สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 20-26 ก.ค. 2559

ก.แรงงาน แจ้งนายจ้างให้ลูกจ้างออกไปใช้สิทธิลงประชามติ หากขวางเจอคุก-ปรับ
 
นายสุทธิวงศ์ กติกา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติพร้อมกันทั่วประเทศ จากความสำคัญดังกล่าว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายศิริชัย ดิษฐกุล ได้ประกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ขอความร่วมมือจากนายจ้าง สถานประกอบกิจการ ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้ดำเนินการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เที่ยงธรรม โดยได้รับความร่วมมืออันดีจากทุกภาคส่วน รวมทั้งส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้าง มีส่วนร่วมในการออกเสียงประชาติ
 
นายสุทธิวงศ์กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงแรงงานจึงได้ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการและผู้ที่เกี่ยวข้อง อนุญาตให้ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบกิจการ ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ณ สถานที่ออกเสียงประชามติ ตาม กกต.ได้กำหนดขึ้น โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด กรณีที่นายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงต่อลูกจ้าง อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
เอกชนจ่อฟ้องศาล พ.ร.บ.คนพิการไม่เป็นธรรม อ้าง ตจว.หาคนมาทำงานไม่ได้ จำใจส่งเงินเข้ากองทุนกว่าแสนบาทต่อปี
 
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกำลังมีแนวคิดที่อาจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเกี่ยวกับ การออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่ไม่ชอบโดยการบังคับให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั่วไปที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปให้รับคนพิการในอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน หากไม่รับคนพิการทำงานจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าการออกกฎหมายดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ
 
"ไม่ใช่เอกชนจะไม่จ้างคนพิการ แต่ปัญหาคือเราหาคนพิการไม่ได้ หลายโรงงานพยายามขอร้องให้รัฐช่วยหาแรงงานคนพิการให้ แต่รัฐหรือเขตก็บอกว่าให้หาเอง ที่สุดเมื่อเอกชนหาไม่ได้ก็ต้องทำตามกฎหมายคือจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเฉลี่ยต่อคน ก็คิดเป็นเงินเกือบแสนบาทต่อปี เมื่อหลายคนก็เป็นเงินมากอยู่แล้ว กองทุนฯ ตอนนี้มีเงินมากเอาไปทำอะไร" นายทวีกิจกล่าว
 
ทั้งนี้ เอกชนต้องการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะผู้ออกกฎหมายหรือแรงงานจังหวัด เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานคนพิการขึ้น แล้วเป็นศูนย์ในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้เอกชนไปแจ้งขอยื่นคนพิการเข้าทำงานไม่ใช่ให้เอกชนหาเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย โดยการดำเนินงานก็สามารถนำเงินกองทุนฯ ที่เก็บไปพัฒนาเพิ่มทักษะฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่ามีเงินเข้ากองทุนฯ จำนวนพอสมควร
 
นายสมมาต ขุนเศษฐ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานในเขตรอบนอกและต่างจังหวัดประสบปัญหาการจ้างคนพิการทำ งานเนื่องจากหายาก ส่วนใหญ่คนพิการจะกระจุกตัวในเขต กทม.
 
 
กระทรวงแรงงานเผยเดือน มิ.ย.59 จ้างงานเพิ่มกว่า 2 แสนคนเมื่อเทียบปี 58
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนไทยทุกคนทุกกลุ่มมีงานทำที่มั่นคง ภายใต้นโยบาย 3 โอกาส คือ โอกาสแรกคือ การตั้งต้น ทั้งด้านเงินทุน การจัดหาตำแหน่งงานรองรับ โอกาสที่สอง คือ การพัฒนาทักษะฝีมือ ทั้งในส่วนของกระทรวงดำเนินการเอง หรือร่วมกับภาคเอกชนในการฝึกทักษะตลอดจนร่วมมือกับนานาประเทศ และโอกาสที่สาม คือ การคุ้มครองเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตทีดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจากการประสานความร่วมมือในทุกฝ่าย ทำให้สถานการณ์การจ้างงงานเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยเข้าทำงานในสถานประกอบการ (มาตรา 33) ในเดือนมิ.ย. 59 มีจำนวน 10,377,038 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 59 ที่มีจำนวน 10,347,954 คน จำนวนถึง 29,084 คน และหากเทียบกับเดือนมิ.ย. 58 ที่มีแรงงานทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 10,118,561 คน จะเพิ่มขึ้นถึง 258,477 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนอื่น ๆ ในปี 2559 ตั้งแต่ มกราคม – พฤษภาคม ยอดจ้างงานเดือนมิ.ย. จะมีจำนวนแรงงานที่เข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการสูงสุด โดย ม.ค. มี 10,314,551 คน ก.พ. มี 10,348,753 คน มี.ค. (ซึ่งทุกปีจะมียอดจ้างงานสูงขึ้นเนื่องจากมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่การทำงาน) มีจำนวน 10,365,424 คน เม.ย. 10,338,067 คน และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันในรอบ 6 เดือนในปี 2559 (มค.-มิย.59)กับปี 2558(มค.-มิย.58)พบว่าผู้ประกันตนเข้าทำงานในสถานประกอบการปี 2559 สูงกว่าปี 58 เฉลี่ยเดือนละกว่า 280,000 คน แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่นๆทีมีความต้องการแรงงานอยู่จำนวนมาก
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังเน้นย้ำให้แรงงานที่จบใหม่ หรือแรงงานที่ทำงานอยู่เดิมต้องพัฒนาทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริงโดยเฉพาะปัจจุบันภาคบริการยังขาดอยู่มาก อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีไว้แล้วด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป
 
 
ก.แรงงานเตรียมตำแหน่งงานรองรับพนักงานเหมาช่วงโตโยต้า
 
นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงาน กล่าวว่า กรณีพนักงานเหมาช่วงโตโยต้าเข้าร่วมโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก ทาง พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยบริษัทหรือผู้ประกอบการจะมีปัญหา ในการผลิต และพนักงานกลุ่มที่ถูกปรับลดจะมีปัญหารายได้ในการครองชีพ และการหาอาชีพใหม่ จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานหารือร่วมกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อสอบถามถึงแนวทางและหามาตรการที่จะดำเนินการแก้ไขและลดปัญหาร่วมกัน และกรณีมีข่าวว่าบริษัทโตโยต้าปรับลดพนักงานลง 4,000-5,000 คนนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีการปรับลดเพียง 900 คนเศษ ซึ่งเป็นพนักงานกลุ่มเหมาช่วงที่แสดงความจำนงขอเข้าโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก ที่จากเดิมการปรับลดพนักงานของบริษัทโตโยต้ามีเป้าหมายในการ ปรับลดเพียง 900 คน แต่มาแสดงความจำนงถึง 1,200 คน อีกทั้งการออกจากงานครั้งนี้เป็นการออกจากงานเพียงชั่วคราว เนื่องจากบริษัทโตโยต้าได้ให้คำมั่นว่า หากการผลิตการส่งออกดีขึ้นตามเดิมก็พร้อมที่จะรับพนักงานกลุ่มนี้กลับเข้าทำงาน
 
ทางกระทรวงแรงงานก็จะเริ่มดำเนินการโดยให้กรมการจัดหางานประสานงานกับพนักงานเป็นรายบุคคล เพื่อทราบความประสงค์ความต้องการทำงาน หากประสงค์ให้กระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือเรื่องของตำแหน่งงานใหม่ เปลี่ยนงานใหม่ และหางานใหม่ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็ได้เตรียมตำแหน่งงานในกลุ่มของยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไว้ 1,100 ตำแหน่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ไว้รองรับ รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระ การฝึกเพื่อเพิ่มฝีมือแรงงานหรือการฝึกเพื่อเปลี่ยนสายงาน และการให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ
 
 
ขรก.สธ.สุโขทัยรวมตัวทวงสิทธิ์อายุราชการผ่านศูนย์ดำรงธรรมฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเมธาสิทธิ์ นวลเนียม พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายวิษณุ สว่างทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เนื่องจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข อดีตพนักงานของรัฐได้รับผลกระทบจากการนับอายุราชการ เกรงว่าจะส่งผลต่อเงินบำนาญ
 
นายเมธาสิทธิ์เปิดเผยว่า กลุ่มข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงฯ อดีตพนักงานของรัฐในช่วงปี พ.ศ. 2543-2546 ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตกรรม เจ้าพนักงานเภสัชกรรม รวมกว่า 1,000 คนใน 12 จังหวัดภาคเหนือ และกว่า 30,000 คนทั่วประเทศ ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติระเบียบราชการอย่างไม่เป็นธรรมในเรื่องอายุราชการ
 
ซึ่งแพทย์และพยาบาลเหล่านี้จบการศึกษาในฐานะนักเรียนทุนของรัฐที่ต้องทำสัญญาผูกมัดกับรัฐบาลว่าจบมาแล้วบรรจุทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ถ้านักเรียนทุนเรียนจบแล้วลาออกไปอยู่เอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ จะต้องชดใช้ทุนตามที่สัญญากำหนด แต่ขณะนั้นนโยบายรัฐจำกัดจำนวนข้าราชการ ทำให้ต้องเข้าทำงานในฐานะพนักงานราชการไปก่อน และทางกระทรวงฯ ยืนยันว่าจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียมข้าราชการทุกประการ
 
กระทั่งต้นปี 2543 กลุ่มนักเรียนทุนเหล่านี้ได้รวมตัวเรียกร้องการบรรจุกลับเป็นข้าราชการมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ได้รับคำตอบจาก ก.พ.ว่า อย่างไรนักเรียนทุนต้องบรรจุเป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งให้ใช้สิทธิต่างๆ อ้างอิงกับราชการทุกอย่าง
 
ต่อมาปี 2547 มีการประกาศโอนพนักงานของรัฐทั้งหมดเข้าเป็นข้าราชการ เพราะ ก.พ.ไม่สามารถออกกฎหมายต่างๆ มารองรับสิทธิ และแก้กฎหมายครอบคลุมพนักงานของรัฐได้ จึงบรรจุกลับเข้าไปเป็นข้าราชการ ณ วันที่ 11 พ.ค. 2547
 
แต่ในการบรรจุเป็นข้าราชการกลับให้นับเวลาการทำงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการทำผลงานเท่านั้น ไม่ได้นับย้อนหลังอายุราชการขณะเป็นพนักงานของรัฐ ทำให้ข้าราชการกลุ่มนี้อายุราชการขาดหายไป 1-4 ปีตามรุ่นที่จบ จึงได้มีการรวมกลุ่มข้าราชการ กลุ่มอดีตพนักงานของรัฐ ปี 2543-2546 เพื่อดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมเรียกร้องอายุราชการย้อนหลังในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ควรได้อื่นๆ ด้วย
 
 
กลุ่มมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ ยื่น กสม. ช่วยเหลือ ถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน อ้างคุณสมบัติไม่ผ่าน
 
กลุ่มมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ 11 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณี ถูกบริษัทปฏิเสธรับเข้าทำงาน โดยกลุ่มมุสลิม เปิดเผยว่า ได้ทำงานกับสายการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้หมดสัญญากับบริษัทที่จัดหาจึงไม่มีการต่อสัญญาต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้เรียกพนักงานไปคุยเรื่องการทำงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่ม 11 คนนี้ เป็นรอบที่ 2 ซึ่งเป็นคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด แต่บริษัทไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน ว่า ทำไมจึงไม่ให้ทำงานต่อ เพียงบอกว่าคุณสมบัติไม่ผ่าน
 
ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีความกังวลว่า การที่ไม่ได้รับการต่อสัญญานั้น อาจเป็นเพราะบริษัทเห็นว่าเป็นบุคคลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจจะกระทบต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่ใน 11 คน ก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีมาโดยตลอด
 
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมุสลิมทั้ง 11 คน ได้ยื่นเรื่องกล่าวต่อศาลแรงงานแล้ว โดยศาลนัดอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย. 2559
 
 
"IRPC" ยันไม่มีแผนลด พนักงาน
 
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ (IRPC) กล่าวยืนยันว่าบริษัทไม่มีแผนปรับลดพนักงาน เนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมแต่อย่างใด แต่เปิดโครงการสมัครใจลาออก (Early Retire) ภายใต้โครงการ EVERESTที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี2558เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรทุกด้าน โดยไม่ได้กำหนดเป้าหมายจำนวนพนักงานที่จะปรับลดลงโดยปัจจุบันมีพนักงานประมาณกว่า 5,000 คน ซึ่งการดำเนินการ ไม่ได้มุ่งหวังลดพนักงาน อย่างไรก็ตาม จากการเพิ่มประสิทธิภาพมาโดยตลอดตั้งแต่โครงการเดลต้าปี 2556ทางบริษัทเปิดให้พนักงานสมัครใจลาออกและมีผู้สมัครเข้าโครงการจนพนักงานมีอัตราเหลือเท่าปัจจุบัน
 
 
200 องค์กรลั่นจ้างงานคนพิการหมื่นคน
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อม 6 องค์กร ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมกว่า 200 องค์กร ร่วมประกาศความร่วมมือโครงการสานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา โดย พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า ได้มอบนโยบายนี้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการให้ได้ 10,000 อัตรา ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ พล.อ.อดุลย์ กล่าวว่า หากทำได้ตามเป้าหมายจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากถึง 1,000 ล้านบาท
 
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้เชื่อมประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนจนเกิดการจ้างงานคนพิการกว่า 1,277 อัตรา ในปี 2559 โดยความร่วมมือของบริษัทเอกชน 88 องค์กร ทำให้คนพิการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน
 
 
ก.แรงงานเผย 9 เดือนสร้างงานคนพิการมีรายได้กว่า 900 ล้านบาทต่อปี
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ถือเป็นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดส่งเสริมให้
 
คนพิการมีงานทำ โดยปัจจุบันมีคนพิการทั่วประเทศ 1,568,847 คน เป็นคนพิการที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 748,941 คน และสามารถทำงานได้ แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวน 397,800 คน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ 3 มิ.ย.59) จากสถิติดังกล่าวทำให้รัฐมีมาตรการในการปรับ
 
แก้ไขกฎหมายและระเบียบให้มีความสอดคล้องในสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถตอบสนองความต้องการของคนพิการที่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน และผู้ดูแลคนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิแทนคนพิการได้มากยิ่งขึ้น นายจ้างและสถานประกอบการมีทางเลือกในการปฏิบัติตามกฎหมายได้หลากหลาย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำงาน มีอาชีพ มีรายได้ด้วยตนเอง และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งนอกจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำในลักษณะ 3S (Skill, Social, Security) แล้ว ยังประสานทุกภาคส่วนเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานของคนพิการ ทั้งการเข้าทำงานในสถานประกอบการ (มาตรา 33) และหากไม่สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ ก็ดำเนินการอื่นทดแทน เพื่อให้คนพิการมีอาชีพและมีรายได้ โดยใช้กลไก “ประชารัฐ”
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมการจัดหางานดำเนินการรับลงทะเบียนสมัครงานสำหรับคนพิการที่สนใจทำงาน ติดต่อประสานนายจ้าง/สถานประกอบการ เพื่อรับแจ้งตำแหน่งงานว่าง และจัดส่งคนพิการที่ลงทะเบียนสมัครงานไปพบนายจ้างเพื่อพิจารณาบรรจุงาน จัดงานนัดพบแรงงานคนพิการพร้อม ๆ กับจัดประกวดแข่งขันนายจ้าง/สถานประกอบการดีเด่น ที่ให้การสนับสนุนการจ้างงานคนพิการด้วย ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาในรอบ 9 เดือน (ต.ค.58 – มิ.ย.59) มีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 3,253 คน ได้รับการบรรจุงานแล้ว 1,695 คน มีรายได้จากการบรรจุงานตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ระดับประถมศึกษา (เสมียน, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า, พนักงานบริการ, ควบคุมเครื่องเย็บผ้า) จำนวน 516 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 9,000 บาท ระดับมัธยมศึกษา (เสมียน, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า, พนักงานบริการ) จำนวน 845 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 9,000 บาท ระดับ ปวช. (พ่อครัว, พนักงานต้อนรับ) จำนวน 74 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 12,500 บาท ระดับ ปวส./อนุปริญญา (เสมียน, พนักงานบริการ) จำนวน 110 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 12,500 บาท และระดับปริญญาตรี (ผู้บัญญัติกฎหมาย, เสมียน) จำนวน 150 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 16,500 บาท เมื่อคิดโดยรวมแล้วก่อให้เกิดรายได้ จำนวน 17,024,000 บาท/เดือน หรือ 204,288,000 บาท/ปี และสำหรับผู้ที่ไม่พร้อมทำงานในสถานประกอบการ นายจ้างให้สิทธิคนพิการสร้างงาน สร้างอาชีพให้อีกจำนวน 6,303 คน ก่อให้เกิดรายได้ 690,178,500 บาท/ปี รวมทั้ง 2 กลุ่ม คนพิการมีงาน มีอาชีพ จำนวน 7,998 คน ก่อให้เกิดรายได้รวม 911,490,500 บาท/ปี ทั้งนี้นายจ้างหรือคนพิการสามารถติดต่อเพื่อการจ้างงานได้ที่สายด่วน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 24/7/2559
 
ผลสำรวจพบนิคมฯต้องการแรงงานสายวิชาชีพ
 
“อมตะกรุ๊ป “ เผยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทั้งสองแห่ง พร้อมรับแรงงานฝีมือต่อเนื่อง ล่าสุดรับไปแล้วกว่า 10,000 อัตราต่อปี เน้นสาย ปวช. ปวส. ป้อน 5 อุตสาหกรรมหลัก ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็คทรอนิค เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก ยาง
 
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลที่นำมาใช้ในการกระตุ้นการลงทุนในอนาคต ขณะนี้ได้ส่งผลให้เกิดการเตรียมตัวในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลใช้โมเดล ปรับไปสู่อุตสหกรรม 4.0 โดยเน้นนวัตกรรมเครื่องจักร และหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการตกงานของแรงงานไทยมากขึ้นนั้น เรื่องนี้ คงเป็นในอนาคต ที่จะนำมา เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และนวัตกรรมเครื่องจักร มาใช้ในสายการผลิต เรื่องนี้ต้องมีเวลาพัฒนาอีกระยะหนึ่ง
ส่วนกรณีที่มีกระแสลดพนักงานในช่วงนี้ มองว่าเป็นการบริหารจัดการต้นทุนของผู้ประกอบการและถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกเพื่อเป็นการการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเท่านั้น จะเห็นว่าจากกรณีการประกาศปรับลดแรงงานที่ผ่านมา เป็นการปรับลดแรงงานส่วนของการจ้างบุคคลภายนอกหรือ เอาท์ซอร์สซิ่ง (Outsourcing ) แต่ไม่ได้เป็นการปรับลดพนักงานประจำของบริษัท ซึ่งจากการสำรวจความต้องการจ้างงาน ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ. ชลบุรี และ นิคมฯอมตะซิตี้ จ.ระยอง ยังมีการเปิดรับอย่างต่อเนือง โดยเมื่อเร็วๆนี้ สถานประกอบการในนิคมฯ ยังมีความต้องการแรงงาน ประมาณกว่า 10,000 อัตรา ซึ่งตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิค เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก เป็นต้น โดยแรงงานที่ต้องการต้องการแรงงานสายวิชาชีพที่จบ ปวช. ปวส. มากกว่าแรงงานสายสามัญที่จบระดับปริญญาตรี
 
“ แนวโน้มความต้องแรงงานในสถานประกอบการ ปัจจุบัน เน้นการรับแรงงานเข้าสู่ระบบในสายการผลิต โดยจะเน้นรับตำแหน่งงานที่มาจากสายสายวิชาชีพ มากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาทั่วไป เนื่องจากทิศทางการผลิตในอนาคตอันใกล้ จะต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทั้งในด้านประสิทธิภาพ การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ที่มีการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย (New s curve )จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งของประเทศ ”นายวิบูลย์กล่าวว่า
 
อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพการเติบโตของอมตะทั้ง 2 แห่ง มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 42,000 ไร่ มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1,170 โรงงาน เชื่อมั่นว่าจะเป็นศูนย์กลางแหล่งงานขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของประเทศไทย สามารถรองรับแรงงานได้เป็นจำนวนมากกว่า 10,000 อัตราต่อปี ปัจจุบันมีแรงงานหนุนเวียนอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะแล้วกว่า 210,000 คน
 
 
แรงงานเมียนมา 137 คน ประท้วงหลังไม่ได้ค่าจ้าง
 
แรงงานพม่าจำนวน 137 คน ของโรงงานเส้นหมี่ จ.ราชบุรี กว่า 100 คนรวมตัวประท้วงขอลาออกหลังไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่ช่วงวันที่16-30มิถุนายน จากเดิมมีกำหนดจะจ่ายให้ในวันที่13 ก.ค. และค่าจ้างช่วงวันที่ 1-15ก.ค. จะมีกำหนดจ่ายในวันที่ 29 ก.ค. จึงกลัวว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างทั้ง 2 งวด จากนั้นนายออง ซู ตัน ทูตแรงงานพม่า ได้ร่วมพูดคุยและร่วมลงชื่อในบันทึกข้อตกลงระหว่างโรงงานกับแรงงานพม่าทั้งหมดจึงยุติการประท้วง
 
 
หนุนออกกฎหมายใหม่ปลดล็อกการเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ กยศ. ให้นายจ้างเอกชนและรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่หักเงินเดือน พร้อมนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรโอนให้กองทุนหวังแก้ปัญหาหนี้ค้างจ่าย
 
ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กองทุนกรอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ที่ผ่านมากองทุนมีความพยายามที่จะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการจึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควรได้ ทำให้กองทุนต้องพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลในแต่ละปีเป็นจำนวนมากในการจัดสรรให้กู้ยืม เป็นผลให้กองทุนต้องยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้กู้ยืม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งด้านการให้กู้ยืมและติดตามหนี้
 
ทั้งนี้ จากการที่พ.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนในการผลักดันกองทุนให้มีกฎหมายใหม่ โดยได้มอบแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากองทุนทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ให้มีการกู้และการนำส่งคืนเงินอย่างรัดกุมเหมาะสม รวมทั้งไม่ให้เกิดปัญหาซับซ้อนในการกู้ยืม และให้บรรจุกฎหมายใหม่ของกองทุนเป็นกฎหมายเร่งด่วนตามบัญชีร่างกฎหมายเร่งด่วนชุดที่ 2
 
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ(เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559)โดยกฎหมายใหม่ได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนและค่าจางนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระคืนกองทุน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืม เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ยืมที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระหรือต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี กรณีที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560
 
ต่อประเด็นดังกล่าวนายปรเมศวร์สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้กยศ. อธิบายเพิ่มเติมกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่สรุปชื่อเป็นทางการ คาดว่าจะผ่านกระบวนการพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมการกฤษฎีกาประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งหากการยกร่างกฎหมายใหม่ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ในป 2560 นั้น จะมีผลในทางปฏิบัติ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.กระ บวนการให้กู้ยืมในวันข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 4 ประเภทจากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ประเภทคือ กยศ.ปล่อยกู้สำหรับนักเรียน/นักศึกษาผู้มีรายได้น้อยหรือขาดแคลนทุนทรัพย์กรอ.เป็นเงินกู้ยืมเพื่อส่งเสริมในสาขาวิชาการที่ตลาดแรงงานต้องการ โดยไม่เน้นว่าต้องเป็นนักศึกษาขาดแคลนหรือยากจนก็ตาม ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นคือ ทุนเรียนดี และสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นต้องให้การส่งเสริม เช่น การพัฒนาประเทศหรือสาขาที่ไม่มีคนสมัครเรียน 2. กยศ.สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้โดยไม่ว่าข้อมูลจะอยู่หน่วยงานใด ซึ่งเป็นการปลดล็อกข้อห้ามทางกฎหมายเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการหักเงินเดือนโดยกฎหมายบังคับนายจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่หักเงินเดือนพร้อมส่งภาษีให้กรมสรรพากรโดยกรมสรรพากรจะโอนหนี้ให้กยศ.ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ค้างในอนาคต
 
ต่อข้อถามถึงคุณภาพลูกหนี้นั้น ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้กล่าวว่า ภาพรวมวงเงินกู้ยืมเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 4.6ล้านราย วงเงินประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระ 3 ล้านราย ปิดบัญชีแล้ว 4 แสนราย วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คงเหลือกว่า2 ล้านราย และมีเงินต้นตามสัญญาประมาณ1 แสนล้านบาท ทั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษา ประมาณ 1 ล้านรายคิดเป็นวงเงินกู้ประมาณ 1 แสนล้านบาท(ยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้)
 
นอกจากนี้ คงมีวงเงินค้างชำระอยู่ จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น50% ของยอดเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ 1แสนล้านบาท ซึ่งเงินกู้ค้างชำระ 50%ที่ครบกำหนดแต่ยังไม่จ่ายแบ่งเป็น 1. กลุ่มทั่วไปมียอดหนี้ค้างชำระ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค้างชำระน้อยเพียง22% จากยอดหนี้ที่ครบกำหนด จากจำนวน 2ล้านราย 2. กลุ่มไกล่เกลี่ยจำนวน1 แสนรายยอดหนี้ค้างชำระ 7,000 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่สามารถชำระหรือค้างชำระ78% เตรียมดำเนินคดีในระยะถัดไป และกลุ่ม 3. เป็นลูกหนี้ถูกดำเนินคดีแล้วกว่า6 แสนราย มีหนี้ค้างชำระ 3.6 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 90% โดยกลุ่มนี้ต้องดำเนินการบังคับคดี ตามรุ่นปีที่ฟ้องร้อง เช่น ปี 2559 จะบังคับคดีกับลูกหนี้ที่กยศ.ฟ้องในปี 2550 และในปี2560 กยศ.จะบังคับคดีลูกหนี้ที่ถูกฟ้องในปี 2551 ซึ่งในกระบวนการบังคับคดีนั้นเป็นหน้าที่กยศ.ต้องทยอยดำเนินการ เพราะหากไม่ดำเนินการเจ้าพนักงานจะมีความผิดทางกฎหมายเช่นกัน
 
“ทุกวันนี้ กยศ.เปิดทุกช่องทางให้ผู้กู้ชำระคืนหนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักและรับผิดชอบต่อการนำเงินกู้คืนกองทุนเพื่อจะนำส่งต่อรุ่นต่อไปที่สำคัญเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วลูกหนี้ถ้ามีทรัพย์สินไม่ควรผ่องถ่ายโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นพยายามทำไม่ให้มีทรัพย์ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวมีความผิดทางอาญาและนิติกรรมที่ลูกหนี้ดำเนินการโอนไปนั้นสามารถขอคำสั่งศาลให้เพิกถอนได้ ซึ่งนอกจากมีความผิดหนีหนี้แล้วยังเข้าข่ายผิดทางอาญาด้วย”
 
ขณะเดียวกันกยศ.ได้เพิ่มช่องทางให้ลูกหนี้ทยอยคืนหนี้เงินกู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดโครงการกยศ.-กรอ.เพื่อชาติและโครงการปิดชำระภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% นอกจากนี้ที่ผ่านมากยศ.ได้ว่าจ้างบริษัทภายนอกให้ติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งผลดำเนินงาน 3 ครั้งสามารถทวงหนี้ได้ 5,500 ล้านบาทโดยจ่ายค่าติดตามทวงถามในอัตรา7% ซึ่งโดยรวมกยศ.จ่ายค่าติดตามทวงถามหนี้ประมาณ 200 ล้านบาทสามารถลดการดำเนินคดีลูกหนี้กว่า1 แสนราย ลดค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี 700 ล้านบาท และมีเงินกลับสู่ระบบด้วย อนึ่งสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดเมื่อ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2559) มียอดการชำระหนี้กยศ.เพิ่มขึ้นจากปีก่อน39% และกรอ.เพิ่มขึ้น 27%
 
 
กระทรวงแรงงาน เตรียมเปิดศูนย์หางานให้ผู้สูงอายุส.ค.นี้ พร้อมใช้มาตรการหักลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าจูงใจผู้ประกอบการ
 
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2559 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการจัดทำแผนส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุว่า จะมีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานให้แก่ผู้สูงอายุ ขึ้นภายในศูนย์บริการจัดหางาน ช่วงต้นเดือนส.ค.นี้ ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะรวบรวมข้อมูลการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุตามความเชี่ยวชาญ รูปแบบการทำงาน และจะสำรวจการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อเป็นตัวกลางให้ผู้สูงอายุที่มาขึ้นทะเบียนไว้เป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการมาติดต่อเพื่อจ้างงาน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายทยอยติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงฯ จะนำมาตรการของกระทรวงการคลังมาสนับสนุนในการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีโปรแกรมส่งเสริมจ้างงานผู้สูงอายุในสถานประกอบการ ซึ่งจะกำหนดในเรื่องค่าจ้างหรือสภาพการจ้างใหม่ และมีวิธีจูงใจสถานประกอบการให้เข้าร่วมโครงการด้วยมาตรการด้านภาษี ซึ่งสถานประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าในการจ้างงานผู้สูงอายุซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เร็ว ๆ นี้
 
นอกจากนี้กระทรวงจะมีการปรับปรุงกฎหมาย เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคมเพื่อให้เอื้อต่อการจ้างงานหลังอายุ 55 ปี รวมถึงปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เนื่องจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าปี 2559 มีผู้มารับบำนาญชราภาพ 63,000 คน ซึ่งได้รับเงินสูงสุด 3,425 บาทต่อเดือน และต่ำสุดได้รับ 720 บาทต่อเดือน แต่โดยหลักการสากลผู้สูงอายุจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40% ของเงินเดือน ขณะที่อัตราที่ สปส.จ่ายสูงสุดยังต่ำกว่าเกณฑ์สากลพอสมควร
 
ม.ล.ปุณฑริก เปิดเผยอีกว่า สำหรับข้อมูลปี 2557 ผู้สูงอายุของประเทศไทยมีกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 14.9% ของประชากรทั้งหมด และปี 2578 ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะต้องเตรียมรับมือ คือ อาชีพและรายได้โดยผู้สูงอายุ 1 ใน 3 จะมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่วัยแรงงานก็มีจำนวนลดน้อยลง ซึ่งกระทรวงจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุในระยะที่ 1 พ.ศ.2559 – 2564 โดยจะกระจายงานจากภาคเอกชนไปสู่ชุมชนให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ส่งเสริมอาชีพในชุมชน เป็นต้น
 
 
โดล ไทยแลนด์ ปิดโรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ชุมพร คนงานกว่าพันเคว้ง
 
เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ ( 25 ก.ค.) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร นายสุชาติ พรหมมิตร นายสมโชค สักคานา หัวหน้าช่าง ประจำแผนก บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม หมู่ 10 ตำบล ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแปรรูปผลไม้กระป๋องส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ พร้อมด้วยกลุ่มพนักงาน คนงาน ลูกจ้าง กว่า 200 คน เข้าขอความช่วยเหลือต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง เนื่องจากช่วงเช้าที่ผ่านมาพนักงานและคนงานของบริษัท ได้เดินทางไปทำงานที่โรงงานดังกล่าว แต่ต้องตกใจเมื่อพบว่าประตูโรงงานปิดล๊อกอย่างดี โดยมีตำรวจ ทหาร และ อ.ส.และ รปภ. ยืนคุมรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณหน้าประตูและห้ามบุคคลภายนอกเข้าอย่างเด็ดขาด
 
นายสุชาติ พรหมมิตร หัวหน้าช่าง ประจำแผนก เปิดเผยว่า ตนได้พยายามสอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทก็ทราบว่า บริษัทได้สั่งปิดโรงงานลงอย่างถาวรในวันนี้ ด้วยอ้างว่าจะย้ายฐานการผลิตไปรวมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระยอง และบอกว่าหากพนักงาน คนงาน รายใดต้องการจะทราบรายละเอียดต่างๆให้เดินทางมายังโรงแรมแห่งหนึ่งกลางใจเมืองชุมพร เพื่อจะได้รู้ถึงข้อมูลต่างๆซึ่งพวกตนก็ได้เดินทางไปตามที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ แต่ก็ถูกผู้บริหารจัดแยกให้เข้าประชุมเป็นแผนกเป็นกลุ่มไม่ให้รวมกัน
 
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ได้มีพนักงานบางส่วนที่เข้าไปแล้วออกมาบอกต่อกันว่าทางบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ที่ จ.ชุมพร ได้ปิดตัวลงจริงและจะย้ายฐานการผลิตไปรวมกันที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และ จ.ระยอง แต่พนักงานและคนงานบริษัทยังคงจ้างอยู่เช่นเดิม แต่ต้องเลือกว่าจะไปทำที่จังหวัดไหน หรือจะยื่นใบลาออกตามความสมัครใจ ทำให้ทุกคนไม่พอใจเพราะว่าการจะปิดหรือย้ายโรงงานจะต้องแจ้งกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่นึกจะปิดก็ปิดเลย ซ้ำยังให้เลือกข้อใดข้อหนึ่งอีก จึงได้เดินทางมาเพื่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างทีเป็นคนไทยกว่า 1,300 คน และแรงงานต่างด้าวกว่า 200 คน รู้สึกเคว้งขว้างตกงาน
 
ด้านนางกุลรัฐ วิวัฒนานนท์ รักษาราชการแทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร ได้ลงมาพบพนักงานและคนงานดังกล่าวและเปิดเผยว่า นายสมดี คชายั่งยืน ผวจ.ชุมพร ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือด้านสวัสดิการตามกฎหมาย และจะเชิญทางบริษัทมาชี้แจงถึงสาเหตุในการปิดโรงงานพร้อมกับจะหาตำแหน่งงานรองรับตามความสมัครใจต่อไป
 
ขณะที่ น.ส.ฉัตรปวีณ์ จิระวัฒนผลิต ผอ.ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.ชุมพร ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ฐานของการผลิต เนื่องจากปัญหาด้านผลผลิตในพื้นที่มีน้อย ต้องซื้อจากจังหวัดอื่นทำให้ต้นทุนสูง ประกอบกับเราเป็นบริษัทผลิตแปรรูปผลไม้ส่งออกไปต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องขนส่งสินค้าที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง จึงต้องย้ายฐานการผลิตไปรวมกับที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระยอง ส่วนแรงงานทั้งหมดเราจะปฏิบัติดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยทำความเข้าใจกันเองเป็นการภายในกับพนักงานและลูกจ้างอยู่เท่านั้น
 
 
จนท.จัดหางานเชียงใหม่นำทหาร-ตำรวจกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิด กม.ตลาดสดใหญ่ รวบได้กว่า 10 ราย
 
(26 ก.ค. 59) เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และทหาร ร่วมกันตรวจสอบและกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะสถานประกอบการและร้านค้าในตลาดเมืองใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายสำคัญในตัวเมืองเชียงใหม่ เบื้องต้นสามารถควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวชาวพม่า และผู้ประกอบการที่มีการว่าจ้างแรงงานผิดประเภท เพื่อควบคุมตัวไปตรวจสอบและดำเนินคดีได้มากกว่า 10 ราย
 
ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายของกรมการจัดหางาน ที่ให้มีการ ตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ลักลอบทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการ นำคนต่างด้าวเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการของรัฐ โดยนำคนต่างด้าวไปรายงานตัว และขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service หรือ OSS) ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.ค. 59 นี้
 
ขณะที่วานนี้เจ้าหน้าที่โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ชุดปฏิบัติการตรวจสอบและคุ้มครองคนหางานกรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ และเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ได้ร่วมกันตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งหมดรวม 18 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง จำนวน 3 คน แรงงานต่างด้าวทำงานผิดเงื่อนไขนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต จำนวน 14 คน และเป็นแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 1 คน นำส่งสถานีตำรวจภูธรแม่ริมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 
สำหรับกรณีแรงงานเด็กต่างด้าวที่อายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น ภายหลังทราบชื่อว่า ด.ช. กวางเชียง สัญชาติพม่า ซึ่งจากการสอบถามของพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นเด็กให้การว่า เกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 อายุ 11 ขวบ โดยได้ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานแต่ตัวเด็กไม่ได้มีการทำงาน จากการสอบสวนแล้วไม่มีพยานหลักฐานในการทำงาน จึงได้แจ้งข้อหาเด็กเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
 
กระทรวงแรงงาน ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด ขณะที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพร รุดดูแล
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ปิดโรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกที่จังหวัดชุมพรนั้น ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชุมพร ได้เข้าไปดำเนินการดูแลช่วยเหลือคนงาน ซึ่งวันนี้มีการนัดหารือกันเพื่อตกลงในรายละเอียดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และจากการตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างประมาณ 1,000 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างตามฤดูกาล จะสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนกรกฎาคมนี้ บริษัท ฯ พร้อมจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 2 เดือน และเงินชดเชยตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ส่วนลูกจ้างต่างด้าวจำนวน 254 คน จะดำเนินการย้ายไปทำงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามความสมัครใจ สำหรับลูกจ้างส่วนหนึ่งที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ให้พิจารณาตามความสมัครใจเพื่อไปทำงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระยองต่อไป
 
นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชุมพร ได้ไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานตามสิทธิผู้ประกันตนแล้ว ขณะที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพร ได้ประสานกับจังหวัดในพื้นที่มารับสมัครงานจำนวนกว่า 1,000 อัตราแล้ว ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.59) ซึ่งทั้งหมดเป็นตำแหน่งงานว่างในบริษัท ฯ ผลิตอาหารทะเลจำนวน 300 อัตราส่วนศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชุมพร จะดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คนงานตามความต้องการของบริษัทที่จะรับเข้าทำงานใหม่ โดย บริษัทโดล ฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัท โดล ฯ ยืนยันว่าจะจัดทำรายละเอียดการดำเนินการให้แก่ลูกจ้างเป็นรายคน ส่งให้ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้
 
 
พนักงาน และแรงงานกว่าพันยอมรับเงื่อนไขผู้บริหารหลัง บริษัท โดล ไทยแลนด์ ผู้ผลิตผลไม้กระป๋องส่งออกรายใหญ่ ปิดโรงงานที่ชุมพร ย้ายฐานการผลิตไปรวมกันที่ จ.ระยอง และ จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
หลังจากที่เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) ได้เกิดปัญหาพนักงาน และคนงานของบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าแซะ จ.ชุมพร มานานถึง 24 ปี เป็นบริษัทผู้ผลิตแปรรูปผลไม้กระป๋องเพื่อการส่วนออกยังประเทศอเมริกา และยุโรป ได้ประกาศปิดโรงงานลงอย่างฉับพลันทันด่วน ทำให้พนักงาน และคนงานของบริษัทกว่า 1,255 คน ต้องอยู่ในอกสั่นขวัญหายไปตามๆ กัน เพราะต้องตกงาน และไม่ทราบชะตากรรมว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทมากน้อยเพียงไร จึงได้ไปรวมตัวกันเพื่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร
 
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (26 ก.ค.) น.ส.สุทัศนี โรจนสุนทร ที่ปรึกษาการสื่อสาร น.ส.ฉัตรปวีณ์ จิระวัฒนผลิต ผอ.ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และคณะผู้บริหาร บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ได้ใช้ห้องประชุมโรงแรมนานาบุรี ตำบลท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นสถานที่ประชุมชี้แจงต่อพนักงาน และคนงานทั้งหมดประมาณ 1,255 คน ซึ่งรวมไปถึงแรงงานต่างด้าว ถึงการปิดโรงงานที่ชุมพร เพื่อนย้ายฐานการผลิตไปรวมกับโรงงานที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และที่ จ.ระยอง เนื่องจากปัญหาเรื่องผลผลิตในพื้นที่มีน้อย และการขนส่งที่ไกล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ของบริษัทเพื่อรับเรื่อง ให้คำแนะนำ และเสนอเงื่อนไขให้แก่ผู้ที่ต้องการจะทำงานต่อในโรงงานที่จะย้ายไปรวมใน 2 จังหวัดดังกล่าว โดยแบ่งแยกจัดประชุมเป็นกลุ่มๆ ตามสายงาน พร้อมจัดให้มีล่ามมาแปลภาษาให้แก่แรงงานชาวพม่าด้วย โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลา และนำอัตราตำแหน่งงานที่ต้องการของบริษัท ห้างร้านต่างๆ ในพื้นที่ไปติดประกาศไว้รองรับต่อแรงงานที่ต้องการหางานใหม่ทำด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงบ่าย พนักงาน และคนงานต่างทยอยเดินทางมารับฟังสาเหตุจากบริษัทในการปิดโรงงานเพื่อย้ายฐานการผลิตดังกล่าว ซึ่งทางฝ่ายบริหารของบริษัทได้เสนอเงื่อนไขให้แรงงาน พนักงานทั้งหมดสามารถเลือกที่จะไปทำงานต่อได้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระยอง ตามความสมัครใจ ซึ่งปรากฏว่า พนักงาน และคนงานส่วนหนึ่งตกลงพร้อมที่จะย้ายไปทำงานต่อยังต่างจังหวัด แต่แรงงานส่วนใหญ่ซึ่งเป็นระดับล่างไม่สามารถไปทำงานไกลยังต่างจังหวัดได้ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว และภาระอื่นๆ โดยทางบริษัทได้เสนอให้เงื่อนไขแก่พนักงาน และคนงานที่มีเงินเดือนต่ำก็ให้เป็นผู้ถูกเลิกจ้าง เพราะจะได้เงินสวัสดิการช่วยเหลือจากประกันสังคมเป็นผู้ว่างงาน 50% แต่หากเป็นผู้ที่มีเงินเดือนที่สูงแนะนำให้ใช้วิธีลาออก แม้จะได้เงินสวัสดิการช่วยเหลือจากประกันสังคมเป็นผู้ว่างงานเพียง 30% แต่เมื่อรวมกับสวัสดิการอื่นๆ แล้วจะเป็นเงินที่มากกว่าผู้ถูกเลิกจ้าง นอกจากนั้น ทางบริษัทยังมีเงินช่วยเหลือนอกเหนือจากกฎหมายบังคับอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งก็สร้างความพอใจให้แก่พนักงาน และคนงานทุกคน และได้แยกย้ายกันกลับในที่สุด
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท