Skip to main content
sharethis

อดีตลูกจ้างพม่า ฟาร์มไก่ จ.ลพบุรี ทำงานหนัก นายจ้างไม่ให้เงินโอที ยึดเอกสารเดินทาง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กสม. พร้อมเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ หวังเงินค่าเสียหายเดินทางกลับประเทศ และให้ตรวจสอบการละเมิดลูกจ้างฟาร์มไก่

7 ก.ค.2559 เวลาประมาณ 11.00 น. เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และตัวแทนแรงงานข้ามชาติพม่าอดีตลูกจ้างฟาร์มไก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี จำนวน 14 คน เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ ห้องศูนย์รับร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ ตึก B ชั้น 6 แจ้งวัฒนะ กรณีขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในธุรกิจอุตสาหกรรมสัตว์ปีกที่อาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะการจ้างงานในสภาพที่เลวร้าย

สุธาสิณี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวถึงเหตุผลที่ตนและตัวแทนแรงงานข้ามชาติพม่าอดีตลูกจ้าง ฟาร์มไก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี จำนวน 14 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพราะมองว่าการที่นายจ้างละเมิดลูกจ้างนั้นเกี่ยวข้องกับ กสม.โดยตรง และต้องการให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้กับลูกจ้าง ทั้งตรวจสอบฟาร์มไก่ที่อดีตลูกจ้างชาวพม่าเคยทำงานอยู่ รวมถึงฟาร์มไก่ที่อื่นด้วย เนื่องจากกังวลว่าอาจมีการละเมิดในกรณีคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังอยากให้มีการเชิญ  เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ฟาร์มไก่ซึ่งอดีตลูกจ้างเคยทำงานอยู่มาหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย โดยทาง กสม. รับหนังสือร้องเรียนและยินดีทำตามข้อเสนอดังกล่าว

“คนงาน(แรงงานข้ามชาติพม่าอดีตลูกจ้าง ฟาร์มไก่)ก็คาดหวัง อย่างน้อยก็คาดหวังว่าเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และหน่วยงานรัฐที่ได้เข้าไปร้องเรียนไว้ก็น่าจะช่วยพวกเขาระดับหนึ่ง  วันนี้ที่ได้ไปยื่นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเขาก็สบายใจมากขึ้น แต่เขาก็คาดหวังว่าอยากจะได้เงินที่เขาสูญเสียไปจากการทำงานในช่วงเวลานั้น เพื่อที่จะได้เดินทางกลับประเทศพม่า เพราะเขาไม่มีความสุขที่จะอยู่ประเทศไทยอีกต่อไป” สุธาสิณี กล่าว

สุธาสิณี กล่าวว่า อดีตลูกจ้างชาวพม่า ต้องทำงานในฟาร์มไก่ตั้งแต่ 7.00 น.ถึง 17. 00 น.และต้องทำงานอีกครั้งในเวลา 19.00 ถึง 05.00 น.ของอีกวัน โดยได้ค่าจ้างเพียง 230 บาทต่อวัน และไม่ได้เงินค่าล่วงเวลาให้ช่วงที่ทำงานในเวลากลางคืน แต่จะให้เป็นเงินพิเศษหากลูกจ้างสามารถทำงานได้ตามเป้าที่นายจ้างวางไว้ รวมถึงยังมีการยึดเอกสารเดินทางของลูกจ้างไว้โดยให้เหตุผลว่าจะรับผิดชอบดูแลเรื่องต่ออายุให้ ทั้งที่ลูกจ้างจำเป็นต้องใช้เอกสารเดินทางในชีวิตประจำวัน

สุธาสิณี กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ อดีตลูกจ้างชาวพม่าได้เห็นเพจของเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติในเฟซบุ้กแล้วได้โทรศัพท์มาบอกว่าพวกเขาต้องทำงานหนักแต่ได้ค่าจ้างน้อย เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติจึงได้ช่วยกันหารือกับลูกจ้างเจรจาไปต่อรองกับนายจ้าง จนในวันที่ 15 มิ.ย. 2559 ลูกจ้างได้ตัดสินใจลาออก ต่อมา 25 มิ.ย. นายจ้างเสนอให้เงินค่าจ้างย้อนหลังให้กับลูกจ้างแต่ลูกจ้างไม่รับ เนื่องจากจำนวนเงินที่นายจ้างให้ไม่ตรงกับจำนวนเงินที่ลูกจ้างควรได้รับจากการทำงาน หลังจากลูกจ้างสิ้นสุดการอยู่ในห้องพักของนายจ้าง กรมการจัดหางาน จังหวัดลพบุรี ได้จัดหารถให้อดีตลูกจ้างชาวพม่าเดินทางมาพักที่เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ จังหวัดสมุทรสาคร จากนั้น 28 มิ.ย. ได้มีการนัดเจรจากันระหว่างนายจ้าง อดีตลูกจ้าง ที่สํานักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรีร่วมด้วย แต่เจรจากันไม่ลงตัวเพราะว่านายจ้างซึ่งเป็นตัวแทนจาก เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ไม่รับหลักฐานการการทำงานระหว่าง  19.00 น.ถึง 05.00 น. ของอดีตลูกจ้างชาวพม่า ทำให้ตกลงจำนวนค่าเสียหายกันไม่ได้ จึงได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net