Skip to main content
sharethis
เผยผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนว่างงานเดือนพฤษภาคม 2559 มีจำนวน 71,036 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 10,537 คน ผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 2,467 คน
 
 
11 ก.ค. 2559 ข้อมูลที่รวบรวมโดย กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าสถิติผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนพฤษภาคม 2559  มีจำนวน 71,036 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าเพิ่มขึ้น จำนวน 10,537 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.42 โดยผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจำนวน 2,467 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  42.67 และผู้ที่ลาออกเพิ่มขึ้น จำนวน 8,070 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.74  
 
 
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง สาเหตุเนื่องมาจากนายจ้างลดจำนวนพนักงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40.50  รองลงมาได้แก่ นายจ้างปิดกิจการคิดเป็นร้อยละ 31.27 สาเหตุอื่น ๆ เช่น สุขภาพไม่ดี หยุดกิจการชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 25.02 ไม่ผ่านการประเมิน/ทดลองงาน  คิดเป็นร้อยละ 2.35 มีความผิด คิดเป็นร้อยละ 0.74 นายจ้างใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย คิดเป็นร้อยละ 0.12 ส่วนผู้ที่ลาออกจากงานสาเหตุเนื่องมาจากต้องการเปลี่ยนงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 87.09  รองลงมาได้แก่  อื่นๆ เช่น ประกอบธุรกิจส่วนตัว ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย ทำไร่/ทำนา ดูแลคนในครอบครัว  คิดเป็นร้อยละ 6.05 ต้องการพักผ่อนคิดเป็นร้อยละ 3.82 สิ้นสุดโครงการ/หมดสัญญาจ้างคิดเป็นร้อยละ 2.96 เกษียณอายุ คิดเป็นร้อยละ 0.04 และไม่ระบุ ร้อยละ 0.02
 
เฝ่าระวังการจ้างงาน 6 อุตสาหกรรม
 
จากข้อมูล 'สรุปรายงานสถานการณ์และแนวโน้มด้านแรงงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2559' โดย นักเศรษฐกิจแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ระบุถึงทิศศทางการจ้างงานรายอุตสาหกรรม ไว้ดังนี้
 
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีจำนวน 537,000 คน ชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.45เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการชะลอตัวเนื่องจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor HDD จากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลงและมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางค่อนข้างสูงโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
 
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีจำนวน 451,000 คน ทรงตัวร้อยละ 0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงทรงตัวอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตยานยนต์ที่ลดลงจากที่เร่งผลิตตามการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่มีจัดเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในเดือน มกราคม 2559ซึ่งมีผลต่อราคาของรถยนต์บางประเภท จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจซื้อรถยนต์ในช่วงปลายปีที่แล้ว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวซึ่งเป็นผลจากยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อใช้ประกอบธุรกิจที่ลดลงจากเดือนก่อน รวมทั้งการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบชะลอตัวในกลุ่มรถยนต์กระบะรถยนต์เชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ดีการส่งออกของกลุ่มรถยนต์เอนกประสงค์ขยายตัว ประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือเอเชีย และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย (ประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์)
 
อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ การจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์มีจำนวนผู้มีงานทำ ที่เป็น ลูกจ้างภาคเอกชน 1,075,000 คน ชะลอตัวร้อยละ -0.09 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อลดลง จากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวและราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมประมง ประกอบกับการประมงไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซียและการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง
 
อุตสาหกรรมสิ่งทอ การจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีจำนวน 178,000 คน ชะลอตัวลงร้อยละ -16.04 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอคาดว่าจะนำเข้าลดลงทั้งเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน ยกเว้นในกลุ่มเสื้อผ้าสำ เร็จรูป คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ตามความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคในประเทศ
 
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม การจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีจำนวน 324,000 คน ชะลอตัวร้อยละ -9.75 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มยังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากความต้องการของเวียดนามลดลงจากความสามารถในการพัฒนาสิ่งทอต้นน้ำเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปลงทุนของไต้หวันและจีน จึงลดการนำเข้าจากไทย รวมทั้งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบถุงเท้าและถุงน่องไปยังตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
 
อุตสาหกรรมขายส่งขายปลีก การจ้างงานในอุตสาหกรรมการขายส่งขายปลีก มีจำนวน 2,415,000 คน ขยายตัวร้อยละ 0.21 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาการจ้างงานในอุตสาหกรรมขายส่งขายปลีกมีแนวโน้มขยายตัว จากดัชนีค้าปลีกที่ขยายตัว เนื่องจากมียอดขายขยายตัวในทุกหมวดสินค้า สำหรับดัชนีค้าส่งมีการชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณายอดขายรายหมวดแล้วพบว่ามีการขยายตัวในหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้าขั้นกลาง
 
อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ การจ้างงานในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ มีจำนวน 201,000 คน ขยายตัวร้อยละ 2.55 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรืออุตสาหกรรมปลายน้ำ อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น สำหรับการจ้างงานในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ขยายตัว โดยพิจารณาจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ใช้ความเย็น เนื่องจากผู้ผลิตคาดการณ์ว่าความต้องการสินค้าประเภทนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียและยุโรปที่คาดว่าจะร้อนกว่าปีก่อน รวมทั้งการขยายตัวของโครงการคอนโนมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า และแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ในต่างประเทศ รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศปรับดีขึ้นจากการขยายตัวของการผลิตตามการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวที่ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจซื้อก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559
 
อุตสาหกรรมก่อสร้าง การจ้างงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีจำนวน 1,835,000 คน ขยายตัวร้อยละ 5.82 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา การจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาครัฐมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจที่จะลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
 
อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน การจ้างงานในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนมีจำนวน 245,000 คน ขยายตัวร้อยละ 6.52 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา การจ้างงานมีแนวโน้มขยายตัว โดยการผลิตและจำน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการส่งออก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดอาเซียน รวมทั้งตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อสูงเช่นเดียวกับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน มีแนวโน้มเติบโตจากการนำวัตถุดิบไม้มาใช้ในการผลิตเป็นเครื่องเรือนทั้งในและต่างประเทศ
 
อุตสาหกรรมการเป็นสื่อกลางทางการเงิน การจ้างงานในอุตสาหกรรมการเป็นสื่อกลางทางการเงิน มีจำนวน 418,000 คน ชะลอตัวร้อยละ -2.56 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการจ้างงานมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินขยายตัว จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อซึ่งกระทบต่อตัวแปรทั้งดัชนีการลงทุนภาคเอกชนต่อเนื่องไปยังเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ และการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนเนื่องจากมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
 
อุตสาหกรรมขนส่ง การจ้างงานในอุตสาหกรรมขนส่ง มีจำนวน 606,000 คน ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการขนส่งขยายตัว ตามการขนส่งในภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น จากกระแสความนิยมภาพยนตร์จีนที่ถ่ายทำในไทย ซึ่งคาดว่าเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายเที่ยวบินของสายการบินต้นทุนต่ำ และปัจจัยบวกจาก EASA ประกาศไม่แบนสายการบินของไทยช่วยผ่อนคลายแรงกดดันที่มีต่อภาคท่องเที่ยวของไทยลงได้ระดับหนึ่ง
 
อุตสาหกรรมงานด้านสุขภาพ สังคมสงเคราะห์ กิจกรรมด้านบริการชุมชน สังคมและการบริการส่วนบุคคลอื่น ๆ การจ้างงานในอุตสาหกรรมงานด้านสุขภาพสังคมสงเคราะห์ กิจกรรมด้านบริการชุมชน สังคมและการบริการส่วนบุคคลอื่นๆ มีจำ นวน 162,000 คนขยายตัวร้อยละ 10.96 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยในประเทศยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังเข้าไม่ถึงประชาชนในถิ่นที่อยู่ห่างไกลและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกทั้งอุตสาหกรรมยาในประเทศขยายตัวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการแพทย์ครบวงจรเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียน ในขณะที่โครงสร้างทางสังคมเริ่มเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุทำให้หันมาสนใจสุขภาพตนเองมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตขึ้น
 
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม การจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม มีจำนวน 389,000 คน ชะลอตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ-0.26 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสถัดไป เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่องอีกทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป ที่ขยายตัวจากผลดีของการขยายเส้นทางให้บริการ
 
อุตสาหกรรมภัตตาคาร การจ้างงานในอุตสาหกรรมภัตตาคารมีจำนวน 607,000 คน ขยายตัวร้อยละ 10.36 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา การจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว
ปรับตัวดีขึ้น และอัตราการเข้าพักโรงแรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.79 มาอยู่ที่ร้อยละ 73.58 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และอัตราการจองห้องพักล่วงหน้ายังเพิ่มขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
 
โดยแนวโน้มการจ้างงานรายอุตสาหกรรมที่ต้องเฝ้าระวังนั้น การจ้างงานรายอุตสาหกรรมต้องเฝ้าระวังมี 6 อุตสาหกรรมประกอบไปด้วย 1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2. อุตสาหกรรมภัตตาคาร 3. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม 4. อุตสาหกรรมสิ่งทอ 5. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และ 6. อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน โดย 6 อุตสาหกรรม นี้ดัชนีชี้นำที่มีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงานในรายอุตสาหกรรมมีการชะลอตัวในเกณฑ์ที่อาจกระทบต่อการจ้างงาน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net