ยังปราบโกงไม่พอ อภิสิทธิ์ลั่นไม่รับร่างรธน. หากไม่ผ่านหนุนประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะร่างใหม่

แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ยังปราบโกงไม่พอ ระบุหากรธน.ผ่าน คนได้ประโยชน์คือจำเลยคดีจำนำข้าว ยันโหวตทางใดไม่เกี่ยวกับเชียร์หรือไม่เชียร์ฝ่ายใด พร้อมลั่นไม่ยอมให้ใครเอาเงื่อนไขไม่ผ่านมาสร้างความวุ่นวาย หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำร่างใหม่เอง โดยไม่ต้องเปลี่ยนจุดยืนที่จะปฏิรูปประเทศ 

27 ก.ค. 2559 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติว่าจะไม่รับร่างดังกล่าว พร้อมเสนอว่าหากไม่ผ่านประชามติเป็นโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้เคยแถลงข่าวก่อนหน้านี้ไปแล้วครั้งหนึ่งต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่รับกับคำถามพ่วงและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่ได้ตอบว่าจะรับหรือไม่รับ เพราะต้องรอทางเลือกที่ชัดเจนว่าในกรณีที่ไม่รับแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ และต้องการให้มีบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่นำไปสู่ปัญหาความวุ่นวายขัดแย้ง การแถลงของตนในวันนี้ไม่สามารถเป็นมติพรรคได้ เนื่องจากไม่สามารถมีการประชุมพรรคได้ การที่จะเป็นมติพรรคนั้นต้องผ่านการประชุมและเห็นชอบของสมาชิก แต่ตนไม่ได้มองว่าสิ่งที่จะแถลงเป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนตัว หากแต่เป็นจุดยืนที่แสดงในฐานะหัวหน้าพรรคบนพื้นฐานของอุดมการณ์พรรคตั้งแต่ก่อตั้งมา จึงถือเป็นการสานต่ออุดมการณ์ของพรรค 
 
 
อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนให้ความสนใจรัฐธรรมนูญมากกว่าวันที่ 7 ส.ค.ที่จะมาถึง เพราะว่าสิ่งสำคัญที่ต้องการที่สุดไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นอย่างไร ทุกคนต้องการให้ประเทศของเราเดินไปข้างหน้า ก้าวให้พ้นสภาพปัญหาที่เป็นอยู่จากวิกฤติทางการเมือง ปัญหาความขัดแย้ง ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปตามศักยภาพได้ ดังนั้นจุดยืนในวันนี้ก็เพื่อแสวงหาคำตอบของอนาคตประเทศไทยด้วย

3 เงื่อนไขการพิจารณา

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ อภิสิทธิ์ระบุว่า พิจารณาจากสภาพปัญหาที่ต้องแก้ไขมี 3 ประเด็นหลัก คือ

หนึ่ง คือ เราจะกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศอย่างไร รัฐธรรมนูญหรือกติกาของบ้านเมืองจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไปทางไหน และเป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องทำให้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศโดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาส ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงและยากจน

สอง คือ ที่บ้านเมืองเข้ามาสู่สภาพวิกฤตินี้ ปัจจัยที่เป็นสาเหตุหนึ่งก็คือการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อประเทศ เราจึงต้องตอบโจทย์ว่าจะหลุดพ้นจากปัญหานี้อย่างไร

สาม คือ คนไทยคงไม่ต้องการเห็นวัฏจักรของความขัดแย้งทางการเมืองอีกแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของการรัฐประหาร การชุมนุมประท้วง การใช้ความรุนแรง การสร้างความเกลียดชังที่เกิดขึ้น

นี่คือโจย์ 3 ข้อในการใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาว่าจะกำหนดท่าทีต่อรัฐธรรมนูญและอนาคตของประเทศต่อไปอย่างไร

 
อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญและคสช.มีความตั้งใจในการแก้ปัญหา 3 ข้อข้างต้นเช่นกัน แต่รัฐธรรมนูญนี้ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เพียงพอหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งให้หลักประกันกับประชาชนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม การได้รับความช่วยเหลือด้านกฏหมาย หรือสวัสดิการต่างๆ ก็ไม่สามารถเขียนให้เกิดความก้าวหน้าอย่างชัดเจนเหมือนฉบับปี 2550 และวิธีเขียนในฉบับร่างลงประชามตินี้เป็นวิธีเขียนที่เปิดโอกาสให้กับรัฐบาลในอนาคตสามารถออกกฏหมายมาตีกรอบขอบเขตของสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมหรือสวัสดิการเหล่านี้ได้

นอกจากนั้นบทบาทในการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมแสดงออกทั้งการเลือกตั้งหรือกระบวนการอื่นๆ ที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศก็ถูกจำกัดลงโดยบทบัญญัติที่มีการขยายบทบาทของภาคราชการทำให้ตนมองว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและให้รัฐบาลหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้มีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงต่อสถานการโลกเป็นไปได้ยาก จึงมองว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ให้ทิศทางการพัฒนาประเทศหรือตอบโจทย์การพัฒนาต่างๆ ได้ 

 
สำหรับเรื่องความขัดแย้งในสังคมต้องแก้ด้วยกระบวนการหลัก 2 ประการ คือ หนึ่ง กระบวนการทางการเมืองซึ่งเป็นประชาธิปไตย สอง กระบวนการยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งและเสียงข้างมาก แต่ต้องมีการกำหนดบทบาทขององค์กรต่างๆ ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม หลักง่ายๆ คือประชาชนจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นคนมาบริหารประเทศ แต่คนที่จะมาบริหารประเทศต้องไม่ไปบริหารประเทศตามใจชอบ ลุแก่อำนาจ ต้องถูกควบคุมโดยกลไกที่เหมาะสมโดยไม่ฝืนกับเจตนารมณ์ของประชาชน
 
"ปัญหาที่สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือว่า วางน้ำหนักการตรวจสอบถ่วงดุล หรือหวังที่จะใช้กลไกที่มาแก้ไขความขัดแย้งจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการเลือกกันเองในบทถาวร และจากการคัดเลือกและแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การเลือกกันเองคงไม่สามารถที่จะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำหรอกว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ผมมองว่าการใช้กลไกนี้นอกจากจะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง กลับจะยิ่งเป็นการสร้างคู่ขัดแย้งใหม่ขึ้นในตัว 250 คนนี้ ผมจะไม่ลงไปในรายละเอียด แต่ว่าท่านนึกภาพแล้วกันว่า ไม่ว่า 250 คนนี้จะไปสนับสนุนคนที่เสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยในสภาผู้ทนราษฏรที่มาจากการเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่จะเป็นปมให้เกิดความขัดแย้งใหม่ๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญก็คือว่า กติกาที่ถูกวางมาในครั้งนี้ยังเป็นกติกาที่แก้ยากมาก ไม่ใช่เฉพาะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกพรรคการเมือง แต่ต้องได้เสียง 1 ใน 3 หรือสัดส่วนที่สูงพอสมควรจากคนที่มาจากการคัดเลือกหรือแต่งตั้งหรือสรรหาตรงนี้ มันจึงเป็นตัวที่ทำให้บีบรัดและตีกรอบให้ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่สามารถแก้ไขได้" อภิสิทธิ์กล่าว 
 
"ที่สำคัญคือ กระบวนการประชามติที่ทำอยู่ขณะนี้เองก็เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะผิดปกติ ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางซึ่งเราเคยปฏิบัติกันมาจนทำให้เกิดความตึงเครียด เห็นว่ามีการจับกุม มีการใช้วิธีที่มันไม่ปกติจากหลายๆ ฝ่าย และจะนำมาสู่ข้อโต้แย้งไม่จบไม่สิ้นว่าฝ่ายที่มีความเห็นที่หลากหลายต่างๆ ได้รับความเป็นธรรมและได้รับพื้นที่ในการแสดงออกหรือไม่ จึงทำให้ความชอบธรรมที่พึงจะเกิดจากการทำประชามติครั้งนี้นี่มันไม่เกิดขึ้นอย่างที่หลายคนโดยเฉพาะผมที่เสนอให้มีการจัดทำประชามติที่คาดหวังไว้ เมื่อเป็นช่นนี้แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแก้ไขความขัดแย้ง กลับกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งต่อไปในอนาคตและอาจจะไม่ต่างจากเงื่อนไขความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในอดีตที่ห่างไกลกว่านั้นที่ประเทศไทยเคยผ่านมาแล้วด้วย" อภิสิทธิ์ กล่าว 

ทำกลไกปราบโกงอ่อนแอ

"เรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จุดนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผมก็สนับสนุนบทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวกับการเพิ่มโทษ การเข้มงวดกวดขันในเรื่องของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ามาสู่การเมือง แต่เราต้องมองการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้ครบวงจร เราจะเพิ่มโทษอย่างไรก็แล้วแต่ การจับการทุจริตต้องเริ่มต้นจากบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่เปิด คือ เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเข้าถึงข้อมูล สามารถแสดงออก ตรวจสอบถ่วงดุลกันได้เต็มที่ มิฉะนั้นเราจะไม่รู้ตั้งแต่ต้นว่ามีใครไปทุจริตไปโกงอยู่ที่ไหนอย่างไร แต่ที่สำคัญก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่จะจัดการกับปัญหานักการเมืองโกง ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการไปจากเดิม เดิมคือมีกระบวนการของการถอดถอน บวกกับการดำเนินคดีอาญา ในฉบับร่างนี้ได้ยกเลิกกระบวนการถอดถอนไปแล้ว และพึ่งกลไกหลักอยู่ 2 กลไก คือ ป.ป.ช. กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึ่งทั้ง 2 กลไกนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ปัญหาที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับทำให้ 2 องค์กรนี้อ่อนแอลงในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน" อภิสิทธิ์ กล่าว 
 
อภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีของ ป.ป.ช. คนที่มาทำหน้าที่นี้ต้องมีความเป็นอิสระและเที่ยงตรง ในอดีตเราเคยมี ป.ป.ช.ที่ไม่เที่ยงตรงหรือทำผิดกฏหมายเสียเอง แต่ปี 40 หรือ 50 นั้น ช่องทางในการตรวจสอบ ป.ป.ช. ทำได้ไม่ยาก พรรคประชาธิปัตย์เคยเริ่มกระบวนการฟ้องร้อง ป.ป.ช. มาแล้ว แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใครจะตรวจสอบ ป.ป.ช. ต้องยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งโดยโดยปกติก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล แล้วประธานสภาผู้แทนฯ จะมีดุลยพินิจสิทธิขาดที่จะส่งเรื่องนั้นต่อไปที่ศาลเพื่อดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ ซึ่งกระทบต่อความเป็นอิสระและความเข้มแข็งของกระบวนการตรวจสอบอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปิดช่องทางให้กับผู้ที่มีอำนาจในฝ่ายรัฐบาลกับ ป.ป.ช. อยู่ในสภาวะที่ต่อรองกัน และฝ่ายที่จะตรวจสอบก็ไม่มีช่องทางอื่นที่จะทำอะไรได้ ส่วนกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการตรงนี้ เดิมถ้าศาลนี้พิพากษาว่าใครผิดใครโกง ผู้ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานใหม่เท่านั้น และถ้าจะอุทธรณ์คนที่จะมีวินิจฉัยอุทธรณ์คือที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา เพราะฉะนั้นนักการเมืองจะกลัวศาลนี้เป็นพิเศษ และก็มีแต่นักการเมืองที่ขึ้นศาลนี้เท่านั้นที่ไม่พอใจกับบทบัญญัติในศาลนี้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับทำให้การอุทธรณ์ง่ายขึ้นคือยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เอาไว้ และเมื่ออุทธรณ์ไปแล้วการวินิจฉัยจะดำเนินการโดยองค์คณะใหม่ไม่ใช่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา 
 

ชี้ร่างรธน.ผ่านจำเลยจำนำข้าวได้ประโยชน์

"คาดว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คนกลุ่มแรกที่อาจจะได้ประโยชน์จากบทบัญญัติใหม่นี้ คือจำเลยในคดีจำนำข้าว เพราะว่ารัฐธรรมนูญก็คงจะผ่าน ถ้าผ่านก็คือประชามติในเดือนสิงหาคม ถ้าคำถามพ่วงเกิดผ่านด้วย มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไรเสียก็ประกาศใช้ได้น่าจะตุลา-พฤศจิกา แต่คำตัดสินของคดีนี้ก็อาจจะออกมาหลังจากนั้น ผิดเพียงสักเดือนสองเดือน ถ้าตัดสินว่าผิดก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลย" อภิสิทธิ์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่ากระบวนการถอดถอนที่จากเดิมนักการเมืองที่เคยถูกถอดถอนนั้นถูกตัดสิทธิห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยกเลิกข้อห้ามนั้นไปแล้วก็จะถูกตัดสิทธิเป็นระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนสิทธิก็น่าจะประมาณ 5 ปี 

ชี้ไม่รับไม่ได้เท่ากับไม่ชอบใคร ถ้าไม่ผ่านหนุนประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะร่าง 

"ผมสนับสนุนการปราบโกง แต่ผมว่าบทบัญญัติที่ผมยกตัวอย่างมา เฉพาะในส่วน 2 ข้อนี้ มันกำลังทำให้กระบวนการปราบโกงอ่อนแอลง มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่มีการพูดกัน หรือมีความพยายามที่จะทำกันให้การปราบโกงให้มันมีความเข้มข้นขึ้น ..ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผมขอย้ำนะครับนี่คือเกณฑ์ที่ผมใช้ในการพิจารณา ไม่มีประเด็นใดเลยที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องระบบการเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมือง เรื่องอะไรทั้งสิ้น แต่ผมไม่รับเพราะผมเห็นว่าร่างนี้มันไม่ตอบโจทย์ประเทศ มันไม่สามารถเป็นกติกาถาวรที่เอื้อให้ประเทศไทยก้าวพ้นสภาพปัญหาเดิมๆ ได้ นั่นคือเหตุผลที่ผมไม่รับ" 
 
"ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประเทศมีโอกาส ขอยืนยันเลยว่า การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของผมอยู่บนเนื้อหาสาระและที่ผมชักชวนให้ทุกคนพิจารณาจากเนื้อหาสาระ การลงมติรับหรือไม่จึงไม่ใช่เป็นเรื่องชอบหรือไม่ชอบ เชียร์หรือไม่เชียร์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทางการเมือง และผมจะไม่ยอมให้ใครเอาเงื่อนไขว่าถ้ากรณีรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้ว จะมาสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง ตรงกันข้าม ผมมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตามโรดแมปที่ได้กำหนดไว้ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง" อภิสิทธิ์กล่าว
 
กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านนั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า จะเป็นโอกาสดีที่จะสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามโรดแมปที่ประกาศเอาไว้ และให้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับนี้กับประชาชน โดยตนมั่นใจว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรีต้องตระหนักถึงสาเหตุที่มา ที่ไปที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และคงไม่ร่างคนเดียว แต่จะทบทวนข้อดี ข้อเสีย โดยไม่ต้องเปลี่ยนจุดยืนที่จะปฏิรูปประเทศ ซึ่งเสนอว่าน่าจะเริ่มต้นร่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะเป็นฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนมาแล้ว การแถลงจุดยืนในครั้งนี้ ไม่มีความประสงค์ให้เกิดความขัดแย้งกับใคร  และจะไม่มีวันสบคบกับกลุ่มนักการเมืองที่เคยโกงชาติ หรือคิดที่จะโกงชาติต่อไปในอนาคต
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท