ข้อสังเกตการฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ จากการซ้อมทรมาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวันนี้ ( 26 กรกฎาคม 2559 ) เกิดปรากฎการณ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องให้ความสนใจและติดตามการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐเป็นพิเศษด้วยกัน 2 กรณี คือ การเข้ารายงานตัวของนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชายหอมลออ และนางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานีเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยกอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าเป็นแจ้งความร้องทุกข์ และการเข้าควบคุมตัวนางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.มักกะสัน 3 นายตามหมายจับที่ 104/2559 ที่ออกโดยศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งขณะนี้ ( 18.00 น.) ยังไม่ทราบว่าใครผู้เป็นผู้กล่าวหาหรือกล่าวโทษ

กรณีทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน จากการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะว่า มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจนเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายและจิตใจโดยทหารเป็นผู้กระทำ

การมีอยู่ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยปัจจุบัน มีขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดที่เกิดความเสียหายขึ้น ทั้งฝ่ายผู้กระทำความผิดและฝ่ายผู้เสียหายบนหลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม ( Fair Trial ) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่ง “รัฐ” เป็นผู้อำนวยการให้มีระบบด้วยสถาบันด้านการยุติธรรมขึ้นนั้น ก็มีเพื่อใช้ค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น ด้วยการพิสูจน์ข้อความจริงที่เกิดขึ้นและก่อผลกระทบต่อสังคมบุคคลและสังคม เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด พร้อมกับเยียวยาผู้เสียหายได้อย่างเหมาะสม ทั้งป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันให้ลดลง

ในระบบกฎหมายไทย หลักการดังที่กล่าวมาข้างต้นปรากฎในหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย สิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นที่กำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลให้รับผิดเมื่อกระทำการฝ่าฝืนหรือละเมิดซึ่งนำความเสียหายมายังบุคคลอื่นและสังคม

ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับทั้งกรณีการเผยแพร่รายงาน“รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชายหอมลออ และนางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะในนามมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และกลุ่มด้วยใจ และการแสดงข้อมูลการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม ทหารที่เสียชีวิตในค่ายนราธิวาสเมื่อปี 2554 ผ่านสื่อมวลชนโดยนางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ผู้เป็นหลานสาวนั้น เป็นการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 และ มาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา ที่มาพร้อมกับความผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากข้อมูลดังกล่่าวปรากฏในระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเวปไซต์และสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์และถูกเผยแพร่ซ้ำ

โดยหลักการของความผิดฐานหมิ่นประมาทที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา ก็เพื่อคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติคุณและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลให้ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลที่ต้องห้ามมิให้บุคคลอื่นละเมิดได้ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ซึ่งถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในการทรมานบุคคลที่ปรากฎในรายงานฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียรฯ ได้อ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นในการดำเนินคดีอาญา

ข้อสังเกตต่อการดำเนินคดีอาญาทั้งสองกรณีในวันนี้ มีด้วยกัน 2 ประการที่ขัดกับหลักการดำเนินคดีอาญาที่ดีและการดำเนินคดีอาญาที่เป็นธรรมที่ระบบกฎหมายไทยประกันเอาไว้ และกระทบต่อเสรีภาพของบุคคล ตลอดจนไม่เป็นการดำเนินคดีอาญาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม กล่าวคือ

1.การใช้บังคับกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 326 และ มาตรา 328 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองมิให้บุคคลถูกละเมิดด้วยการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ ที่อาจจะนำมาสู่ความเสียแก่บุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ แต่ในมุมกลับของการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดทางอาญาและมีอัตราโทษทางอาญาที่ถือว่าสูงที่ดำเนินการโดยทรัพยากรของรัฐผ่านพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลยุติธรรมนั้นได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้บุคคลตกเป็นความจากการแสดงข้อมูลของตนทั้งที่เป็นการแสดง "ข้อความจริง" หรือ พูดความจริงก็ตาม เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับกรณีดังกล่าวจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้บุคคลได้แสดงข้อมูลของตน เพราะต้องพบเจอกับภาระในฐานะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ทำความผิด หรือจำเลย เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อต่อสู้คดีของตน เพราะจำเลยต้องมีทนายความที่มีความสามารถในการพิสูจน์ตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ศาลเห็นได้ว่าการแสดงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่ต้องรับผิด และด้วยสภาพการบังคับใช้กฎหมายที่ตีความนำเอา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาร่วมฟ้องเพื่อเพิ่มโทษให้หนักขึ้น จากการตีความว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 (1) นั้นก็ผิดออกไปจากหลักการของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ด้วย เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะนี้ มุ่งประสงค์บังคับต่อการนำเข้าข้อมูลปลอมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่สร้างความเสียหายต่อบุคคลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การเผยแพร่ข้อความที่ไม่เป็นความจริงเข้าสู่เวปไซต์หรือสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านการใช้ระบบอินเตอร์เน็ต

การที่นำบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองฉบับมาตีความบังคับใช้ซึ่งผิดออกจากเจตนารมณ์และหลักการที่ตรากฎหมายดังกล่่าวมานั้น นำมาสู่การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของรัฐเป็นเครื่องมือในการ "ปราม" บุคคลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง เป็นผลกระทบต่อบุคคลคู่ตรงข้ามที่ตกเป็นจำเลยที่สร้างความเสียหายจากสังคมด้วยการปิดปากบด้วยการดำเนินคดีอาญาที่ทำให้สังคมไม่เข้าถึงข้อความจริงในหลายกรณีที่กระทบต่อเสรีภาพและสวัสดิภาพต่อสังคมโดยรวม

2.ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นความจำเป็นที่ "รัฐ" ต้องทำความจริงให้เปิดเผยต่อสาธารณะด้วยกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล

"ข้อมูล" ที่นำมาสู่การดำเนินคดีกับทั้งสองกรณี คือ ข้อมูลการซ้อมทรมานบุคคลจนเกิดอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกายซึ่งเกิดจากที่บุคคลอยู่ใต้อำนาจการควบคุมตัวหรือผู้ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐผ่านตำแหน่งหน้าที่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ ความตายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและสังคม "รัฐ" ผ่านหน่วยงานทางการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสาธารณะ เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องอำนวยความเป็นธรรมให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และฝ่ายผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว และต้องป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐที่ก่อความเสียหายในลักษณะที่เป็นอาชญากรรมให้เกิดขึ้นอีก

แต่ด้วยเพราะความเป็น "กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการโดยรัฐ" นี้เอง กลับกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมได้เพราะผู้ถูกกล่าวหาคือเจ้าหน้าที่รัฐเองและกลไกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยการตีความบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันไม่นำไปสู่การนำบุคคลที่เกี่ยวข้องความตายดังกล่าวเข้าสู่การพิสูจน์ความจริงโดยศาลต่อสาธารณะได้โดยง่าย และหากเมื่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่ายและดำเนินบนหลักกฎหมายที่มุ่งพิสูจน์ความจริงด้วยการแสดงพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ทั้งสองฝ่าย ย่อมทำให้ข้อกล่าวที่มีว่าความตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐถูกเปิดเผย ในหากเป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้กล่าวหาหรือโจทก์กล่าวความเท็จเสียเองในคดี ด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดีย่อมคืนชื่อเสียงเกียรติคุณของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเอง และลงโทษผู้กล่าวหาหรือโจทก์อย่างเหมาะสมในที่สุด

ข้อสังเกต 2 ข้อต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีขึ้นได้เพราะความตายที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และความตายของพลทหารในอำนาจบังคับบัญชาโดยตรงไม่เคยได้รับการพิสูจน์เพื่อเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของรัฐที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตของบุคคลได้อย่างแท้จริง นำมาสู่การไม่นำไปสู่ความรับผิดชอบใดๆ ของเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในฐานะของผู้รักษาความมั่งคงของรัฐ ผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม และผู้รักษาความเป็นธรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนในรัฐนี้ไม่มีอยู่ เพราะขาดความมั่นคงในทางกฎหมายที่การตีความบังคับใช้ประกันแต่อำนาจรัฐที่สามารถใช้ได้อย่างอำเภอใจ ที่ไม่ได้ไว้เพื่อปกป้องแม้กระทั่งสิทธิพื้นฐานของบุคคลอย่างต่ำที่สุด คือ ชีวิตบุคคลนั่นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท