เผยที่มาแผนที่ขาวแดงบนอกเสื้อ 5 หนุ่มมลายู ประธานบูหงารายาโต้ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน

เผยที่มาแผนที่ขาวแดงภาษามลายูบนหน้าอกเสื้อ 5 หนุ่มมลายู ประธานกลุ่มบูหงารายาโต้ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน แต่ผลิตขายหาทุนทำงานพัฒนาการศึกษาโรงเรียนตาดีกาในชายแดนใต้ ขณะที่ประยุทธ์ ระบุมีการชี้แจงมาแล้ว เชื่อหลายคนไม่ตั้งใจ

8 ก.ค.2559 จากกรณีที่มีการแชร์ภาพทางสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเป็นภาพชายชาวมลายูมุสลิม 5 คน สวมเสื้อยืดยืนเรียงหน้ากระดาน เป็นเสื้อยืดสีขาวสกรีนรูปแผนที่สีแดงขาวซึ่งเป็นพื้นที่บางส่วนของภาคใต้ของไทยและตอนเหนือของมาเลเซีย โดยพื้นที่สีขาวเป็นพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูลและบางส่วนของสงขลา มีข้อความภาษามลายูอักษรยาวีกำกับไว้และที่หน้าอกเสื้อสกรีนคำว่า "TANAH PERKASA MELAYU UTARA" ใต้รูปดอกชบาสีแดง โดยมีการระบุว่าเป็นสื่อถึงการแบ่งแยกดินแดน ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

กระทั่งทำให้ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกมาระบุว่า ได้ให้หน่วยระดับพื้นที่เชิญตัวมาพูดคุยเพราะเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

ประธานบูหงารายาโต้ไม่ใช่เสื้อแบ่งแยกดินแดน

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ ฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานพัฒนาการศึกษาโรงเรียนตาดีกาหรือสถานฝึกอบรมศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐานประจำหมู่บ้านหรือมัสยิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาชี้แจงว่า เสื้อดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยกลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษาวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมทการใช้ภาษามลายูอักขระยาวี การสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรตาดีกาและเพื่อจัดหาทุน

ฮาซัน บอกว่า กลุ่มบุหงารายาจัดทำเสื้อนี้ขายทุกปีตั้งแต่ปี 2556

ฮาซัน ได้อธิบายถึงภาพแผนที่ที่ปรากฏบนหน้าอกเสื้อว่า ข้อความบนพื้นสีขาวตรงกลาง คือ ชื่อสำนักงานของศูนย์ประสานงานตาดีกาของแต่ละจังหวัด

ส่วนข้อความข้างบนด้านขวามือ "TANAH PERKASA MELAYU UTARA"  แปลว่า พื้นที่เปอร์กาสอมลายูตอนเหนือ ซึ่งหมายถึงดินแดนการศึกษาอิสลามและดินแดนที่ใช้อักขระยาวีในโลกมลายู ส่วนดอกชบาหมายถึงตัวองค์กรบุหงารายา

ขณะที่สีแดง หมายถึง สีประจำตาดีกา สีขาวหมายถึงความใสบริสุทธิ์แห่งการศึกษาอิสลาม

“ส่วนบุคคลในภาพทั้ง 5 คนนั้นเป็นสมาชิกของบุหงารายา 2 คน อีก 3 คน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพียงแค่ช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์จากการชักชวนของตนเท่านั้น” ฮาซัน ระบุ

ที่มาของชื่อภาษามลายูที่ปรากฏบนแผนที่ขาวแดง

สำหรับสำนักงานของศูนย์ประสานงานตาดีกาของแต่ละจังหวัดนั้น เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Yayasan Pusat Penyelarasan TADIKA Selatan Thai : PERKASA ซึ่งปัจจุบันมี อับดุลมุไฮมิน สาและ เป็นประธานมูลนิธิ โดยมีมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เลขที่ 64/3 ม.9 ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี

สำนักงานศูนย์ประสานงานตาดีกาของแต่ละจังหวัดมีพื้นที่รับผิดชอบในจังหวัดของตัวเองและมีชื่อเฉพาะของตัวเองเป็นภาษามลายูตามที่ปรากฏในแผนที่บนเสื้อดังกล่าว ซึ่งหากเขียนเป็นภาษามลายูอักษรโรมันได้ดังนี้ คือ ปัตตานี = PUSTAKA, นราธิวาส = PUSAKA, ยะลา = PERTIWI, สงขลา = PUTRA และ สตูล = PANTAS (สังเกตชื่อภาษามลายูอักษรยาวีใน 2 ช่องแรกทางขวามือซึ่งเหมือนกับที่ปรากฏบนเสื้อ)

สำหรับพื้นที่จังหวัดสงขลาไม่ได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่มีเฉพาะในเขตอำเภอ เทพา, สะบ้าย้อย, จะนะ, นาทวี และสะเดา เพราะเป็นพื้นที่มียังใช้ภาษามลายู ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนตาดีกาเป็นภาษามลายู ส่วนพื้นที่อื่นใช้หลักสูตรฟัรดูอีน ซึ่งสอนด้วยภาษาไทย

โดยชื่อดังกล่าวเป็นชื่อที่ใช้มากว่า 20 ปีแล้วนับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PERKASA และมีปรากฏอยู่บนแผ่นตารางแสดงข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนตาดีใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จำนวนโรงเรียน จำนวนมัสยิด จำนวนนักเรียนและจำนวนครูผู้สอน ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ฝากผนังของสำนักงานมูลนิธิด้วย และเป็นที่มาของชื่อภาษามลายูอักษรยาวีที่ปรากฏบนแผนที่ดังกล่าวนั่นเอง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มบุหงารายาได้ร่วมมือกับมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PERKASA จัดทำโครงการ TADIKA BESTARI หรือโครงการพัฒนาหลักสูตรมาตรฐานอิสลามศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนตาดีกานำร่อง 20 แห่งโดยใช้หลักสูตร KSPI (Kurikulum Standart Pendidikan Islam) ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพครูตาดีกา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารโลก (World Bank) ผ่านสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI

ประยุทธ์ เผยมีการชี้แจงมาแล้ว เชื่อหลายคนไม่ตั้งใจ

ขณะที่ เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการนำภาพดังกล่าวเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ว่า ได้มีการชี้แจงมาแล้วซึ่งพบว่าเยาวชนที่สวมเสื้อที่มีภาษายาวี ได้แสดงความรู้สึกตกใจ แต่เจ้าหน้าที่ต้องไปสอบสวนต่อไป เพราะเด็กก็คือเด็ก เราจึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนว่าอะไรถูกหรือผิด อะไรควรและไม่ควร ตนเชื่อว่าหลายคนไม่ตั้งใจ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะสอบสวน ทั้งการจัดพิมพ์เสื้อว่าผิดกฎหมายใด ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็คือไม่ผิด เจตนาเป็นอย่างไร กฎหมายเขียนอย่างไร และวันนี้หลายคนอ้างถึงสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แล้วก็ฟังกันอยู่ได้ ขออย่าขยายความ ประเทศชาติต้องการอะไร จะเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลังไปที่เก่า ไปหาคำตอบมาให้ตนด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท