Skip to main content
sharethis

สื่อดังฮ่องกงเผชิญข้อกังขาครั้งใหญ่หลังเผยแพร่ "บทสัมภาษณ์" นักกิจกรรมที่เพิ่งมีประกาศปล่อยตัวแต่คนใกล้ชิดยังไม่สามารถติดต่อเธอได้ รวมถึงลักษณะคำให้สัมภาษณ์คล้ายตอนที่คนต้านรัฐบาลจีนถูกบังคับให้ "สารภาพ" จึงกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่นำเสนอนี้เป็น "การเขียนบท" ของรัฐบาลจีนหรือไม่ ท่ามกลางความกังวลว่าสื่อฮ่องกงเริ่มถูกรัฐบาลจีนกลางครอบงำ

25 ก.ค. 2559 ทอม ฟิลิปส์ นักข่าวเดอะการ์เดียนที่ประจำในกรุงปักกิ่งประเทศจีน ระบุถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ซึ่งเป็นสื่อในฮ่องกง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลายเป็นปากกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่มีการนำเสนอบทสัมภาษณ์ของนักกิจกรรมชื่อ เจ้าเวย ผู้เคยถูกทางการจีนกักขังไว้ แต่ทนายความและสามีของเธอกลับไม่สามารถติดต่อกับเธอได้

กลายเป็นคำถามว่าเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์นำบทสัมภาษณ์เธอมาจากไหนถ้าหากทนายความและสามีของเจ้าเวยไม่สามารถติดต่อเธอได้และสงสัยว่าเธอยังคงถูกคุมขังอยู่ที่ใดสักแห่ง ก่อนหน้านี้เซาท์ไช่นามอร์นิงโพสต์ หรือ SCMP นำเสนอบทสัมภาษณ์ของเจ้าเวย นักกิจกรรมและผู้ช่วยด้านกฎหมาย อายุ 24 ปี เธอถูกรัฐบาลจีนกักขังอย่างลับๆ เป็นเวลา 1 ปี ในบทสัมภาษณ์ของ SCMP เจ้าเวยบอกว่าเธอรู้สึกเสียใจกับกิจกรรมที่เธอทำ อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์นี้ถูกตั้งคำถามจากทั้งนักกิจกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ และนักข่าวของ SCMP เอง ถึงเรื่องความน่าเชื่อถือ

อดีตนักข่าวและบรรณาธิการของ SCMP ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ เช่นอดีตบรรณาธิการรายหนึ่งกล่าวว่าบทสัมภาษณ์เจ้าเวยน่าสงสัยมาก อดีตนักข่าวอีกคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นสิ่งที่ทางการจีนจัดเตรียมมาให้ และอดีตพนักงานของ SCMP รายหนึ่งกล่าวว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่หนังสือพิมพ์ที่เคยเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียกำลังกลายเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลจีน ทางทนายความและสามีของเจ้าเวยก็สงสัยเช่นกันว่าการสัมภาษณ์ในครั้งนี้อาจจะเป็นการจัดฉากของรัฐบาลจีน

เดอะการ์เดียนระบุว่า SCMP พูดคุยกับเจ้าเวยผ่านทางความช่วยเหลือของตัวกลางลึกลับที่ไม่เปิด เผยตัวต่อพนักงาน SCMP ซึ่งทาง SCMP ออกแถลงการณ์ผ่านอีเมลในนาม "กองบรรณาธิการ" ว่าการตั้งคำถามต่อ SCMP ในเรื่องนี้เป็นการพยายาม "ป้ายสี" ให้ SCMP ถูกมองในแง่ลบ พวกเขายังระบุอีกว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าเจ้าเวยให้สัมภาษณ์ในขณะที่เธออยู่ภายใต้การควบคุมสอดส่องหรือไม่ และทาง SCMP ปฏิเสธซ้ำๆ ที่จะอธิบายว่าพวกเขาจัดแจงให้มีการสัมภาษณ์เจ้าเวยได้อย่างไร และปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางการจีนเขียนให้

การวิพากษ์วิจารณ์ SCMP มาพร้อมกับความกังขาต่อสื่อฉบับนี้หลังจากที่แจ็ค หม่า นักธุรกิจผู้มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งของจีนผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อาลีบาบาซื้อกิจการสื่อ SCMP ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำให้มีคนกังวลว่าสื่อ SCMP จะถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนกดดันทางการเมือง และหลังจากนั้นก็มีความไม่พอใจเกิดขึ้นทั้งในห้องประชุมข่าวและจากผู้อ่านที่อ้างว่า SCMP สูญเสียจุดยืนสื่อแบบเดิมไปแล้ว

เจ้าเวยเป็นนักกิจกรรมอายุน้อยที่สุดที่ตกเป็นเป้าหมายการกวาดล้างทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรอบล่าสุดในจีน สื่อ SCMP ระบุว่าพวกเขาสัมภาษณ์เจ้าเวยทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลา 3 วันหลังจากมีการประกาศปล่อยตัวเจ้าเวย ในบทสัมภาษณ์ที่เป็นปัญหานี้มีการอ้างว่าเจ้าเวยบอกว่า "ฉันเริ่มเข้าใจว่าฉันเดินทางผิดมาตลอด" และ "ฉันขอแสดงความสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำลงไป นับจากนี้ฉันจะเป็นคนใหม่"

เดวิด บันดูร์สกี นักวิเคราะห์สื่อฮ่องกง ตั้งข้อสังเกตว่าการสารภาพครั้งล่าสุดมีลักษณะคล้ายกับที่ทางการจีนเคยบังคับให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสารภาพออกสื่อซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งมากนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจในปี 2555

อย่างไรก็ตามอดีตคนที่เคยทำงานใน SCMP บางคนชี้ว่า SCMP เริ่มเบี่ยงออกจากทิศทางเดิมตั้งแต่ก่อนแจ็ค หม่า จะซื้อกิจการแล้ว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของ SCMP เกิดขึ้นตั้งแต่หลังจากช่วงนำเสนอข่าวการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงปี 2557 ซึ่งในช่วงนั้นทำให้เว็บไซต์ SCMP มีผู้เข้าชมจำนวนมากและเป็นช่องทางที่ทั่วโลกใช้จับตาดูสถานการณ์ฮ่องกง ทำให้ฝ่ายบริหารของหนังสือพิมพ์รู้สึกยินดีไปพร้อมๆ กับกังวลว่าข่าวของพวกเขาจะเอียงข้างผู้ประท้วงมากเกินไปหรือไม่ ทำให้มีบรรยากาศในที่ทำงานเปลี่ยนไป อดีตนักข่าวรายหนึ่งบอกว่าเขารู้สึกได้ถึงความตึงเครียดหลังจากการประท้วง 79 วันในฮ่องกงที่ทิศทางของสื่อฉบับนี้มีความเป็นปรปักษ์กับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น

พอล มูนนีย์ นักข่าวอาวุโสชาวอเมริกันที่เคยทำงานกับ SCMP จนถึงปี 2555 และได้รับรางวัลจากประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีนหลายรางวัลกล่าวว่า SCMP ยังคงนำเสนอได้ดีในประเด็นที่มีความอ่อนไหวและยังคงพยายามรักษาความเป็นกลางไว้ อย่างไรก็ตามมูนนีย์เห็นตรงกับนักข่าว SCMP หลายคนว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา SCMP เริ่มมีการแก้ไขเนื้อหาหนักขึ้นหรือยกเลิกการนำเสนอบางมุมที่อาจจะทำให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจ อดีตพนักงานสองคนบอกว่ามีโครงการเกี่ยวกับการครบรอบ 25 ปีเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินถูกคัดค้านจากบรรณาธิการแต่ก็ได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด นักข่าวผู้ทำโครงการที่ได้รับรางวัลหลายคนลาออกจาก SCMP แล้ว รวมถึงมูนนีย์ผู้บอกว่าตนเองถูกขับออกจาก SCMP ด้วย "เหตุผลทางการเมือง"

สมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกงก็แสดงความกังวลต่อการที่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่พยายามควบคุมฮ่องกงมากขึ้นเช่นกันในรายที่ชื่อว่า "หนึ่งประเทศ สองฝันร้าย" ซึ่งระบุว่าจีนพยายามควบคุมฮ่องกงมาตั้งแต่หลังเหตุสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมินปี 2532 แล้ว และในตอนนี้รัฐบาลจีนหรือบรรษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็สามารถควบคุมสื่อหลักของฮ่องกงได้แล้ว 8 ใน 26 แหล่ง คิดเป็นร้อยละ 31 ของทั้งหมด และการที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มลงทุนในสื่อฮ่องกงมากขึ้นก็ชวนให้เกิดความกังวล

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนก็เคยตั้งคำถามต่อการที่อาลีบาบากรุ๊ปเข้ายึดครอง SCMP ผู้ที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "สื่ออิสระแหล่งสุดท้ายของฮ่องกง" เช่นกัน

ทางด้าน SCMP ออกแถลงการณ์วิจารณ์เดอะการ์เดียนว่ามีอคติจากการเลือกผู้ให้สัมภาษณ์ในการรายงานข่าวเรื่องเกี่ยวกับพวกเขา ในแถลงการณ์ของพวกเขายืนยันว่าจุดยืนของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไปหลังจากที่มีการเปลี่ยนเจ้าของโดยอ้างว่ายังมีการทำข่าวที่เป็นอิสระและมีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์อยู่ รวมถึงระบุในเชิงต่อว่าเดอะการ์เดียนว่า "ขอให้มีมาตรฐานของสื่ออิสระเชิงวิพากษ์วิจารณ์แบบเดียวกับที่คาดคั้นจากพวกเราก็แล้วกัน"

อย่างไรก็ตามมีอดีตคนทำงาน SCMP ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ SCMP ในทางลบ เช่น เดวิด ลาค อดีตบรรณาธิการบริหารช่วงปี 2542-2544 กล่าวว่าพวกเขามีอิสระในการทำงานมากโดยไม่กลัวการเซนเซอร์ ขณะที่อดีตผู้สื่อข่าวรายอื่นๆ บอกว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการวิจารณ์เพื่อนร่วมงานของพวกเขาที่ยังคงทำงานอยู่ในนั้น โดยเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นยังคงทำงานข่าวในประเด็นต่างๆ ได้อย่างเป็นมืออาชีพแม้จะต้องถูกเจ้านายของพวกเขาไม่ชอบ แต่อดีตนักข่าวและบรรณาธิการก็ไม่ได้ตั้งความหวังกับอนาคตของ SCMP นัก และเชื่อว่านักข่าวมืออาชีพเหล่านี้คงอยากออกจากงานของที่นั่นถ้ามีโอกาส

 

เรียบเรียงจาก

Mysterious confession fuels fears of Beijing's influence on Hong Kong's top newspaper, The Guardian, 25-07-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/jul/25/south-china-morning-post-china-influence-hong-kong-newspaper-confession

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net