Skip to main content
sharethis

facebook cp band
 

ท่ามกลางความนิยมแฟชั่นแบบย้อนยุค เรโทร และสภาพสังคมที่ตึงเครียด ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือเศรษฐกิจ สิ่งที่สามารถตอบโจทย์ที่ทั้งให้ความเพลิดเพลิน คลายเครียดและตอบสนองความชอบของเก่า อาจจะเป็นละครเวทีเรื่อง “นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง” เขียนบทและกำกับละครเวทีโดย ปานรัตน์ กริชชาญชัย จาก New Theatre Society  เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “บ้านทรายทอง”หรือ”ข้างหลังภาพ” นวนิยายยอดนิยมในอดีต หากแต่เพียงยืมชื่อตัวละครมาใช้และอาศัยเป็นแรงบันดาลใจเท่านั้น

“นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายข้างหลังภาพของศรีบูรพา และงานของ คริสโตเฟอร์ ดูแรง อย่าง “วันย่าและซอนย่าและมาช่าและสไปก์” โดยนำเอาความแตกต่างของ นพพร และ คุณหญิงกีรติ ที่ไม่ได้มีแค่ความแตกต่างทางชนชั้น แต่ยังเพิ่มความแตกต่างทางความเชื่อ ค่านิยม และความคิด ซึ่งมีที่มาจากความต่างของช่วงวัยในครอบครัวเดียวกัน และมันยังเอาความต่างที่ว่านี้มาขยายให้ผู้ชมได้เห็นชัดเจนขึ้นผ่านการนำเสนอให้สนุกสนานเฮฮา

ภาพโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ

“นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง”เป็นละครเวทีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวสามพี่น้องที่มีความแตกต่างกัน ทั้งยังมีความบิดเบี้ยวอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นชายกลาง-พี่ใหญ่ที่ดูเนี้ยบทุกกระเบียดนิ้ว แต่ดันด่าเก่งจนน่าตกใจ หญิงกีรติ-พี่น้องที่ถูกเก็บมาเลี้ยงผู้พยายามขยี้ปมของตัวเองผ่านการประชดประชันและคำพูดแสดงความน้อยใจตลอดเวลา พจมาน-น้องเล็กผู้ซึ่งเป็นดาราดัง เป็นเสาหลักเลี้ยงดูครอบครัว ดูเหมือนเธอเพียบพร้อมแต่มีปมเรื่องความรัก สามพี่น้องต้องเผชิญกับเรนและตุ๋ยเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในโลกสมัยใหม่ที่ดูเหมือนอะไรๆ ก็ต่างไปจากสามพี่น้องไปเสียทั้งหมด จนเกิดเป็นความไม่เข้าใจกัน นำไปสู่เรื่องราวเฮฮาน้ำตาโศกในท้ายที่สุด

“นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง” ส่งสารให้คนดูเข้าใจถึงความแตกต่างของวัยและยุคสมัย ผ่านบทละครที่เข้าใจง่าย บรรยากาศของละครเวทีเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน ตลกเสียดสี สะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของตัวละครที่บางครั้งดูจะเป็นการจงใจให้เห็นอย่างเด่นชัด ทำให้ความเป็นคนของตัวละครต่างๆ ลดลงไป แต่เมื่อตัวละครต่างๆ มารวมกันในสถานที่นั้นมันก็ทำให้ดูสมจริง คือ บิดเบี้ยวร่วมกันด้วยลักษณะนิสัยที่เข้ากับบริบท ความเกินจริงดังกล่าว ขยายให้เห็นจากลักษณะนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ตามตัวละครที่ตั้งชื่อและกำหนดให้สอดคล้องล้อเลียน เช่น การสร้างภาพซ้ำเกี่ยวกับความเชื่อในดวงชะตาของคนรับใช้กับนิตยสารคู่สร้างคู่สม

ความตลกที่มีอยู่เต็มเปี่ยมนับเป็นความโดดเด่นของเรื่องนี้ มันมาจากบทพูดที่ถูกขัดเกลา จังหวะการเล่นและรับส่งมุกต่างๆ เข้าขากันเป็นอย่างดี มุกตลกบางมุกมาในจังหวะที่คาดไม่ถึง รวมไปถึงมุกตลกที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเห็น ไม่คาดคิดว่านักแสดงจะกล้าทำ ขณะที่บางอย่างเราคาดเดาอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นและเมื่อเกิดขึ้นจริงๆ ก็ยังอดไม่ได้ที่จะหัวเราะไปกับมัน

ไม่ใช่แค่เพียงมุกตลกที่เข้าใจได้ง่าย  แต่เหตุผลที่สนับสนุนการกระทำซึ่งนำไปสู่การปะทะกันของตัวละครที่มาจากทั้งยุคสมัยที่ต่างกันและจากยุคสมัยเดียวกันก็เช่นกัน ละครเวทีเรื่องนี้พยายามจะชี้ว่า ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นจากความต่างของชุดความคิด และจุดยืนในการมองเหตุการณ์เดียวกันที่ต่างกันออกไป  ยุคสมัยที่เติบโตมาและที่แวดล้อมคนเราอยู่ล้วนทรงอิทธิพลในการก่อร่างชุดความคิดที่กลายเป็นกรอบของทัศนคติ  ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบางส่วนสื่อผ่านความต่างของเทคโนโลยีที่ทิ้งผู้ไม่ตามติดมันไว้ข้างหลัง เช่นเดียวกันชายกลางแม้จะพยายามตามติดกระแสโลกแล้ว แต่ก็ยังไล่ไม่ทันจนติดอยู่กับความเก่าที่พยายามเปลี่ยนผ่านแบบครึ่งๆ กลางๆ

ขณะเดียกันลักษณะนิสัยของตัวละครบางตัวที่นำไปสู่ความขัดแย้ง มีลักษณะเป็นภาพเหมารวม (stereotype) อยู่ไม่น้อย และเนื่องจากมันขยายลักษณะนิสัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งออกมาให้เห็นชัดเจนจนเกิดไป มันจึงเหมือนการผลิตซ้ำภาพจำต่างๆ ของสังคมปรากฏออกมาในละครเวที เช่น ภาพของศิลปินวัยรุ่นที่ไม่มีความอดทนและไม่มีมารยาททางสังคม หรือภาพสาวอายุเยอะที่สัมพันธ์กับคนที่มีอายุน้อยกว่าเพียงเพื่อตอบสนองต่อชีวิตรักที่ล้มเหลว ทดแทนต่อความรักที่ขาดหายไปในวัยเด็ก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จังหวะจะโคนและมุขตลกที่อัดแน่นลงตัวก็น่าจะทำให้ผู้ชมอารมณ์ดีกลับบ้านได้ไม่ยาก ในยุคที่หาความขำขันได้ยากยิ่งเช่นปัจจุบัน

 

สำหรับผู้ที่สนใจ “นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง”

เปิดแสดงวันที่ 7 - 25 กรกฎาคม พ.ศ.2559 (ยกเว้นวันอังคารและวันพุธ ) ที่โรงมหรสพทองหล่อ (Thong Lor Art Space)

เวลา 19.30 น. (เฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ 16, 17, 23, 24 กรกฎาคม มีสองรอบการแสดงคือ 14.30 น. และ 19.30 น.)

บัตรราคา

- บุคคลทั่วไป(หน้างาน): 550 บาท

- ราคาโอน บุคคลทั่วไป: 450 บาท / นักเรียน นักศึกษา: 350 บาท

วิธีการสำรองบัตร

1 ทาง โทรศัพท์ 095 924 4555

(ช่วงเวลา 10.30 น. - 21.30 น. ในวันจันทร์ - ศุกร์ )

2 ส่งข้อความทาง inbox message ของ www.facebook.com/thonglorartspace

3 Line ID : @lvj7157z

แจ้ง ชื่อ เบอร์ติดต่อกลับ จำนวนที่นั่ง โปรโมชั่นที่ต้องการใช้ และรอบที่ต้องการสำรองบัตร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net