Skip to main content
sharethis

คูเวตออกกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 60 ดินาร์ (ประมาณ 6,900 บาท) ต่อเดือน ให้คนทำงานบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากต่างประเทศหลังมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำนี้ยังน้อยกว่ารายของคนคูเวตพื้นถิ่นถึง 17 เท่า

25 ก.ค. 2559 เว็บไซต์ Middle East Eye ระบุว่าตามรายงานของสื่อท้องถิ่นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 ก.ค.) คูเวตได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยชีค มูฮัมหมัด คาเลด อัล-ซาบาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำภายในประเทศที่ 60 ดินาร์ (ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,900 บาท) ต่อเดือน

ซึ่งกฎหมายนี้เป็นความพยายามต่อเนื่องของคูเวตที่จะยกระดับชีวิตแรงงานจากต่างชาติโดยเฉพาะคนทำงานบ้าน โดยเมื่อปีที่แล้วคูเวตกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้างของตน ให้คนทำงานมีวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้ทำงานไม่เกินวันละ 12 ชั่วโมง นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนสม่ำเสมอ และให้เงินเดือนพิเศษ 1 เดือนหลังจากหมดสัญญาจ้าง

ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าคูเวตเป็นประเทศร่ำรวยอันดับที่ 33 ของโลก ประชากรคูเวตพื้นถิ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 40,930 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนรายได้เฉลี่ยของแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะคนทำงานบ้านตามค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้ใหม่นี้จะอยู่ที่ประมาณ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าคนพื้นถิ่นถึง 17 เท่า

ประมาณการกันว่ามีคนทำงานบ้านจากต่างชาติในคูเวตอยู่ 6 แสนคน จากทั้งหมด 2.4 ล้าน คนที่กระจายอยู่ในประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนทำงานบ้านเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานท้องถิ่น บ่อยครั้งที่กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลการละเมืดสิทธิแรงงานต่างชาติในภูมิภาคนี้ ทั้งการไม่จ่ายค่าจ้าง การบังคับให้ทำงานโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งการทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง

แต่ทั้งนี้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไข อย่างบาห์เรนก็ได้ปรับปรุงกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองคนทำงานบ้าน ซาอุดิอาระเบียก็ได้กำหนดชั่วโมงการทำงานคนทำงานบ้านไม่ให้เกิน 15 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทั้งนี้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกมาระบุว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ของประเทศในภูมิภาคนี้มักจะไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดองค์กรฮิวแมน ไรต์ วอตซ์ (Human Rights Watch) พึ่งออกรายงานว่า "กฎหมายระบบอุปถัมภ์แรงงาน" (kafala) ของประเทศโอมาน เอื้อต่อการกดขี่และขูดรีดแรงงานข้ามชาติในประเทศเป็นอย่างมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net