ทหารตุรกี "สภาสันติภาพ" ทำรัฐประหาร สั่งเคอร์ฟิว ปิดสนามบิน ปิดช่องแคบเชื่อมเอเชีย-ยุโรป

มีความพยายามทำรัฐประหารในตุรกีโดยคณะทหาร "สภาสันติภาพ" โค่นรัฐบาล ไทยิบ เออร์โดกัน ยึดสถานที่สำคัญ ประกาศเคอร์ฟิว จับนายทหารระดับสูง คณะรัฐประหารระบุว่าขอเข้ามาฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และนิติรัฐ หลังถูกรัฐบาลปัจจุบันทำลาย ขณะที่ประธานาธิบดีซึ่งมีชื่อด้านละเมิดสิทธิมนุษยชนตอบโต้ว่ากลุ่มรัฐประหารเป็นทหารส่วนน้อย และเขาจะชนะ

ที่มา: NTV/The Guardian

มีรายงานจากประเทศตุรกี ระบุว่าในคืนวันที่ 15 ก.ค. เวลา 23.00 น. เศษ ตามเวลาท้องถิ่นของตุรกี หรือ 03.00 น. ของวันที่ 16 ก.ค. ตามเวลาประเทศไทย เกิดความพยายามทำรัฐประหารของทหารตุรกีเพื่อล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีไทยิบ เออร์โดกัน โดยกลุ่มที่ทำรัฐประหารใช้ชื่อคณะว่า "สภาสันติภาพ" (Peace Council)

ขณะที่นายกรัฐมนตรีตุรกี บินาลี ยิดริม ระบุว่า มีความพยายามทำรัฐประหารโดยทหารส่วนหนึ่งของกองทัพ และเขาระบุว่ากองกำลังของรัฐบาลพยายามคลี่่คลายปัญหานี้ ทั้งนี้รัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงที่ ไทยิบ เออร์โดกัน อยู่ระหว่างพักร้อน แต่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดประธานาธิบดีตุรกีระบุว่าเขาปลอดภัยดี

ทั้งนี้มีเสียงปืนได้ยินทั่วไปกรุงอังการา เมืองหลวงประเทศตุรกี ที่อยู่ในฝั่งทวีปเอเชีย มีทหารเข้าไปยึดที่ทำการพรรค AKP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล มีรายงานว่าที่กองบัญชาการทหารตุรกี มีนายทหารระดับสูงถูกจับเป็นตัวประกันด้วย โดยสำนักข่าวท้องถิ่นคือ Anadolu ระบุว่ามีผู้บัญชาการกองทัพตุรกีถูกกลุ่มที่ทำรัฐประหารจับเป็นตัวประกันด้วย นอกจากนี้ทหารกลุ่มที่ทำรัฐประหารได้ยึดสถานีโทรทัศน์ของรัฐคือ ช่อง TRT ที่กรุงอังการาด้วย

ส่วนที่อิสตันบูล เมืองใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ มีทหารตุรกีนำกำลังไปปิดสะพานข้ามช่องแคบบอสฟอรัส ที่เชื่อมระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปยุโรป นอกจากนี้ในโลกออนไลน์ของตุรกี มีการเผยภาพชาวตุรกีไปแห่กดเงินตู้เอทีเอ็มด้วย หลังทราบข่าวรัฐประหาร

ทั้งนี้ทหารที่ทำรัฐประหาร ได้ใช้สถานี TRT เป็นที่ออกอากาศเวลาอ่านแถลงการณ์ โดยผู้ประกาศของสถานีระบุว่าพวกเขากำลังอ่านประกาศของทหาร โดยมีการออกประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน และปิดสถามบิน นอกจากนี้มีการออกประกาศว่า ทหารที่ทำรัฐประหารสัญญาว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่สำหรับประเทศ ที่ผ่านมาประชาธิปไตย ความเป็นรัฐทางโลก และนิติรัฐ ถูกบ่อนทำลาย นอกจากนี้จะประกาศใช้กฎอัยการศึกในช่วงนี้ด้วย

ทหารจากตุรกีกลุ่มที่ทำรัฐประหารยังออกแถลงการณ์ว่า "กองทัพตุรกีได้ยึดอำนาจการบริหารราชการประเทศทั้งหมดแล้ว เพื่อที่จะฟื้นฟูระเบียบของรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ตามเดิม รวมทั้งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นิติรัฐ และความสงบเรียบร้อยทั่วไปซึ่งได้ถูกทำลายลง"

"ข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหมดจะมีผลบังคับต่อไป เราหวังว่ามิตรภาพที่ดีกับทุกประเทศจะดำรงต่อไป"

 

 

 

 

ต่อมา ประธานาธิบดีไทยิบ เออร์โดกัน ได้ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ตอบโต้กลุ่มที่ทำรัฐประหารว่าเป็นทหารส่วนน้อยในกองทัพ และเขาจะเอาชนะกลุ่มที่ทำรัฐประหารนี้ โดยเขายังเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาออกมารวมตัวยังท้องถนน ทั้งนี้ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ใช้วิธีโทรศัพท์แบบวิดีโอคอลด้วยแอพพลิเคชัน FaceTime เข้ามาในสถานีโทรทัศน์เพื่อแถลงตอบโต้

มีรายงานด้วยว่าอินเทอร์เน็ตของตุรกีเข้าถึงได้ยากขึ้นเมื่อเกิดรัฐประหาร และล่าสุดในเวลา 00.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 04.40 น. ตามเวลาประเทศไทย มีรายงานด้วยว่า สัญญาณออกอากาศของสถานี TRT ก็ขาดตอนไป ทั้งนี้สถานี TRT ดังกล่าวถูกทหารกลุ่มที่ทำรัฐประหารยึดเอาไว้

ในการแถลงออกอากาศทางโทรทัศน์ ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ยังกล่าวหาว่า ทหารที่ทำรัฐประหารอยู่ในเครือข่ายผู้นิยมกูเลน (Gulenist movement) ซึ่งหมายถึง  เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาที่ปัจจุบันลี้ภัยในสหรัฐ

 

 

มีรายงานด้วยว่าฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเออร์โดกัน ได้เดินขบวนบนท้องถนนเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารด้วย

นอกจากนี้แม้ทหารที่ทำรัฐประหารจะยึดสถานีโทรทัศน์ TRT ของรัฐบาลไว้ได้ แต่ทวิตเตอร์บัญชีของสถานีโทรทัศน์ TRT แผนกต่างประเทศ กลับทวิตข้อความต่อต้านการทำรัฐประหาร และยังคงรายงานข่าวของฝ่ายประธานาธิบดีเออร์โดกัน ทั้งนี้มีการทวิต คำแถลงของประธานาธิบดีเออร์โดกัน รวมไปถึงข้อความของผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ที่ระบุว่า กองทัพตุรกีไม่สนับสนุนการทำรัฐประหารนี้

 

 

 

 

ขณะเดียวกันมีผู้เผยแพร่คลิปในทวิตเตอร์ ระบุว่าตำรวจตุรกีฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเออร์โดแกน ได้เข้าจับกุมทหารที่ออกมาทำรัฐประหารด้วย

 

 

ที่เมืองซาการ์ยา ทางใต้ของตุรกี มีผู้เผยแพร่คลิปประชาชนเข้าไปขับไล่ทหารที่ออกมารักษาการด้วย

ทั้งนี้ ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเออร์โดกันมาแล้ว 13 ปี และเศรษฐกิจตุรกีเติบโตอย่างมากจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ส่วนกองทัพตุรกีที่เคยล้มรัฐบาลมาแล้ว 4 ครั้งนับตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ก็ถูกจำกัดอำนาจพอสมควร และหลังสุดตุรกียังเริ่มเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อขอเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในขณะที่ความขัดแย้งกับพรรค PKK ของชาวเคิร์ดนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาภายใต้กระบวนการสันติภาพ

อย่างไรก็ตามเออร์โดกัน ก็ถูกวิจารณ์ในเรื่องการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อ เคยออกคำสั่งปิดกั้นทวิตเตอร์ และ YouTube ดำเนินคดีเด็ก 13 ขวบที่วิจารณ์ประธานาธิบดี รวมทั้งการกดขี่ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด นอกจากนี้เขายังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBT ในตุรกีที่ต้องการให้รัฐบาลยอมรับการมีอยู่ของพวกเขา โดยที่ผ่านมาเคยมีเหตุสลายการชุมนุมที่อิสตันบูลไพรด์ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา รัฐบาลเออร์โดกัน พยายามที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นในการแต่งตั้งผู้พิพากษา เนื่องจากปัจจุบันเขาเห็นว่าฝ่ายตุลาการโน้มเอียงไปทาง เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาที่ปัจจุบันลี้ภัยในสหรัฐ

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Turkey coup attempt: military claims takeover of government – live, The Guardian, 16 July 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท