Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์อังกฤษปล่อยอิโมจิคนพิการ 18 คาแรคเตอร์ รับพาราลิมปิก 2016 ที่กำลังจะจัดในบราซิล ประกอบไปด้วยหลากหลายคาแรคเตอร์คนพิการและชนิดกีฬา เชื่อช่วยเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติและแสดงให้เห็นความหลากหลายของคน


อิโมจิจากสโคปทั้ง 18 คาแรคเตอร์

25 ก.ค. 2559 เว็บไซต์องค์กรสนับสนุนคนพิการในลอนดอนที่ใช้ชื่อว่า สโคป (Scope) สร้างชุดอิโมจิใหม่ 18 คาแรคเตอร์ แสดงให้เห็นถึงคนในมุมหลากหลายอย่างความพิการ เนื่องในวันอิโมจิ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ก.ค. ด้วยแนวคิดที่ว่า อิโมจิเกี่ยวกับคนพิการคาแรคเตอร์เดียวที่เคยมีอย่างรูปวีลแชร์นั้นไม่เป็นอิโมจิที่ดีพอ และหวังว่าการสร้างชุดอิโมจิใหม่นี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีขึ้นต่อคนพิการ

ปัจจุบัน อิโมจิถูกใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการส่งผ่านโซเชียลมีเดีย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ มีความพยายามที่จะทำสติกเกอร์หรืออิโมจิที่มีความหลากหลายในเรื่องเพศ คู่รักเพศเดียวกัน หรือสีผิว อย่างไรก็ดี อิโมจิที่แสดงให้เห็นถึงความพิการก็ยังคงมีเพียงอันเดียว ได้แก่  สัญลักษณ์รูปวีลแชร์ที่มักถูกใช้เป็นป้ายห้องน้ำคนพิการ นี่จึงทำให้เกิดแนวคิดเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าว

เว็บไซต์สโคปได้ทำการถามผู้ใช้ทวิตเตอร์กว่า 4,000 คน ว่าสัญลักษณ์คนพิการที่มีอยู่อันเดียวนั้นเพียงพอต่อการนำเสนอคำว่าพิการหรือไม่ และพบว่ากว่าร้อยละ 65 กล่าวว่า มันไม่พอ

คาแรคเตอร์ของอิโมจิที่สร้างขึ้น ประกอบไปด้วยคนนั่งวีลแชร์ คนใส่ขาเทียม สุนัขนำทาง คนพิการทางการได้ยิน รวมถึงคนพิการประเภทอื่นๆ ในการทำกิจกรรมที่แตกต่างกัน อิโมจิหลายตัวสื่อถึงนักกีฬาพิการในท่าทางเล่นกีฬาหลากหลายชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2016 ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเดือนกันยายน ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

“โดยทั่วไปอิโมจิสามารถใช้แสดงความรู้สึกได้มากกว่า 1,800 คาแรคเตอร์  จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่คนพิการถูกนำเสนอด้วยอิโมจิรูปวีลแชร์มาตลอด” โรสแมรี่ ฟราเซอร์ เจ้าหน้าที่ผู้ใช้วีลแชร์ของสโคป ซึ่งเป็นคนจัดการแคมเปญนี้กล่าว

“สัญลักษณ์รูปวีลแชร์ไม่สามารถบ่งบอกถึงตัวฉัน และคนพิการรอบข้างที่ฉันรู้จักได้เลย เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงโลกที่เราเป็นอยู่ คนพิการจะต้องถูกรวมเข้า และเสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการอาศัยอยู่ด้วย” เธอกล่าว

อิโมจินี้ อ้างอิงจากคาแรคเตอร์ของนักกีฬาพิการประเภทต่างๆ เช่น จอร์แดน วิลเลย์ นักเทนนิสหญิงประเภทวีลแชร์, แอลลี่ ซิมมอนด์ นักกีฬาว่ายน้ำพิการหญิงเจ้าของ 4 เหรียญทอง รวมทั้งมีอิโมจินักกีฬาประเภทคู่อีกด้วย


อิโมจินักกีฬาว่ายน้ำพิการ

วิลเลย์ พิการด้วยโรคกระดูกเปราะ เธอชื่นชอบอิโมจิเหล่านี้มาก พร้อมเสริมว่า ตั้งแต่เกิดจนโต เธอไม่เคยเห็นคนที่เหมือนกับเธอในทีวี แมกกาซีน หรือบนภาพยนตร์เลย เธออยากให้คนรุ่นใหม่มองว่า มันไม่สำคัญว่าขนาดร่างกายหรือ รูปร่างของเขาเป็นอย่างไร ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน ทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และเป็นสิ่งดีที่สามารถทำให้ภาพของคนพิการอยู่ในอิโมจิได้

“ตอนนี้การใช้อิโมจินั้นเป็นที่นิยมมาก ใครๆ ก็ใช้อิโมจิ ดังนั้นคนทุกคนก็ควรได้ถูกนำเสนออยู่ในอิโมจิเช่นกัน มันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่อิโมจิเดียวที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ คืออิโมจิรูปวีลแชร์” เธอกล่าว


อิโมจิผู้ชายทำสัญลักษณ์ภาษามือว่า ‘ขอโทษ’

ฟราเซอร์หวังว่า อิโมจินี้จะช่วยผลักดันให้องค์กรต่างๆ ที่ปัจจุบันใช้รูปวีลแชร์ เปลี่ยนความคิดให้สร้างสรรค์และหาหนทางในการนำเสนอความพิการในแบบที่แตกต่างออกไป รวมทั้งแนะว่า หากต้องการนำอิโมจิดังกล่าวไปใช้สามารถดาวน์โหลดโดยการคลิกขวาที่พวกมัน และกดเซฟได้ทันที

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.disabilityscoop.com/2016/07/20/new-emojis-range-abilities/22509/
https://blog.scope.org.uk/2016/07/15/one-disability-emoji-isnt-enough-so-weve-made-18-for-world-emoji-day/
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net