Skip to main content
sharethis

นิด้าโพลครั้งที่ 10 คนรับร่างเพิ่มขึ้น เป็น 33.07% คนไม่รับร่างก็เพิ่มขึ้นเป็น 6.27% ขณะที่คนไปโหวตแต่ไม่มีมติทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจนลดลงเหลือเพียง 1.53% เช่นเดียวกับ ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจลดลงมาเป็น 59.13% หลังจากเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในครั้งที่4

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผลสำรวจครั้งที่ 10: การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และความคิดเห็นต่อข้อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบ  มีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่า ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.3
 
จากผลการสำรวจครั้งที่ 10 เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.13 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 33.07 ระบุว่า ไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 6.27 ระบุว่า ไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 1.53 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.27 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 28.13 ระบุว่า ไปลงมติเห็นด้วย ร้อยละ 19.73 ระบุว่า ไปลงมติไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.87 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน
 

ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.33 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.27 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.20 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 49.93 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.00 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.07 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 5.53 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.00 มีอายุ  26 – 35 ปี ร้อยละ 22.73 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.00 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.93 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 3.80 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 91.27 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.60 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.00 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.13 ไม่ระบุศาสนา   
 
ตัวอย่างร้อยละ 19.80 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.93 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.80 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 4.47 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 31.87 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 24.00 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.07 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.53 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.73 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.80 ไม่ระบุการศึกษา 
 
ตัวอย่างร้อยละ 11.87 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.07 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.27 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.87 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.93 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.47 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.33 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 6.20 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 16.73 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.67 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.27 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.07 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 15.87 ไม่ระบุรายได้
 
สำหรับนิด้าโพลนั้น ถือเป็นโพลที่มีประวัติเกี่ยวกับการสำรวจมติทางการเมืองที่น่าสนใจ เช่น กรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อปี 2556 เป็นเพียงสำนักเดียวที่ระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะชนะขณะที่อีก 4 สำนักระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ผู้จัดการออนไลน์, 3 มี.ค.56)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net