Skip to main content
sharethis

สเปนมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (26 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่สามารถตกลงกันได้ในสภาหลังการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว แต่เดอะการ์เดียนรายงานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังไม่ทำให้สเปนพ้นจากทางตันเพราะถึงแม้ว่าพรรคประชาชนสเปนหรือพีเพิลปาร์ตีซึ่งเป็นพรรคสายอนุรักษ์นิยมจะยังชนะคะแนนเมื่อเทียบกับพรรคอื่นแต่ไม่สามารถกุมเสียงข้างมากในสภาไว้ได้

27 มิ.ย. 2559 ผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ออกมาว่าพรรคพีเพิลปาร์ตี (PP) ชนะที่นั่ง 137 ที่นั่งในสภาคิดเป็นร้อยละ 32.5 ตามมาด้วยพรรคสังคมนิยมแรงงาน (PSOE) ซึ่งเป็นพรรคซ้ายกลางชนะที่นั่งในสภา 85 ที่นั่งคิดเป็นร้อยละ 23.08 และพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายอย่างยูนิดอส โปเดมอส ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และผลเอ็กซิทโพลล์เปิดเผยว่าอาจจะได้คะแนนเสียงมากครั้งประวัติศาสตร์จนกลายเป็นพรรคอันดับ 2 ได้ แต่ผลออกมาปรากฏว่าพวกเขายังคงอันดับที่ 3 โดยมีที่นั่งในสภา 71 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 21.11 ซึ่งมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้

แต่ถึงแม้ว่าพรรคพีเพิลปาร์ตีจะมี ส.ส.ชนะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่มากพอจะกุมเสียงข้างมากในสภาล่างของสเปนคือจำนวน 176 ที่นั่งเอาไว้ได้จากทั้งหมด 350 ที่นั่ง

เว็บไซต์บลูมเบิร์กนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการพยายามทำคะแนนของพรรคอนุรักษ์นิยมพีเพิลปาร์ตีซึ่งนำโดยมาริอาโน ราฮอย ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่มีขึ้น เพราะเกรงว่าพรรคการเมืองแนวร่วมฝ่ายซ้ายยูนิดอส โปเดมอส ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากจะกลับมาเอาชนะได้ในการเลือกตั้งทั่วไปของสเปนครั้งล่าสุด โดย ราฮอยใช้โอกาสที่เกิดการลงประชามติ Brexit อ้างว่าเขาเป็นผู้เดียวที่จะทำให้ประเทศมีรัฐบาลสายกลางที่มั่นคง และบอกว่าจะพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ คอยสอดส่องขบวนการเรียกร้องเป็นอิสระของชาวคาตาลัน การต่อสู้กับการก่อการร้าย และส่งเสริมความร่วมมือกับสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตามบลูมเบิร์กระบุว่าในช่วงวันก่อนการเลือกตั้งสื่อในสเปนก็นำเสนอเรื่องอื้อฉาวของรักษาการรัฐมนตรีกิจการภายในเรื่องการรั่วไหลของบันทึกหลักฐานบ่งบอกว่าพวกเขามีการหารือเกี่ยวกับการต่อต้านฝ่ายแบ่งแยกชาวคาตาลัน เรื่องนี้ชวนให้ชาวสเปนนึกถึงกรณีอื้อฉาวด้านการเงินและการรับสินบนที่เคยเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่พรรคในมาดริดและวาเลนเซีย แต่ผู้นำพรรคพีเพิลปาร์ตีก็ยังคงพยายามส่งสารไปถึงทุกคนในสเปนว่าพรรคของเขาจะเป็นพรรคเดียวที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้และทำให้สิ่งต่างๆ ดำเนินต่อไป

ทว่าในสเปนนั้นกลุ่มพรรคการเมืองอื่นๆ นอกจากพรรครัฐบาลต่างก็มีท่าทีต่อต้านการเมืองรูปแบบเดิมๆ จนทำให้เกิดภาวะทางตันในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว จากที่พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งจากเรื่องตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา และการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งที่ 1 ในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วไม่สามารถหาผู้ชนะขาดลอยและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เนื่องจากความเห็นไม่ลงรอยกันในรัฐสภาทำให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตราที่ 99.5 ให้พระราชาของสเปนสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้พรรคพีเพิลปาร์ตีชนะที่นั่ง 123 ที่นั่ง พรรคสังคมนิยมแรงงานชนะที่นั่ง 90 ที่นั่ง ขณะที่พรรคโปเดมอสที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรกได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 5 ล้านเสียง ชนะที่นั่งในสภา 69 ที่นั่ง

 

เรียบเรียงจาก

Rajoy Tackles Podemos in Spanish Vote as Brexit Roils Europe, Bloomberg, 25-06-2016
http://www.bloomberg.com/news/articles/2016-06-25/rajoy-tackles-podemos-in-spain-vote-as-brexit-deepens-eu-crisis

Spanish elections: initial results say renewed deadlock beckons, The Guardian, 26-06-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/jun/26/spanish-elections-exit-polls-show-deadlock-likely-to-continue

Spanish election: Deadlock as PP still short of a majority, BBC, 27-06-2016
http://www.bbc.com/news/world-europe-36632276


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Spanish_general_election,_2016

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net