รัฐไม่พันลึก-บทเรียนการต้านรัฐประหารตุรกีถึงไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

รัฐประหารที่ล้มเหลวของกองทัพตุรกีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานำสู่การตั้งคำถามทั้งในประเด็นทางวิชาการและข้อเสนอทางการเมือง เช่น การยกขึ้นมาว่าความล้มเหลวของรัฐประหารเป็นเรื่องเฉพาะของประเทศตุรกีและไม่มีวันเกิดขึ้นที่ไทยได้ด้วยบทบาทของชนชั้นสูงที่มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญในการสนับสนุนรัฐประหาร หรือ รัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็น “รัฐประหารเก๊”ของรัฐบาลอำนาจนิยมจากการเลือกตั้งที่วางแผนเพิ่มความชอบธรรมให้แก่ตนเองในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม หรือการสร้างข้อสรุปที่ว่าความสลับซับซ้อนของชนชั้นนำและสถาบันการเมืองของสองพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถนำสองพื้นที่นี้มาเปรียบเทียบกันได้เลย หรืออีกทางหนึ่งคือ หากรัฐประหารนี้คือของเก๊ การต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็พลอยเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ไม่สามารถใช้เป็นตัวแบบอ้างถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย? ดังนั้นคำถามสำคัญที่ต้องขบคิดคือ เราสามารถเรียนรู้การล้มรัฐประหารของประชาชนตุรกีในฐานะตัวแบบของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้หรือไม่หากมันเป็นเพียงแค่ฉากของชนชั้นนำในการแสวงหาความชอบธรรม

ผู้เขียนขอสรุปประเด็นสำคัญสามประเด็นคือ 1.ข้อถกเถียงความเฉพาะ (Particularism) และความเป็นสากล (Universalism) ของการประยุกต์ปรากฏการณ์ในพื้นที่หนึ่งเพื่ออธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกพื้นที่ 2.ปัญหาคำอธิบายแบบ “รัฐพันลึก” กับการสร้างความเฉพาะที่ลดทอนบทบาทสำคัญของการต่อสู้ของประชาชนในระดับชีวิตประจำวันและอธิบายความขัดแย้งทุกอย่างผ่านเครือข่ายและสถาบันการเมืองของชนชั้นนำ 3. ข้อถกเถียงของคำอธิบายว่ารัฐบาลอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งจะผลักดันให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ

1.ข้อถกเถียงความเฉพาะ (Particularism) และความเป็นสากล (Universalism) เรามักคุ้นเคยกับคำอธิบายของสื่อมวลชน หรือทฤษฎีทางวิชาการถึงปัญหาของประเทศหนึ่งที่อาจเชื่อมตรงสู่อีกประเทศหนึ่งผ่านจุดเชื่อมต่อเล็กๆแต่สร้างผลกระทบต่อทั้งสังคมในวงกว้าง ดังนั้นเรื่อง Universalism จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่มาพร้อมกับกระแสปฏิวัติ IT หรือการสิ้นสุดของสงครามเย็น แนวคิดประชาธิปไตยกระแสหลักที่เสนอโดย Weyland หรือ Huntington ก็ให้ความสำคัญต่อการแพร่กระจายของ “สำนึกประชาธิปไตย”ในแต่ละยุคที่เข้าสู่พื้นที่ที่มีความเฉพาะแตกต่างกัน S.M.Lipset ชี้ถึงบทบาทของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่หลอมรวมวิถีชีวิตความคาดหวังอันนำสู่การวางเงื่อนไขของการเรียกร้องให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตย และไม่ใช่เพียงฝ่ายเสรีนิยมเท่านั้น ฝ่ายซ้ายเองล้วนมีแนวคิดการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีระบบโลกของ Lenin ข้อเสนอกระบวนการสะสมทุนในระบบทุนนิยมโลกของ Rosa Luxemburg หรือนักวิชาการฝ่ายซ้ายร่วมสมัยอย่าง David Harvey ก็ชี้ให้เห็นถึง “การบีบอัดของเวลาและสถานที่”  ก็ชี้ให้เห็นว่าความเปราะบางที่ผู้คนเผชิญอยู่นั้นเป็นลักษณะร่วมกันทั้งโลกมิอาจแยกขาดออกจากกันได้

หากพิจารณาเงื่อนไขข้างต้น “ความเฉพาะ” ดูไม่มีความหมายเลยหรือ ? ทั้งๆที่ตามความเป็นจริงแล้วการที่ลักษณะสากลจะทำงานได้ดีในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องวางอยู่บนเงื่อนไขความเฉพาะของแต่ละพื้นที่อย่างมาก เช่น ทำไมไม่มีพรรคสังคมนิยม(ตามทฤษฎี)ในญี่ปุ่นแต่กลับเติบโตในเยอรมนีตะวันตก (ซึ่งใกล้กับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเยอรมนีตะวันออกแบบแบ่งกันด้วยกำแพง) หรือเหตุใดประเทศประชาธิปไตยที่เก่าแก่อย่างสหรัฐอเมริกาถึงไม่มีพรรคสังคมนิยมที่เทียบได้กับยุโรปตะวันตก และเมื่อหันมาเทียบกับ กรณีศึกษา ตุรกี-ไทย ด้วยคำถามสำคัญที่ว่าเหตุใด รัฐประหารที่ตุรกีจึงล้มเหลว และประสบความสำเร็จในไทย การอธิบายเรื่องนี้จึงไม่สามารถอธิบาย ด้วยลักษณะเฉพาะ และสากล เพียงลำพังได้ผู้เขียนขออธิบายลักษณะ สากล เฉพาะควบคู่กันดังนี้

1.1 ความเป็นสากลของฝ่ายขวาทั่วโลก ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายขวา นับแต่ศตวรรษที่ 21 การเสื่อมถอยของฝ่ายซ้ายนำสู่การครอบงำอย่างเป็นระบบของฝ่ายขวาผ่านลัทธิเสรีนิยมใหม่ ฝ่ายขวาทั่วโลกเชื่อมร้อยกับการสะสมทุนที่เชื่อมร้อยการผลิตทั่วโลก พวกเขาอาศัยประโยชน์จากทุนนิยมการเงิน การเปิดการค้าเสรี และสร้างพันธมิตรกับกลุ่มทุนข้ามชาติ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็รื้อฟื้นลัทธิชาตินิยมมาสอดรับกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในไทยกลุ่มนี้คือเครือข่ายความสัมพันธ์รัฐราชการ-นักธุรกิจ-กองทัพ ตั้งแต่ยก พลเอกเปรม และสืบสายผ่านการปรับตัวของรูปแบบการสะสมทุนแต่เครือข่ายอำนาจของพวกเขาผูกขาดและกระจุกตัวมากขึ้น คนในประเทศมีอำนาจต่อรองน้อยลง ลักษณะเช่นนี้ปรากฏในตุรกีเช่นกัน ในไทยลัทธิจารีตนิยมแบบไทยๆถูกขุดขึ้นมาเพื่อวางระเบียบผู้คนในช่วงปลายสงครามเย็น ในตุรกีลัทธิ Kemal ก็็ถูกใช้ในลักษณะแบบแผนของรัฐราชการและการรักษาระเบียบแบบชาตินิยม แม้จะมีข้อถกเถียงว่าลัทธิ Kemal มีความเป็นฆราวาสวิสัย (Secularism) สนับสนุนการพัฒนาแบบชาติตะวันตก แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันเป็นเครื่องมือของกองทัพในการแอบอ้างผูกขาดความรักและการพัฒนาชาติตน เป็นช่องทางการเลื่อนสถานะของชนชั้นกลาง ที่นิยมชมชอบ “การเมืองแบบใดก็ได้” ที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศเจริญและทันสมัย ความเป็นสากลของฝ่ายขวานี้เป็นลักษณะร่วมสำคัญที่วางเงื่อนไขอำนาจนิยมในการปกครองไม่ว่าที่มารัฐบาลจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม โดยรวมแล้วความฝันอันสูงสุดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมคือการทำให้ประชาธิปไตยคงอยู่แต่ไร้ความหมายและการเลือกตั้งเป็นแค่แฟนตาซีอันไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงใดๆได้

1.2 ความเฉพาะของขบวนการฝ่ายซ้าย แม้ว่าขบวนการฝ่ายขวาจะมีความเป็นสากลในเงื่อนไขของการพยายามสถาปนาอำนาจนำผ่านการกำหนดจารีตชีวิตเศรษฐกิจการเมือง ฝ่ายขวามักทำให้การต่อสู้ของฝ่ายซ้ายกระจัดกระจายและเป็นเรื่องเฉพาะ ฝ่ายซ้ายมักอ่อนแอกระจัดกระจายดังเห็นได้จาก ขบวนการภาคประชาชนไทยที่เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ที่เน้นเฉพาะประเด็นตัวเองขาดการเชื่อมโยง และพยายามทำให้ตัวเองปลอดการเมืองซึ่งทำให้ขาดอำนาจการต่อรองที่แท้จริง พวกเขาจำนวนหนึ่งมักยินดีกับรัฐบาลใดก็ได้ที่สามารถผลักดันประเด็นเฉพาะของตัวเองให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิทางเพศ สิทธิสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ลักษณะข้างต้นก็ปรากฏในตุรกีเช่นกัน ความล้มเหลวของฝ่ายซ้ายในการขยายแนวร่วมทำให้พรรคการเมืองแนวศาสนานิยมก้าวเข้ามา ที่เริ่มจากการต่อต้านสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมแต่สื่อสานด้วยทางเลือกที่เข้าถึงประชาชนมากกว่า การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของ Erdogan จึงมีความคล้ายกับทักษิณ ชินวัตร ในแง่ของการเป็นชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่เชื่อมตรงกับความต้องการของประชาชนได้มากกว่าชนชั้นนำกลุ่มเดิม พวกเขามีนโยบายหลายอย่างที่คล้ายกันในการขุดแนวคิดชาติ-ศาสนานิยมขึ้นมาเพื่อการปกครอง อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สะท้อนความล้มเหลวในขบวนการฝ่ายซ้ายที่ปล่อยให้ชนชั้นนำอีกกลุ่มฉกฉวยโอกาสนี้ ความแตกต่างที่สำคัญคือการที่พรรคการเมืองของ Erdoganเลือกการสร้างความชอบธรรมจากประชาชน (ไม่ว่าจะจริงใจมากน้อยเพียงใด) แต่ ทักษิณไม่เคยเบื่อหน่ายที่จะพยายามหาช่องทางประนีประนอมกับชนชั้นนำไม่ว่าผู้สนับสนุนของพวกเขาจะต้องเสียชีวิต ถูกจับกุมคุมขังหรือต้องลี้ภัยการเมืองมากเพียงใด

2.ปัญหาคำอธิบายแบบ “รัฐพันลึก” กับการสร้างความเฉพาะที่ลดทอนบทบาทสำคัญของการต่อสู้ของประชาชนในระดับชีวิตประจำวัน แนวคิดรัฐพันลึก (Deep State) นำเสนอโดย เออเชนี เมริโอ และมีการอ้างถึงโดยนักวิชาการที่เป็นที่รู้จัก อย่าง ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ นิธิ เอียวศรีวงศ์  โดยผู้เขียนขอยกประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการถกเถียงครั้งนี้ ตามข้อเสนอที่เข้าใจตรงกัน รัฐพันลึก ต่างจากรัฐทั่วไปที่องค์กรหรือสถาบันทางการเมืองจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อชีวิตพลเมือง แต่ “รัฐพันลึก”ต่างจากรัฐปกติที่มีองค์กร กลุ่มคน สถาบันทางการเมืองที่ตัดสินและดำเนินการใดๆโดยไม่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อประชาชน หรือความชอบธรรมตามรูปแบบปกติที่ “รัฐปกติ” ดังนั้นเมื่อพิจารณากรณีไทย และตุรกี จึงเสมือนว่า ทั้งคู่ต่างมี Deep State ของตัวเองที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เช่นเครือข่ายชนชั้นนำของไทยที่ยึดโยงชนชั้นกลาง ศาสนา กษัตริย์ ค่านิยมไทย เช่นเดียวกับการทำงานของกลไกอำนาจรัฐของตุรกีที่ดูมีความเฉพาะซ่อนเร้นและเสมือนว่ายากที่คนนอกจะเข้าใจการยึดโยงของสถาบันทางการเมืองต่างๆ  ซึ่ง ใจ อึ๊งภากรณ์ชี้ว่า “การสรุปเช่นนี้จึงเป็นการละเลย สภาพ รัฐปกติ ของระบบทุนนิยม ที่ทำหน้าที่ในการปกครองและกดขี่ประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของผู้ปกครองเป็นปกติ” ความแตกต่างในแต่ละรัฐไม่ได้เกิดจากกลไกที่ซับซ้อนของเครือข่ายชนชั้นนำที่ฟอร์มความสัมพันธ์เป็นเครือข่ายและสถาบัน แต่เกิดจากความเข้มแข็งต่อสู้ของขบวนการฝ่ายซ้าย ดังนั้น “รัฐ” โดยพื้นฐานจึงไม่ได้มีหน้าที่ในการปกครองดูแลประชาชนเป็นพื้นฐาน ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่จึงเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย แต่ทำให้ภาพของการต่อสู้ของประชาชนในระดับชีวิตประจำวันน้อยลง

กรณีไทย เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถูกอธิบายโดยนักวิชาการแนวประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในการพยายามหาจุดร่วมของกลุ่มก้อนทางสังคมในกรณีต่างๆที่ทำให้เผด็จการถนอม-ประภาสถูกโค่นล้ม แน่นอนว่ามีกลุ่มฝ่ายขวาที่ได้ประโยชน์จาก 14 ตุลา 2516 ไม่ว่าจะเป็นนายทหารฝ่ายตรงข้าม สหรัฐอเมริกา กลุ่มทุน หรือสถาบันกษัตริย์เอง พวกเขาเหล่านี้จึงมีส่วนสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์ให้ถูกเข้าใจว่า 14ตุลา คือการขับเคลื่อนของพลังนักศึกษา-พลังบริสุทธิ์ไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆนอกจาก การปรารถนารัฐธรรมนูญ (ซึ่งตอนจบได้นายกฯพระราชทาน) 14 ตุลาเป็นตัวอย่างของการที่ฝ่ายขวาสามารถฉกฉวยความหมายจากการต่อสู้ได้ แต่ มิใช่หมายความว่าไม่มีความขัดแย้งมาก่อนหน้านั้น และเป็นไปไม่ได้เลยที่การต่อสู้ต่อต่อเผด็จการที่ปกครองมาอย่างยาวนานนับทศวรรษ จะเกิดขึ้นในวันเดียว ความพยายามในการฉกฉวยประโยชน์ของชนชั้นนำเป็นตัวอย่างสำคัญที่เบลอภาพความไม่พอใจของประชาชนต่อวิธีการปกครองที่เป็นเผด็จการของ ถนอม-ประภาส

ลักษณะนี้ปรากฏขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2551-2553 การพยายามสร้างภาพพจน์คนเสื้อแดงที่ “ถูกจ้าง” หรือจัดตั้งโดยหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย (ไม่ใช่หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี) ก็เป็นความพยายามในการลดทอนความหมายของการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของผู้ถูกกดขี่เช่นกันโดยโยนทุกอย่างให้กลายเป็น “เรื่องลึกลับ”ของชนชั้นนำ สำหรับม็อบ กปปส. อาจมีคำถามต่อความจริงใจของสุเทพฯต่อข้อเสนอการเมืองใหม่ แต่นั่นก็ไม่ทำให้ความเป็นผู้ชูลัทธิชาตินิยม อนุรักษ์นิยมของผู้ติดตามของเขาในม็อบ กปปส.น้อยลงเช่นกัน ผู้นำทางการเมืองคือผู้ที่แสดงตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคม  เมื่อย้อนไปในตุรกี เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็น “รัฐประหาร”จัดฉาก คำตอบคือเป็นไปได้ และก็เป็นไปไม่ได้ แต่ภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองการจัดฉากเป็นสิ่งที่ปรากฏทั่วไป แต่ “การเป็นรัฐประหารเก๊” ก็ไม่ได้บั่นทอน ความหมายของการต่อสู้ของผู้ปฏิเสธรัฐประหารให้น้อยลง เช่นกัน แน่นอนมันมีคำถามทางจริยธรรม ของผู้นำทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น แกนนำ นปช.  สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ Erdogan ต่อผู้สนับสนุนพวกเขา ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการอุทิศหรือฆ่าชีวิตใดๆเพื่ออุดมการณ์นามธรรมซ้ายหรือขวา แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับว่าหากผู้นำทางการเมืองวางแผนทางการเมืองใดๆ จะทำให้ข้อเสนอหรือจุดยืนทางการเมืองของผู้สนับสนุนด้อยค่าและไม่สำคัญ

3.ปัญหารัฐบาลอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลโดยมากมีแนวโน้มที่ปกครองด้วยลักษณะอำนาจนิยม ความแตกต่างเกิดขึ้นจากช่องทางการต่อรองของชนชั้นล่าง การเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารไม่ได้เป็นการรับรองคุณภาพของรัฐบาล แต่หากตราบใดที่ที่มาของอำนาจยังคงเป็นการเลือกตั้ง ก็ยังเป็นการยืนยันสิทธิการต่อรองของประชาชนต่อวิธีการกดขี่ของรัฐได้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ empty dream-ที่ไม่ต้องสนใจว่าปกครองแบบใดก็ได้ อย่างน้อยที่สุดการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็เปิดโอกาสในการก่อตัวรวมตัวของฝั่งตรงข้ามมากกว่า การปฏิสัมพันธ์เจรจาบนฐานผลประโยชน์ของชนชั้น รัฐบาลเลือกตั้งของทั้งไทย และตุรกี มีความผิดพลาดและไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด ในไทย นโยบายอำนาจนิยมของ ทักษิณนำสู่การฆ่าตัดตอนยาเสพติด รวมถึงความรุนแรงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมัยยิ่งลักษณ์ พรบ.นิรโทษกรรม ก็มีกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างมาก ในตุรกี การสวมรอย ของ Erdogan ต่อความขัดแย้งด้วยการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือก็นำสู่การกดขี่ชาว เคิร์ดอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อใดที่ทั้งสองประเทศนี้ยกเลิกระบบการเลือกตั้ง อำนาจเผด็จการที่มีที่มาจากการรัฐประหารจะไม่มีวันมองเห็นปัญหาในปัจจุบัน พวกเขาสามารถแค่เยียวยาปลุกเร้าปัญหาในอดีต เช่นเดียวกับ รัฐบาลจากการทำรัฐประหารของไทยพยายามทำและกดปัญหาปัจจุบันให้ซ่อนเร้นไว้ โดยสรุปแล้วไม่มีใครปรารถนารัฐบาลอำนาจนิยมจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับ รัฐบาลจากการการทำรัฐประหาร แต่การแก้ปัญหาต้องดำเนินการผ่าน “ตัวประชาธิปไตย”เอง มิใช่การยืมเครื่องมืออื่นที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยมาแก้ปัญหาเช่น การทำรัฐประหาร หรือการนำศาสนา-จารีต-รัฐราชการ มากดทับเพราะมันจะไม่มีวันแก้ปัญหาระยะยาวได้

0000
 

 

เอกสารอ่านเพิ่มเติม (อ้างอิงแบบย่อ)

Weyland, Kurt.  2010.  “The Diffusion of Political Regime Contention in European Democratization,1830-­‐1940,” Comparative Political Studies, 43, 8/9:1148-­‐1176

Lipset, Seymour  Martin.1983. Political Man: The Social Bases of  Politics. William Heinemann Ltd. Ch.    2, pp. 27-63.

Wintrobe, Ronald. 2007.  “Dictatorship: Analytical Approaches.” In Carles Boix and Susan Stokes,eds.    The Oxford Handbook of Comparative Politics. New York: Oxford University Press: 363-­‐394

“ประเทศไทยไม่มีรัฐพันลึก”-ใจ อึ๊งภากรณ์ https://turnleftthai.wordpress.com/2016/07/10

นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐพันลึกกับร่างรัฐธรรมนูญ  http://prachatai.com/journal/2016/04/65105

 

หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ ข้อคิดการเมืองเปรียบเทียบมิติร่วมเวลา-ข้ามพื้นที่  ถ้ารัฐ “ไม่พันลึก” - การเมืองไทยและตุรกีกับการเปรียบเทียบเทียบข้ามพื้นที่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เป็นอาจารย์ผู้สอนอยู่ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท