ประสิทธิชัย หนูนวล: สิ่งที่เราต้องยอมรับคือ บทเฉพาะกาลมีเพื่อการสืบทอดอำนาจแน่นอน

คุยกับประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำกลุ่มอดอาหารคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ หลังประกาศชัดคัดค้านไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุ 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรปฏิรูปจริงจัง แต่ยังเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสอบทอดอำนาจต่อไปอีก

หากพูดถึง ประสิทธิชัย หนูนวล หลายคนน่าจะรู้จักเขาดีในฐานะคนทำงานภาคประชาสังคม โดยเฉพาะประเด็นการต่อต้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ซึ่งล่าสุดได้มีการเคลื่อนไหวไปในช่วงปีที่ผ่านมา โดยยึดถือหลักการแนวทางสันติวิธี คือการอดอาหารเพื่อประท้วงรัฐบาลให้ยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนั้น เป็นเพราะกระบวนการ และกลไกที่ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความความคิดเห็น และไม่ได้พื้นที่ที่จะรับฟังความต้องการของพวกขาอย่างแท้จริง คงไม่ผิดมากไปนักหากเราจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า โครงสร้างทางอำนาจที่บิดเบี้ยว และไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

และแน่นอนว่า ประสิทธิชัย มองเห็นโครงสร้างทางอำนาจที่บิดเบี้ยวเหล่านั้นดี เขาจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมที่ออกประกาศชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติครั้ง เป็นร่างที่ไม่อาจรับได้ เรื่องที่ว่าจะเกี่ยวข้องกับงานภาคประชาชนของเขาอย่างไร และเขามองเห็นอะไรในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้คือคำตอบ

ทั้งตัวร่างรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะ มันมีความไม่ปกติอยู่ โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล เห็นได้ชัดว่า คสช. มีเป้าหมายอะไรบางอย่างใช่หรือไม่ที่เขียนบทเฉพาะกาลแบบนี้ไว้

 

คำถามก็คือ แผนยุทธศาสตร์ที่บังคับให้ร่างให้เสร็จหลังรัฐธรรมนูญผ่านคืออะไร ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า แผนยุทธศาสตร์คือ การเขียนแผนของกลุ่มประชารัฐ คสชมีหน้าที่จัดการโครงสร้างทางอำนาจให้เรียบร้อย และจะต้องจัดการให้ได้ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี

 

สิ่งที่เราต้องยอมรับก่อนคือ ในบทเฉพาะกาลเขียนเพื่อการสืบทอดอำนาจแน่นอน สืบทอดอำนาจแล้วจะดีหรือเปล่า ก็ต้องมาดูตามสถานการณ์ คสช. ประกาศปฏิรูปประเทศตั้งแต่รัฐประหาร จนปัจจุบันไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย แต่สิ่งที่ลงแรงหนักก็คือว่า ให้กลุ่มทุนที่เรียกว่า ประชารัฐ เดินหน้าเต็มที่ คสช. มีหน้าที่แก้กฎหมายเพื่อให้ทุนใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ครม.ชุดใหม่ก็ไม่มีทางที่จะแตกต่างไปจากนี้

 

ที่เขาโฆษณาว่า มันมีการการปราบโกง ผมว่ามีเหตุผลเดียวคือ การทำให้พรรคการเมือง และนักการเมืองเล็กลง แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เข้ามากุมอำนาจรัฐอาจจะมีการคอรัปชั่นสูงขึ้น และกลายเป็นกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นไปได้บอกว่านักการเมืองจะไม่จับมือกับกลุ่มทุน เพราะเขาจะหันไปจับมือกับอำนาจใหม่แทน และไม่ต้องเดาเลยว่าจะจับหรือไม่เพราะตอนนี้เขาจับมือกันอยู่ และจับอย่างต่อเนื่อง

 

ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัว ประสิทธิชัย หนูนวล

00000

คุณเป็นอีกคนหนึ่งในกลุ่มคนทำงานภาคประชาชน ที่ออกมาประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เหตุผลที่ไม่อาจรับได้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของคุณคืออะไร

ทั้งตัวร่างรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะ มันมีความไม่ปกติอยู่ โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล เห็นได้ชัดว่า คสช. มีเป้าหมายอะไรบางอย่างใช่หรือไม่ที่เขียนบทเฉพาะกาลแบบนี้ไว้ ขยายความก็คือ จะพบว่าที่มาของนายกรัฐมนตรี หรือ ครม. จะถูกจัดการมาเป็นพิเศษ เช่นเรื่องขอที่มาของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง ซึ่งจะเป็น ส.ส. หรือไม่ก็ได้ พอไปดูการเสนอชื่อ ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากสุดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีการเปิดช่องให้ใช้กลไกพิเศษในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีได้

