3 นักสิทธิผู้เปิดการซ้อมทรมานรับทราบข้อหาหมิ่นประมาททหาร พร้อมโต้ ทหารไม่เปลี่ยน-ไม่แก้ปัญหา

3 นักปกป้องสิทธิฯ รับทราบข้อกล่าว หลัง กอ.รมน. ภาค 4 ฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่ออกรายงานซ้อมทรมานภาคใต้ ผู้ทำรายงานโต้ ทหารไม่เปลี่ยน-ไม่แก้ปัญหา

สมชาย หอมลออ ,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ,อัญชนา หีมมิหน๊ะ  ตามลำดับ

26 ก.ค.2559 เวลา 13.00 น. ที่ สภ.เมืองปัตตานี นักสิทธิมนุษยชน 3 คน ประกอบด้วย สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” โดยรายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูแตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี และทนายความของทั้งสามกล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งรายละเอียดข้อกล่าวหาในส่วนของความผิดฐานหมิ่นประมาทว่าเกิดในวันที่ 10 ก.พ.2559 ที่ทางเครือข่ายมีการเปิดเผยรายงาน ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 14 ก.พ.2559 หลังจากมีการเผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

”ผมสังเกตเห็นว่าถ้าในหนังสือมีคำว่าเจ้าหน้าที่ทหาร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับทหาร เขาก็จะอ้างว่าไม่เป็นความจริง" อับดุลกอฮาร์ กล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัว ส่วนรายละเอียดในเรื่องข้อต่อสู้นั้นทีมทนายจะมีการจัดทำบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง โดยทั้ง 3 คนจะส่งรายละเอียดคำปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเอกสารในภายหลัง ภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน

องค์กรสิทธิยกเหตุผล 5 ประการที่ กอ.รมน.ไม่ควรฟ้อง 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในการเข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว ได้มีตัวแทนจากองค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั้งระดับในประเทศและระหว่างประเทศมาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจจำนวนมาก เช่น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) คณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียหรือ AHRC

โดยก่อนน้านี้ องค์กรเหล่านี้ ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอให้กำลังใจมีความเห็นต่อกรณีการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว 5 ประการโดยสรุปคือ

ประการแรก การจัดทำรายงานเป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน ภายใต้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol” ซึ่งเป็นคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานกรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nation Fund for Victims of Torture) ภายใต้หลักการตาม“อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี”ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ประการที่สอง การดำเนินงานของนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน เป็นการดำเนินการในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน พวกเขาจึงได้รับการคุ้มครองภายใต้ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Declaration on Human Rights Defenders) ดังนั้น การดำเนินคดีของกอ.รมน.ภาค 4 สน.กับทั้งสามคนนี้ ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติที่สวนทางกับหลักการสากล

ประการที่สาม การฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ถือเป็นการดำเนินคดีในลักษณะที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation) เพื่อให้หยุดพูดหรือระงับการมีส่วนร่วมสาธารณชน หรือยุติการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ แม้ทั้งสามคนจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงพอสมควร ดังนั้น การดำเนินการแบบนี้ ย่อมจะส่งผลต่อเสถียรภาพและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งที่เป็นบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เสียเปรียบและตกเป็นเหยื่อการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลก

ประการที่สี่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ไม่มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิทั้งสามในข้อหาดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐทำหน้าที่ปกป้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ประชาชนมีสิทธิโต้แย้ง ตำหนิหรือกล่าวหาได้ และรัฐต้องรับฟังและนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่นำข้อกล่าวหานั้นมาไล่ฟ้องดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหาหมิ่นประมาท อีกทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน มิได้มุ่งหมายจะคุ้มครองหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด และหากเป็นการหมิ่นประมาทตัวเจ้าพนักงานของรัฐก็มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาคุ้มครองตัวเจ้าพนักงานอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประการที่ห้า ปัจจุบันค่อนข้างจะมีความเห็นสอดคล้องกันในทางวิชาการและเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปัจจุบันว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 นั้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะไปใช้กับกรณีหมิ่นประมาท แต่มุ่งเน้นจะใช้กับเรื่องการโจมตีระบบหรือกรณีปลอมแปลง หรือฉ้อโกงเท่านั้น อีกทั้งยังมีคำพิพากษาศาลในคดีภูเก็ตหวานที่วินิจฉัยยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าวไว้ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

แนะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามรายงานสถานการณ์การทรมานฯ

“ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา การดำเนินการของ กอ.รมน. ภาค 4 สน.ในการแจ้งความดำเนินคดีข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทต่อสามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อหน้าที่ของรัฐและก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศต่อประชาคมโลก” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุทิ้งท้ายด้วยว่า ดังนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตาม “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี2557-2558” ที่มีความเป็นกลาง โดยคัดเลือกจากบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้ามาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol”และนำเสนอผลการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อประชาชนและต่อประชาคมโลกถึงความจริงใจและตั้งใจของประเทศไทยที่จะปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี

แอมเนสตี้แถลงต้องยกเลิกสอบสวนโดยทันที

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International-AI) ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการแจ้งข้อหาแก่นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนโดยเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการสอบสวนทางอาญาแก่ทั้งสามโดยทันที แถลงการณ์ยังกล่าวว่า หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลทหารของไทยได้มีความพยายามในการปราบเสียงที่เห็นต่างทุกรูปแบบ อีกทั้งยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเเสดงออกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ทางการได้ตั้งข้อหาต่อบุคคลกว่า 100 คน เนื่องจากการต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ

“ทางการไทยควรยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันที โดยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งสามคนและดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่พวกเขาเปิดโปง เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด” ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“กรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งสามคนนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลทหารว่า ไม่มีบุคคลใดที่ปลอดภัยและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาได้”ซาลิลกล่าว

ผู้จัดทำออกแถลงการณ์การที่รัฐเข้าแจ้งความ สะท้อนถึงการพยายามไม่แก้ปัญหา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558 โดยเนื้อความบางส่วนกล่าวว่า กรณีการแจ้งความร้องทุกข์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น สะท้อนให้เห็นท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานของรัฐบาลไทย การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อผู้จัดทำแทนนั้นแสดงให้เห็นว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนใช้วิธีการทรมานการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป

อีกทั้งแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่าผู้จัดทำได้ส่งรายงานชิ้นดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ก่อนเผยแพร่เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแต่อย่างใด มีเพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคนได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์ 

ประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและนักกิจกรรมอีกสองคนอาจได้รับโทษจำคุกเนื่องจากเปิดโปงการทรมาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยต้องยกเลิกการสอบสวนทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงทั้งสามคนโดยทันที รวมทั้งต่อประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งอาจถูกแจ้งข้อหาในวันนี้เนื่องจากการจัดทำและตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทรมานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย 

นายสมชาย หอมลออ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้ว อาจต้องได้รับโทษจำคุกห้าปีและถูกปรับเป็นเงินประมาณ 170,000 บาท หากพบว่ามีความผิดฐาน “หมิ่นประมาททางอาญา” และ “ความผิดทางคอมพิวเตอร์” โดยบุคคลทั้งสามจะเข้าพบตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยสัญญาจะประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการทรมาน แต่นับเป็นความขัดแย้งที่พวกเขากลับคุกคามนักกิจกรรมที่พยายามเปิดโปงการกระทำอันน่ารังเกียจเช่นนี้

“ทางการไทยควรยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันที โดยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งสามคน และดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่พวกเขาเปิดโปง เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด” 

นายสมชาย หอมลออ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นสมาชิกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) และกลุ่มด้วยใจ พวกเขาได้ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เสนอ 54 กรณีของการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพไทย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความอ่อนไหว และมีรายงานการทรมานเกิดขึ้น

ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในรายงานการทรมานฉบับนี้ ได้แจ้งข้อหาต่อบุคคลทั้งสามเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559  

ข้อกล่าวหาต่อบุคคลทั้งสามเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของพวกเขา

ภายหลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารของไทยเพิ่มความพยายามในการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างทุกรูปแบบ มีการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคมอย่างกว้างขวาง เฉพาะในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ทางการได้ตั้งข้อหาต่อบุคคลกว่า 100 คน เนื่องจากต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

“กรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งสามคนนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลทหารว่า ไม่มีบุคคลใดที่ปลอดภัยและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาได้” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าบุคคลซึ่งถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกเป็นนักโทษทางความคิด และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

นายสมชาย หอมลออเป็นนักกิจกรรมอาวุโสและเป็นอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิ

เมื่อเดือนที่แล้ว นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติได้รับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระจากการทำงานให้กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลและการตีพิมพ์รายงานการทรมานดังกล่าว 

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 128 รัฐภาคีสหประชาชาติที่แสดงความเห็นชอบสนับสนุนมติขององค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทางการงดเว้นการข่มขู่และตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

 

แถลงการณ์ 

คำชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558

จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย  ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการนำเอาเอกสารรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 ซึ่งเป็นความเท็จ ไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเวปไซต์  http://voicefromthais.wordpress.com”   โดยผู้ต้องหาทั้งสามได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ณ สภ.ปัตตานีนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558  ขอแถลงว่า

1. การกระทำทรมาน เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งตามกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รัฐมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว

2. นับตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ความไม่สงบกล่าวคือกรณีปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ในปี 2547เป็นต้นมาปรากฎว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ และการประหัตประหารนอกกระบวนการยุติธรรม เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้เสมอมา โดยที่ทางการไทยไม่มีมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาอย่างได้ผลแต่อย่างใด 

3. แม้ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำดังกล่าว จะได้ร้องเรียน ร้องทุกข์หรือดำเนินมาตรการต่างๆด้วยตนเอง หรือโดยการช่วยเหลือสนับสนุนขององค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและการชดใช้เยียวยา แต่มักไม่ได้ผล เนื่องจากวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลในหมู่เจ้าหน้าที่ยังเข้มแข็ง กระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ผู้ที่ร้องทุกข์ร้องเรียนและเรียกร้องความเป็นธรรมถูกข่มขู่ คุกคามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานจำเป็นต้องแสวงหาการช่วยเหลือเยียวยาจากองค์การและกลไกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสหประชาชาติ  

4. การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558  ผู้จัดทำได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture) โดยรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 เพื่อหาหนทางในการแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาต่อไป โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI)  ทั้งผู้เก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้ผ่านการฝึกอบรมในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นรายงานดังกล่าวจึงมีความถูกต้องแม่นยำในทางวิชาการ

5. ในการเขียนรายงาน ผู้จัดทำรายงานมิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการทรมานอย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กล่าวคือเป็นการกระทำทรมานเป็นประจำ โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เป็นการกระทำที่แพร่หลาย กว้างขวางในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว การจำลองวิธีการประหารชีวิต การซักถามที่ใช้เวลานานโดยไม่ให้พักผ่อน การขังเดี่ยว การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัส  การทุบตีทำร้ายร่างกาย การทำให้สำลักหรือบีบคอ การทำให้จมน้ำหรือจุ่มน้ำ และการให้อยู่ในห้องร้อน ห้องเย็น เป็นต้น 

6. ร่างรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ผู้จัดทำได้ส่งให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ไม่เคยติดต่ออย่างเป็นทางการกับหน่วยงานที่จัดทำรายงานแต่อย่างใด มีเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคน ได้โทรศัพท์สอบถามผู้เขียนรายงานบางคน เพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น ซึ่งผู้จัดทำรายงานไม่สามารถให้ได้ โดยปราศจากความยินยอมของผู้ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา นอกจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้เยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานแล้ว ยังไม่สามารถคุ้มครองความมั่นคง ปลอดภัยของผู้เสียหายด้วย ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัว ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรม หลายคนมีอาการคับแค้นด้านจิตใจและวิตกกังวล ซึ่งในภาวะดังกล่าวอาจทำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้

7. การที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ  และนโยบายของทางราชการในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ยังคงเกิดขึ้นเสมอ การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยไม่นำพาต่อข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสาม ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน ใช้วิธีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป โดยยังไม่ได้ตระหนักว่า การทรมานอย่างอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบที่ยังดำเนินต่อไปในจังหวัดชายแดนใต้เช่นนี้ อาจนำไปสู่การกล่าวหาโดยนานาชาติว่าเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity)” ได้   

วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท