30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ประกาศ 5 เหตุผลไม่รับร่างฯ- 3 ข้อเสนอต่อ คสช.

2 ส.ค. 2559 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ 30 แห่ง ออกแถลงการณ์ร่วม แจกแจง 5 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. นี้ พร้อม 3 ข้อเสนอต่อ คสช. โดยเรียกร้อง คสช. เปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านทาง คสช.จะดำเนินการต่ออย่างไร ชี้ถ้าประชาชนไม่รับ คสช.ก็หมดความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป พร้อมขอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งฉบับกลับมาใช้ใหม่และจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว รวมถึงขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช.จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะไม่ลงเลือกตั้งจะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ 

 

แถลงการณ์ร่วม 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้
“5 เหตุผลที่ไม่รับร่างและ 3 ข้อเสนอต่อ คสช.”

การลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นสิทธิส่วนบุคคลอีกเช่นกันที่สามารถแสดงออกแจ้งบอกจุดยืนพร้อมเหตุผลต่อสาธารณะได้ จึงนำมาซึ่งการจัดเวทีคนใต้รับหรือไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชิวๆ” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณในวันนี้ (2 สิงหาคม 2559)

และจากความเห็นร่วมของ 30 องค์กรประชาชนภาคใต้ รวมทั้งนักวิชาการ อาจารย์ ปัญญาชน นักพัฒนาเอกชน แกนนำภาคประชาชนในภาคใต้ต่างมีความเห็นที่ไปในทิศทางเดียวที่จะ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยหลากหลายเหตุผล อาทิ

1. มีการปิดกั้นการแลกเปลี่ยนการแสดงความคิดเห็นอย่างน่าเกลียดจนเกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อไม่ให้ถกไม่ให้วิพากษ์ก็สมควรไม่รับร่าง

2. เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคนไทยรู้สาระเนื้อหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญน้อยมาก รับรู้แต่ย่อสาระสำคัญที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง เมื่อไม่รู้จะให้รับร่างได้อย่างไร

3. ร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีสาระสำคัญที่ด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างชัดเจนในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสิทธิชุมชน การสาธารณสุข การศึกษา การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสาระการปฏิรูปล้วนไม่ปฏิรูปจริงเพราะยังเลื่อนลอย “ให้เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด”

4. ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีแก่นแกนของจุดยืนในการเพิ่มอำนาจรัฐราชการและลดอำนาจภาคประชาชน เจตนาสมยอมให้กลุ่มทุนและรัฐราชการร่วมกันยึดกุมการบริหารประเทศอย่างรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจ ไม่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ปกป้องสิทธิชุมชน และเหตุอันนี้จะนำมาสู่การล่มสลายของสังคมภายใต้การยึดกุมของกลุ่มทุน

5. ในบทเฉพาะกาลและคำถามพ่วงมีความชัดเจนให้มีการสานต่ออำนาจ คสช.จากการให้อำนาจรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปีซึ่งย่อมหมายถึง 2 รัฐบาลหรือแปลว่า คสช.สามารถสานต่ออำนาจได้ยาวนานถึง 8 ปี

ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ทางเครือข่าย 30 องค์กรภาคประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญขอเรียกร้องต่อ คสช. เพียง 3 ประการคือ

1. ขอให้ คสช.ประกาศอย่างชัดเจนเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็น รณรงค์ สร้างกระแส ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ในโค้งสุดท้าย ล้างบาปความผิดพลาดในการปิดกั้นคุกคามที่ผ่านมา อันเป็นการเคารพเสียงประชาชนไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ก็ตาม

2. ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านทาง คสช.จะดำเนินการต่ออย่างไร ทั้งนี้ ทางเครือข่าย 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้เห็นว่า เมื่อประชาชนไม่รับ คสช.ก็หมดความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ขอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งฉบับกลับมาใช้ใหม่ ใส่บทเฉพาะการเรื่องการตั้งกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเข้าไปและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วจึงค่อยพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปโดยกลไกของประชาชน

3. ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช.จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะไม่ลงเลือกตั้ง จะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และจะไม่เสียสัตย์เพื่อชาติอย่างเช่นพลเอกสุจินดา คราประยูร ในครั้งการรัฐประหาร รสช.

นี่คือ 5 เหตุผลที่ไม่รับร่างและ 3 ข้อเสนอให้ คสช.ดำเนินการก่อนวันลงประชามติ

30องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้
2 สิงหาคม 2559 

รายชื่อ 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ที่ร่วมจัดงานและร่วมออกแถลงการณ์
1. เครือข่ายพลเมืองสงขลา
2. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
3. มูลนิธิอันดามัน
4. สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
5. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
6. สงขลาฟอรั่ม
7. กลุ่ม Save Krabi
8. กลุ่มคนรุ่นใหม่ ใจอาสา
9. กลุ่มทนายไร้ตั๋ว
10. กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำท่าสะท้อนและสิ่งแวดล้อม สุราษฎร์ธานี
11. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
12. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา สตูล
13. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
14. เครือข่ายรักษ์ชุมพร
15. เครือข่ายพลเมืองพัทลุง
16. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
17. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา รัตภูมิ
18. เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ( permatamas )
19. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
20. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้
21. เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มทะเลสาบสงขลา
22. ชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้
23. ศูนย์พลเมืองเด็ก
24. ศูนย์ข้อมูลชุมชน
25. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา(สจน.)
26. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ
27. สถาบันศานติธรรม
28. สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้
29. สภาประชาชนอำเภอรัตภูมิ
30. หน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท