คริสปิน คัสส์ : อิทธิพลของ 'ISIS' ในเอเชียอาคเนย์

อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพอังกฤษวิเคราะห์สถานการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เข้าสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอซิสมากขึ้น โดยประเมินว่าพวกเขาทำไปเพื่อสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวมากขึ้น รวมถึงผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างการจับคนเรียกค่าไถ่ด้วยวงเงินสูงขึ้นโดยไม่ได้มีแนวคิดหนุนไอซิสจริงจัง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือกลุ่มคนเคยไปรบกับไอซิสในตะวันออกกลางแล้วกลับบ้านเกิด

ภาพจากวิดีโอคลิปในรายงานของเดอะสตาร์ สื่อมวลชนในมาเลเซีย ที่อ้างเป็นของกลุ่มไอซิสที่ประกาศเป็นภาษามลายู พุ่งเป้าโจมตีไปที่รัฐบาลมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ไม่ยึดหลักอิสลามเพียงพอ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

14 ก.ค. 2559 คริสปิน คัสส์ อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพอังกฤษนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนบทความในอัลจาซีราเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อการร้ายไอซิสจะเริ่มปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เหตุรุนแรงในภูมิภาคมักจะมาจากสภาพของแต่ละประเทศเองมากพอๆ กับเรื่องอุดมการณ์ของกลุ่มอิสลามสุดโต่ง แต่เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มไอซิสเริ่มสูญเสียพื้นที่ครอบครองจากการสู้รบในตะวันออกกลางมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่พวกเขาจะเบนเข็มมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คิสส์ระบุว่าหลักฐานที่สื่อให้เห็นถึงการที่ไอซิสพยายามเข้ามาก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นคือกรณีที่มีเหตุระเบิดจากอาวุธระเบิดมือที่บาร์ที่เมืองปูชง รัฐสลังงอร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกลุ่มไอซิสอ้างว่าเป็นฝีมือของพวกเขาที่สามารถโจมตีประเทศมาเลเซียได้เป็นครั้งแรก โดยที่ตำรวจของมาเลเซียก็ยืนยันว่าการโจมตีในครั้งนี้เป็นการก่อเหตุโดยคนในมาเลเซียที่รับคำสั่งมาจากชาวมาเลเซียที่ไปเป็นพวกไอซิสในซีเรีย ถึงแม้ว่าลักษณะการโจมตีจะเป็นไปอย่างง่ายๆ แต่ทางตำรวจก็ไม่มองว่าเป็นปมความขัดแย้งระหว่างคู่แข่งทางธุรกิจ

คัสส์ระบุว่าถึงแม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนแต่ก็มีคนประมาณ 1,000 คน จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เดินทางไปเข้าร่วมกลุ่มไอซิสซึ่งส่วนใหญ่เดินทางจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มีกลุ่มไอซิสที่พดภาษามลายูชื่อกลุ่ม คาติบะห์ นูซันตารา (Katibah Nusantara) ที่แปลว่า "หน่วยรบแห่งหมู่เกาะมาเลย์" รวมถึงมีชาวมาเลเซียที่อาสาก่อเหตุแบบเดี่ยวๆ เคยก่อเหตุที่เป็นข่าวดังหลายครั้งในอิรักและซีเรีย โดยถึงแม้ว่าชาวมุสลิมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคนที่ไปเข้าร่วมไอซิส น้อยมากเมื่อเทียบอัตราส่วนประชากรชาวมุสลิมกับประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่คัสส์ก็ประเมินว่ากลุ่มไอซิสยังสามารถดึงดูดคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อวางรากฐานในระยะยาวได้

อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพอังกฤษระบุต่อไปว่ากลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอิทธิพลต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานานพวกเขามักจะมาจากขบวนการต่อต้านอาณานิคมหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนแต่ยุคหลังๆ พวกเขาเริ่มอ่อนกำลังลงแต่ทว่าก็สามารถสร้างเรื่องเดือดร้อนเป็นข่าวระดับโลกได้ช่วงหนึ่ง เช่นกรณีการระเบิดไนท์คลับในบาหลีเมื่อปี 2545 โดยกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเจมาร์ อิสลามิยาห์ จะถูกกำจัดโดยกลุ่มต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซียแต่ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ ราว 30 กลุ่มในภูมิภาคที่แสดงการสวามิภักดิ์ต่อไอซิส

บทความของคัสส์ระบุว่าอุดมการณ์ที่กลุ่มเหล่านี้กล่าวอ้างมีความสลับซับซ้อนไม่แพ้พวกไอซิส กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้เคยสวามิภักดิ์ต่ออัลกออิดะฮ์ มาก่อนเพื่อแลกกับเงินทุนและการฝึกฝน โดยอัลกออิดะฮ์จะได้ประโยชน์จากการควบคุมเชิงยุทธศาสตร์ในระดับหนึ่ง อยางไรก็ตามเรื่องการสวามิภักดิ์ต่อไอซิสนั้น ถึงแม้กลุ่มไอซิสจะอ้างว่าสามารถควบคุมกลุ่มในภูมิภาคนี้ไว้ได้แต่แรงจูงใจของกลุ่มเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ตัวเองมากกว่า

คัสส์ประเมินว่ากลุ่มก่อการร้ายที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอซิสส่วนหนึ่งเพราะต้องการทำให้กลุ่มตัวเองเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมากขึ้นและสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอะบูไซยาฟในฟิลิปปินส์ที่พยายามหาข้ออ้างก่ออาชญากรรมรวมถึงจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ให้ได้เงินมากขึ้น แต่ก็ต้องแยกแยะว่าถึงแม้พวกที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอซิสจะไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรร่วมกัน แต่พวกที่อาสาเดินทางไปรบที่ในซีเรียก็อาจจะเป็นพวกที่เชื่อในไอซิสจริงๆ โดยที่รัฐบาลประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลัวว่าพวกที่เดินทางไปรบในซีเรียอาจจะกลับมาด้วยแนวความคิดที่สุดโต่งมากขึ้นรวมถึงได้รับการฝึกฝนและมีความทนทานมากขึ้นด้วย

คัสส์ประเมินว่าการที่คนที่เคยไปรบกับไอซิสกลับสู่ประเทศอาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรงอย่างการขว้างระเบิดเมื่อสสัปดาห์ที่แล้วหรือการใช้อาวุธปืนยิงผู้คนในจาการ์ตาเมื่อเดือน ม.ค. และเพิ่มแนวโน้มการใช้ความรุนแรงแบบพลีชีพมากขึ้นหรือมีเป้าหมายเป็นกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะมากขึ้น เรื่องเหล่านี้ล้วนทำให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้เป็นกังวลว่าการก่อเหตุแบบไอซิสจะใกล้ตัวมากขึ้นหรือไม่

 
 
เรียบเรียงจาก
 
The returning jihad: ISIL in Southeast Asia, Crispian Cuss, Aljazeera, 13-07-2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท