Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


จากการที่ได้ฟังตัวแทนชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของ 43 องค์กร แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ เกี่ยวข้องกับชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง เป็นเรื่องความเป็นอยู่หลับนอนในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ที่คนเมืองอย่างผมไม่อาจจะเข้าใจอะไรได้มากไปกว่า ประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพในการเลือกตั้ง การพูด การแสดงความคิดเห็น

ชาวบ้านได้พูดให้ฟังถึงความทุกข์ยากที่พวกเขาได้รับจากรัฐบาล จากนโยบาย กฎหมาย ประกาศ คำสั่ง ที่ออกมาลิดรอนความสุข เชื่อมโยงไปถึงข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่กำลังจะลงประชามติ ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้มองเห็นภาพและเข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านในชนบท ในป่า บนดอย เหล่านี้ เข้าใจการเมืองได้ลึกซึ้งในมิติที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตและร่างกายของพวกเขา มากกว่าคนเมืองที่เข้าใจการเมืองเพียงถ้อยคำสวยหรูในเชิงคุณธรรม จริยธรรม

โดยพบว่ามีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ ที่ตัวแทนองค์กรผู้ขึ้นพูดบนเวทีได้ชี้ให้เห็น

1. การทวงคืนผืนป่า การไล่รื้อ เผาทำลาย ที่อยู่อาศัย และพืชไร่ พืชสวนของชาวบ้าน เป็นการทำลายทรัพย์สิน และคุกคามต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยตรง “การไล่รื้อไม่เคยดำเนินการกับรีสอร์ท บ้านคนรวย” การที่รัฐธรรมเขียนไว้ว่า การใช้สิทธิของประชาชนทำได้ แต่... “ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” ดังนั้นการทวงคืนผืนป่า การทวงคืนที่สาธารณะ การปราบปรามการชุมนุม เคลื่อนไหว เรื่องเหล่านี้อ้างเหตุผลเป็นไปเพื่อความไม่มั่นคงของรัฐได้ทั้งสิ้น ทั้งยังไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่ชาวบ้านจะมั่นใจได้ว่า จะคุ้มครองไม่ให้รัฐมาอ้างความเป็นเจ้าของทรัพยากร และทวงคืนเอาจากประชาชนภายหลังจากที่ประชาชนได้ลงทุนลงแรงไปกับทรัพยากรเหล่านั้นแล้ว นี่คือประเด็นแรกที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้

2. การนำกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เข้าไปควบคุม จับกุมตัว ชาวบ้านที่ต่อต้าน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า โรงงานกำจัดขยะ และอำนวยความสะดวกให้กลุ่มทุนภาคธุรกิจ เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน โดยกันชาวบ้านไม่ให้แสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อต้าน ทำให้เข้าใจได้ว่า สิทธิที่เคยมีอยู่ของชาวบ้านที่จะออกมาต่อต้านการกลุ่มทุนเหล่านี้ จะถูกอ้างว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เหมือนกันที่ใช้เป็นข้ออ้างจับกุมตัวไปอบรมความประพฤติ นำกองกำลังเข้ามาควบคุมไม่ให้เคลื่อนไหว โดยอ้างคำสั่งฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ในปัจจุบัน และอาจเลยไปถึงองค์กรของรัฐทุกองค์กรยืนอยู่ข้างนายทุนตามแนวนโยบาย “ประชารัฐ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

3. การเตรียมการยกเลิกระบบสวัสดิการต่างๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ความพยายามที่จะยกเลิกนโยบายบัตรทอง ลดระดับชั้นเรียนฟรีที่รัฐจะจัดให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้สวัสดิการซึ่งเป็นสิทธิกลายเป็นการสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ ประชาชนที่ที่ยากจนข้นแค้น โดยมีมาตรการการลงทะเบียนคนยากจนเตรียมการไว้รองรับ จะเห็นได้จากการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะให้สิทธิการรักษาพยาบาล เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ(เฉพาะ)แก่ผู้ยากไร้ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ในคำนิยามของรัฐธรรมนูญนี้ เกิดความไม่มั่นใจว่าสิทธิเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่

4. กฎหมาย คำสั่ง ประกาศ ที่ผ่านมา เป็นคำสั่งประกาศที่ล้วนลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน และเพิ่มสิทธิให้กับผู้ประกอบการ เช่นคำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและขยะ ซึ่งหมายความว่า ต่อไปจะนำขยะ ไปกำจัด ฝังกลบ ตั้งโรงงานรีไซเคิล ในพื้นที่ใดก็ได้โดยไม่ถูกจำกัดควบคุมด้วยผังเมือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ร่าง พ.ร.บ. เหมืองแร่ที่ทำให้การขออนุญาตทำเหมืองง่ายขึ้น โดยโอนอำนาจการอนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ตกอยู่แก่ระบบราชการฝ่ายเดียว ทำให้อนุมัติให้สั้นลงโดยไม่ต้องไปถามความเห็นของประชาชน พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ควบคุม จำกัด การเคลื่อนไหวของประชาชนแทบทุกรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ล้วนลดทอนความเป็นประชาชนลง และเพิ่มสิทธิอำนาจให้กับผู้ประกอบการ

ประชาชนในความหมายทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ จึงอาจไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ แต่เป็นรัฐและนายทุน โดยประชาชนในความหมายเดิมกลายเป็นผู้ก่อความไม่สงบที่ทำลายความมั่นคงของรัฐ

ท้ายที่สุดรัฐบาลชุดนี้สร้างบรรยากาศของการหมิ่นแคลนชาวบ้านว่า เป็นผู้ไม่รู้ ไม่ประสีประสา “คนตัดหญ้าหน้าทำเนียบจะไปรู้อะไร” เกษตรกร ชาวนา เป็นภาระและรอรับความช่วยเหลือตลอดเวลา ไม่ปรับปรุงพัฒนา รูปแบบการผลิต และหลงอยู่กับนโยบายประชานิยม แน่นอนว่าในฐานะคนที่เท่าเทียมกันไม่มีใครต้องการถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมา นโยบาย มาตรการ การกระทำที่ออกมาก็ล้วนคุกคามใช้กำลังต่อชาวบ้าน ต่อคนเล็กคนน้อยมาโดยตลอด ซึ่งแทนที่จะทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้กลับยิ่งจะสร้างความขัดแย้งรุนแรง และแตกแยกมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ ชาวบ้าน ประชาชน คนเล็กคนน้อย ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net