Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


“ ดังที่ได้กล่าวมาโดยตลอดว่า ประเด็นในเรื่องความชอบธรรมเป็นปัญหาทางศีลธรรม เพราะเป็นการตัดสินประเมินค่าในทำนองเดียวกันกับคำถามที่ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ดังนั้นการเมืองและศีลธรรมจึงแยกจากกันไม่ออก “

- ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ความสมเหตุสมผลของความชอบธรรม (การครอบงำ), หน้า 370 –


ถ้าการเมืองและศีลธรรมแยกกันไม่ออกดังข้อความข้างบน ที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “การเมืองเป็นเรื่องศีลธรรม” ก็ย่อมไม่ผิด แต่ประวัติศาสตร์ความหมายของคำว่า “ศีลธรรม” ย่อมไม่ใช่สิ่งคงที่ หากแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขทางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไป

ในสังคมโบราณที่มนุษย์ถือศาสนาพหุเทวนิยม กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่นความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ตลอดจนระเบียบจารีตทางสังคมลงมาถึงความสัมพันธ์ทางครอบครัว เครือญาติย่อมอิงอยู่กับอำนาจให้ผลดลบันดาลของเทพและผีประเภทต่างๆ ซึ่งบรรดาทวยเทพและผีก็มีทั้งดีและร้าย มีเครือญาติวงศ์วานและเวียนว่ายตายเกิดเหมือนมนุษย์และสรรพสัตว์

ต่อมาเกิดความเชื่อในเทพองค์เดียวที่เรียกว่า God หรือพระเจ้า (เอกเทวนิยม) ที่ไม่มีญาติไม่มีมิตร (คำของไมเคิล ไรท์) ไม่เวียนว่ายตายเกิด แต่เป็นอมตะเป็นนิรันดร์ในยุคที่ยังไม่แยกศาสนาจากการเมือง เมื่อศาสนาที่นับถือเทพองค์เดียวได้ชัยชนะทางการเมืองกลายเป็นศาสนาของรัฐ ของจักรวรรดิ ศาสนาที่นับถือเทพหลายองค์ก็ถูกกำราบปราบปรามให้เสื่อมความนิยมไป หรือไม่ก็แฝงตัวอยู่ใต้ร่มเงาของศาสนาใหญ่ๆ

สิ่งที่มาพร้อมกับเทพองค์เดียวคือ “ความหวัง”(hope)ทั้งในเรื่องสันติสุขบนโลกนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกหน้า และ “ศีลธรรม” (เช่นพระบัญญัติ 10 ประการ) อันเป็นเงื่อนไขไปสู่ความสมหวัง แต่ศรัทธาและความภักดีต่อพระเจ้าคือสิ่งที่จะทำให้การปฏิบัติตามกฎศีลธรรมและความสมหวังเป็นไปได้ เหตุผลที่ต้องศรัทธาก็เพราะว่าพระเจ้าทรงอำนาจสัมบูรณ์ในการลงโทษและให้รางวัลแก่มนุษย์ผู้ละเมิดและปฏิบัติตามกฎศีลธรรมของพระองค์

ทว่าความหมายของพระเจ้าก็มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง จากพระเจ้าของชาวยิวในดินแดนทะเลทรายที่มีลักษณะเป็น “บุคคล” เมื่อมาเป็นพระเจ้าของชาวกรีก-โรมันที่ใช้หลักปรัชญา(reason) มาอธิบายความมีอยู่จริงของเทพปกรณัมที่ยึดโยงอยู่กับศรัทธา(faith) พระเจ้าก็กลายเป็นปฐมเหตุของสรรพสิ่ง กลายเป็นสิ่งสัมบูรณ์อันเป็นหลักแห่งความจริง ความดี ความงาม และเป็นหลักแห่งอำนาจสิทธิ์ขาด(divine right)ของผู้ปกครอง พระเจ้าจึงเป็นทั้งหลักความชอบธรรมในการปกครอง ขณะเดียวกันก็เป็นหลักอ้างอิงในการครอบงำความคิด ความเชื่อ การล่าแม่มดและสงครามในยุคกลาง

จนกระทั่งพระเจ้ากลายมาเป็นหลักแห่ง “ความเสมอภาค” เพราะเมื่อ “พระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้เท่าเทียมกัน” ความยุติธรรมบนฐานความเสมอภาคย่อมสำคัญกว่ากฎหมาย ฉะนั้นกฎหมายจึงต้องคล้อยตามสิทธิตามธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาแก่ปัจเจกบุคคลทุกคนเท่าเทียมกัน พระเจ้าองค์เดียวที่เคยเป็นพันธมิตรกับเผด็จการยุคเก่าจึงกลายมาผูกมิตรกับเสรีนิยมและทุนนิยม ผู้นำสูงสุดของศาสนจักรคริสต์จึงออกมากล่าวขอโทษที่ศาสนจักรเคยละเมิดเสรีภาพกาลิเลโอ และที่เคยละเมิดสิทธิของคนรักร่วมเพศเป็นต้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า “ศีลธรรมแบบศาสนา” (religious morality) พยายามปรับตัวคล้อยตามศีลธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็น “secular morality”ที่ถือว่าความดีหรือความถูกต้องอยู่ที่ “ตัวหลักการ” ที่กำหนดขึ้นบนการยอมรับ ยืนยัน และเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งหลักการดังกล่าวอาจแสดงออกผ่านตัวระบบ โครงสร้างทางสังคมการเมือง ตัวบทกฎหมาย วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ยึดการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน สำนึกในความเป็นพลเมือง กระทั่งสำนึกในความเป็นมนุษยชาติที่ข้ามพ้นกำแพงทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ

เมื่อย้อนดูพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดียโบราณที่เป็นยุคซึ่งเทพอมตะ(พระพรหม)ได้ชัยชนะทางการเมืองและกลายเป็นเทพที่อยู่เหนือเหล่าบรรดาทวยเทพทั้งหลายพุทธศาสนาได้ทำให้พระพรหมหมดความเป็นอมตะ ถือว่าพระพรหมเป็นเพียงเทพประเภทหนึ่งในเหล่าบรรดาทวยเทพเช่นพระอินทร์ และเทวดาต่างๆ โดยพระพรหมและบรรดาเทพเหล่านั้นล้วนมีดี มีร้าย และเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์และได้ตรัสรู้เป็น “พุทธะ” แล้วเท่านั้น ฉะนั้น มนุษย์จึงสำคัญกว่าเทพ เพราะพุทธะคือ “ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” และบุคคลผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยปัญญาและความประพฤตดีเป็น “ผู้ประเสริฐสุด” ในหมู่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

สิ่งที่มาพร้อมกับมนุษย์ที่สามารถเป็นพุทธะได้คือ “ศีลธรรม” ที่เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเองไม่ใช่ศีลธรรมที่ถูกลิขิตเอาไว้โดยเทพ ฉะนั้นศีลธรรมจึงเป็นเรื่องของความรับผิดชอบที่มนุษย์ต้องมีต่อสุขทุกข์ของตนเองและสุขทุกข์ของสังคม

แต่เนื่องจากศีลธรรมพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการฝึกฝนให้เกิดความสุจริตดีงามขึ้นทางกาย วาจา ใจของบุคคล ศีลธรรมจึงมีลักษณะเป็นศีลธรรมแบบปัจเจก-individual morality แม้จะพูดถึงศีลธรรมของผู้ปกครองเช่นทศพิธราชธรรม จักกวัตติวัตรเป็นต้น แต่ก็พูดถึงในเชิงเป็นคุณสมบัติที่ผู้ปกครองควรฝึกฝนให้เกิดขึ้นในตัวเองมากกว่าที่จะเป็นพันธะหรือข้อผูกมัดทางสังคม(social obligation) หรือเป็นพันธะสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชนในความหมายที่ประชาชนมีสิทธิอำนาจในการตรวจสอบคุณธรรมเช่นนั้นได้คุณธรรมของผู้ปกครองจึงเหมาะสำหรับการให้ความชอบธรรมในการปกครองแบบยุคเก่ามากกว่าจะเป็นหลักความชอบธรรมในการปกครองแบบสมัยใหม่

ฉะนั้น เมื่อปราชญ์ทางพุทธศาสนาบ้านเราเสนอว่า “การเมืองเป็นเรื่องศีลธรรม” แต่เสนอออกมาในเชิงปฏิเสธหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยในตัวมันเอง พร้อมกับยืนยัน “วิธีเผด็จการโดยธรรม” ซึ่งหมายถึง “เผด็จการโดยคนดี” ศีลธรรมในความหมายนี้จึงเป็นคนละอย่างกับกับศีลธรรมสมัยใหม่หรือ secular morality ที่ยึดโยงอยู่กับเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์อันเป็นรากฐานของความชอบธรรมทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่

เมื่อกลุ่มคนที่มี “แบรนด์คนดี” (คำของมิตรสหายท่านหนึ่ง) ในกรอบศีลธรรมบนฐานพุทธศาสนาไทยและความเป็นไทยเข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองและใช้อำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความชอบธรรมตามกรอบศีลธรรมสมัยใหม่และระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความเชื่อทางศีลธรรมที่ถือว่า “ความดีอยู่ที่ตัวคน” ทำให้ความหมายของ “คนดี” เป็นเพียง “แบรนด์” อย่างหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย

เมื่อไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย คนดีก็ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบ และจะเป็น “ข้อยกเว้น” ได้เสมอที่สังคมเราจะสนับสนุนคนดีเข้าสู่อำนาจทางการเมืองด้วยวิธีรัฐประหารในยามที่อ้างว่าจำเป็น และเหล่าบรรดากลุ่มคนที่มีแบรนด์คนดีที่มีชื่อเสียงในสังคมก็เรียงแถวเข้าไปมีตำแหน่งอำนาจในรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมตามระบบประชาธิปไตย

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ศีลธรรมสมัยใหม่ทำงานไม่ได้และถูกมองว่าไม่ใช่ศีลธรรม นักศึกษาและประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยนอกจากจะไม่ใช่คนดีที่เสียสละทำประโยชน์แก่ชาติดังกลุ่มคนที่มีแบรนด์คนดีทั้งหลายแล้ว พวกเขายังถูกมองว่าเป็นปัญหาของบ้านเมืองอีกด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net