พอมาพิจารณาคำถามพ่วง ก็แสดงเจตนาชัดเจนเรื่องการได้มาของนายกรัฐมนตรี ก็จะให้ ส.ว. 250 คน มาเลือกด้วย ซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพราะฉะนั้นโดยระบบทั้งหมด มันส่อให้เห็นว่า เขาอยากจะได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นพวกเดียวกัน หรือสามารถกำกับควบคุมได้ สมมติว่าไม่มีนัยที่พูดถึง ทำไมเขาไม่เขียนร่างรัฐธรรมนูญให้มันเป็นไปตามปกติ คือไม่ต้องมีบทเฉพาะกาลแบบนี้

คำถามก็คือว่า บทเฉพาะกาลมีวัตถุประสงค์หลักคืออะไร ความเห็นส่วนตัวของผม บทเฉพาะกาลมีวัตถุประสงค์เพื่อ ทำยุทธศาสตร์ชาติ หรือการปฏิรูปประเทศ ถ้าเราไปอ่านบทเฉพาะกาลจะพบว่าให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก เช่นบอกว่าจะต้องเขียนแผนยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายใน 1 ปี จะต้องมีกฎหมายที่รองรับแผนเรื่องยุทธศาสตร์ แล้วยังให้อำนาจของ ส.ว. ในการที่จะกำกับ เร่งรัด ติดตามเรื่องการทำยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย ทั้งยังให้ ครม. ต้องรายงานความคืบหน้าต่อวุฒิสภา 3 เดือนครั้ง นี่คือเป้าหมายใหญ่ของ คสช. และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายใหญ่ต้องได้นายกรัฐมนตรีที่ตัวเองคุมได้

ส่วนเรื่องของการจัดการทรัพยากร สิทธิชุมชน ก็จะกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ ในความเชื่อส่วนตัวผมมองว่า แผนยุทธศาสตร์นี้จะนำไปสู่การผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน เพราะฉะนั้นจึงให้สิทธิในการจัดการทรัพยากรชุมชนเป็นหน้าที่ของรัฐ แล้วพอร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็จะต้องเขียนกฎหมายขึ้นมา เพื่อมาประกอบรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งบังคับว่าต้องเขียนให้เสร็จภายใน 8 เดือน หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ถ้าเขียนไม่เสร็จ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะต้องถูกลงโทษ ครม. สามารถสั่งปลดหัวหน้าหน่วยงานได้ เขาต้องการที่จะทำให้แผนยุทธศาสตร์นี้เดินได้

ประเด็นถัดมาที่เป็นคำถามหลักก็คือว่า ในคำถามพ่วงเนี่ยที่ต้องการให้ ส.ว. มาเป็นส่วนสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เหตุผลคือ เพื่อให้แผนปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นเวลาเราดูทั้งคำถามพ่วง บทเฉพาะกาล และหมวดปฏิรูปประเทศ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ทีนี้สิ่งที่มันลึกซึ้งก็คือ คำว่ายุทธศาสตร์ชาติกับการปฏิรูปประเทศมันคืออะไร รัฐบาลนี้พยายามอย่างมากที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องนำมาพิจารณา ปฏิบัติการตามนโยบายของ คสช. ในยุคปัจจุบัน ซึ่งให้อำนาจกับประชารัฐ คือบริษัทกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เข้ามาคุมสภาพประเทศ เพราะว่าเค้าทำ 12 เรื่อง แก้กฎหมาย การศึกษา การเกษตร ฯลฯ และเมื่อดูคำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาหลายๆคำสั่ง ก็ปรากฏว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน กระบวนการทำนโยบายที่เกิดขึ้นแล้วในยุค คสช. มีผลบังคับใช้แม้ว่ารัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นกระบวนการต่อเนื่อง คำถามก็คือ แผนยุทธศาสตร์ที่บังคับให้ร่างให้เสร็จหลังรัฐธรรมนูญผ่านคืออะไร ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า แผนยุทธศาสตร์คือ การเขียนแผนของกลุ่มประชารัฐ คสชมีหน้าที่จัดการโครงสร้างทางอำนาจให้เรียบร้อย และจะต้องจัดการให้ได้ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี

เช่นเดียวกับ ส.ว. ที่มีอายุ 5 ปี ส.ว. ก็จะมีบทบาท มีอำนาจมาก ในบทเฉพาะกาลที่เขียนขึ้น อันนี้เป็นเหตุผลหลักที่ไม่สามารถยอมรับร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะมันจะนำไปสู่การกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของประเทศในช่วง 3ถึง 5 ปี

ประเด็นสำคัญเวลาผมมีความเห็นแบบนี้ ก็จะมีคนบอกว่า เพ้อเจ้อ วิเคราะห์เกินไปหรือเปล่า ถ้าพิจารณาจากปัจจุบัน สิ่งที่เราต้องยอมรับก่อนคือ ในบทเฉพาะกาลเขียนเพื่อการสืบทอดอำนาจแน่นอน สืบทอดอำนาจแล้วจะดีหรือเปล่า ก็ต้องมาดูตามสถานการณ์ คสช. ประกาศปฏิรูปประเทศตั้งแต่รัฐประหาร จนปัจจุบันไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย แต่สิ่งที่ลงแรงหนักก็คือว่า ให้กลุ่มทุนที่เรียกว่า ประชารัฐ เดินหน้าเต็มที่ คสช. มีหน้าที่แก้กฎหมายเพื่อให้ทุนใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ครม.ชุดใหม่ก็ไม่มีทางที่จะแตกต่างไปจากนี้

ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่าน ขึ้นมาจริงๆ มันจะส่งผลกระทบอย่างไรกับภาคประชาสังคม อย่าง เช่นการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ หรือในพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาจากโครงกรพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ และทุน

จริงๆ ด้วยความเชื่อส่วนตัวเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน มันก็จะมีเรื่องของการออกกลไก ที่เรียกว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าจะต้องตรากฎหมาย เขียนขึ้นมาใหม่ แล้วจะต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน หมายถึงว่าให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน

 

ก่อนหน้านี้มีตัวกฎหมายที่พูดถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอยู่แล้ว แต่ว่าจะมีการรื้อและทำใหม่อย่างนั้นเหรอ

บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล เขียนว่าจะต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องทำกฎหมายขึ้นมา อาจจะเอาตัวร่างกฎหมายเดิมมาแก้ไข หรือทำขึ้นมาใหม่ อันนี้ก็ไม่มีใครทราบ แต่ในเรื่องนี้ได้เขียนกำกับไว้ว่า ถ้าหัวหน้าหน่วยงานที่ ครม. ได้รับมอบหมาย ทำไม่เสร็จภายในระยะเวลา 8 เดือนที่กำหนด ครม.ต้ องสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนี้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมันเป็นการบีบบังคับให้ เร่งร่างกฎหมายออกมา

ทีนี้ประเด็นนี้ที่จะกระทบก็คือ เดิมเรื่องการจัดการทรัพยากรในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เขียนเป็นเรื่องสิทธิชุมชน หมายถึงว่า ชุมชุนมีสิทธิ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเป็นให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐ กฎหมายซึ่งเป็นหลักประกันของประชาชนก็จะถูกลิดรอนมากขึ้นตามหลักรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะเป็นเพียงผู้มีสิทธิรู้ มีสิทธิรับทราบข้อมูล แต่ไม่ได้มีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง

 

ในขณะเดียวกันฝั่ง กรธ. เองก็ออกมาชูว่าร่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญปราบโกง หรือมีการพูดถึงว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน จะไม่เกิดสภาวะที่นักการเมืองไปจับมือกับกลุ่มทุนแล้วก็มากระทำกับชาวบ้าน และพร้อมๆ กันมีกลุ่มการเมืองบ้างกลุ่มออกมาบอกว่า คนที่จะออกไปโหวตโนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ คนสนับสนุนให้มีการโกงเกิดขึ้น

ถ้าการเขียนรัฐธรรมนูญแล้วปราบโกงได้เนี่ย คิดว่าทั้งโลกคงเขียนรัฐธรรมนูญแล้วปราบการคอรัปชั่นกันได้หมดแล้ว ฉะนั้นโดยตรรกะพื้นๆ การเขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้นำไม่สู่การปราบโกง สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคือ กลับมาดูตัวเนื้อหาว่านำไปสู่การปราบโกงจริงหรือเปล่า ผมมองว่ามันมีการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะการใช้อำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จ คือองค์อิสระมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการวินิจฉัยต่อ ครม. โดยใช้ มาตรฐานธรรมทางจริยธรรม ทีนี้ถามว่ามาตรฐานทางจริยธรรมใครเป็นคนเขียน

แต่ว่ามาตรการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาจจะทำให้คนกุมอำนาจคนใหม่สามารถกระทำการใดก็ตามที่นำไปสู่การโกงได้ เหตุผลเพราะว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว 250 คนของ ส.ว. กลายเป็นตัวพลิกผันที่สำคัญ แล้ว ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพราะฉะนั้นในรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นก็อาจนำไปสู่การโกงได้มากขึ้น เพราะว่ามีเสียงที่ตัวเองถืออยู่ 250 เสียง ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะการเลือกครั้งนี้อาจไม่มีพรรคได้ได้เสียงแบบสุดโต่ง อาจจะอยู่ปริ่มๆ กัน เพราะว่ามันมีวิธีการเลือกแบบใหม่ เพราะฉะนั้น พรรค สว. 250 คนอาจเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาก็ได้      

ที่เขาโฆษณาว่า มันมีการการปราบโกง ผมว่ามีเหตุผลเดียวคือ การทำให้พรรคการเมือง และนักการเมืองเล็กลง แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เข้ามากุมอำนาจรัฐอาจจะมีการคอรัปชั่นสูงขึ้น และกลายเป็นกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นไปได้บอกว่านักการเมืองจะไม่จับมือกับกลุ่มทุน เพราะเขาจะหันไปจับมือกับอำนาจใหม่แทน และไม่ต้องเดาเลยว่าจะจับหรือไม่เพราะตอนนี้เขาจับมือกันอยู่ และจับอย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท