Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้บริโภค ระบุ ประเด็นสิทธิผู้บริโภคในร่างรัฐธรรมนูญล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา ชี้ร่างกฎหมายไม่ชัดเจน ปิดกั้นสิทธิขั้นพื้นฐาน เขียนเฉพาะเรื่องที่มีอยู่แล้ว ลดอำนาจองค์กรเพื่อผู้บริโภคที่จะเข้าไปให้ความคิดเห็นต่อนโยบาย และมาตรการของรัฐ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติวันที่ 7 ส.ค. นี้ ในประเด็นสิทธิผู้บริโภคว่า เป็นการร่างกฎหมายด้วยทัศนคติที่ล้าหลังมาก เนื่องจาก มีความเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อนหน้า คือ ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 โดยสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ การไม่ได้เขียนให้ชัดว่าให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค อยู่ในตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 2 ฉบับก่อนหน้าได้มีการระบุอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการตัดเนื้อหาที่เคยมีอยู่รัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนที่ให้อำนาจกับตัวแทนผู้บริโภคในการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการเข้าไปออกความเห็นต่อนโยบาย มาตรการต่างๆ ของรัฐที่มีส่วนกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภค

“ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะลงประชามติ มีการเขียนว่าให้ผู้บริโภคไปรวมกลุ่มกัน ซึ่งจริงๆ ในตอนนี้ก็มีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว มีทั้งรูปแบบกลุ่ม สมาคม มูลนิธิ กลุ่มเฉพาะด้าน กลุ่มเฉพาะประเด็นมากมาย แล้วเขาก็เขียนว่าให้มีการรวมตัวกันเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และอำนาจหน้าที่กับตัวแทน แต่จะเป็นตัวแทนแบบไหนให้เป็นเขียนในกฎหมายอีกที เมื่อเขียนไว้แค่นี้ มันก็เกิดข้อถกเถียงกันว่า กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคผลักดันมา 19 ปี จะสามารถทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไร เพราะขนาดรัฐธรรมนูญ 2540 เขียนว่า ให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่ได้ว่าให้อิสระอย่างไร ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันเลยว่า คำว่าอิสระ แล้วถ้าไปอยู่กับหน่วยงานรัฐ และมีกรรมการเฉพาะ มันจะอิสระไหม” สารี กล่าว

สารีกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างการตีความ แล้วทำให้เกิดข้อขัดแย้ง ที่เกิดจากการเขียนไว้ไม่ชัดเจน และจะเป็นการลดอำนาจขององค์กรเพื่อผู้บริโภคที่จะเข้าไปให้ความคิดเห็นต่อนโยบายต่างๆ ก่อนจะมีการปฎิบัติ หรือบังคับใช้

 

“เราก็คงมีนักนิติอักษรศาสตร์อีกมากที่จะมาเถียงกันที่จะบอกว่า อันนี้เกิดรัฐธรรมนูญ อันนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ไม่ชัดเจน และอย่างน้อยก็ไม่รับรองสิทธิของการเป็นตัวแทนผู้บริโภคที่จะทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็นต่อนโยบาย มาตรการคุมควบผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ”สารี กล่าว

 

สารี กล่าวอีกว่า บทบาทในการที่จะตรวจสอบหน่วยงานรัฐ ก็หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือ ส่วนของการเพิ่มหน้าที่ขอหน่วยงานรัฐ ซึ่งจริงๆ การคุ้มครองผู้บริโภคทำเฉพาะหน่วยงานรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้

“การคุ้มครองผู้บริโภคที่มีเฉพาะในส่วนภาครัฐ ทุกคนก็รู้ว่ามันมีข้อจำกัด ฉะนั้นความร่วมมือที่จะทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมันก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นการเขียนให้รัฐมีหน้าที่ รัฐทำหน้าที่ ซึ่งเป็นทัศนะคติที่ล้าหลัง การกำหนดให้รัฐทำหน้าที่เรื่องนั้นเรื่องนี้ จริงๆ ต้องบอกว่ารัฐทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2522 เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค แต่คoก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไร ประชาชนก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของพลเมือง ของผู้บริโภคในการคุ้มครองตัวเอง มีความสำคัญอย่างมาก แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญน้อย” สารีกล่าว

ด้านสุภาพร ถิ่นวัฒนานุกูล เครือข่ายผู้บริโภค ภาคเหนือ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นร่างที่ล้าหลังที่สุด ในมุมมองเรื่องของสิทธิผู้บริโภค เพราะหากดูรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องสิทธิผู้บริโภคมีลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ อย่างฉบับ 2540 แม้จะไม่ได้ดีเลิศ แต่มีความพยายามที่จะทำให้สิทธิผู้บริโภคเกิดขึ้นจริง รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังดีกว่า หรือแม้แต่ร่างของบวรศักดิ์ ก็ยังดีกว่า

สุภาพร กล่าวต่อว่า แนวทางของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มีโครงร่างของการพยายามทำให้สิทธิผู้บริโภคเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เลย

 

“เขาเขียนเพียงสิ่งที่มันมีอยู่แล้วทั้งหมด การให้มีการรวมกลุ่มของผู้บริโภคมันมีอยู่แล้ว แต่ประเด็นเรื่ององค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค ที่จะสามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาได้ด้วยตัว เรื่องแบบนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความสำคัญ”

 

 “ในประเด็นอื่นก็คิดว่าไม่ต่างกันกับที่พวกเราเคยวิจารณ์ ขนาดประเด็นเรื่องสิทธผู้บริโภคซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเรายังไม่เห็นความสำคัญ สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่น้อยมากๆ ตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องรัฐธรรมนูญหลายคนก็บอกว่า ประเด็นทางการเมืองก้าวหน้าจังเลย พยายามจะจับผิดนักการเมือง แต่ขอโทษทีประเด็นสิทธิของประชาชนที่เป็นขั้นพื้นฐาน เรื่องนี้สอบไม่ผ่าน” สุภาพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net