Skip to main content
sharethis
ชาว 3 จว. แสดงความกังวลต่อการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นห่วงการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเห็นว่า สภาวะเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่า จะถูกลิดรอนสิทธิทางศาสนา 
 
ประชาไทสัมภาษณ์ ตูแวดานียา ตูแวแมแง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม, เยาวชนนักกิจกรรมกลุ่ม Seed of Peace, อับดุลฮาฟิซ หิเล กรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และ กามาล อับดุลวาฮับ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี และ มะรอนิง สาและ นักอนุรักษ์
 
 

ร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ

 

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ภาคประชาสังคม ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา
 
ตูแวดานียา ตูแวแมแง อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา เชื่อว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในพื่นที่ 
 
เขากล่าวว่า เมื่อพิจารณาดูทิศทางการสร้างสันติภาพในประเทศอื่นๆ ที่มีความขัดแย้ง จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญล้วนมีบทบาท อย่างในประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี 1987 ก็จะมีการระบุในรัฐธรรมนูญว่า การกระบวการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ แล้วก็มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม รัฐธรรมนูญที่ดีทำให้กระบวนการสันติภาพขับเคลื่อน มีตัวชี้วัดได้ และที่สำคัญคือ ฝ่าย Party B (ฝ่ายเห็นต่างจากรัฐ/ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน) มีความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐมากขึ้น และมีแรงจูงใจที่จะเจรจาสันติภาพ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้การพูดถึงกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด 
 
นอกจากนี้ตูแวดานียายังกังวลถึงการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากคณะรัฐประหาร และคนที่มีอำนาจตรวจสอบ ถอดถอน ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และส.ว. ที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย เป็นการที่ชนชั้นนำไทยนั้นใช้อำนาจกันเอง และตรวจสอบกันเอง แล้วเขาจะรับรู้และสนใจปัญหาของคนในพื้นที่หรือ” 
 
“เมื่อปัญหาใหญ่ๆ อย่าง เรื่องสันติภาพ ยังไม่มีพื้นที่ในร่างรัฐธรรมนูญ แล้วปัญหาเล็กกว่านั้นล่ะ เช่น ทรัพยากร ก็ไม่ต้องพูดถึงหรอก” 
 
ตูแวดานียากล่าวว่า เขาวิเคราะห์ว่า การปิดกั้นการแสดงความเห็นทางการเมือง และการร่างกฎหมายทีแปลกแยกจากประชาชน จะทำให้สถานการณ์ในสามจังหวัดแย่ลง และเขาคาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น “สิ่งที่ คสช. กำลังทำอยู่คือ เข้าทางฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานี นั่นคือ เติมบรรยากาศของความรู้สึกแปลกแยกกับรัฐ กับการปกครอง ที่ประชาชนรู้สึว่าไม่ได้มีส่วนร่วมกับมัน ระบบการเมืองส่วนกลางที่ไม่ตอบโจทย์ “ทำให้คนที่มีความเห็นกลางๆ ยิ่งเห็นความโหดร้ายของชนชั้นปกครองไทยที่ไม่เห็นหัวประชาชน”
 
เช่นเดียวกับตูแวดานียา แบงค์ นักกิจกรรมกลุ่ม Seeds of Peace เยาวชนซึ่งถูกเชิญไปส.น.สายบุรี เพราะปล่อยลูกโป่งเพื่อรณรงค์ให้การรณรงค์เรื่องประชามติไม่ผิดกฎหมาย กล่าวว่า เขาเชื่อว่า หลังประชามติ ประเทศไทยก็คงจะอยู่ในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของกลุ่มประชาสังคม เพราะจะทำอะไร จะจัดงานอะไร ก็จะถูกจับตาดูและถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด 
 

ชาวบ้านไม่ตื่นตัว ขาดข้อมูลและสับสนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ, ต้องจับตาการก่อเหตุช่วงใกล้ประชามติ

 

แบงค์ กลุ่ม Seed of Peace
 
แบงค์ ยังกล่าวกับประชาไทว่า ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดยังไม่รู้เลยว่า รัฐธรรมนูญนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร “ตอนนี้ประชาชนบางส่วนใหญ่สับสน และไม่เข้าใจ เพราะคสช. ห้ามรณรงค์ เขาไม่รู้จะไปหาข้อมูลเรื่องนี้จากไหน เพราะพอเราจะจัดกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ถูกห้าม และควบคุม” 
 
ตูแวดานียากล่าวว่า ชาวบ้านในสามจังหวัดกำลังถูก คสช. จับตาอย่างใกล้ชิด ว่าจะไปลงประชามติหรือไม่ “แม้ไม่มีประชามติ ที่นี่ก็เต็มไปด้วยตาสัปปะรด ที่คอยเฝ้าคนเห็นต่างจากรัฐ พอมาเรื่องประชามติ คสช.ให้ความสำคัญกับการออกไปใช้สิทธิและการออกเสียงมาก ถ้ามีคนรณรงค์เรื่องโนโหวต หรือ โหวตโน ก็จะถูกรัฐมองว่า เป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งโดยขบวนการไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นคนในพื้นที่นี้ เพื่อเอาตัวรอด ที่จะอยู่ที่นี่อยากปลอดภัย ไม่โดนตรวจ โดนค้น เขาก็คงไปใช้สิทธิตามที่ คสช. ต้องการ เพื่อไม่ต้องถูกมองเป็นแนวร่วม แต่คงไม่ใช่เพราะเขาตื่นตัวเรื่องสิทธิพลเมือง เป็นการไปเพื่อรักษาความปลอดภัย และสวัสดิภาพของตัวเอง” 
 
ตูแวดานียายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ชาวปาตานีอาจใช้โอกาสนี้ แสดงออกว่าไม่เอาคสช. โดยการเขียนข้อความบนลงบัตร เขายกตัวอย่างว่า การเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีการเขียนบทบัตรว่า Patani Merdeka (เอกราชปาตานี) จำนวนมาก 
 
“การแสดงออกว่าไม่เอารัฐ ไม่เอา คสช. ด้วยอาวุธ ก็น่าจะเข้มข้นมากในช่วงใกล้การลงประชามติเช่นกัน เพราะว่า มันมีความหมายในแง่จุดยืนของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช แสดงออกว่า ไม่ยอมรับเผด็จการที่ซ่อนอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายทหารก็คงจะเตรียมรับมืออย่างแข็งขันเช่นกัน” ตูแวดานียากล่าว 
 

หวั่นศาสนาอิสลามไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าเดิม และวิถีชีวิตแบบมุสลิมจะถูกลิดรอน

 

อับดุลฮาฟิซ หิเล รองประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา 
 
อับดุลฮาฟิซ หิเล รองประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า เขามีข้อกังวลต่อ มาตรา 67 และ 31 ซึ่งพูดถึงบทบาทของรัฐต่อศาสนา 
 
"มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย"
 
อับดุลฮาฟิซกล่าวว่า มาตรา 67 ที่เขียนไว้ ให้รัฐสนับสนุนและอุปถัมภ์เฉพาะศาสนาพุทธเถรวาท ไม่ระบุถึงศาสนาอื่นๆ แต่สามจังหวัดนั้นมีลักษณะที่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย นั่นคือ มีประชากรถึงร้อยละ 85 นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลให้ค่าตอบแทน ผู้นำศาสนาอิสลามอยู่จำนวนหนึ่งเขาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้ บุคลากรทางศาสนา เช่น โต๊ะอิหม่าม คณะกรรมการบริหารมัสยิด โต๊ะครู ผู้สอนประจำมัสยิด หรือ ตาดีกา จะได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนอยู่ที่ 500-5000 บาท ซึ่งไม่ใช่จำนวนเยอะ แต่เป็นการแบ่งเบาภาระของชุมชนได้พอสมควร  
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรา 67 ซึ่งไม่ได้พูดถึงหน้าที่ของรัฐในการอุปถัมภ์ศาสนาอื่นๆ อับดุลฮาฟิซจึงเกรงว่าผู้นำศาสนาอิสลามอาจไม่ได้รับการสนับสนุนเช่นเดิม “ผมก็มองว่า อย่างประเทศอินโดนีเซีย ก็มีกระทรวงศาสนา และมีกรมต่างๆ สำหรับศาสนาที่คนอินโดนีเซียนับถือ เช่น แม้จะมีชาวพุทธในอินโดนีเซียแค่ร้อยละ 0.3 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณแค่หกแสนคน จากประชากรทั้งหมด 250 ล้านคน รัฐบาลอินโดนีเซียก็ยังจัดให้มีกรมพุทธศาสนา ซึ่งมีงบประมาณในการดูแลสนับสนุนศาสนาพุทธ”
 
นอกจากนี้ เขายังมีข้อกังวลต่อมาตรา 31 
 
"มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"
 
อาบูฮาฟิซกล่าวว่า มาตรานี้มีการใช้ถ้อยคำที่กว้างขวาง ที่เสี่ยงต่อการนำไปตีความที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวมลายูมุสลิม “อ่านแล้วก็สุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นช่องให้มีคนเอาประเพณีของชาวมลายูมุสลิมไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เข้าข่ายขัดกับศีลธรรมอันดี หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย และนำไปสู่การห้ามปฏิบัติ” เขายกตัวอย่างการแต่งกายโดยปิดหน้าของผู้หญิงมุสลิม ซึ่งถูกห้ามในประเทศฝรั่งเศส ด้วยยกเหตุเพื่อให้ประชาชนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข หรือพิธีกุรบานซึ่งคือการเชือดวัว ในวันฮารีรายอ ที่อาจถูกมองว่าขัดศีลธรรมอันดี หรือแม้กระทั่งเสียงอาซาน หรือ เสียงเรียกละหมาดซึ่งถูกปล่อยผ่านเครื่องขยายเสียงของมัสยิด ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการรบกวนทางเสียงและขัดต่อความสงบเรียบร้อย 
 

หวั่น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะไม่ได้รับการสนับสนุน เด็กขาดโอกาสเรียน ม.ปลาย 

 
กามาล อับดุลวาฮับ ผู้บริหารโรงเรียน มูลนิธิอาซิซสถาน จ.ปัตตานี กล่าวว่า มีความเป็นห่วงต่อมาตรา 54 ซึ่งระบุว่าสิทธิในการเรียนฟรีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) หากจะเรียนต่อ ม.ปลายหรืออาชีวะ ต้องออกเงินเองหรือกู้ยืมหรือขอความช่วยเหลือจากกองทุนของรัฐ ทำให้เขาเป็นห่วงว่าจะทำให้เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา และสภาพการศึกษาในพื้นที่จะย้อนกลับไปเหมือนก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2540 
 
“แม้ล่าสุด ทางรัฐบาลได้ใช้ ม. 44 ออกประกาศเรียนฟรี 15 ปีถึง ม.ปลาย/ปวช ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลได้รับฟังปัญหาที่เราสะท้อนไป แต่สิทธิเรียนฟรี ม.ปลาย/ปวช ได้หมดไปแล้วในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ คสช.สิ้นสุดลง รัฐบาลใหม่ที่มาหลัง คสช.จะดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ในมาตร 54 ว่าการเรียนฟรีเป็นหน้าที่ของรัฐ และยังเขียนไว้ในมาตรา 162 ด้วยว่า การแถลงนโยบายของรัฐต่อรัฐสภาต้องสอดคล้องกับ “หน้าที่ของรัฐ” เป็นข้อกังวลที่เราพยายามสะท้อนแก่ผู้เกี่ยวข้องเสมอเมื่อมีโอกาส”  
 
กามาลย์กล่าวว่า นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้สิทธิเรียนฟรีถึง ม. ปลาย ได้เพิ่มโอกาสแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้าถึงการศึกษาในระบบมากกว่าเมื่อก่อนมาก จากที่เดิมเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ ส่วนใหญ่ก็จะเรียนต่อสายศาสนาอย่างเดียว มีเพียงส่วนน้อยที่เรียนต่อ ม.ปลายในโรงเรียนของรัฐ ตอนนี้มากกว่าครึ่งจะเรียนต่อ ม.ปลายและสายอาชีพ โดยร้อยละ 80 ของนักเรียน ม.ปลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่เปิดทั้งสายศาสนาและสามัญ   
 

บรรยากาศทางการเมืองที่ปิด ไม่เป็นผลดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

 
มะรอนิง สาและ กลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี
 
มะรอนิง สาและ กลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นสาระสำคัญอะไร เพราะอย่างไรแล้ว คสช. ก็สามารถใช้อำนาจได้ทุกรูปแบบ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นแค่ขั้นตอนหนึ่งตามกำหนดการที่ต้องทำเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความหมายใดๆ
 
"ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมี คสช. คุมอยู่ อย่างนั้นก็หมายความว่าต่อให้รัฐธรรมนูญจะทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ก็ไม่มีความหมาย เพราะเวลาจะทำอะไรเขาก็ไม่ใช้รัฐธรรมนูญก็ได้ เขาใช้มาตรา 44" 
 
"ถึงจะมีการเลือกตั้งจริงๆ แต่ว่า คสช. ก็ยังจะคุมรัฐบาลต่ออีกห้าปี ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้จะมีรัฐธรรมนูญไปทำไม หรือมีไว้แค่เพียงปลอบใจว่าเรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยแล้วแค่นั้น"
 
มะรอนิงยังกล่าวอีกว่าการทำงานที่ผ่านมาของ คสช. ส่งผลกับเรื่องวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของชาวประมง เนื่องจากเรื่องประมงนั้นไม่ใช่สิ่งที่อยู่โดดเดี่ยว แต่ต้องอยู่คู่กันกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน หรือโรงไฟฟ้า บางครั้งก็มีการข้ามขั้นตอนของ EIA ไป ทำให้สุดท้ายแล้วก็ทิ้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไว้แก่ชาวบ้าน
 
"ผมยกตัวอย่างกรณีโรงไปฟ้าถ่านหินเทพา อ่าวปัตตานีก็ติดอ่าวไทย เทพาก็ติดอ่าวไทย ทุกที่เป็นผืนทะเลเดียวกัน ฉะนั้นในเมื่อถ่านหินมันทำให้ทรัพยากรมันเสีย สิ่งแวดล้อมมันเสีย มันจึงส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนรอบอ่าว ชาวประมงจะหาปลาก็ไม่เหลือปลาให้หา มีหลายครอบครัวที่ต้องตกไปอยู่สภาพแบบนั้น"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net