ศาลอนุญาโตตุลาการกรุงเฮกชี้ว่าจีนไม่มีสิทธิทางกฎหมายในน่านน้ำทะเลจีนใต้

หลังฟิลิปปินส์ร้องเรียนเมื่อ 3 ปีก่อน ล่าสุดศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก วินิจฉัยว่าจีนไม่มีสิทธิทางกฎหมายและประวัติศาสตร์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ การสร้างเกาะเทียมและสิ่งก่อสร้างทางทหารถือเป็นการยั่วยุชาติอื่นในขณะที่การเจรจายังไม่สิ้นสุด ด้านจีนเมินคำตัดสิน-ย้ำปกป้องอธิปไตยต่อไป ขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ของฟิลิปปินส์มีท่าทีโอนอ่อนหวังเจรจากับจีน

แผนที่แสดงพื้นที่อ้างกรรมสิทธิ์และพื้นที่ทับซ้อนระหว่างชาติต่างๆ ในทะเลจีนใต้ และที่ตั้งของสันดอนสกาโบโร ที่ฟิลิปปินส์และจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ และเป็นชนวนนำไปสู่การยื่นร้องเรียนของฟิลิปปินส์ที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (ที่มา: VOA/Wikipedia)

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีคำวินิจฉัยว่าจีนไม่มีสิทธิทางกฏหมายและสิทธิทางประวัติศาสตร์ใดๆ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ตามรายงานของบีบีซีไทย

โดยคณะอนุญาโตตุลาการ 5 คน มีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า จีนไม่สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ใดๆ โดยอาศัยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกับกรรมสิทธิ์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของชาติต่าง ๆ ได้ โดยทั้งนี้เป็นไปตามอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทางทะเลปี ค.ศ. 1982

คณะอนุญาโตตุลาการยังเห็นวา ที่จีนได้กำหนดเส้นประ 9 เส้น ในแผนที่เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ รวมทั้งสร้างเกาะเทียมและสิ่งก่อสร้างทางทหารนั้น จีนได้ละเมิดข้อตกลงกับชาติอื่นในภูมิภาค ในอันที่จะงดเว้นการกระทำยั่วยุซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ระหว่างที่กระบวนการเจรจาแก้ปัญหายังไม่สิ้นสุดลง ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและแนวปะการังอย่างไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนดีได้

คณะอนุญาโตตุลาการยังมีคำตัดสินว่า จีนได้เข้าแทรกแซงขัดขวางฟิลิปปินส์ในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม ขัดขวางเรือประมงฟิลิปปินส์ไม่ให้หาปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์เอง และไม่พยายามห้ามปรามเรือประมงจีนที่เข้ามาหาปลาล้ำน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวด้วย

ภายหลังคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก ต่อมา กระทรวงกลาโหมของจีนออกแถลงการณ์ว่า กองทัพจะเดินหน้าปกป้องอธิปไตย รวมทั้งผลประโยชน์และสิทธิทางทะเลต่างๆ ของชาติ และได้ประกาศว่าจะดำเนินการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ต่อไป โดยล่าสุดได้ประจำการระบบต่อต้านขีปนาวุธนำวิถีที่ฐานทัพเรือบนเกาะไหหลำ ซึ่งเป็นฐานหลักในการดูแลผลประโยชน์จีนในทะเลจีนใต้แล้ว

 

ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องสมัยนอยนอย อากีโน ขณะที่ประธานาธิบดีใหม่ 'ดูเตอร์เต' ท่าทีโอนอ่อนต่อจีน

สำหรับที่มาของคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อฟิลิปปินส์ในสมัยประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน ที่ 3 หรือ นอยนอย อากีโน ยื่นต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกเมื่อปี ค.ศ. 2013 ภายหลังจากที่จีนเข้ายึดแนวหินโสโครกและสันดอนทราย ซึ่งทั้งจีนและฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้จีนยังตัดสินใจถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมขึ้นบนสันดอนสกาโบโร (Scarborough Shoal) ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกับฟิลิปปินส์ และพันธมิตรทางสนธิสัญญาของฟิลิปปินส์ก็คือสหรัฐอเมริกา

แม้คำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก จะส่งผลดีกับฟิลิปปินส์ในการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ แต่ในรายงานของ นิวยอร์กไทมส์ ก็ระบุว่า ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่ คือ โรดริโก ดูเตอร์เต ส่งสัญญาณว่ามีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามจีนมากกว่าอดีตประธานาธิบดี นอยนอย อากีโน ผู้นำเรื่องเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก

โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน ดูเตอร์เตยังได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์คือ เจ้า เจียนฮวาด้วย

ในขณะที่อดีต รมว.ต่างประเทศ ฟิลิปปินส์ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ ซึ่งเป็นผู้นำข้อพิพาททางทะเลขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หลังเจรจาล้มเหลวกับจีน กล่าวด้วยว่า คำตัดสินดังกล่าวจะเปิดทางให้กับวิธีจัดการข้อพิพาทอย่างยั่งยืนในทะเลจีนใต้

"คำชี้ขาดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาและความร่วมมือในอนาคตสำหรับทุกฝ่าย รวมทั้งจีนด้วย" โรซาริโอ กล่าว

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ระบุด้วยว่า มีหลายกรณีที่ประเทศมหาอำนาจมักไม่ยึดคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ หรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยเมื่อ ค.ศ. 1986 สหรัฐอเมริกาก็ไม่ทำตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่ตัดสินว่าการที่สหรัฐอเมริกากระทำผิดกฎหมายในการขุดทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อ่าวของนิคารากัว อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินเมื่อ 30 ปีก่อนของคณะผู้พิพากษาที่กรุงเฮก เคยทำให้เกิดแรงวิจารณ์จากสภาคองเกรส สมัยรัฐบาลโรนัลด์ เรแกน ทำให้มีการตัดงบประมาณที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้ในการต่อต้านรัฐบาลซาดินิสตาของนิคารากัว และยังเป็นแรงกระตุ้นให้ประเทศในอเมริกากลางหาทางแก้ไขความขัดแย้งผ่านกระบวนการศาลระหว่างประเทศอีกด้วย

 

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และเส้นประ 9 เส้น เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ของจีน

แผนที่ทะเลจีนใต้ แสดงแนว "เส้นประ 9 เส้น" (สีเขียว) ที่จีนอ้างว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะและทะเลบริเวณดังกล่าว (ที่มา: Wikipedia)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พื้นที่ทะเลจีนใต้ หรือที่จีนเรียกทะเลหนานไห่ หรือทะเลใต้ กินพื้นที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า และเส้นทางผ่านของเที่ยวบินพาณิชย์ ในขณะที่มีหลายชาติอ้างกรรมสิทธิในทะเลจีนใต้ ทั้งจีน ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย

ในขณะที่จีนได้ตั้งจังหวัดซานชาเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012 เพื่อจัดการปกครองในทะเลจีนใต้ โดยให้ขึ้นกับมณฑลไหหลำ แบ่งการปกครองของจังหวัดใหม่ออกเป็น 3 อำเภอ คือ (1) อำเภอซีชา หรือหมู่เกาะพาราเซล (2) อำเภอหนานชา หรือหมู่เกาะสแปรตลี และ (3) อำเภอจงชา ซึ่งรวมเอาเกาะปะการังแมคเคิลส์ฟิลด์แบงค์ (Macclesfield Bank) และสันดอนสกาโบโร (Scarborough Shoal)

สำหรับเมืองใหญ่สุดของจังหวัดซานชาของจีน อยู่ที่เกาะย่งชิง หรือเกาะวู้ดดี้ (Woody Island) ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้ถัดจากเกาะไหหลำ มณฑลไหหลำของจีน

โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ยึด "เส้นประ 9 เส้น (nine-dash line หรือ 南海九段线) ในทะเลจีนใต้ว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณที่เส้นประ 9 เส้นครอบคลุมอยู่ โดยเป็นการอ้างตามที่รัฐบาลจีนคณะชาติอ้างไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2490 โดยเป็นการอ้างหลังการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งสอง ต่อมาในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดแผ่นดินใหญ่ได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2492 จีนก็ยังคงอ้างกรรมสิทธิ์ตามเส้นประ 9 เส้น และต่อมามีการสร้างเกาะเทียมจากการถมทะเลขึ้นมาจากเกาะปะการัง และสันดอนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งวางกำลังทางทหารในพื้นที่ด้วย

ขณะที่สหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีบารัก โอบามา พยายามยับยั้งความเคลื่อนไหวของจีน โดยในเดือนตุลาคม 2558 สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือพิฆาตชั้น Aegis ชื่อ USS Lassen เข้ามาลาดตระเวนภายในเส้น 12 ไมล์ทะเลของสันดอนซูบี (Subi Reef)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท