Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



วันนี้ มีสองความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาชายแดนภาคใต้ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กรทหาร ความเคลื่อนไหวแรกคือ 3 นักสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย "พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ" "อัญชนา หีมมีหน๊ะ" และ "สมชาย หอมลออ" เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้การต่อสู้คดี หลังถูก กอ.รมน. ฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จากการจัดทำและเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ "การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ" ในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย

การซ้อมทรมานผู้ต้องหาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้มีมานานแล้วตั้งแต่ช่วงหลังกรณีปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส การตามล่าหาปืนจากนโยบายอันดุดันของรัฐบาล พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทั้งส่งตำรวจจากส่วนกลางและหน่วยงานทหารอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าขณะนั้นตามหาปืนกลับมาและค้นหาผู้ร่วมขบวนการปล้นปืนทั้งหมด ส่งผลให้มีการจับกุมและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก หนึ่งในเหยื่อซ้อมทรมานกรณีปล้นปืนที่โด่งดังมากคือ "อนุพงษ์ พันธชยางกูร" หรือ "กำนันโต๊ะเด็ง" อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่ต่อมาก็หลุดจากข้อกล่าวหาเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ต่อมากำนันโต๊ะเด็งและพวกก็ให้ถ้อยคำกับดีเอสไอและร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดกับ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกรวม 19 คนในข้อหาร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย (ซ้อมทรมาน) ระหว่างที่ถูกสอบปากคำในคดีปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ซึ่งพยานกลุ่มนี้บางส่วนตกเป็นผู้ต้องหา แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยสรุปว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ และพวกไม่มีมูล ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่ขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร.ก็ฟ้องร้องกำนันโต๊ะเด็งและพวกกลับข้อหาให้การเท็จ แต่ท้ายที่สุดศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

กรณีการซ้อมทรมานกำนันโต๊ะเด็งน่าสนใจ มีข้อมูลทางลับมากมายที่ผมเขียนไม่ได้ในที่นี้ แต่กำนันอนุพงษ์เคยเปิดเผยว่า เขาถูกตำรวจซ้อมทรมานจนฟันกรามหัก 2 ซี่ (เขาเอาฟันมาแสดงต่อศาลด้วย) เขาถูกจับมัดขาแล้วโยนตัวออกจากเฮลิคอปเตอร์จนห้อยโตงเตงกลางทะเล จับใส่ห้องเย็น จับตัวลูกและเมียมาทรมานต่อหน้า กำนันโต๊ะเด็งจึงยอมทุกอย่าง เพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกเมีย เขาขอพบทนายสมชายและรับรู้ว่า ทนายสมชายถูกทำให้เสียชีวิต ถูกบังคับให้แถลงข่าว ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนปล้นปืนในค่ายทหารปี 2547 และให้พูดตามที่เตรียมไว้คือ ให้ใส่ร้ายหะยีสุหลง พ่อของนายเด่น โต๊ะมีนา และกลุ่มวาดะห์ ในพรรคไทยรักไทย ว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน

หลังจากศาลได้ยกฟ้องทุกข้อหา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 กำนันอนุพงษ์เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลถึงการทำงานของชุดตามล่าหาขบวนการปล้นปืนตอนนั้น และยังเปิดเผยข้อมูลซึ่งเกี่ยวพันกับการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรด้วย

"ตอนที่ถูกควบคุมตัวที่เขาตันหยงอาการผมยังไม่สาหัส จนเที่ยงคืนถูกคุมตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกรุงเทพฯ มีตำรวจยศ พล.ต.อ.คนหนึ่ง เป็นหัวหน้าชุด ควบคุมตัวผมขึ้นเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำตัวผมไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาซ้อมผมจนไม่รู้สึกตัว ล่ามกับเก้าอี้ ฟันผมหักสองซี่ ผมยังเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตอนนั้นผมไม่ได้รู้จักกับทนายสมชายเป็นการส่วนตัว รู้แต่ว่าเป็นทนายมุสลิมที่เสียสละมาช่วยพี่น้องในชายแดนใต้ และผมอยากให้มาช่วย ผมถูกซ้อมหลายครั้ง ถูกล่ามโซ่ไว้กับโต๊ะ ถูกกระทืบ เขานั่งกินไวน์กัน ฉี่ใส่ปากผม เขาพูดกันว่า ผมเรียกร้องจะเอาทนายสมชายอย่างเดียว จะทำอย่างไร ถ้าทนายสมชายยังอยู่ก็จะหาหลักฐานมาหักล้างได้หมด ต้องทำคดีอื่นมาใหม่ โดยให้ผมแถลงข่าว”

นายอนุพงษ์กล่าวต่อว่า “จากนั้นผมถูกทำร้ายร่างกายจนหมดสติ พอฟื้นมาก็ถูกจับไปขังในห้องเย็นที่หนาวจัดจนปวดหัว เขาบอกให้ผมรับสารภาพ ผมบอกว่าถ้าผมเป็นคนปล้นปืนไปกว่า 300 กระบอก แล้วจะเอาปืนที่ไหนมาคืน จนวันที่ 8 มีนาคม 2547 พี่สมชายนัดมาว่าจะเจอผม แต่พวกเขาไม่ให้เจอ เขามาถามว่า ยังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย มีกระดาษโน้ตมาบอกว่า พี่สมชายจะมาหาวันที่ 15 มีนาคม แต่ไม่รู้ว่าเป็นลายมือพี่สมชายจริงหรือไม่”

“พวกเขามานั่งกินเหล้ากันที่เดิม แล้วถามผมว่า ยังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย เขาบอกว่ากูส่งมันไปหาอัลลอฮฺแล้ว เอามันไปเผาที่ราชบุรี และจะส่งมึงไปด้วย คนที่สั่งฆ่าทนายสมชายคือนายตำรวจที่อยู่ต่อหน้าผม คนที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์และทรมานผม ผมอยู่ในคุกอีกสักพัก ร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้น เจอตำรวจที่เคยทรมานผมเข้ามาอยู่ในคุก ผมเข้าไปถามว่า ฆ่าพี่สมชายทำไม เขาบอกว่า นายสั่ง เพราะนายกลัวตำแหน่งจะหาย ถ้าความจริงปรากฏและนายเขาก็ได้ตำแหน่งนั้นจริงๆ”

นี่คือภาพการซ้อมทรมานในภาคใต้ ซึ่งข้อมูลถึงปี 2555 มีรายงานตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานจากศูนย์ทนายความมุสลิมกว่า 300 กรณี และจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถึง 102 กรณี ยังไม่รวมกับเหตุอุ้มหายซึ่งเป็นอาชญากรรมโดยรัฐอีกกรณี

ขณะที่ความเคลื่อนไหวที่สองคือกรณี "นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์" ซึ่งเป็นหลานสาวพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเสียชีวิตระหว่างฝึกซ้อมทหารใหม่ในค่ายทหาร ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไป สน.มักกะสัน กรุงเทพฯ เบื้องต้นเธอบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอถูกจับกุมด้วยฐานความผิดหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ทหาร และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน พลทหารวิเชียร ลงในโซเชียลมีเดีย โดยโพสต์ในช่วงเดือน ก.พ. 2559

ถ้าใครติดตามข่าวกรณีการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของพลทหารวิเชียร เผือกสม จะรู้ว่า "นริศราวัลถ์" เธอเป็นตัวแทนของญาติๆ ที่ออกมาต่อสู้เพื่อน้าชายที่ตายอย่างอธรรม กรณีนี้มีหลักฐานชัดเจนจากแพทย์ชันสูตรว่าพลทหารวิเชียรถูกซ้อมจนตาย แต่กว่าที่ผู้กระทำถูกเปิดโปงออกมาก็ตอนที่นริศราวัลถ์เธอออกมาส่งเสียงนั่นแหละ คดีนี้ครอบครัวของพลทหารวิเชียรฟ้องแพ่งต่อกระทรวงกลาโหม เป็นจำเลยที่ 1 กองทัพบกเป็นจำเลย ที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี (ต้นสังกัด กอ.รมน.) เป็นจำเลยที่ 3 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดของกองทัพบกได้ทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรในระหว่างการฝึกทหารใหม่อย่างทารุณโหดร้ายจนเป็นเหตุให้ผลทหารวิเชียรถึงแก่ความตาย ซึ่งจำเลยประสงค์ที่จะไกล่เกลี่ย และศาลแพ่งพิพากษาให้กองทัพบกจ่ายค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2557 ตามที่ได้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันเป็นจำนวนเงิน 6.5 ล้านบาท

ส่วนสำหรับคดีอาญานั้น สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า มารดาของพลทหารวิเชียรได้แจ้งความดำเนินคดีกับครูฝึกทหารใหม่และทหารที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรจนถึงแก่ความตายต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุแล้ว และเนื่องจากผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารทั้งหมด ดังนั้นคดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ซึ่งผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้เอง ตาม พ.ร.บ. พระธรรมนูญ ศาลทหาร 2498 มาตรา 49 ให้พนักงานอัยการทหารเท่านั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลทหาร ปัจจุบัน คดียังอยู่ในระหว่างการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)

สองกรณีนี้สะท้อนว่า ความเปราะบางยิ่งของรัฐไทย คือปัญหาสิทธิมนุษยชน การเคารพต่อศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่ากรณีการกระทำต่อผู้เห็นต่าง หรือแม้แต่ภายในหน่วยงานของรัฐเอง ซึ่งยังมีกรณีการซ้อมทรมานพลทหาร การทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชาจนถึงแก่ความตายปรากฎสู่สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่เป็นคำถามคือ เหตุใดเจ้าหน้าที่รัฐของไทย โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงจึงไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนในการทำงาน และดูเหมือนถูกมองว่าเป็นสิ่งฉุดรั้งการทำงานมากกว่าเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งแม้ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว และแม้รัฐไทยจะมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายแล้ว แต่กระบวนการที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างล่าช้า หากเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เร่งตราออกมาอย่างรวดเร็วภายใต้รัฐบาลนี้.

0000

 

อ้างอิง
          คำให้สัมภาษณ์ กำนันอนุพงษ์ พันธชยางกูร,สำนักข่าว ฟาตอนี ออนไลน์, 12 มีนาคม 2557
          รายงาน การทรมาน...ปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข,แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, 27 มิถุนายน 2557
          ข่าว ศาลยกฟ้อง “กำนันโต๊ะเด็ง” แจ้งความเท็จ ถูก ตร.ซ้อมคดีปล้นปืนปี 47,ผู้จัดการออนไลน์, 4 มิถุนายน 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net