คุยกับการ์ตูนนิสต์ 'สะอาด' เน้นสื่อสารเชิงโครงสร้างมากกว่าโจมตีตัวบุคคล

คุยกับเจ้าของนามปากกา 'สะอาด' ผู้หยิบประเด็นนทางสังคมมาเขียนเป็นการ์ตูน เปลี่ยนจากการล้อเลียน-โจมตีบุคคล เป็นพูดถึงโครงสร้างของปัญหาที่เกิดซึ่งอิงกับการเมืองอย่างแนบสนิท และเมื่อนายกรัฐมนตรีคล้ายแองเกอร์ในอินไซต์เอาต์ ประชาชนไม่ต่างจากชาวบ้านที่ถูกปกครองโดยโดฟลามิงโกในวันพีซ


ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือ 'สะอาด'

ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง, นิทานโลก, ชายผู้ออกเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยการ์ตูนของตัวเอง, คน/การ์ตูน/หมา, ตูดเด็กวิทยา, คนกับป่า จากทาร์ซานถึงปกาเกอะญอ ทั้งหมดนี้เป็นผลงานการ์ตูนของ ภูมิ หรือ ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หนุ่มวัย 25 ปี ซึ่งเรียนจบจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับเหรียญเงินจากการประกวดการ์ตูนระดับนานาชาติ ปี 2555 โดยรัฐบาลญี่ปุ่น และเจ้าของนามปากกา‘สะอาด’ หลายคนรู้จักเขาจากเพจเฟซบุ๊ก Sa-ard และครอบครัวเจ๋งเป้ง นอกจากนี้ยังมีผลงานการ์ตูนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ และนิตยสารมาอย่างต่อเนื่อง ภูมิเริ่มเขียนการ์ตูนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ฝึกฝนตัวเองจนกลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูน หลังเขารู้สึกเสียศูนย์กับการรัฐประหารเมื่อสองปีก่อนและถึงจุดหนึ่งที่คนออกมาล้อเลียน โจมตีตัวบุคคลมากพอแล้ว เขาจึงอยู่กับข้อมูลมากขึ้น และหยิบประเด็นทางสังคมมาเขียนเป็นการ์ตูน โดยมองว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียงให้กับเรื่องต่างๆ ได้

ประชาไทคุยกับ ภูมิ ถึงเหตุผลที่ทำให้สนใจประเด็นทางสังคมจนหยิบมาเขียนการ์ตูน รวมไปถึงผลกระทบจากการรัฐประหารที่เขาได้รับ ก่อนที่เขาจะออกเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อเรียนภาษา และด้วยความอยากลองให้การ์ตูนของตนเองสื่อสารไปได้ไกลกว่าเก่า
 

อะไรทำให้สนใจประเด็นทางสังคมจนหยิบมาเขียนเป็นการ์ตูน
ช่วงแรกมันมาจากการอ่าน เราชอบอ่านหนังสือ อ่านนิตยสาร อ่านสารคดี มีการเมืองบ้าง ประวัติศาสตร์บ้าง แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองสนใจมัน แต่ตอนนั้นยังแยกส่วนกัน คือ เราเขียนการ์ตูนไป อ่านเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป เวลาอ่านวิหารที่ว่างเปล่าแล้วมันเต็มอิ่มกว่าอ่านวันพีซ มันมีบางอย่างที่วันพีชให้ไม่ได้ มีคำถามเกิดขึ้นในใจตลอดเวลา อย่างเรามีความฝันในแง่ที่ว่าอยากเขียนการ์ตูนแบบปล่อยพลังให้ดังๆ แต่มันก็จะคาอยู่ว่าภาคใต้ยิงกันแล้วเราทำอะไรได้บ้าง มันจะเป็นอย่างนี้ตลอดเวลามาตั้งแต่เด็กถึงมหาวิทยาลัย จนประมาณปี 3 มีเรียนวิชาทำสื่อให้ชุมชน ต้องลงพื้นที่จริงซึ่งตอนนั้นเราไปทำหนังเกี่ยวกับชาวบ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ มันเป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราจับสองอย่างมาเชื่อมกันได้ คือเราเขียนการ์ตูนประเด็นทางสังคมได้ มันทำให้เราไม่รู้สึกผิดกับการมีชีวิตมากเกินไป คือใช้คำว่ารู้สึกผิดเพราะประมาณว่าเราพยายามจะไปโด่งไปดัง พยายามจะไปมีชื่อเสียงโดยที่สังคมเป็นแบบนี้อยู่เหรอ เราคิดว่ามีหลายเรื่องในสังคมที่ไม่ได้ถูกพูดถึง แล้วการ์ตูนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียงให้เรื่องเหล่านั้นได้ มันมีศักยภาพในการสื่อสารออกไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งงานเขียนอาจจะให้ไม่ได้

พอเป็นเขียนการ์ตูนประเด็นทางสังคมจริงๆ จังๆ แล้วต้องคิดเยอะกว่าเดิมไหม
คิดเยอะกว่าเดิมมาก อย่างเราเขียนการ์ตูนตลก การ์ตูนสั้นก็จะจบงานได้เร็วมาก ไม่ต้องห่วงกังวลอะไร แต่พอมาแตะปัญหาของคนบางกลุ่มแล้วมีหลายความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ มันก็ต้องคิดเผื่อคนที่มาอ่านงานของเราว่าเขาจะรู้สึกยังไง แล้วเราอยากสื่อสารกับเขาเพื่ออะไร อยากเปลี่ยนความคิดเขา อยากตั้งคำถาม หรืออยากท้าทายบางอย่างกับเขา แน่นอนว่าพอเป็นประเด็นทางสังคมที่ล่อแหลม เวลาเราหยิบยกขึ้นมาพูด แม้แต่พูดในวงเหล้ากลางวงเพื่อนก็ทำให้เพื่อนเงียบกันหมด เรามีเพื่อนที่ไม่สนใจเรื่องสังคมเลยแล้วเป็นเพื่อนสนิทเรา ก็เลยรู้สึกว่าวิธีการทำงานของเราคือการเขียนงานเพื่อคุยกับเพื่อน กับคนแบบนี้นี่แหละ น้ำเสียงอาจจะต่างไปจากเพจมานี มีแชร์ ที่มีน้ำเสียงแบบคนเข้าใจการเมืองแล้วประมาณหนึ่ง

ช่วยเล่าขั้นตอนการเขียนประเด็นทางสังคมให้ฟังหน่อย
เรากระทบกระเทือนใจกับการรัฐประหาร (2557) มากจนฝันร้ายหลายคืนติดต่อกัน รู้สึกว่าทำไมต้องเงียบ ในช่วงแรกถ้าเป็นการ์ตูนแก๊กการเมืองเราก็ไม่คิดอะไรมาก สิ่งที่เขียนออกมาเป็นการ์ตูนมันเป็นแค่สิ่งที่อยากพูดออกมา แต่เราก็จะเซฟตัวเองสูง ไม่ได้พูดออกมาโต้งๆ ขนาดนั้น ไม่ได้ไปล้อเลียน หรือทำให้ใครดูแย่ ไม่ได้จะพยายามโจมตีตัวบุคคล แต่เล่าในเชิงประเด็น อย่าง ‘คนกับป่า’ ก็คิดกับมันในเชิงวรรณกรรมด้วย ให้คนอ่านได้รสเรื่องเล่า รสตลก เราคิดจะเอนเตอร์เทนคนอ่าน จะไม่สื่อสารทางเดียว จะไม่ทำให้รัฐบาลดูแย่ แม้สุดท้ายก็ออกมาดูแย่แต่เราพยายามจะนำเสนอแบบไม่ได้โจมตีรัฐบาลหรือตัวบุคคล พยายามจะพูดในเชิงโครงสร้างว่ามันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้มีวิธีคิดแบบนี้ บางทีแม้รัฐบาลจะหวังดีแต่มันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

หลังรัฐประหารมันแปลกมากเลย มันมีความพิสดารบางอย่าง เราก็แค่สื่อสารออกมาเป็นการ์ตูนแก๊กแบบ “คุณเห็นหน่อยเหอะว่ามันไม่ปกติ” นอกจากนี้ มันก็มีงานทั่วไปที่มีลักษณะโจมตีตัวบุคคล หรือล้อเลียนอยู่ ซึ่งถึงจุดหนึ่งคุณประยุทธ์ไม่ได้พูดว่าล้อเลียนเขาไม่ได้ แต่ทุกคนก็ล้อเลียนคุณประยุทธ์เต็มไปหมด ไม่ว่าจะล้อเลียนเชิงน่ารักหรืออะไรก็ตาม เราก็อยากจะพยายามสื่อสารในเชิงประเด็นมากขึ้น เราพยายามสื่อสารว่าจริงๆ แล้วปัญหาทางสังคมในประเด็นต่างๆ อิงกับการเมืองอย่างแนบสนิทมากๆ ไม่สามารถแยกมันออกจากกันได้ การเมือง กฎหมาย คน ไม่ใช่แค่ไปปลูกป่า ออกซิเจนมากขึ้นแล้วจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เราก็คิดเรื่องพวกนี้เยอะ พยายามที่จะทำให้สื่อสารไปถึงโครงสร้างที่ไม่ใช่แค่โจมตีตัวบุคคล เราไม่ด่าแต่จะเสียดสีบางอย่างให้เกิดขึ้น


ที่มาภาพ https://www.facebook.com/saartanis
 

รัฐประหารผ่านมาสองปีแล้ว ส่งผลต่อนักเขียนการ์ตูนอย่างคุณอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้วเราเป็นแค่นักอ่านประวัติศาสตร์ ไม่ได้ตื่นตัวเรื่องการเมือง แค่สนใจมัน แต่การรัฐประหารทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เรารู้สึกเสียศูนย์กับการรัฐประหาร ตอนนั้นเราเรียนจบวารสารใหม่ๆ อาจารย์ก็สอนเรื่องอุดมการณ์โน่นนั่นนี่ สื่อควรจะมีอย่างโน้นอย่างนี้แต่รัฐประหารก็ปิดสื่อกระจุยกระจาย วารสารฯ ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วอาจารย์สอนต่อไปได้ยังไง เราสงสัยว่าอาจารย์สอนด้วยจุดยืนแบบไหน แล้วบทบาทของสื่อทุกวันนี้มันคืออะไร คือการตรวจสอบรัฐอยู่ไหม เหมือนทำให้เราไปหาคำตอบแล้วก็พบว่าสื่อกระแสหลักทุกวันนี้มันติดโน่นติดนี่เยอะ มันติดในเชิงทุน ในเชิงวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เราคิดว่าตัวเองเป็นสื่ออิสระประมาณหนึ่ง วันหนึ่งเรารู้สึกว่ามีศักยภาพสื่อสารออกไปยังคนหมู่มากได้ เราก็อยากจะทำอะไรบางอย่าง แม้ว่าจริงๆ แล้วมันมีราคาที่ต้องจ่ายเยอะ เพราะรอบๆ เรามีแต่คนชอบรัฐประหารเต็มไปหมด การที่เราพูดอะไรแบบนี้มันมีราคาที่ต้องจ่ายในเชิงอาชีพ เชิงครอบครัว หรือเชิงสังคมรอบตัวด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่รัฐบาลทหารทำมันทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันกระจอก มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนอื่นในสังคมควรจะทำด้วยหรือเปล่า การวิจารณ์รัฐบาลมันเป็นเรื่องพื้นฐาน แค่ว่าเราอยู่ในสังคมที่มีความกลัวสูง คือจริงๆ เราก็กลัวนะ เราใส่ใจหมดเวลาโพสต์ทุกสิ่งทุกอย่างลงไป เราอาจโดนจับแม้ว่าเราจะเซฟแล้ว มันมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น เรากลัวคนเกลียดเรา กลัวเสียคนอ่าน เสียคอนเนคชั่นจนสุดท้ายเราก็ช่าง ก็เสียบ้าง มีคนอ่านที่บอกว่า “ผมผิดหวัง” คือเรารู้สึกว่าก็แล้วแต่เขา เราโอเค หมายถึงว่ามันเป็นสิ่งที่เรายอมแลกก็ได้ มันเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนที่โดนเยอะกว่าเรา

ร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติ เราก็ไม่ได้อ่านทั้งหมด เพื่อนบอกว่าถ้าร่างฯ นี้ผ่านจะลาออกจากความเป็นตัวเอง เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันแต่ว่ามันคงเฟลมาก อีกคนบอกว่าถ้าร่างฯ นี้ผ่านจะไปต่างประเทศ คือเรารู้สึกแบบเฟลที่ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้โผล่ขึ้นมาในสังคมที่อยากจะเป็นประชาธิปไตย สังคมที่เหมือนจะมีความตื่นตัวทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้มันอยู่รอดในความคิดของประชาชนได้ยังไง มันไม่ควรจะออกมา ไม่ควรจะเอามาโปรโมทด้วยซ้ำ ทั้งที่มารัฐธรรมนูญ ตัวบท หรือว่าวิธีการจัดการการลงประชามติด้วย แต่ว่ามันก็มีคนที่โอเคกับกระบวนการเหล่านี้ด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของความกลัวเหรอ หรือการศึกษาที่ไม่อธิบายประชาธิปไตยได้ดีพอ หรือโรงเรียน มันมีอำนาจนิยมสูงมากจนไม่ได้ทำให้คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า “นี่คือประชาธิปไตยแล้วเหรอ”

ถ้าลองเปรียบนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารกับการ์ตูน คิดว่าคล้ายตัวไหน
แองเกอร์ในภาพยนตร์อินไซต์เอาต์ คุณประยุทธ์เป็นแองเกอร์มาโดยต่อเนื่อง 2 ปีแล้ว คือโมโหตลอดเวลา เราแปลกใจว่าไม่มีคนเตือนเขาเวลาออกสื่อเหรอ เขาเป็นผู้นำประเทศ ทุกคำพูดของเขามันมีบทบาทสำคัญมากแต่ทำไมเขาถึงแสดงออกมาแบบนั้น เขาอาจจะพูดแบบนั้นในชีวิตประจำวันได้แต่เวลาออกสื่อสาธารณะหรือว่าสื่อระดับโลก มันไม่มีคนเตือนเขาเหรอว่าเรื่องนี้เขาไม่ควรจะพูดแบบนี้นะ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ถ้าอย่างนั้นประชาชนคล้ายการ์ตูนตัวไหน
เราว่าอาจจะคล้ายชาวบ้านในวันพีซที่ถูกปกครองโดยโดฟลามิงโกที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข แต่สิ่งที่ต่างกันของคุณประยุทธ์กับโดฟลามิงโก คือ โดฟลามิงโกเป็นตัวร้าย มีความสุดโต่ง เลวครบรส แต่คุณประยุทธ์อาจจะรักชาติแต่ปัญหาคือชาติของเขาไม่ได้กว้าง ประชาชนอยากให้เขานิยามชาติอีกแบบหนึ่ง แล้วเรารู้สึกว่าวิธีการแก้ปัญหาของเขามันนำมาแก้ปัญหาไม่ได้แล้วในยุคสมัยใหม่ คือสังคมมันเปลี่ยนไปนานแล้ว การแก้ปัญหาแบบทหาร วิธีคิดแบบนี้มันไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว มันจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในหลายๆ แง่


ที่มาภาพ https://www.facebook.com/saartanis
 

คาดหวังไว้ไหม ว่าการ์ตูนประเด็นทางสังคมของตัวเองจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้
แรกๆ ก็จะคาดหวัง แต่ประเด็นก็คือเวลาเราทำงานสื่อ เรารู้สึกว่าเวลาทำงานสื่อมันเป็นอะไรที่ประเมินตัวเลขยากมาก สมมติว่าโพสต์นี้มียอดวิวเยอะ แต่มันรู้ได้เหรอว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันไม่ใช่เชิงปริมาณที่จะวัดอะไรได้ อีกอย่าง คือ เรารู้สึกว่าโลกโซเชียลมีเดียที่เราทำงานอยู่ ที่เราจะสื่อสารประเด็นแบบนี้มันมีความหลากหลายทางความเห็นสูงมาก จนทำให้เรารู้สึกว่ามันดีจริงๆ เหรอวะ มีคำถามนี้อยู่ เรามีความเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจเราก็สามารถไปคุยกับเขาได้ มันน่าจะทำได้ โดยที่งานไม่ต้องประชดประชัน หรือทำให้เขาดูแย่ ไปด่าเขาว่าสลิ่มหรือทำไมโง่ขนาดนี้ แต่มันก็มีคนบางกลุ่มที่โดนด่าจนต้องไปเรียนรู้อะไรมากขึ้น จนเรารู้สึกว่าผลลัพธ์เป็นอะไรที่เคว้งไปเคว้งมากับมันมาก ถึงที่สุดแล้วเราพยายามเพื่อตอบตัวเองให้ได้มากกว่า เราเคยคาดหวัง แต่พยายามใช้ชีวิตแบบมีหวังแต่ไม่คาดหวัง เราทำของเราให้เต็มที่แต่ในแง่ผลลัพธ์เป็นสิ่งที่เราจะวัดไม่ได้ในเชิงตัวเลขธุรกิจ

ถ้าการ์ตูนเหมือนความสัมพันธ์อย่างหนึ่งในชีวิต มันคืออะไร
เหมือนภรรยา ก็อยู่ด้วยกันมานาน ผูกพันกันมานาน เหมือนโตมาด้วยกัน เป็นภรรยาที่โตมาด้วยกันแต่เด็ก แล้วก็มีช่วงชีวิตเหลวแหลก แต่เราไม่เคยทิ้งการเขียนการ์ตูน มันก็เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา จะมีความคิดว่าชีวิตเรามีการ์ตูนที่แน่ใจได้ว่าจะไม่ทรยศเรา ถ้าเราไม่ทรยศมัน คือถ้าเราไม่รับงานประเภทที่ทำให้เราไม่เคารพตัวเอง เราก็สามารถอยู่กับมันได้ยาวๆ เราถึงค่อนข้างทำงานที่เราจะต้องชอบมัน เพราะรู้สึกว่ามันคือภรรยาเรา เราอยากรักภรรยาตัวเองไปเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท