กสม.คอมเม้นท์สื่อกรณีเสนอข่าวคดีฆ่าข่มขืนครูสาว ขออย่าเปิดหน้า 'ผู้ต้องหา-ผู้เสียหาย'

6 ก.ค.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกคำชี้แจงเรื่อง การนำเสนอภาพข่าวอันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระบุว่า การสื่อสารมวลชน มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหว และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว สามารถกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ร่วมของผู้รับข่าวสารต่อข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อตามความต้องการได้ ปัจจุบันช่องทางการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้ขยายตัวเพิ่มช่องทางมากขึ้นในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น  Facebook, Twitter, Line หรือเว็บไซต์ข่าวของสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่เน้นความรวดเร็วในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปในวงกว้างผ่านระบบอินเตอร์เน็ต 

จากกรณีที่มีปัญหาในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา อันเป็นการล่วงละเมิดและความรุนแรงทางเพศและฆาตกรรมครูที่จังหวัดสระบุรี จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดคดีอาญาอุกฉกรรจ์ที่สุดและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงอย่างร้ายแรงที่สุด และเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่อความรู้สึกของประชาชน  และจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการนำภาพครูผู้เสียชีวิตในหลายลักษณะ ทั้งภาพเต็ม ภาพเบลอและภาพปกปิดบางส่วน เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ข่าวตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น

กสม. ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และปกป้องหลักการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิต  และร่างกายอันจะละเมิดมิได้  รวมถึงสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและความอ่อนไหวที่เกี่ยวกับเพศสภาพ (Gender Sensitivity)  มีความเสียใจอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นและมีความห่วงใยต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และในขณะเดียวกันก็มีความวิตกกังวลต่อการเผยแพร่ภาพของครูผู้เสียชีวิตทางสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ข่าว  กสม.  จึงขอเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติดังนี้

1. ขอให้สื่อมวลชน นำเสนอข่าวให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมสื่อ โดยการนำเสนอต้อง  ไม่เปิดเผยหน้า ไม่ระบุชื่อ-นามสกุลจริง ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย ญาติและผู้ใกล้ชิด  ตลอดจนไม่นำเสนอการบรรยายรายละเอียด วิธีการกระทำความผิด ไม่ปล่อยเสียงคำรับสารภาพของผู้ต้องหา รวมถึงการไม่นำภาพศพผู้เสียชีวิตมาเผยแพร่  เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมาย และยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย  อันเป็นภารกิจหลักที่สื่อมวลชน พึงจะต้องยึดมั่นเป็นหลักการแห่งวิชาชีพ 

2.  ขอให้ประชาชน สมาชิกสื่อสังคม ยุติการเผยแพร่ภาพข่าวครูผู้เสียชีวิตในหลายลักษณะต่างๆ ทางสื่อออนไลน์  รวมถึงยุติการพยายามสืบค้นประวัติการใช้สื่อออนไลน์ของผู้เสียชีวิต  ทั้งนี้  เพื่อเป็นการเคารพต่อสิทธิของผู้เสียชีวิตเป็นประการสำคัญ  และอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ และเห็นใจครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิต 

3. ขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำกับ ดูแล และบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดเกี่ยวกับการส่งข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และเป็นภาพที่ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย

4. ขอให้บุคคล ซึ่งพบเห็นผู้เสียชีวิต หรือผู้เสียหายซึ่งอยู่ในสภาพโป้เปลือย อุจาด  หดหู่ หรือไม่เหมาะสมด้วยประการอื่นใด  พึงงดเว้นการถ่ายภาพดังกล่าว  เพราะย่อมเป็นเหตุให้มีการนำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ อันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลในภาพ

5. ขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างมาตรการที่จำเป็นในการให้ความคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากการล่วงละเมิดทางเพศทุกรูปแบบ รวมถึงให้การฟื้นฟู เยียวยาแก่ผู้เสียหายและครอบครัว โดยเฉพาะการเยียวยาด้านจิตใจเพื่อเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัวโดยเร็วที่สุด

               

กสม. ระบุตอนท้ายด้วยว่า จะมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจในการส่งเสริม  ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท