Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนกับรูปปั้นชุน เต-อิล บิดาขบวนการประชาธิปไตยแรงงานเกาหลี,
กรุงโซล/พฤษภาคม 2559, ถ่ายภาพ Tammy Ko.

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญเข้าร่วมนำเสนอบทเรียนการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานเก็บเบอร์รีที่สแกนดิเนเวียในงานเสวนาวิชาการเรื่องแรงงานต่างชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมเอเชีย เมืองกวางจู เกาหลีใต้ ผู้เขียนได้ถือโอกาสนี้เดินทางไปพบปะพูดคุยและรับทราบปัญหาแรงงานไทยที่เกาหลีใต้ต่ออีก 10 วัน โดยร่วมทีมศึกษากับ ดร.สุดารัตน์ มุสิกวงศ์ แห่งเซียน่าคอลเลจ สหรัฐอเมริกา และนักศึกษาไทยที่เกาหลีใต้ พวกเราได้เดินทางไปพบกับพี่น้องแรงงานไทยหลายกลุ่มในหลายเมือง จึงขอนำเสนอข้อเขียนเรื่องแรงงานไทยในเกาหลีใต้เสียที หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลมาต่อเนื่องหลายปี

ทำความรู้จักคร่าวๆ เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้

นับตั้งแต่ปี 2544 ไทยส่งเสริมการไปทำงานที่เกาหลีใต้ภายใต้ระบบ "คนฝึกงาน" และต่อมาในระบบ EPS, Employment Permit System หรือระบบใบอนุญาติจ้างงานที่ประเทศเกาหลีใต้ริเริ่มใช้เมื่อปี 2548 โดยในปัจจุบันมีประเทศคู่สัญญา EPS กับเกาหลีใต้ 15 ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย เวียดนาม กับพูชา อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์ ติมอร์ พม่า บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ปากีสถาน  มองโกเลีย คีย์กิสถาน และ อุเบกิสถาน

เหตุที่รัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งปล่อยเกียร์ว่างให้กับการนำคนงานต่างชาติเข้ามาทำงานในรูปแบบ "คนฝึกงาน" และคนอยู่เกินวีซ่ามากว่าสองทศวรรษจนต้องลุกขึ้นมาจัดทำระบบใบอนุญาตจ้างงาน หรือที่เรียกว่า EPS ในช่วงปี 2548 นั้นก็เพราะปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างชาติในฐานะ "คนฝึกงาน" และคนที่ทำงานโดยอยู่เกินวีซ่ามาต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการจับกุมคุมขังคนงานต่างชาติมาต่อเนื่อง แต่ความต้องการแรงงานต่างชาติก็เพิ่มสูงขึ้นจนเมื่อสภาพปัญหาที่คนต่างชาติในเกาหลีได้รับเริ่มสั่นสะเทือนหัวใจคนเกาหลี ทำให้สังคมเกาหลีตื่นมารับรู้สภาพปัญหาและสร้างแรงกดดันอย่างจริงจังให้รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมปรับระบบการจ้างงานคนงานต่างชาติที่ยึดโยงกับกฎหมายสิทธิแรงงาน

ในแถลงการณ์ของสภาแรงงานประชาธิปไตย KCTU "KCTU statement to support migrant workers struggle in S.Korea" ระบุว่า "นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2546 คนงานต่างชาติ 7 คนได้อดอาหารประท้วงศูนย์คุมขังคนต่างชาติที่ฮวาซุง และที่โบสถ์เมียงดอง สภาพของศูนย์คุมขังเหล่านี้แย่กว่าคุกของเกาหลีอีก คนงานเหล่านี้ได้ ‘วางชีวิตไว้บนเส้นด้าย’ เพื่อสิทธิคนทำงานต่างชาติในเกาหลีใต้"  (http://www.labournet.net/world/0403/korea1.html)


กรุงโซลมุมบน

ทั้งนี้ แรงงานไทยในเกาหลีใต้ ถือเป็นกลุ่มแรงงานกลุ่มใหญ่อันดับสองรองจากจีน มีประมาณ 90,000 คน แต่อยู่ในระบบ EPS เพียงประมาณ 30,000 คน และอยู่ทำงานโดยไม่มีวีซ่าหรือสัญญาจ้างงานถึงกว่า 50,000 คน หรือประมาณ 60% ของแรงงานไทย ซึ่งคนงานไทยเองประมาณการณ์ว่ามีคนงานไทยอยู่ทำงานที่เกาหลีใต้มากกว่าแสนคน ด้วยเหตุนี้ข่าวสารที่เผยแพร่เกี่ยวกับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับเรื่องการถูกส่งกลับจากด่านตรวจคนเข้าเมืองปีละร่วม 30,000 คน และถูกกวาดจับและส่งกลับประเทศกันอีกจำนวนมากทุกปี อาทิ "...เมื่อวันที่ 27 ก.พ. มีรายงานสถิติตัวเลขของประเทศที่ผลักดันและส่งกลับคนไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ในช่วงปี 2558 อันดับ 1 ประเทศเกาหลีใต้ ผลักดันคนไทย 8,733 คน และส่งกลับคนไทย 20,017 คน รวม 28,750 คน ...” (ไทยรัฐฉบับพิมพ์ "แฉเกาหลีส่งกลับ คนไทยกว่า 2 หมื่น" 28 ก.พ. 2559)

รายงานของประพันธ์ ดิษยทัต ที่เผยแพร่โดยกระทรวงต่างประเทศ เรื่อง "ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้” เมื่อปี 2558 ระบุว่า "ในปี 2557 จำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นจาก 20,665 คน ในปี 2556 เป็น 44,283 คน ปัจจุบันร้อยละ 60.80 ของคนไทยในเกาหลีใต้พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย" และตัวเลขล่าสุดของผู้อยู่เกินวีซ่าที่เกาหลีใต้ที่ทางการเรียกว่า "ผิดกฎหมาย" ณ เดือนมีนาคม 2559 นั้นอยู่ที่ 52,435 คน จากจำนวนทั้งหมด 90,235 คน และถือเป็น 58% ของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ (BangkokPost, S Korea suffers surge in Thai over-stayers, 18 มิถุนายน 2016)

เมื่อรัฐบาลถูกกดดันจากภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องให้แก้ไขปัญหาจึงได้ลุกขึ้นมาประกาศใช้ระบบ EPS ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2547 โดยในกระบวนการเปลี่ยนระบบมาสู่ EPS ทางการเกาหลีก็เร่งกวาดต้อนจับกุมคนที่อยู่ในเกาหลีใต้เกินวีซ่า หรือที่ทางการเรียกว่า "คนงานผิดกฎหมาย" อย่างรุนแรง คนหลายพันคนถูกจับในช่วงเวลาไม่นาน ทำให้มีการประท้วงมาราธอนระหว่างคนงานต่างชาติในเกาหลีใต้โดยความสนับสนุนของสหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับแก้ระบบ EPS ที่ไม่ยุติธรรมกับคนงาน ทั้งเรื่องสัญญาจ้างงาน 3 ปีที่เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ ทำให้ลูกจ้างอยู่ในสภาพลูกไก่ในกำมือนายจ้าง ถูกควบคุมจากนายจ้างอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งการเรียกร้องให้แก้ไขระบบ EPS ให้เป็นธรรมกับลูกจ้าง/คนทำงานต่างประเทศก็มีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในกรณีประเทศไทย กระทรวงแรงงานรับผิดชอบเปิดรับสมัครคนงานตามระบบ EPS ที่มีการระบุอายุไว้ด้วยว่า ไม่เกิน 39 ปี โดยคนที่สมัครงานแล้วต้องสมัครเข้าคอร์สเพื่อเรียนภาษาเกาหลีคอร์สละประมาณ 8,000 บาท เพื่อให้ได้ภาษาเกาหลีขั้นพืันฐานที่จะต้องใช้สอบสำหรับสัมภาษณ์งาน

เนื่องด้วยกระบวนการ EPS นั้นยุ่งยาก มีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน ส่งเรื่องไปมาระหว่างเกาหลีใต้และประเทศไทย ทำให้กว่าจะได้คัดเลือกไปทำงาน คนงานบางคนอาจจะต้องรอเป็นปีสองปีหรือหลายปี และเมื่อได้งานแล้วก็เจอปัญหา ทั้งเรื่องการไม่อาจเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนนายจ้างได้โดยที่ไม่ต้องถูกส่งกลับไทยแม้ว่างานจะอันตรายหรือนายจ้างจะโหดร้ายก็ตาม และคนที่ได้งานมักจะเป็นแรงงานชาย

ประกอบกับอุปสงค์ความต้องการแรงงานไม่ผ่าน EPS ของนายจ้างเกาหลีใต้ก็สูง และอุปทานความต้องการงานที่ไม่ต้องผ่านกลไก EPS ในหมู่คนไทยก็อยู่สูงสอดรับกัน ทำให้สัดส่วนของคนที่ทำงานโดยไม่ผ่านกลไก EPS นั้นมีสูงกว่าสัดส่วนที่มาทำงานผ่าน EPS ดังนั้นเมื่อเกาหลีใต้ได้เปิดเงื่อนไขวีซ่า 90 วันเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 2540 ทำให้คนหางานชาวไทยใช้ช่องทางนี้ หลังไหลไปทำงานที่เกาหลีกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเลือกทำงานโดยพยายามเดินทางเข้าเกาหลีใต้ในสถานภาพนักท่องเที่ยวจะพึ่งพิงนายหน้าหรือเอเยนต์และต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการมาผ่าน EPS มาก ซึ่งคนไทยคือกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางเข้าเกาหลีด้วยจุดประสงค์จะอยู่เกินวีซ่าและผู้ไปทำงานที่เป็นผู้หญิงก็มีจำนวนไม่น้อย โดยยอมทำงานที่ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีหลักประกัน รายได้ไม่แน่นอน อยู่กับความเครียดและหวาดผวาเพราะความเสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับส่งตัวกลับไทย หรือเข้าคุกเกาหลีก่อนกลับไทย

การจะหางานหรือเปลี่ยนงานแม้จะทำได้ง่ายกว่าคนงาน EPS ที่ติดสัญญากับนายจ้างอยู่ แต่คนงานวีซ่านักท่องเที่ยวก็มักจะต้องพึ่งพิงคนรู้จักหรือนายหน้าในการดำเนินการหางาน ซึ่งถ้าเริ่มตั้งแต่ประเทศไทย จะต้องจ่ายค่านายหน้าที่อาจสูงถึง 70,000 หรือถึงกว่า 100,000 บาท แต่ถ้าหานายหน้าเมื่ออยู่เกาหลีใต้แล้ว ค่านายหน้าจะอยู่ที่ 200,000 ถึง 500,000 วอน (6,000-15,000 บาท)

ด้วยพื้นฐานคนงานไทยที่ไม่คุ้นชินกับการต่อรองกับนายจ้าง และไม่มีความรู้ทางภาษาเกาหลีดีพอ จนบัดนี้ แม้ว่าคนงานจากชาติต่างๆ จะทยอยตั้งสหภาพและสมาคมเพื่อต่อรองกับนายจ้างและช่วยเหลือระหว่างกันอย่างจริงจังและทำงานร่วมกับองค์กรและสหภาพแรงานเกาหลีใต้อย่างแข็งขันไปมากแล้ว แต่คนงานไทยยังไม่มีรูปธรรมองค์กรที่ชัดเจนและยังต้องพึ่งพิงสถานฑูต วัด และนายหน้าในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องการช่วยเจรจาต่อรองหรือสื่อสารกับนายจ้าง หรือช่วยหาพี่พัก ขับรถพาไปทำงาน หรือพาไปหาหมอ เป็นต้น

แม้ว่าวัดไทยที่เกาหลีใต้หลายแห่งต่างก็ให้การช่วยเหลือดูแลคนงานไทยกันอย่างน่าประทับใจ แต่โดยทั่วไป คนงานต้องพึ่งนายหน้ากันมาก ซึ่งถ้าได้นายหน้าดีก็ดีไป แต่ถ้าได้นายหน้าที่ไม่สนใจ พาไปทิ้ง หรือที่ร้ายกว่านั้นนายหน้าบางคนยังชี้เป้าให้ ตม. เข้ามาจับคนงานส่งกลับประเทศ เพื่อที่เขาจะได้ใช้งานนั้นหาเหยื่อคนใหม่ต่อไป ส่วนคนงานก็จะสูญเสียเงินกันหลายหมื่นหรือบางคนก็ 200,000-300,000 บาท ทั้งจากค่าใช้จ่ายและจ่ายเป็นค่าปรับการอยู่เกินวีซ่าให้กับทาง ตม. เกาหลีใต้ (ซึ่งจะเรียกเก็บแพงมากและจะมีการยกเว้นค่าปรับ เมื่อทางการประกาศให้คนงานมอบตัวเพื่อกลับบ้านโดยใช้เงื่อนไขยกเว้นค่าปรับเป็นแรงจูงใจ) ประเด็นการถูกหลอกนั้นมีการออกคลิปเตือนกันทางโซเชียลมีเดียกันเป็นระยะๆ (อ่านเพิ่มเติม: ประชาไท, สื่อเกาหลีเผยมีคนงานไทยผิด กม.ในประเทศร่วม 4 หมื่นคน,2015-02-24 19:15)

ทั้งนี้ เรื่องราวปัญหาของคนงานไทยในเกาหลีใต้นั้น ผู้เขียนได้ยินมาเป็นระยะในทุกครั้งที่ผู้เขียนและทีมงานจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและสหภาพคนทำงานต่างประเทศลงพื้นที่อีสาน โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา กรณีเกาหลีใต้เป็นชื่อประเทศที่มีการยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง เมื่อเดือนเมษายน 2551 ผู้เขียนจึงเดินทางไปสัมภาษณ์กับคนไทยที่เพิ่งเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ที่จังหวัดอุดรธานี ต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าของคนงานไทยที่เพิ่งกลับมาจากเกาหลีใต้

เรื่องเล่าคนไทยที่กลับจากเกาหลีเมื่อปี 2551 ยังคงสะท้อนความจริงแห่งปี 2559

ยงยุทธ์ (ชื่อสมมติ)

ตอนนั้นหนี้สินรุงรังมาก มีกว่า 600,000 บาท ได้ยินเขาว่าเงินเดือนที่นั่นมันเยอะ ก็เลยคิดว่าต้องลองสักครั้ง ไปแบบนักท่องเที่ยว ตอนนั้นดวงดีเลยผ่านด่านตรวจเข้าไปทำงานได้ อาจจะเพราะพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อยก็เลยผ่านไปได้ ไปเที่ยวเดียวกันทั้งหมด 12 คน เรียกสัมภาษณ์ทุกคน ถ้าเห็นพาสปอร์ตไทย เขาต้อนเข้าไปหมดเลย ทุกคนเตรียมตอบคำถามไปหมด มีผมผ่านไปได้แค่คนเดียว (เสียเวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมงกว่า) 

พอผ่านไปแล้วก็ต้องเอาเงินที่ถือไป 70,000 บาทให้เอเยนต์เป็นค่าฝากงานให้ ซึ่งเอเยนต์จะช่วยได้ต่อเมื่อผ่านด่านตม. ไปได้แล้วเท่านั้น รวมกันทั้งหมดผมจ่ายไป 100,000 บาท ค่าตั๋ว 30,000 ค่าเอเยนต์ 70,000

ผมได้ไปทำงานโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่นายจ้างเกาหลีเขาจะรับคนงานประจำ แต่ถ้าถูกจับเขาก็จะรับคนใหม่เข้ามาแทน ในช่วง 6 เดือนแรก ผมรับเงินเดือน 900,000 วอน ตกเป็นเงินไทย 33,000 บาท กินอยู่เอง แต่ไม่ต้องจ่ายค่าที่พักเพราะพักอยู่ในนั้น เข้างาน 8 โมงเช้า ออก 2 ทุ่ม และกะเย็นเข้า 2 ทุ่มออก 8 โมงเช้า ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ถ้างานเร่งๆ วันอาทิตย์ก็จะทำ 2 แรง วันนั้นจะได้ค่าจ้าง 3,000 บาท แต่คนทำงานไม่ได้พัก โรงงานเป็นโรงงานครอบครัว ไม่มีโอที มีคนงานไทยอยู่ประมาณ 10 คน ผมทำงาน 3 ปี เขาขึ้นเงินเดือนให้หลังจาก 6 เดือน ตอนผมออกมาได้เงินเดือน 1,300,000 วอน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 45,000 บาท

หลังจากวีซ่า 3 เดือนหมดแล้ววิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การทำงานเป็นอย่างไร?

แทบจะเป็นบ้าพี่ มันต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็ต้องทนอยู่เพราะต้องการใช้หนี้ให้หมด สำหรับผมนะ เขาจะไปเที่ยวไหนกันผมไม่ไป อยู่แต่ในโรงงานหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ออกไปซื้อของตามตลาด เพราะถ้าเจอตำรวจ เขาสามารถสุ่มจับได้ มีหรือไม่มีวีซ่าเขาไม่สน ถ้าตรวจสอบแล้วว่ามีวีซ่าถูกต้องเขาก็จะปล่อย  ผมไม่เคยถูกจับ เพราะไม่ยอมออกไปไหน

โรงงานของผมดีนะ แต่พวกเราก็ทำงานหนักมาก ต้องแลกด้วยการเข้างานก่อน 30 นาที เลิกงานหลัง 30 นาที ถ้าโรงงานที่ไม่ดี ทำงานจะไม่ได้เงินเดือน จะโกงประจำ นายจ้างบอกว่าจะจ่ายอยู่ สมมติว่าเงินเดือนล้านวอน เขาจะจ่ายก่อนแค่ 200,000 วอนแล้วบอกว่าจะให้อีก มันก็ทับถมกันมา เพื่อนผมสองพี่น้องโดนโกงเกือบ 300,000 บาท ครึ่งต่อครึ่งที่ถูกโกง

ตั้งวงกินข้าวร่วมกัน บางครั้งร่วมกันทำ บางครั้งแยกกันทำ และนำมาร่วมวงกินกัน 

แล้วซื้อกินอาหารอย่างไร ?

มันจะมีรถเร่มาขาย ที่บ้านเราเรียกรถพุ่มพวงนั่นแหล่ะ เป็นคนไทยที่แต่งงานกับคนเกาหลี แล้วออกรถเอาของมาขายตามย่านโรงงานต่างๆ และก็จะปล่อยเครดิต เดือนชนเดือน ผมใช้เงินซื้ออาหารประมาณเดือนละ 5,000 บาท ซื้อข้าวเหนียวไม่ได้มันแพง ต้องกินข้าวเกาหลี ก็ซื้อพวกหัวหมู เนื้อหมู เนื้อวัว มากินกันเป็นกลุ่ม ต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างทำ เช้ากินด้วยกัน ซุ่มกัน 10 คน

ตำรวจเคยเข้ามาตรวจโรงงานไหม ?

ถ้าเถ้าแก่บอกว่าวันนี้ตำรวจจะมาตรวจโรงงาน พวกเราก็หลบ พวกเราพักอยู่บนดาดฟ้า ในตู้คอนเทนเนอร์ เวลาตำรวจจะมา พวกเราต้องหนีออกจากโรงงาน ต้องหลบ บางทีเถ้าแก่ขับรถพาพวกเราหนีออกไป บางทีก็ไปไว้ที่บ้านเถ้าแก่ ก่อนจะกลับนี่มีบ่อย

แฟนตามไปทีหลัง?

ประมาณปีกว่าก็ให้แฟนตามไป แต่แฟนก็ต้องเสี่ยงเหมือนเดิม ครั้งแรกแฟนไม่ผ่านวีซ่า อีกปีหนึ่งก็ให้ลองตามไปใหม่ ทำพาสปอร์ตใหม่ เปลี่ยนชื่อ และครั้งที่สองถึงเข้าได้ ก็ไปทำงานอยู่ด้วยกัน แต่แฟนได้เงินเดือน 750,000 วอน ได้น้อยว่าผู้ชาย

แฟนทำงานได้แค่ 3 เดือน หมดวีซ่าไม่กี่วันก็โดนตำรวจจับพร้อมกับเพื่อนในโรงงานประมาณรวมกัน 5 คน ผมอยู่นาน ผมเก่งแล้วก็วิ่งและกระโดดข้ามรั้ว อาศัยชำนาญเส้นทาง แฟนโดนจำคุกประมาณ 1 อาทิตย์ เถ้าแก่ไปเสียค่าปรับคิดเป็นเงินไทย 300,000 บาท และมีตั๋วเครื่องบิน มีพาสปอร์ต  ผมอยู่ต่อได้อีกประมาณ 2 เดือน ก็ตัดสินใจกลับ

วันที่มีความสุขที่สุขคือคืนวันเสาร์ตอนเลิกงาน กินเหล้าแล้วก็เมาหลับไป มีวันอาทิตย์ได้พักวันเดียว ออกไปไหนไม่ได้ เพราะถูกจับบ่ได้ ถ้าถูกจับนี่จบเลย เพราะหนี้เยอะ ดอกท่วมต้น ต้นท่วมดอก วันหยุดกินเหล้าคนละ 10 ขวด 20 ดีกรี กินสอดแจ้ง เมาแล้วก็นอน บ่ออกไปไหน ทำงานโรงงานติดกัน จะคุยกันยังบ่เคยเลย นอกจากวันอาทิตย์วันเดียว

คนไทยคุยกันบ่ได้เลย สองโมงครึ่งเข้างาน หกโมงครึ่งเลิกงาน ทำอาหาร เข้านอนเลย มานั่งคุยกันอย่างนี้บ่ได้ วันอาทิตย์ก็ต้องพัก กินหลายก็บ่ได้ เดี๋ยววันจันทร์ทำงานบ่ได้

ไม่อยากให้หนี มันเสียสิทธิหลายอย่าง มันผวาไปหมด ตอนมาใหม่ๆ นี่ผมหันรีหันขวางตลอด มันติดนิสัย มองซ้ายมองขวาตลอด ตอนมาอยู่บ้านสองอาทิตย์แรกนี่บ่อยากพบปะหน้าคนเลย ไม่ยอมสบตาใครเลย แทบจะเป็นบ้านั่นล่ะ ไม่อยากเว้านำใคร มันติดเป็นนิสัย วิ่งหนีนี่สุดชีวิตเลย แต่ถ้าเก๋าหน่อยก็อาศัยบังมุม โรงงานก็เตรียมไว้ให้เด้อ แต่ถ้าเอาจริงก็ต้องหนีสุดชีวิตนั่นแหล่ะ มีการซ้อมหนีด้วย เตรียมที่หลบให้ แต่ถ้าตำรวจเอาจริงก็ใช้บ่ได้ วิ่งหนี โดดหนีอย่างเดียว เข่าอ่อนเลย ตอนกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ นี่แทนที่จะทักทายพี่ป้าน้าอา ผมหนีเลย มันตื่น

ทำไมถึงกลับไทย และกลับอย่างไร?

ผมแทบจะเป็นบ้า ทำงานนี่ต้องหันรีหันขวางตลอด ต้องส่ายตาไปมาตลอด บางวันตำรวจจะมาจับ แต่หยุดงานไม่ได้ ก็ต้องล็อคโรงงาน ตอนจะกลับก็บอกคนเกาหลีที่ได้แฟนคนไทย จ้างประมาณ 5,000 บาท เขาจะพาเราไปแจ้ง ซื้อตั๋วให้ และพาเราไปสนามบิน ไปกรอกเอกสาร และขึ้นเครื่องบินกลับเลย ต้องเสียประมาณ 5,000 บาท เขาก็มีการปั๊มลายนิ้วมือ พาสปอร์ตใหม่

คำที่ใช้เรียกคนงานต่างชาติ ขึ้นอยู่กับว่าใครใช้

ภาษาทางการ             จะเรียกว่า "คนงานถูกกฎหมาย" และ "คนงานผิดกฎหมาย"

ภาษาทางวิชาการ        "คนงานมีเอกสาร" และ "คนงานไม่มีเอกสาร"  หรือ “คนงานไม่แน่นอน"

ภาษาแสลง                "คนผี"  “คนโดดวีซ่า" 

ภาษาสื่อ                   "คนงานอยู่เกินวีซ่า"

เรื่องเล่าของคนงานไทยที่เกาหลีในปี 2559

ความสะเทือนใจจากการได้รับฟังปัญหาอันมากมายที่คนงานไทยในเกาหลีใต้เล่าให้ฟัง โดยเฉพาะจากพี่สาวและน้องสาวที่ต้องทนอยู่กับมันบางคนถึง 13 หรือ 14 ปี โดยที่ไม่มีโอกาสกลับเมืองไทยเลย มันค้างคาอยู่ในความทรงจำ และชวนให้รู้ศึกโศกสลดและเจ็บปวดไปกับพวกเธอจนถึงบัดนี้ ผมรับปากกับทุกคนว่าจะเขียนบทความเล่าเรื่องราวชีวิตของคนงานไทยในเกาหลีใต้ให้สังคมไทยได้ร่วมรับรู้ ถึงความยากลำบาก ความเสียสละ และวิถีชีวิตที่คนไทยต้องเลือกเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวในเมืองไทยและของตัวเองในต่างแดน ในสภาพการเมืองของประเทศบ้านเกิดเมืองนอนที่ทอดทิ้งและไม่เหลียวแลประชาชน และในประเทศเกาหลีใต้ ที่พวกเขาเข้าไปทำงานและอยู่อาศัยนานถึง 13 – 14 ปี ก็ไม่เคยมีความมั่นคงและไม่ยอมรับในการมีตัวตนของพวกเขาหลายหมื่นคน

เรื่องของคำหล้า

ผู้เขียนและคณะใช้เวลาอยู่กับคำหล้าหลายวัน พากันไปเยี่ยมคนงานกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ และได้อิ่มอร่อยกับอาหารไทยอีสานที่พี่คำหล้าทำให้กินทุกวันจนพุงกาง

ถ้าดูผิวเผินบนท้องถนน คำหล้าก็คือหญิงเกาหลีคนหนึ่ง ทั้งหน้าตาและการแต่งตัว ด้วยเหตุนี้เธอจึงอยู่อาศัยและทำงานในเกาหลีใต้ โดยรอดพ้นจากการถูกตำรวจจับส่งกลับประเทศไทยมาได้ 13-14 ปี

คำหล้า หรือพี่คำหล้าเป็นหญิงไทยชาวอีสานที่อยู่เกาหลีโดยไม่มีวีซ่า เธอบอกว่าจะยังไม่กลับไทยจนกว่าลูกสาวที่เรียนปริญญาโทจะจบการศึกษา เธอผ่านงานมาหลายอย่างทั้งงานเกษตร งานโรงงาน ทั้งได้เงินและไม่ได้เงิน ปัจจุบันเธอทำงานป๊ำถุงครอบพลาสติกที่รายได้ขึ้นอยู่กับชิ้นงานที่ผลิตได้ วันละประมาณ 25,000 – 88,000 วอน เนื่องจากอยู่มานาน คำหล้าจึงเป็นที่รู้จักของคนงานไทย คนงานบางคนเรียกเธอว่า ‘แม่’

ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่เกาหลีใต้ คำหล้าต้องอยู่อย่างหลบซ่อน เมื่อสามีที่เดินทางมาด้วยกันถูกจับส่งกลับไทย (และก็ต้องเลิกรากันเพราะความห่างไกล) เธอตัดสินใจอยู่ต่อเพราะยังใช้หนี้สินทางเมืองไทยไม่หมด และเพราะต้องการรายได้ส่งลูกเรียนหนังสือให้สูงที่สุดที่จะเรียนได้ โดยที่คำหล้าต้องเสียสละเป็น "คนผี" ที่ไม่ได้กลับประเทศไทย

ยามที่บุคคลที่เป็นแรงผลักดันให้เธอต้องดิ้นรน อดทน และเอาตัวรอดให้ได้ในเกาหลีใต้มาได้จนถึงบัดนี้ได้ทยอยทิ้งเธอไปถึง 2 คน คือ แม่ที่เธอส่งเงินมาดูแลมาเสียชีวิตไปในปลายปี 2558 โดยที่คำหล้าไม่มีโอกาสแม้แต่จะมากราบลาหรือมาร่วมงานศพ และที่ทำให้เธอหัวใจสลาย คือ เมื่อลูกชายสุดที่รักที่เธอพามาทำงานด้วยที่เกาหลีแต่ต้องกลับประเทศไทยไปก่อนเพราะได้รับอุบัติเหตุถูกเครื่องจักรตัดมือก็มาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง มันเป็นความเจ็บปวดอันยากจะบรรยาย และร่องรอยแห่งความเศร้าโศกยังประทับอยู่ที่หน้าของคำหล้าอย่างเด่นชัด แม้ในยามที่เราได้พบกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา        

ภายใต้น้ำใจและมิตรภาพ การต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง คำหล้าในช่วงที่ผู้เขียนได้พบ คือ ผู้หญิงที่หัวใจบอบช้ำอย่างรุนแรง ดูไร้แรงบันดาลใจที่จะดิ้นรน ความฝันเพียง 2 อย่างที่เป็นแรงกระตุ้นให้เธอดำรงชีวิตอยู่ต่อคือ การได้เห็นลูกสาวเรียนจบปริญญาโทเพื่อที่เธอจะได้วางแผนกลับไทยไปทำตามความฝันในเรื่องที่สอง คือ กลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในบ้านเกิด และช่วยสอนภาษาเกาหลีเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนที่จะมาเสี่ยงโชคแบบเธอที่เกาหลีใต้

มันยากที่จะเข้าใจความเจ็บปวดและความทรหดอดทนของคำหล้ากับชีวิต 13 ปีในเกาหลีใต้ โดยไม่ได้กลับประเทศไทยเลย มันเป็นเวลาไม่ใช่น้อย และความเจ็บปวดที่ต้องทนอยู่กับการคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว การพลาดโอกาสในการเห็นลูกเติบโตอย่างใกล้ชิด การต้องเอาตัวให้รอดในทุกสภาพงานและความยากลำบากเพื่อรายได้ที่ดีกว่าไทย จนเลือกที่จะสูญเสียอิสรภาพในการเดินทางก็เป็นเรื่องที่ยากจะประเมิน        

ความผูกพันกับเกาหลีใต้ในฐานะประเทศที่สองของคำหล้าก็มีไม่น้อยเช่นกัน เธอชอบพื้นที่แห่งความเป็นส่วนตัวที่มีมากกว่าในประเทศนี้ และอยากมีสิทธิเดินทางเข้าออกระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ได้อย่างเสรี กระนั้นเธอก็โหยหาที่จะกลับบ้านไปใช้ชีวิตในบ้านและที่ดินที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นผลิตผลแห่งความอดทนทำงานอย่างไม่ย่อท้อที่เกาหลีใต้กว่า 10 ปี

เรื่องของบัวผัน

บัวผันเป็นหญิงสาวชาวอีสานที่คล่องแคล่วและเข้มแข็งอีกคนหนึ่งที่ผู้เขียนไม่อาจลืมเธอได้ แม้จะได้พบและพูดคุยกันเพียงวันเดียว บัวผันอยู่เกาหลีในเวลาไล่เลี่ยกับคำหล้า เธอเป็นคนฉะฉานคล่องแคล่วและหารายได้เสริมเก่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีงานทำ หรือต้องอยู่อย่างหลบซ่อนในช่วงฤดูกวาดจับของตำรวจ ชีวิตของบัวผันสะท้อนชะตาชีวิตของหญิงไทยที่ต้องเข้มแข็งและเสียสละตัวเองเพื่อครอบครัว ที่รวมทั้งสามี ลูก และญาติๆ เธอเล่าว่าเดินทางมาทำงานกับสามี แต่สามีถูกจับและส่งกลับก่อน เธอจึงทำงานคนเดียวและส่งเงินกลับไปให้สามีและพี่สาวเพื่อให้ดูแลลูกๆ แต่ไม่นานสามีก็มีแฟนใหม่และเธอก็ยังส่งเสียเงินให้เขาโดยไม่รู้เรื่องในช่วงแรก เมื่อเธอทำงานได้ 6 ปีและคิดว่ามีเงินเก็บที่เมืองไทยพอแล้วที่จะกลับไปตั้งตัว เธอคิดจะกลับเมืองไทย แต่เมื่อทวงถามพี่สาวที่ดูแลบัญชีให้เธอถึงจำนวนเงินในบัญชี ปรากฎว่าเหลือเงินในบัญชีเพียง 200 บาท เธอแทบลมจับที่เงินที่เธอส่งกลับบ้านทุกเดือนๆ ละกว่าล้านวอนถูกทางบ้านใช้หมดไม่เหลือเลย เธอจึงตัดสินใจยกเลิกบัตรกดเงินอัตโนมัติที่ให้พี่สาวไว้ และเก็บเงินในบัญชีของตัวเองที่ไม่มีใครเบิกจ่ายได้

สำหรับคนที่ได้คลุกคลีกับคนงานต่างชาติจะรับรู้ ‘ความร่วม’ ในชะตากรรมของคนงานหญิงชายไทยไม่น้อย จากเรื่องราวของบัวผัน มันเป็นเรื่องราวที่เราได้ยินได้ฟังกันมายาวนานหลายสิบปีเกี่ยวกับการเสียสละตัวเองมาทำงานเมืองนอกโดยไม่ได้กลับบ้านเป็นเวลาหลายปี บางคนก็ตั้งแต่เป็นหนุ่มน้อยหรือยังเป็นสาววัยขบเผาะ จนล่วงเลยสู่วัยกลางคน คำกล่าวแห่งยุคทศวรรษ 2520 ที่ว่า "ไปเสียนา มาเสียเมีย" ได้กลายมาสู่ "ไปเสียบ้าน มาเสียผัว" ในยุคทศวรรษ 2550 เมื่อช่องทางการทำงานต่างประเทศของชายน้อยลงเรื่อยๆ และช่องทางของหญิงไทยก็เปิดรับมากขึ้น

ทั้งพี่คำหล้าและบัวผัน รวมทั้งคนงานที่ไม่มีสัญญาจ้างอีกหลายคนบอกว่า การทำงานโดยถูกนายจ้างหรือนายหน้าชักดาบเป็นเรื่องปกติของคนงานที่ไม่มีวีซ่าทำงาน ความโชคดีที่สุดของพวกเขาคือการได้มีนายหน้าที่ไม่คดโกงพวกเขา ทั้งนี้ในระบบการจ้างงานที่ต้องมีนายหน้าพาไป นายหน้าจะหักเงิน 13% จากค่าแรงรายวันที่พวกเขาได้รับ และแม้ว่าค่าแรงรายวันจะดูสูงและบางเดือนในช่วงฤดูทำงานจะได้ค่าแรงสูงกว่าลูกจ้าง EPS บางเดือนที่มีการทำงานหามรุ่งหามค่ำ อาจได้ค่าแรงเหยียบแสนบาทต่อเดือน แต่เงินเหล่านี้ก็ต้องถูกนำมาใช้จ่ายในฤดูที่ไม่มีงานทำ หรือการต้องอยู่แบบเก็บตัวในช่วงตำรวจตรวจับเช่นกัน

นอกเหนือจากปัญหามากมายที่พวกเขาต้องเผชิญกันอยู่แล้ว ในฤดูที่ ตม. ตรวจจับแบบเข้มข้น ซึ่งทางการเกาหลีจะประกาศให้ทราบล่วงหน้า คนที่อยู่เกินวีซ่าทั้งหลายก็จะพยายามหลบเลี่ยงการเดินทาง จะไปไหนก็ต่อเมื่อนายจ้างหรือเอเยนต์เป็นคนพาไป ทั้งคำหล้าและบัวผันเล่าให้ฟังถึงความหวาดกลัวของคนงานในการเดินทางไปหาหมอหรือเดินทางเข้าเมือง สำหรับสภาพการทำงาน พวกเขาและเธอมักจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อได้รับอุบัติเหตุจากที่ทำงานก็มักจะไม่กล้าต่อรองค่าใช้จ่าย เมื่อท้องก็ไม่เข้าถึงระบบการดูแลครรภ์และการคลอด ในขณะที่คนงานหญิงจากชาติอื่นที่ท้องและคลอดลูกที่เกาหลีจะดูแลลูกเอง คนงานหญิงชาวไทยถ้าท้องที่เกาหลีและยิ่งถ้าเป็นคนงานที่ไม่มีสัญญาจ้างและไม่มีวีซ่า พวกเธอจะให้ญาติเดินทางมาจากเมืองไทยหรือเพื่อนที่จะกลับไทยอุ้มลูกในวัยไม่กี่เดือนกลับไปให้ครอบครัวที่เมืองไทยเลี้ยงดูแม้ว่าจะยังอยู่ในวัยแบเบาะ โดยไม่ได้มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง 

นอกจากเรื่องราวและภาพชีวิตของสองหญิงไทยที่ทรหดอดทนแล้ว ในช่วง 10 วันผู้เขียนและคณะก็ได้เดินทางไปพบกับคนงานไทยอีก 2-3 กลุ่ม รวมทั้งรับฟังปัญหาที่น่าเป็นห่วงจากเจ้าอาวาสวัดพุทธรังษีโซล

เดือนพฤษภาคม 2559 การพบกับคนงานกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม

กลุ่ม 1:  เราพบกับคนงาน 10 คน ที่เดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่าท่องเที่ยวและไม่มีสัญญาจ้าง มีคนที่เพิ่งเดินทางมาถึงไม่กี่สัปดาห์จนอยู่มามากกว่า 7 ปีขึ้นไป (หญิงชายอายุระหว่าง 25–40 ปี) พวกเขามักจะจ้างนายหน้าหางานๆ ละ 500,000 วอน (15,000 บาท) และส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานรายวัน ซึ่งไม่ได้มีงานทุกวัน วันที่ได้ทำงานพวกเขาอาจจะได้ค่าแรง 60,000 ถึง 100,000 วอน (1,800–3,000 บาท) ซึ่งจะถูกนายหน้าหักไป 13% ผู้หญิงมักได้ค่าแรงต่ำกว่าผู้ชาย ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน-มีนาคมที่มีหิมะตก บางเดือนได้ทำงานแค่ 4-5 วัน

แม้ว่ารายได้ต่อวันจะสูง แต่วิถีชีวิตของพวกเขาอยู่บนการมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ในช่วงเดือนกวาดล้างคนงานต่างชาติ พวกเขาจะอยู่กันด้วยความหวาดผวา และในช่วงเดือนที่ไม่ค่อยมีงานทำนี้ พวกเขาต้องกู้เงินนายหน้าที่เกาหลีเอามาเป็นค่าใช้จ่าย (หลักๆ คือ ค่าเช่าห้องและค่าอาหาร) และยังต้องกู้เงินที่เมืองไทยเพื่อมาจ่ายนายหน้าที่เมืองไทยอีกด้วย

พวกคนงานไทยเหล่านี้จัดเป็นคนอยู่นอกชายขอบของสังคมเกาหลี ทั้งไร้ตัวตนและไร้เสียงภายใต้การสอดส่องคนงานต่างชาติอย่างเข้มงวด พวกเขาทำงานกันในด้วยความตึงเครียดที่ยิ่งพอกพูนทวีคูณเมื่อต้องอยู่กับนายจ้างที่กดขี่พวกเขาซ้ำเติม เพราะว่าพวกเขาเป็นคนงานที่ไม่มีวีซ่า คนงานคนหนึ่งบอกว่าเธอเตรียมตัวถูกจับและส่งกลับบ้านอยู่ทุกวัน คนงานอีกคนบอกว่าเขาถูกจับเพราะขับรถโดยไม่มีใบขับขี่เมื่อหลายปีก่อน จึงไม่อาจสมัครงานผ่าน EPS ได้อีก จึงต้องมาทำงานในสภาพที่ถูกเรียกว่า "คนผิดกฎหมาย" 

กลุ่ม 2: เป็นกลุ่มคนงานชายอายุระหว่าง 30–40 ปี พักอาศัยในแฟลตในบริเวณโรงงานที่นายจ้างสร้างให้ พวกเขาทำงานในโรงงาน SME รับเหมาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ พวกเขาเป็นคนงานที่มีสัญญาจ้างตามระบบ EPS, E9 ในโรงงานนี้มีคนงานประมาณ 40 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานต่างชาติที่ทำงานมาแล้วระหว่าง 3–9 ปี แต่ค่าแรงคนงานจะอยู่ในระดับขั้นต่ำโดยไม่มีการปรับขึ้นแม้ว่าจะมีอายุการทำงานถึง 9 ปีก็ตาม

สภาพความเป็นอยู่

กลุ่มคนงานที่ไม่มีวีซ่ามักจะอยู่ในบ้านเช่านอกเมืองหรือห่างไกลจากผู้คน นอกจากต้องอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลคนและสายตาจ้องจับผิดยังจะต้องเก็บตัวอยู่กันในหมู่พวก ระมัดระวังที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แค่เห็นตำรวจก็จะพากันหวาดผวาแล้ว พวกเขาจะทำอาหารมื้อเย็นที่เก็บไว้ห่อไปกินในที่ทำงานในวันรุ่งขึ้น ส่วนใหญ่ยังคงทำอาหารอีสาน ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของพวกเขาก่อนมาเกาหลี ทั้งนี้อุปกรณ์เครื่องปรุงอาหารไทยนั้นหาได้ไม่ยากนัก เนื่องจากมีร้านขายและมีรถวิ่งเร่ขายอาหารมายังชุมชนของคนงานกันเลยทีเดียว แต่เนื่องจากว่าอุปกรณ์ปรุงอาหารไทยราคาค่อนข้างแพง คนงานที่อยู่กับนายจ้างบางคนจะประหยัดเงินและไม่ยอมทำอาหารกินเอง จะกินอาหารตามที่นายจ้างจัดให้ ซึ่งเป็นอาหารเกาหลีที่เต็มไปด้วยข้าวและผักดองต่างๆ พวกเขาก็จะรู้สึกว่าได้รับสารอาหารไม่ครบหมู่ 

สภาพปัญหาและข้อห่วงใย

ภาษา เป็นปัญหาใหญ่ที่สะท้อนโดยคนงานทุกคนที่พวกเราได้คุยด้วย คนงานไทยส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถทางภาษาที่เก่งพอที่จะสื่อสารกับนายจ้างได้ และเมื่อเทียบกับคนงานชาติอื่น ความสามารถทางภาษาของคนงานไทยจะพัฒนาช้ากว่ามาก ทั้งนี้อาจจะเนื่องด้วยการเป็นกลุ่มคนที่อยู่เกินวีซ่า จึงไม่กล้าเข้าเรียนภาษาตามศูนย์ต่างๆ ที่มีทั่วไปของทั้งรัฐและเอกชน และไม่ได้มีโอกาสฝึกฝนการใช้ภาษาอย่างจริงจัง คนงานไทยจึงไม่อาจจจะต่อรองกับนายจ้างในเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพการทำงาน หรือสภาพการกินอยู่ได้ หรือไม่อาจปฏิเสธที่จะทำงานที่อันตราย ไม่อาจต่อรองค่าจ้างเรื่องอาหารและที่พัก หรือเพื่อการทวงถามค่าจ้างจากนายจ้าง หรือเพื่อใช้ในการปกป้องตัวเองจาการถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง ซึ่งเกิดขึ้นกับแรงงานหญิงได้ง่าย โดยเฉพาะในงานภาคเกษตรที่ต้องอยู่ห่างไกลผู้คนและต้องอยู่กับนายจ้าง เป็นต้น

การเสียชีวิตจากการไหลตายและไม่ทราบสาเหตุ

เมื่อคนงานไทยที่เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง เจ้าอาวาสที่วัดพุทธรังษีโชลเล่าให้ฟังว่า ปลีกวิเวกไม่ได้ง่ายเลย ด้วยเมตตาธรรมและหลักมนุษยธรรมก็ต้องช่วยดูแลคนไทยที่มีปัญหานอกเหนือจากเรื่องการสวดมนต์ให้พรตามปกติแล้ว ยังต้องรับโทรศัพท์ให้คำปรึกษาคนงานตลอดเวลา รวมทั้งสวดมนต์ขออโหสิกรรมแม่ที่ต้องทำแท้งลูกเพราะสภาพเงื่อนไขชีวิตการทำงานที่เกาหลีใต้ทำให้ไม่อาจทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยได้ นอกจากนี้วัดไทยต้องทำหน้าที่สวดศพและช่วยระดมเงินบริจาคเพื่อการจัดพิธีศพให้คนงานที่เสียชีวิตอีกด้วย ซึ่งเจ้าอาวาสเองก็สะท้อนความห่วงใยที่สอดรับกับสถิติคนงานเสียชีวิตที่เกาหลีใต้ที่สูงจนเป็นที่สังเกตเห็นในชัดในช่วงปีที่ผ่านมาและปีนี้ ทั้งพระและกรรมการวัดมักจะต้องเรี่ยไรเงินกันบ่อยครั้งเพื่อใช้ในการประกอบพิธีศพและจ่ายค่าเผาศพที่แพงมากนับแสนบาท รวมทั้งค่าจัดส่งเถ้ากระดูกกลับไปให้ครอบครัวที่ประเทศไทย เรื่องราวการไหลตายของคนงานไทยที่เกาหลีใต้มาพร้อมกับทฤษฎีที่ว่าคนงานที่ไหลตายนั้นเพราะขาดอ๊อกซิเจนเนื่องจากอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ หรือเพราะพวกเขาทำงานหนักในสภาพที่ร่างกายอ่อนแอขาดสารอาหาร กินแต่ข้าวกับกิมจิที่นายจ้างจัดให้ โดยไม่ยอมใช้เงินซื้ออาหารที่มีคุณประโยชน์เพิ่มเติม เนื่องจากต้องการเก็บเงินส่งกลับเมืองไทยให้มากที่สุด

นอกจากนี้คนงานยังมีปัญหาด้านสุขภาพหลายด้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนงานต่อไปนี้ 1) คนงานหญิงที่ท้องและไม่ได้รับการดูแลครรภ์ และต้องจ่ายค่าคลอดในโรงพยาบาลเอกชนด้วยตัวเองที่แพงกว่าโรงพยาบาลรัฐมาก รวมทั้งเรื่องผลข้างเคียงและสภาพจิตใจจากการต้องทำแท้ง 2) ลูกคนงานที่คลอดที่เกาหลี  3) อุบัติเหตุจากการทำงาน ทั้งจากการถูกเครื่องจักรตัดนิ้วหรืออวัยวะอื่นๆ จนพิการ รวมทั้งจากสารเคมีจากการทำงานในโรงงานหรือจากภาคเกษตรและภาคการประมง 4) คนงานที่ไม่มีสัญญาจ้างที่อายุเกิน 45 ปีขึ้นไป 5) คนงานในภาคเกษตร (เนื่องจากอยู่ในชนบทห่างไกล 6) คนงานไม่มีสัญญาจ้าง (เนื่องจากไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย) 7) คนงานนวด (เนื่องจากไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย) และจะถูกควบคุมในเรื่องการเดินทางไปไหนมาไหนจากนายจ้างมากที่สุด ด้วยการข่มขู่ว่าจะเลิกจ้างหรือเรียกตำรวจมาจับส่งกลับบ้าน

กรณีหลอกหญิงมานวดแล้วบังคับค้าบริการ ก็เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันมาบ่อย โดยที่นายจ้างจะยึดพาสปอร์ตของเธอเอาไว้และจ่ายค่าจ้างต่ำมาก และยังมีกรณีล่วงละเมิดทางเพศกับคนงานหญิงในร้านนวดที่เจ้าของเป็นชายเกาหลีอีกด้วย ผู้หญิงไทยที่ถูกจับในร้านนวดหรือสถานขายบริการจะถูกจับส่งกลับเมืองไทยทันที โดยไม่มีการเปิดโอกาสให้คนงานได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีจากการถูกหลอกมาค้ามาขายบริการ อนึ่ง อาชีพนวดเป็นอาชีพที่เกาหลีใต้สงวนไว้ให้กับผู้พิการทางสายตาและมีการตรวจจับร้านนวดอย่างเข้มข้น

ปัญหาการแบ่งแยกและมีทัศนคติที่ลบต่อกันอยู่บ้าง ระหว่างคนงาน EPS กับคนงานเดินทางเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว ทางคนงาน EPS จะปรักปรำคนงานที่เข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวว่าไม่ได้เผชิญกับความยากลำบากและการรอคอยที่ยาวนานกว่าจะได้เข้ามาทำงานตามกระบวนการ EPS เจ้าหน้าที่รัฐฯ ของทั้งสองประเทศยังมีกรอบการทำงานที่ดูแลเฉพาะคนงานที่มาทางสัญญาจ้าง EPS เท่านั้น ส่วนทางเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยมอง "คนงานผิดกฎหมาย" หลายหมื่นคนเหล่านี้ว่าทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้คนที่ประสงค์จะเดินทางเข้าเกาหลีใต้ไปท่องเที่ยว (สูงมากที่สุดในโลก) ที่มีปีละร่วม 400,000 คนได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะเข้ามาหางานทำ

คนงานอยู่เกินวีซ่า หรือที่สังคมเรียกกันว่า "คนผี" ภาษาทางราชการเรียกว่า "คนงานผิดกฎหมาย" และภาษาทางงานวิชาการเรียกว่า "คนไม่มีเอกสารหรือสัญญาจ้าง" จึงเป็นกลุ่มคนที่กลายเป็น "นักโทษ" ทางสังคมไป โดยเฉพาะในกรณีคนงานไทยที่ประเทศเกาหลีใต้ เพราะพวกเขาไม่ใช่คนงานต่างชาติที่มีภาพของการเป็นเหยื่อของการเมืองในประเทศ แต่เป็นกลุ่มคนที่ต้องการแสวงหาชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในประเทศบ้านเกิด พวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตอย่าง "คนและผี" คือมีชีวิตแบบมองไม่เห็น ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครต้องการเห็น และคนที่ต้องการเห็นก็เป็นพวก "หมอผี" หรือตำรวจที่ไล่กวาดจับพวกเขาส่งกลับประเทศไทย   

“คนกึ่งผี" เหล่านี้ไร้ตัวตนแต่มีจำนวนถึง 60% หรือ 50,000 คน ที่ได้เป็นแรงกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมกรรมและภาคเกษตรขนาดเล็กของเกาหลีใต้ให้พัฒนาต่อเนื่องมาอย่างน้อยสองทศวรรษ จึงเป็นคนที่ไม่ควรถูกมองและประณามเพียงด้านลบ แต่ต้องได้รับความเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งในฐานะของแรงงานที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้โดยที่ไม่มีใครต้องการรับผิดชอบความชอบธรรมทางกฎหมาย

เมื่อเทียบคนผีไทยกับคนงานจากพม่า ลาว เขมร และชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดนไทยแล้ว ความกดดันของคนผีไทยที่เกาหลีใต้จะดูรุนแรงมาก เพราะค่าใช้จ่ายนั้นสูงกว่าและเมื่อถูกจับก็ไม่ใช่แค่ถูกผลักดันให้ออกประเทศเพื่อที่จะเดินข้ามชายแดนเข้ามาใหม่ในวันรุ่งขึ้น แต่มันหมายถึงการอาจจะถูกจับขังคุกถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับ ต้องเป็นหนี้เพิ่ม และถูกแบล็คลิสต์ไม่ให้เข้าประเทศเกาหลีใต้อีกเป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย ซึ่งการถูกแบล็คลิสต์ก็เป็นเรื่องที่คนงานกลัวกันมาก

ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ การจำกัดสิทธิและกวาดล้างคนงานต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นคนงาน EPS หรือคนงานผี สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ สภาพการทำงานในเกาหลีใต้ที่ต้องใช้แรงงานต่างชาตินั้นก็เป็นเช่นในทุกประเทศคือ เป็นงานที่เรียกว่า 3D หรือ 4D Dangerous (อันตราย), Difficult (ยาก), Dirty (สกปรกเปรอะเปื้อนทั้งสารเคมีและสารอินทรีย์) และ Deadly (ตายได้) ซึ่งแม้ว่าความตายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ชายไทยที่ทำงานต่างประเทศ นับตั้งแต่ยุคซาอุดรฯ หรือยุคก่อสร้างสิงคโปร์ในทศวรรษที่ 2530 นั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคไหลตายกันมาก ที่เกาหลีใต้ในช่วง 3 ปีมานี้ ตัวเลขคนงานเสียชีวิตในปี 2558 มีมากถึง 73 คน และในช่วงต้นปี 2559 นี้เป็นต้นมา มีคนงานไทยเสียชีวิตแล้ว 39 คน โดยที่ 90% เป็นผู้ชายและเกิดจากสภาวะที่เรียกว่า "ไหลตาย" ซึ่งมีองค์ประกอบกระตุ้นให้เกิดการตายแบบนี้อย่างชัดเจนว่ามาจากสภาวะการทำงานที่เครียด พักผ่อนน้อย และสุขภาวะต่ำ ซึ่งการเสียชีวิตที่สูงต่อเนื่องมา 3 ปีของแรงงานชายไทยที่เกาหลีใต้เป็นสถานการณ์ที่ควรได้รับการใส่ใจและศึกษา โดยเฉพาะการลุกขึ้นมาทำความเข้าใจ สร้างความตระหนักของสังคมถึงสภาพปัญหาและการกดดันที่คนงานหลายหมื่นคนที่ต้องอยู่อย่างผีในเกาหลีใต้กันอย่างจริงจัง

ฟาร์มขนาดเล็กที่มีเรือนกระจกกระจายอยู่ทั่วไป
ฟาร์มเหล่านี้จะใช้แรงงานต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทยและกัมพูชา 

สัดส่วนคนอยู่เกินวีซ่าที่มีจำนวนสูงถึง 60% นั้นเป็นสถิติที่น่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นการโยนความผิดไปให้แรงงานไทยเหล่านี้กันอย่างง่ายดายว่าทำให้เสียภาพลักษณ์ประเทศไทยเช่นที่มีการกล่าวอ้างถึง เพราะแรงขับเคลื่อนของความต้องการแรงงานไทยถึง 60% ให้ดำรงอยู่อย่างไร้สถานภาพและไร้สัญญาจ้าง แม้จะมีความเสี่ยงทั้งตัวนายจ้างและตัวลูกจ้าง นั่นก็สะท้อนว่า ขบวนการนายจ้างและธุรกิจขนาดย่อยที่เกาหลีใต้ก็ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบ EPS กับรัฐบาลเกาหลีใต้ และก็น่าจะมีส่วนผลักดันอย่างมากให้มีกระบวนการหาคนงานไทยมาทำงานโดยไม่ผ่านระบบ EPS โดยใช้ช่องโหว่เรื่องวีซ่านักท่องเที่ยว 3 เดือนในการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้ไทยเป็นกลุ่มคนงานอยู่เกินวีซ่านักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดกว่าทุกประเทศ และพวกเขาก็อยู่โดยมีนายหน้าทำหน้าที่หางานป้อนให้ตลอด แม้จะเป็นงานไม่แน่นอน ไม่มีความมั่นคง แต่ค่าจ้างต่อรายชั่วโมงเมื่อทำงานก็ค่อนข้างสูงกว่าคนงานสัญญาจ้าง (เพื่อชดเชยการไม่ให้สวัสดิการและช่วงฤดูที่ไม่มีงานทำ โดยเฉพาะฤดูหนาว และในช่วงซ่อนตัวในฤดูตรวจจับ)

คำถามว่าทำไมเจอปัญหาแล้ว ยังดิ้นรนขวนขวายกลับไปเกาหลีใต้อีกก็มีคำอธิบายได้หลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และการเมืองไทยที่วุ่นวายมาตลอดนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ได้สร้างสภาวะความตึงเครียดและไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมากในประเทศไทย ผนวกกับขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิและค่าแรงของคนทำงานให้สูงเท่าทันค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นแทบจะทำไม่ได้เลย ทำให้กลไกค่าแรงและสวัสดิการของไทยนั้นต่ำกว่าค่าครองชีพมาก นี่จึงเป็นแรงผลักดันให้คนคิดหางานเมืองนอกที่มีรายได้สูงกว่า และการเพิ่มขึ้นของการดิ้นรนจะไปทำงานที่เกาหลีใต้ก็สูงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดช่องทางวีซ่า 90 วันในช่วงกลางปี 2550 รัฐประหาร 2557 ก็เป็นแรงผลักให้คนไทยต้องดิ้นรน "ไปตายเอาดาบหน้า" กันอีกครั้ง แม้ว่าจะรับทราบกันค่อนข้างเยอะขึ้นแล้วถึงความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการถูกหลอก ถูกโกง และจะทำต้องทำงานในสภาพงานที่หนัก, อันตราย, และยากลำบากกันก็ตามที

จะเห็นได้ว่า แรงดึงดูดจากเกาหลีใต้และแรงผลักจากประเทศไทยนั้นเป็นปัจจัยด้านมหาภาคที่สำคัญยิ่งและควรถูกนำมาให้คุณค่าในการถกเถียงและหาคำอธิบาย หยุดโยนความผิดกันง่ายๆ ไปให้กับคนที่เลือกจะทำงานโดยไม่มีวีซ่าและไม่มีสัญญาจ้าง หันมาพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นทั้งแรงผลักดันให้พวกเขาต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อเข้ามาทำงานที่เกาหลีใต้และแรงดึงดูดจากประเทศเกาหลีใต้เองที่แม้จะมีความเสี่ยงและนายจ้างต้องเสียค่าปรับจากการใช้คนงานต่างชาติโดยไม่มีสัญญาจ้างก็ตาม แต่ความต้องการแรงงานในวิธีการจ้างงานแบบนี้ก็มีอยู่ทั่วทุกมุมเมืองของเกาหลีใต้

ชีวิตคนทำงานต่างประเทศ

เสรีภาพที่มากมายด้วยข้อจำกัด

บนความเท่าเทียมกันแน่แท้ในงานหนัก

ความเป็นความตายที่ต้องทำบุญไถ่บาป

ในความแปลกแยกทั้งกับสังคมเก่าและสังคมใหม่

ที่ซ้อนทับซับซ้อนจนชาชิน

บนการเลือกที่เจ็บปวดเกินกว่าใครจะเข้าใจ

 

ในความนิ่งเฉยที่โหวงเหวงและเปลี่ยวเหงา

ชะตาชีวิตที่ตนเท่านั้นคือที่พึ่งแห่งตน

วังวน วนเวียน สิงคโปร์ ไต้หวัน อาหรับ อิสราเอล ฟินแลนด์ เกาหลีใต้

ชีวิตติดกับดักแห่งกับดักชีวิตใต้อุ้งมือมาร

กระเสือกกระสนดิ้นรนร่ำไห้ร้องขอ

แต่ฟ้าบ่มีใจนายจ้างบ่มีเมตตา

 

ชีวิตที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนนอก -

คนผี คนผิดกฎหมาย คนต่างด้าว คนชายขอบ คนชั้นล่าง คนไร้การศึกษา

แม้ถ้าร่างกายไม่ดับสูญไปกับงาน

จิตวิญญาณของหลายชีวิตก็อ่อนระโหยรวยริน

ถั่งโถมเร่งโหมกำลังด้วยความฝันสร้างอนาคต

กลับคืนสู่บ้านเกิดพร้อมการสูญสิ้นศรัทธาในทุกสิ่ง

 

ผู้คนทุกชนชั้นจากบนสู่ล่าง

พากันประสานเสียงบอกเหล่าคนทุกข์

ให้ "อดทน" “อดทน" “ยอมจำนน" “อย่าดื้อ" และ "อย่าเถียง"

ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า สู่รุ่นพ่อรุ่นแม่ และยันถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

วัฏจักรชีวิตที่ถูกบอกว่า "ทำเวรทำกรรม" ในชาติปางก่อน

จึงต้องเกิดมาใช้กรรมตามยถาในชาตินี้หรือชาติหน้า!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net