ของเรื่องเล่า ‘ดร.ตั้ว’ ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

บริเวณฐานรูปปั้น ดร.ตั้ว ลพานุกรม มีแผ่นโลหะจารึกประวัติโดยสังเขปของ ตั้ว ลพานุกรม ด้วย อนึ่งตัวเลขแสดงวัน เดือน ปี ที่ฐานรูปปั้นเคยถูกนำไปตีความเป็นตัวเลขเสี่ยงโชคสลากกินแบ่ง เมื่อครั้งเกิดกระแสตื่นหวย ดร.ตั้ว ช่วงต้นปี 2547

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 (ที่มาlotto.join.in.th)

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ มีนาคม 2547 (ที่มาlotto.join.in.th)

นอกจากภาพความรับรู้ต่อ ‘ตั้ว ลพานุกรม’ ในพื้นที่ทางการที่เป็น ผู้ก่อการคณะราษฎร อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก หัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรมแล้ว ตั้ว ลพานุกรม ยังถูกรับรู้ในพื้นที่ของ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ด้วย โดยภาพการรับรู้นี้เกิดขึ้นอย่างไม่ปะติดปะต่อกับภาพความรับรู้เดิมต่อ ดร.ตั้ว

ย้อนกลับไปต้นปี พ.ศ. 2547 เมื่อผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 รางวัลที่ 1 เลขที่ออกคือ

698002”

และมีบุคลากรในองค์การเภสัชกรรมถูกหวยรางวัลที่ 1 ทั้งสิ้น 6 ราย รวมเป็นเงิน 36 ล้านบาท

ปราณี มั่นคง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงเหตุการณ์บุคลากรองค์การเภสัชกรรมถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี 2547 ว่า มีคนถูกรางวัลที่ 1 พร้อมกัน 6 คน คนละ 6 ล้านบาท รวม36 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกรางวัลข้างเคียงด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

หลังจากนั้นผู้ที่ถูกรางวัลที่ 1 บางท่านก็อยู่ทำงานในองค์การเภสัชกรรมจนถึงปัจจุบัน บางท่านก็ลาออกไปประกอบอาชีพอื่นก็มี

“พอข่าวนี้ขจรขจายไปไกลก็มีคนมาสักการะและถวายดอกไม้พวงมาลา นอกจากเพื่อรำลึกถึงพระคุณและเคารพ ดร.ตั้วแล้ว บ้างก็มาไหว้เพื่อขอให้โรคภัยไข้เจ็บหายด้วย พร้อมขอให้โชคดีถูกรางวัล ซึ่งผู้คนได้มาสักการะรูปปั้น ดร.ตั้ว หลังจากเขาได้ยินข่าวคนถูกรางวัล” ปราณี เล่าย้อนความทรงจำในปี 2547

ปราณี กล่าวด้วยว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว การรับรู้ของบุคคลภายนอกองค์การเภสัชกรรมเรื่องหวย ดร.ตั้ว นั้นค่อนข้างแพร่หลาย โดยปราณีซึ่งในเวลานั้นทำงานในฐานะกรรมการสหภาพแรงงานด้วย เมื่อไปติดต่อกับองค์กรภายนอก เพื่อนมิตรภายนอกก็มักสอบถามในเชิงสัพยอกว่า “อยากมาขอเลขจาก ดร.ตั้ว บ้าง”

เมื่อถามถึงการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลของบุคลากรในองค์การเภสัชกรรมระยะหลังๆ ปราณี กล่าวว่า หลังจากนั้นคงมีการถูกรางวัลประปราย แต่หากมีคนถูกรางวัลก็คงไม่มีการเปิดเผยกันเอิกเริกแล้ว แต่เท่าที่สังเกตยังคงมีคนมาไหว้ ดร.ตั้ว อยู่เป็นระยะเพื่อขอให้ท่านช่วย ซึ่งนอกจากเรื่องหวยแล้ว ก็มีคนที่มาขอเรื่องสุขภาพด้วย

 

000

ภายหลังที่ข่าวผลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 ดังกล่าวแพร่สะพัดออกไป ทำให้คืนวันก่อนประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 1 มีนาคม 2547 มีนักเสี่ยงโชคนับร้อยมากราบไหว้เพื่อขอโชคจากรูปปั้น ดร.ตั้ว โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 พาดหัวว่า “คนแห่ขัดรูปดร.ตั้วมีเลขเด็ด” โดยรายงานบรรยากาศที่หน้าองค์การเภสัชกรรมว่า

เต็มไปด้วยความคึกคักตลอดทั้งวัน เนื่องจากมีบรรดานักเสี่ยงโชคนับร้อยคนเดินทางมากราบไหว้เพื่อขอหวย พร้อมนำดอกไม้มาบูชาและจุดธูปจนควันลอยคละคลุ้ง หลายรายหาเลขเด็ดด้วยการเพ่งดูป้ายทองเหลืองที่จารึกประวัติ ดร.ตั้ว เพื่อหาตัวเลขมาตีเป็นหวยกันตามความเชื่อ กระทั่งเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมเกรงว่ารูปหล่อ ที่เป็นที่เคารพเทิดทูนของคน ในองค์กรจะเกิดความเสียหาย จึงนำป้ายประกาศมาติดไว้ที่หน้าโต๊ะบูชาว่า ให้สักการะด้วยดอกไม้ การขัด-ขูด-ขีด ถือเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ทำให้ผู้นิยมการขูดหาเลขเด็ดต้องเปลี่ยนวิธี เป็นตีตัวเลขจากต้นไม้และวันเดือนปีเกิดของ ดร.ตั้วแทน ส่วนใหญ่มองเป็นเลข 41-84-27-21”

ต่อมาผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ มีนาคม 2547 รางวัลที่ เลขที่ออกคือ

697483”

โดยปรากฏว่ามีผู้ถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1 คือ “483” ซึ่งตรงกับเลข พ.ศ. 2483 ปีที่แยกโรงงานเภสัชกรมออกจากกรมวิทยาศาสตร์ โดยในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐขยายความว่า "เป็นปีก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม" ทำให้มีผู้ถูกรางวัลเลขท้ายทั้งแบบ “หวยบนดิน” คือสลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว ที่ออกมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (ระหว่างงวด 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546 จนถึงงวด 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549) และแบบ “หวยใต้ดิน” คือ เลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1

โดยหลังวันหวยออก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันที่ 2 มีนาคม 2547 พาดหัวข่าวว่า “หวย 'ดร.ตั้ว' เจ๋ง ฮือฮา 483 ออกมาตรงเผง” โดยระบุว่า พนักงานขององค์การเภสัชกรรมรวมทั้งประชาชนที่นิยมการเสี่ยงโชคที่มาขอเลขเด็ดจากรูปหล่อของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ต่างแทงถูกหวย 3 ตัว 2 ตัวบน ได้รับเงินรางวัลกันอย่างมากมายถ้วนหน้า โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลระบุว่าผู้แทงหวยบนดินเลข 483 และ 83 มียอดจ่ายเงินรางวัลรวมกันสูงเกือบ 300 ล้านบาท

ต่อมา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 มีนาคม 2547 พาดหัวข่าวว่า “เซียนหวย หอบดอกไม้แพรพรรณ เซ่นดร.ตั้ว” รายงานบรรยากาศที่รูปปั้น ดร.ตั้ว องค์การเภสัชกรรม หลังวันหวยออกว่า “ผู้ที่ร่ำรวยจากเลขเด็ดรูปหล่อ ดร.ตั้ว แห่กันนำดอกไม้พวงมาลัยและเครื่องเซ่นไหว้มาบูชากันเป็นแถว”

โดยผู้โชคดีรายหนึ่ง บอกว่าได้นำเลข 483 ไปแทงหวยบนดินและถูกรางวัลได้เงิน 2 แสนบาท จึงตั้งใจมาไหว้ และตั้งใจว่าในงวดหน้าจะนำวันเดือดปีเกิดของ ดร.ตั้ว ไปเป็นเลขเด็ด

ส่วน “นางพร” มาจากย่านถนนตกกล่าวว่า “เสียดายที่ถูกแค่เลขโต๊ด เพราะมัวแต่ไปแทงเลข 482 แต่ก็ได้เงินมาจำนวนไม่น้อย จึงได้นำผ้าแพรมาผูกเป็นการสักการะ”

ส่วน “นายถนัด เบิกนา” ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมในเวลานั้นกล่าวด้วยว่า “ความศักดิ์สิทธิ์ของ ดร.ตั้ว ตนเคยประสบมาแล้ว เพราะเคยนำพนักงานมาชุมนุมที่หน้าลานที่ตั้งรูปหล่อ ปรากฏว่ามีผู้ถูกหวยหลายราย รวมทั้งตนเองก็ถูกหวยเลขท้าย 309 จำนวน 10 คู่ จึงอยากให้พนักงานทุกคนสำนึกในบุญคุณและช่วยกันทำงานเพื่อประชาชนตามปณิธานของ ดร.ตั้ว”

โดย นพ.ธงชัย ทวิชาติ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมในเวลานั้น ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า “เท่าที่ทราบในงวดนี้มีพนักงานองค์การเภสัชกรรมถูกหวยหลายคน แต่ไม่มากเท่าคนนอกที่เข้ามาขอเลขเด็ด ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายที่มีคนแห่มากราบไหว้ ทั้งยังยินดีกับโชคที่คนเหล่านั้นได้รับ พนักงานก็ล้วนสุขใจที่มีโชคลาภเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในองค์กร”

อย่างไรก็ตาม ผอ.องค์การเภสัชกรรม ก็ขอร้องว่าอย่าขูดขีดรูปปั้น ดร.ตั้ว “ขอร้องเพียงว่าอย่าทำลายขูดขีดทรัพย์สินรูปหล่อ ดร.ตั้ว และในวันที่ มี.นี้ พนักงานจะไปทอดกฐินกันที่ จ.สระแก้วและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดร.ตั้วด้วย ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านนั้นมีจริง เห็นได้จากองค์การเภสัชกรรมเคยประสบเหตุร้ายหลายครั้ง ทั้งเครื่องจักรระเบิดและไฟไหม้ แต่ก็ไม่เกิดเหตุรุนแรงอะไร ส่วนฐานเก่าที่ตั้งรูปหล่อ ดร.ตั้วนั้น พนักงานร่วมกันย้ายรูปหล่อไปตั้งที่ฐานใหม่เพราะเห็นว่าฐานเก่าต่ำเกินไป ทำให้กลายเป็นความโชคดีให้ คนอื่นๆ ถูกรางวัลในงวดนี้”

จุดสูงสุดของหวย ดร.ตั้ว มาถึงวันก่อนหวยออกงวดวันที่ 16 มีนาคม 2547 โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2547 รายงานเหตุการณ์วันที่ 15 มีนาคม 2547 ก่อนวันหวยออก 1 วันว่า “มีนักเสี่ยงโชคทยอยเดินทางมากราบไหว้ขอหวยจากรูปหล่อ ดร.ตั้ว ตลอดทั้งวันนับพันคน จนดอกไม้ธูปเทียนแน่นราวแขวน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องจัดกำลัง มาคอยดูแล เนื่องจากเกรงว่านักเสี่ยงโชคบางรายจะเข้ามาขูดหาหวยจนทำให้ เกิดความเสียหายกับรูปหล่อ”

โดยเลขที่มีการเก็งนั้น นอกจากวันเดือนปีเกิดของ ดร.ตั้ว แล้วยังมีการแจกจ่ายสำเนาประวัติของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ซึ่งมีการกำหนดปี พ.ศ. ที่สำคัญในแต่ละช่วงชีวิตของผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรมออกแจกจ่ายประชาชนด้วย นอกจากนี้ นักเสี่ยงโชคบางกลุ่มใช้วิธีเพ่งมองด้านหลังรูปหล่อ ดร.ตั้ว เพื่อนำไปซื้อหวย

ส่วนแผงลอตเตอรี่นับสิบแผงที่มาขายภายในองค์การเภสัชกรรมระบุว่า เลขยอดฮิตวนเวียนอยู่ที่วันเดือนปีเกิด และตายของ ดร.ตั้ว ได้แก่ 484, 441, 475, 509 และเลขที่มีคนแห่ซื้อก็คือ 43 ซึ่งเป็นเลขที่ตรงกับอายุของ ดร.ตั้ว โดยนักเสี่ยงโชคบางรายได้นำเลขศูนย์มารวมด้วย ทำให้ตีเป็นเลข 043 และ 034 ทำให้ราคาขายลอตเตอรี่พุ่งสูงถึง 150 บาทต่อคู่ ขณะที่หวยบนดินก็มีคนซื้อเลขนี้กันมาก

เจ้าหน้าที่ รปภ. ขององค์การเภสัชกรรมกล่าวด้วยว่า มีประชาชนจากต่างจังหวัดไกลๆ เดินทางมาขอหวยกันเป็นจำนวนมาก โดยเขาไม่รู้สึกหนักใจ เพราะส่วนใหญ่ปฏิบัติตามคำแนะนำคือ ห้ามขูดขีดที่รูปหล่อ “แต่ยังมีบ้างที่แอบเอาแผ่นทองมาปิดหรือใช้หัวแม่มือถู แต่เมื่อพบเห็น ก็จะเตือนไป” โดยงวดนี้เขาจะลองเสี่ยงโชคดูบ้าง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเล่นหวยมาก่อน “เพราะเชื่อว่าบารมีท่านกำลังแรง”

ทั้งนี้ นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ในเวลานั้นกล่าวด้วยว่า “การที่มีประชาชนจากภายนอกมาขอหวยและกราบไหว้สักการะ ดร.ตั้ว “คนในองค์การฯ เห็นแล้วรู้สึกมีความสุข แต่ไม่อยากให้มองแค่มุมแคบๆ เฉพาะแค่มาขอหวย เพราะ ดร.ตั้วนั้น ท่านมีเกียรติประวัติที่เป็นคุณประโยชน์มากมาย” โดย ผอ.องค์การเภสัชกรรมยังมอบหมายให้คณะกรรมการดูแลเรื่องการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณลานอเนกประสงค์ให้สวยงามขึ้น” อย่างไรก็ตาม ผอ.องค์การเภสัชกรรมได้เตือนนักเสี่ยงโชคด้วยว่า “ไม่อยากที่จะให้ลำบากเดินทางมาไกลๆ การเสี่ยงโชคนั้นขอให้ทำแค่พอสนุก ไม่ใช่หวังร่ำรวย เพราะเป็นการพนันที่มีความเสี่ยงสูง”

อย่างไรก็ตามนักเสี่ยงโชคจากหวย ดร.ตั้ว ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน เมื่อผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 มีนาคม 2547 รางวัลที่ 1 คือ

615366”

ซึ่งไม่ตรงกับเลขเด็ดที่นักเสี่ยงโชคได้จากรูปปั้น ดร.ตั้ว โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2547 รายงานว่า เลขยอดนิยมที่ประชาชนแห่ซื้อหวยบนดินงวดประจำวันที่ 16มีนาคม 2547 ได้มาจากเลขเด็ด ดร.ตั้ว ลพานุกรม โดยเฉพาะ 441 และ 41 ที่ฝ่ายสารสนเทศ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพบว่ามียอดแทงเป็นเงินรวมทั้งสิ้นหลายสิบล้านบาท หากเลขดังกล่าวถูกรางวัล สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องจ่ายเงินรางวัลไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท โดยระหว่างการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 มีนาคม 2547 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานบรรยากาศลุ้นผลรางวัลของผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในฐานะผู้จ่ายรางวัลว่า

ผู้บริหารสำนักงานสลากฯ จึงนั่งลุ้น อย่างใจจดใจจ่อ เพราะเมื่องวดวันที่ มี.ที่ผ่านมา เลขดัง ดร.ตั้ว เคยออกตรงเผง มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อการหมุนวงล้อรางวัลที่หนึ่งจบลง มีเสียงฮือฮาลั่นห้องออกรางวัล เนื่องจากเลขท้ายสองตัวล่างคือ 69 ส่วนเลขท้ายสองตัวบน เป็นเลขเบิ้ล 66 นักเลงหวย ที่เก็งเลขเด็ด ดรตั้วถึงกับซึม แต่ผู้บริหารสำนักงานสลากฯ อมยิ้ม เพราะมียอดจ่ายรางวัล ราว 660 ล้านบาท”

เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายแล้วสำนักงานสลากฯมีกำไรเหนาะๆ ประมาณ 300 ล้านบาท”

 

 

ข้อมูลประกอบ

กว่าจะเป็นองค์การเภสัชกรรม, เว็บไซต์องค์การเภสัชกรรม [เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2559]  http://www.gpo.or.th/Default.aspx?tabid=63

ตั้ว ลพานุกรม, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี [เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2559]

ประวัติคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2559]

ภญ.สำลี ใจดี และคณะ, "ดร.ตั้ว ลพานุกรม เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย" กรุงเทพฯ: มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) และแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), 2552 [ระบบออนไลน์]

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, “รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย” ใน ภญ.สำลี ใจดี และคณะ (เรื่องเดียวกัน)

อรรคพล สาตุ้ม, "ศิลปกรรม" อนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ตั้ว ลพานุกรม-พูนศุข พนมยงค์ และประชาชน, Blogspot, 11 มกราคม 2552

รายได้องค์การเภสัชฯ ปี 58 สูงกว่าหมื่นล้านบาท, สำนักข่าวไทย, 10 พฤศจิกายน 2558

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 25 กุมภาพันธ์ 2547

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 2 มีนาคม 2547

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 3 มีนาคม 2547

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 16 มีนาคม 2547

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 17 มีนาคม 2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net