เค้าโครงเศรษฐกิจ ของ รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ สู่ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

<--break- />

 

ประเด็น “การรับรองกรรมสิทธิของเอกชน ให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ซึ่งเอกชนหามาได้ และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐคิดค้นของบุคคล” แนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักการของลัทธิเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับกรรมสิทธิ์ของเอกชนเพื่อจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและมีการสะสมทุนได้

ประเด็น “การจัดให้รายจ่ายและรายได้เข้าสู่ดุลยภาพ ทั้งดุลยภาพภายในและดุลยภาพระหว่างประเทศ” สะท้อน แนวคิดเรื่องการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การรักษาวินัยการเงินการคลังซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงยึดถือแนวทางนี้ในการบริหารเศรษฐกิจกันอยู่

ประเด็น “การที่รัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจที่มีพลเมืองกว่า 11 ล้านคน เช่นประเทศไทย

จำเป็นต้องแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์ต่างๆ  โดยสมาชิกรวมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือ ร่วมกันประดิษฐ์ จำหน่าย ขนส่ง จัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่  โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและทุน และสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง” เป็นการให้ความสำคัญกับ ระบบสหกรณ์ แต่ ระบบสหกรณ์ของไทยในวันนี้ก็ยังไม่เข้มแข็ง

ประเด็น “รัฐบาลต้องถือหลักว่าจะต้องจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยต่างประเทศ เพื่อป้องกันอันตรายจากการปิดประตูทางการค้า เพื่อให้ประเทศมีเอกราชในทางเศรษฐกิจ” สะท้อนแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากบริบทสภาพแวดล้อมในยุคนั้น ส่วนในยุคโลกาภิวัตน์

ประเด็น “การจัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้มีสภาทำหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เกี่ยวกับกสิกรรม อุตสาหกรรม ขนส่งและคมนาคม การจัดสร้างที่อยู่ให้ราษฎร” สิ่งนี้เป็นข้อเสนอที่ต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดขึ้น ข้อเสนอนี้ เทียนวรรณ หรือ พระยาสุริยานุวัฒน์ ก็ได้มีการนำเสนอการทำแผนพัฒนาทำนองเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบเสรีนิยมมีบทบาทต่อการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกและประเทศไทยก็เดินบนเส้นทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาโดยตลอด เป็นกระแสหลักที่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร รัฐบาลไทยยังคงยึดถือแนวทางนี้อยู่

ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ใครจะเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็มักถูกลากเอามาเป็นเงื่อนไขแห่งการต่อสู้ทางการเมือง โดยไม่ได้สนใจว่าข้อเสนอดังกล่าวมีเนื้อหาสาระ เป็นประโยชน์ต่อชาติและราษฎรอย่างไร

บทเรียนการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ‘ท่านปรีดี’ เมื่อปี พ.ศ.2476 เป็นตัวอย่างที่สำคัญ

ทุกครั้งที่มีการปฏิรูปหรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ มักจะมีแรงต้านเสมอ ซึ่งผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงต้องอดทนต่อแรงเสียดทาน ต้องมีความเสียสละอย่างสูงในทางส่วนตัวและครอบครัว

‘ประวัติศาสตร์’ มักจะซ้ำรอยครั้งแล้วครั้งเล่า เราจึงควรศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้เพื่อเป็นบทเรียน

ช่วงเวลาท่านปรีดีมีบทบาททางการเมืองอย่างโดดเด่นบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย ด้วยบทบาทตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ มากมายตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 จนถึง 8 พฤศจิกายน 2490 นั้น เป็นช่วงเวลาไม่ยาวนานนัก เพียง 15 ปี แต่รัฐบุรุษท่านนี้ก็ได้บรรลุภารกิจหลายประการ เพื่อชาติ ราษฎร และระบอบประชาธิปไตย

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จนถึงการรัฐประหาร พ.ศ.2490 และทำให้ ‘ท่านปรีดี’ กลายเป็น ‘รัฐบุรุษพลัดถิ่น’ ต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างแดนยาวนานกว่า 36 ปี ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม ณ. กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ประชาธิปไตยไทยที่ถูกสถาปนาโดย ‘คณะราษฎร’ วันนี้อายุได้ 84 ปีแล้ว เส้นทางแห่งอนาคตของประชาธิปไตยไทยนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูงยิ่ง มีข้อเสนอเพื่อแสวงหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์บ้านเมืองมากมาย บางข้อเสนอดูเหมือนเป็นเนื้อหาย้อนยุคการเมืองกลับไปก่อนการอภิวัฒน์ 2475 เสียอีก

ความประสงค์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยของท่านปรีดีนั้น ต้องอาศัยการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และวางพื้นฐานหลายเรื่องเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการปกครองแบบใหม่หลังการอภิวัฒน์ 2475

นอกจากท่านปรีดีจะเห็นความสำคัญต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยให้เข้มแข็งแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการศึกษา การต่างประเทศ และการวางแผนทางเศรษฐกิจ

ในช่วงทศวรรษ 2470 นอกจากสยามจะพบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังมีกระแสต่อต้านระบอบอภิสิทธ์และสัมปทานผูกขาดของนักธุรกิจชาติตะวันตกในสยาม สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการกีดกันการเติบโตของทุนสยามและทุนจีนอพยพในสยาม พ่อค้าชาวตะวันตกได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้ได้เปรียบพ่อค้าไทยจีน สนธิสัญญาที่เราไปทำกับชาติตะวันตกแล้วเสียเปรียบถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระแสเศรษฐกิจชาตินิยมเริ่มเกิดขึ้น กลุ่มพ่อค้าไทยจีนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ 2475 เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจนำมาสู่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดีขึ้น

สองเดือนหลังการเข้ายึดอำนาจ มีการเสนอให้จัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น มีความเคลื่อนไหวของ นายมังกร สามเสน เสนอต่อรัฐสภาให้ก่อตั้งสภาแห่งชาติเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของสยาม เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศแข่งขันกับต่างชาติ

การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

ท่านปรีดีมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมากในฐานะ ‘มันสมองของคณะราษฎร’ และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา

ในช่วง 10 ปีแรกของการอภิวัฒน์ หน่วยงานทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นจากการริเริ่มของรัฐบุรุษท่านนี้ หากศึกษาผลงานและบทบาทความคิดของรัฐบุรุษท่านนี้ ย่อมพบว่าท่านให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ

ความเอาใจใส่ต่อปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน สะท้อนจากคำพูดของท่านที่กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่ใช่ Coup d’Etat เป็น  Revolution ในทางเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งกำหนดหลักเศรษฐกิจไว้ในหลัก 6 ประการ  ที่คณะราษฎรได้ประกาศในวันยึดอำนาจรัฐ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ” เศรษฐกิจแห่งชาติและความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าเพื่อสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับราษฎรในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของท่านปรีดีและคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

คณะราษฎรได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งมีอยู่เดิมก่อนการอภิวัฒน์ 2475 โดยเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจบางอย่าง เริ่มด้วยการลดภาษีที่ดินสำหรับปลูกข้าวลง 50% ยกเลิกการเก็บภาษีอากรบางประเภทในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2475 ทั้งประกาศจัดทำเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จโดยเร็ว ต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม ได้มีประกาศพระราชบัญญัติยกเลิก ‘ภาษีสมพัตรสร’ นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐบาลยังปรับปรุงภาษีอากรธนาคารและการประกันภัย ออกประกาศลดพิกัดเก็บเงินค่านา และลดภาษีโรงเรือนที่ดิน

ส่วนแผนการในการปฏิรูปที่ดินในเค้าโครงการสมุดปกเหลือง ถูกคัดค้านโดยกลุ่มเจ้านายที่ถือครองที่ดินจำนวนมากและบรรดาผู้มีความคิดอนุรักษ์นิยมทางเศรษฐกิจ แผนการการปฏิรูปที่ดินจึงไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากการลดภาษีจะเป็นมาตรการดูแลเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นมาตรการเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ดี รัชกาลที่ 7 ก็ดี รัฐบาลได้จัดเก็บภาษีเพิ่มจำนวนมากเนื่องจากประเทศมีปัญหางบประมาณขาดดุลเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6

รัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องเข้ามาแก้ปัญหาทางการคลังของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของราชสำนักในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยังถูกซ้ำเติมโดยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จนรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 ต้องลดเงินเดือนข้าราชการและดุลข้าราชการจำนวนหนึ่งออกจากงาน รัฐบาลคณะราษฎรจึงระมัดระวังเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ ทั้งยังปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อแก้ปัญหาสถานะทางการคลัง ขณะเดียวกันก็ลดแรงกดดันในหมู่ประชาชนต่อภาระภาษีที่มากขึ้น

0000

หมายเหตุ: บทความข้างต้นได้ปรับปรุงจากคำบรรยายในงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิ.ย. 2475 ณ. สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ สุขุมวิท50 กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท