Skip to main content
sharethis

5 ส.ค.2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงปรเด็นวันที่ 12 ส.ค.นี้ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 

ชี้แจงผลงาน 2 ปี มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึง “ความสำเร็จ” การเปิดโครงการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 และแจงการแก้ปัญหาผักตบชวา ในรอบสำปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งปรเด็นสำคัญคือการพูดถึงความจำเป็นของการลงประชามติ การมีรัฐธรรมนูญ และโรดแมป ของ คสช. เป็นต้น

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชวนทุกภาคส่วนสวมเสื้อฟ้า 12 สิงหา

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2559 เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ปี 2559 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความว่า “สอนให้ลูกทั้งหลายเดินสายกลาง ทำทุกอย่างพอดีมีเหตุผลประกอบด้วยคุณธรรมนำทางตน ย่อมได้คนดีพอต่อบ้านเมือง” นับเป็นเวลาเกือบ 7 ทศวรรษแล้ว ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จฯ เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรของพระองค์ ทั่วทุกหย่อมหญ้าของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาอาชีพของประชาชน ทั้งนี้เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผมขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีแด่ “แม่ของแผ่นดิน” ด้วยการทำความดี ประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯและถวายเป็นพระราชกุศล อย่างพร้อมเพรียงกัน

พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วน ได้ช่วยกันสวมเสื้อ “สีฟ้า” ในวันที่12 สิงหาคม 2559 หรือตามอัธยาศัยและประดับธงตราสัญลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ หน้าบ้าน และสถานที่ราชการตลอดปี 2559 นี้ สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากกว่า 4,000โครงการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางพระบรมราชินีนาถ อาทิ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรนั้น ทั้ง 2 พระองค์ ทรงเน้นการสนับสนุนการสร้างคน พัฒนาอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิถีชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็น “การระเบิดจากข้างใน” นอกจากนั้น ยังมีมูลนิธิศิลปาชีพ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์งานศิลป์ งานฝีมือ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ส่วนการต่อยอดขยายผลด้านการตลาดและอื่น ๆ นั้น จะต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงใน “ห่วงโซ่อุปาทาน”

ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาล ต้องให้ความสำคัญ แล้วน้อมนำแนวทางการพัฒนา อันเกิดจากโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ไปสู่การผลิต การแปรรูป การสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า และในตลาดต่อไป ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ อย่างเป็นระบบ อาทิ เช่น สินค้า OTOP ที่เรียกว่า “ประชารัฐ” วันนี้มีการจัดตั้งมานานแล้วเราก็มากวดขัน พัฒนา ปรับปรุงคุณภาพ ให้ผ่านมาตรฐาน รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เป็นสินค้า OTOP “ประชารัฐ” อย่างต่อเนื่องโดยสนับสนุน การนำสินค้า OTOP เหล่านี้ไปจำหน่ายในสนามบิน บนเครื่องบิน ร้านค้าประชารัฐสุขใจ ปั๊ม ปตท. ตลาดออนไลน์ อื่นๆ เป็นต้น มีหลายโครงการด้วยกัน หลายอย่างด้วยกัน ช่วยให้ความสนใจด้วย ล่าสุดมี โครงการ “ช็อปช่วยชุมชน” โดยให้จัดซื้อสินค้า “OTOP ประชารัฐ” ทั่วประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตลอดเดือนสิงหาคม นี้ และในงาน “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ประชารัฐ ก้าวไกล ด้วยพระบารมี” ในห้วง 12 ถึง 20 สิงหาคม 2559 ณ เมืองทองธานีก็มีอีกงานด้วย

แจงการแก้ปัญหาผักตบชวา

สำหรับการทำงานที่สำคัญ ๆ ของรัฐบาลสัปดาห์นี้ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาผักตบชวาซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่นในปัจจุบัน ขยายพันธุ์รวดเร็ว ในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะหน้าประตูระบายน้ำ เขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาท ระยะทางยาวกว่า ประมาณสัก 5 ถึง 6 กิโลเมตร ปริมาณกว่า 5 หมื่นตัน ผมก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดกำจัดแก้ไขเป็นการเร่งด่วน จริงๆ แล้วเขาแก้ไขมาทีหนึ่งแล้วเมื่อต้นเดือน แต่ปรากฏว่าเมื่อฝนมากขึ้น ความเชื่อมต่อกันระหว่างแผ่นดินที่มีผักตบชวา ขึ้นอยู่ในพื้นที่ตอนใน หรือในพื้นที่ส่วนบุคคล อยู่ในห้วยหนองคลองบึง ที่ไม่ใช่แม่น้ำ ก็ปรากฏว่าเชื่อมต่อถึงกันได้ เหล่านั้นก็ออกมาเพิ่มเติมมาในแม่น้ำ ลำธาร ต่อไปเราต้องเร่งรัดกำจัดตั้งแต่ต้นทาง ก็คือตามบ้าน แหล่งน้ำตามชุมชนเพื่อไม่ให้แพร่มาสู่คูคลองในระดับต่อไป ดังนั้นเราต้องเร่งกำจัดเป็นการเร่งด่วน อันนี้เป็นการแก้ปลายเหตุ เราจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีก ตั้งแต่ต้นทาง ตรงไหนก็ตามที่มีผักตบเราต้องไม่ปล่อยให้ขยายได้ ผมเห็นว่ามี พรบ. อยู่ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง พรบ. เกี่ยวกับเรื่องการกำจัดผักตบชวา มีผู้รับผิดชอบทั้งหมดเลยนะครับ ผมขออนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ พรบ. ฉบับนี้มาปฏิบัติ ใครที่ปล่อยให้มีการแพร่ขยายกระจาย มีส่วนรับผิดชอบทั้งหมดนะครับ ทางกฎหมายด้วย ขอให้นำมาทบทวนใช้ให้หมดในช่วงนี้ แล้วเราจะสร้างมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดความชัดเจนยั่งยืนในอนาคตว่าใครจะรับผิดชอบตรงไหน อย่างไร งบประมาณยังไง ใช้เครื่องมือยังไง ความร่วมมือกันอย่างไรในระดับประชารัฐ ไม่อย่างนั้นแก้ไม่ได้ ปีหน้าก็กลับมาอีก หรือเร็วๆ นี้ก็มาอีก แล้วก็ทำให้ท่อทางต่าง ๆ ตัน การระบายน้ำ พร่องน้ำทำได้ยากนะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องระวังให้มากที่สุดในช่วงฤดูนี้ โดยเฉพาะการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก เราจะต้องไม่ปล่อยให้เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางน้ำและการจับปลาของชาวบ้าน การเดินเรือ ในปัจจุบันนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ได้มีการบูรณาการ ระดมเครื่องจักรกล รถแบ็กโฮ เรือโป๊ะเรือขุด ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 ชุด เข้ามาทำงานเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งทหารด้วย

เพราะฉะนั้นอาจจะต้องแสวงหาความร่วมมือตามแนวทาง “ประชารัฐ” เพิ่มเติม คือไปกำจัดตั้งแต่ต้นทางตั้งแต่บ้านท่าน ชุมชนของท่านก่อนด้วย ถึงจะไม่ไหลลงมาสู่แหล่งน้ำ สู่แม่น้ำลำธารต่อไป แล้วก็เข้ามาอออยู่หน้าเขื่อน ก็ต้องมาเก็บกันหน้าเขื่อน 5 -6 กิโลเมตร แบบนี้ วันนี้ก็ได้สั่งการไปอีกทางคือฝ่ายความมั่นคง ให้หน่วยทหารในพื้นที่ ก็ได้นำกำลังพลทหาร พร้อมเรื่องจักรกลเข้าไปช่วยเหลือแล้ว จากกรมการทหารช่าง กองพันทหารช่างเหล่านี้ เครื่องจักรทางทหารเป็นการด่วน คิดว่า 3 สัปดาห์ น่าจะกำจัดไปได้หมด แต่ทำยังไงจะไม่เกิดขึ้นมาใหม่ ก็อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วเมื่อสักครู่ ต้นทาง เอา พรบ. มาดำเนินการ ถ้าเราสามารถเก็บได้ส่วนหนึ่งเอาไปทำปุ๋ยใช้กันเอง ใช้ประโยชน์ในชุมชนคงไม่ถึงกับต้องเอาไปทำ แล้วก็ขาย ผมว่าทำไม่ได้ จริง ๆ ก็ไม่ได้มากนัก ทุกคนเอามาใช้ประโยชน์ มีวิธีการมากมาย จะได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเสียที วันนี้ก็ได้เร่งให้มีการศึกษาการใช้สารเคมี หรือหาวิธีในการควบคุมการกำเนิดของผักตบชวา การขยายพันธ์เหล่านี้ ก็จะต้องไม่มีผลต่อสัตว์น้ำ กับน้ำให้มีคุณภาพเสียหายไป ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เราต้องลดทุกอย่าง ลดทั้งจากผักตบเองด้วย ลดจากประชาชนด้วย ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน ผมจะให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปหาแนวทางกัน ในการกำจัดผักตบชวา โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการแปรรูป ในการทำเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือไปทำเป็นอาหารสัตว์ ด้วยการผสมต่าง ๆ เข้าไปสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย

เปิดโครงการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6

วันพุธที่ผ่านมานั้น ผมได้เดินทางไปเปิดโครงการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมาซึ่งเป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ ขนาด 4 - 6 ช่องจราจร ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ส่วนเหนือ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางรวม 197 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อจะแก้ปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งเป็นทุกข์ของพี่น้องประชาชนชาวอีสาน ที่ต้องรถติดเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวันหยุดเทศกาลหลาย ๆ วัน เราก็จะได้เป็นการส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยว ความเชื่อมโยงด้านระบบโลจิสติกส์ แล้วก็ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าอีกด้วยนะครับ ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอีกนะ ประหยัดลงได้อีกมาก ทั้งนี้ ตามแผนงานดังกล่าวนั้น จะดำเนินงานแล้วเสร็จในปี 2563 ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 นี้ จะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างงาน สร้างอาชีพ แก่พี่น้องชาวอีสานไม่ต้องเดินทางมาเสี่ยงโชค ห่างไกลครอบครัว ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป โครงการนี้ ถ้าย้อนกลับไปดูแล้ว ใช้เวลามากว่า 20 ปี ถ้าท่านจำได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โครงการนี้ใช้เวลาสำรวจศึกษาผลกระทบ มากว่า 20 ปี ทั้งในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน การจ่ายเงินค่าชดเชย การประกวดราคา การลงทุน และการก่อสร้าง ทั้ง 2 ข้างทาง ทั้งเส้นทาง ทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการทางหลวง สถานีบริการทางหลวงที่พักริมทาง สถานที่ให้บริการด่านเก็บกัก ด่านเก็บค่าผ่านทาง ก็เห็นว่าทุกอย่าง ใช้เวลาทั้งสิ้น วันนี้เราก็เร่งเต็มที่ มันจึงเกิดได้ตอนนี้ไง เท่าไหร่ละ ตั้งแต่ 2539 ตอนนี้ปี 2559 20 ปีไปแล้ว จึงเกิดได้เส้นทางนี้ ยังมีอีกหลายเส้นทางยังเกิดไม่ได้เสียที ผมก็จะได้เร่งรัดทั้ง 3 เส้นทางว่าจะทำยังไง เป็นการวางแผนทางยุทธศาสตร์ ไม่ได้คิดว่าวันนี้ สร้างปีนี้ แล้วปีหน้าใช้ หรือสร้างให้มันเสร็จเร็ว อะไรที่มันเป็นแผน ก็คือแผน อะไรทำได้เราก็ทำ เขาเรียกว่าการพัฒนาอย่างเป็นระบบนะครับ ไม่มีผลเสียต่องบประมาณโดยรวมของประเทศด้วย

รัฐบาลนี้ก็พยายามเดินหน้าผลักดันหลายอย่างออกมานะครับ ได้วางรากฐานบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพราะยังไงมันก็ต้องทำอยู่ดี ก็เขียนไว้ไม่เห็นเสียหาย รัฐบาลหน้ามาก็ทำไป และในส่วนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่า ระบบโลจิสติกส์ การเชื่อมโยงจะทำยังไง ภายใน 5 ปีต่อไป ก็เป็นแผนการพัฒนาประเทศที่มีกรอบในการเดินที่ต้องสอดคล้องกัน

ชี้ประชามติเป็นขั้นตอนหนึ่งของปชต. คล้ายเวลาครูถามนักเรียน เอาไม่เอา

พี่น้องครับ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้ เป็นวันออกเสียงประชามติ ว่าเราควรจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น ด้วยความยากลำบาก สำหรับพี่น้องบางคนที่คุ้นเคยกับการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. อบต. อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอาจจะมีบ้างที่อาจจะไม่เข้าใจว่าการลงประชามติคืออะไร ทำไมจึงต้องลงประชามติ การลงประชามตินั้น อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องการ ก็ไม่ต่างจากการเลือกตั้งผู้แทน เพียงแต่เปลี่ยนคำถามว่าชอบเบอร์อะไร พรรคอะไร มาเป็นคำถามว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับกฎเกณฑ์กติกาการปกครองที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ กรอบใหญ่ กว้าง ๆ คล้ายกับที่ครูเคยถามนักเรียนว่า เอาไม่เอา ชอบไม่ชอบ ใครชอบยกมือ

ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้

การมีรัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และการมีกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองว่าใครทำอะไรได้แค่ไหน เพียงใด ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ หรือร่างใหม่จะออกผลเป็นยังไงก็ไม่ทราบทั้งหมด เพราะฉะนั้นการเริ่มงานอื่น ๆ ก็ไม่สามารถกระทำได้ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ คสช. และรัฐบาลก็ได้ประกาศตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนแล้วว่า เราจำเป็นต้องเข้ามานั้นเพราะว่าบ้านเมืองมีปัญหา ที่ผ่านมาไม่มีใครยอมรับใคร เปิดเจรจากี่เวทีก็ไม่ได้ผล แก้ทางนี้ก็ไปติดทางโน้น ทั้งปัญหากฎหมายบ้านเมือง ปัญหาการเมือง ผลประโยชน์ส่วนตัว ทัศนคติ รวมแล้วสารพัดปัญหา ตั้งแต่ในบ้าน ในที่ทำงาน พ่อแม่พี่น้องเพื่อนร่วมงานพูดจาหารือกันไม่ได้เลยเข้าหน้ากันไม่ติดเพราะชอบคนละอย่าง ชอบคนละสี คิดคนละอย่าง เห็นต่างได้นะครับแต่มันต้องมีความร่วมมือเกิดขึ้นให้ได้ บนท้องถนนก็มีปัญหา ต่างจังหวัด ถึงในสภา มีการยุบสภาแล้วก็เลือกตั้งไม่ได้ ชาวไร่ชาวนาเดือดร้อน หนี้สินล้นพ้นตัว ข้าวราคาตก ยางราคาตก จ่ายเงินค่าจำนำข้าวไม่ได้ อะไรเหล่านี้ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น นักลงทุนต่างชาติเขาก็เตรียมจะย้ายหนี เพราะไม่เชื่อมั่นว่ามันจะปลอดภัย ไม่นึกว่าพ้นจากปัญหาน้ำท่วมแล้วจะมาเจอปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยที่น่าอยู่แบบเดิม ๆ ไป จนทำมาหากินไม่ได้ แล้วก็มีหลายอย่างที่เป็นการทุจริต เราจะต้องนำสิ่งเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขให้ได้ทั้งหมด เราไม่อาจใช้อำนาจอื่นๆ ได้นอกจากกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ให้มีโอกาสต่อสู้คดีกันด้วยหลักฐานที่ถูกต้อง คสช.และรัฐบาลก็ได้แถลงว่าการที่เราขอเวลาเข้ามาแก้ปัญหาเดิม ๆ นั้นก็เพื่อที่จะขอเวลาทำในเรื่องของการยุติความขัดแย้ง และคืนความสุขให้แก่ประชาชนแน่นอน ไม่ทุกคนคงพอใจไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เกิดเห็นภาพอันชัดเจนขึ้นว่า ความสุขของทุกคน เพราะมีหลายคนหลายพวก หลายหมู่หลายเหล่า ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้ กลุ่มโน้นมันไม่ได้ การทำอะไรต่าง ๆ นั้น ที่ทำให้คนส่วนใหญ่นั้น ยากที่จะทำให้ทุกคนพอใจทั้งหมด แต่มันเป็นอนาคต เราจะได้สามารถก้าวไปข้างหน้า ทุกคนมีทางเลือก มีโอกาส เราจะต้องวางรากฐานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นที่คั่งค้างมายาวนาน รวมไปถึงการเตรียมการแก้ปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้น อย่างนี้เขาถึงเรียกว่า “ปฏิรูปประเทศ” มันจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เป้าหมาย เราจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร ทิศทางใด มีกรอบให้ชัดเจนขึ้น มองภาพอนาคตให้เห็นให้ชัดเจนนะ

แจงผลงาน 2 ปี มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึง “ความสำเร็จ”

ผลการดำเนินงานเพียง 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึง “ความสำเร็จ” ในการทำงาน อาทิเช่น

(1) สหประชาชาติ UN ประกาศการจัดอันดับดัชนี e-Government ล่าสุดประเทศไทย “เลื่อนขึ้น” ถึง 25 อันดับจาก 102 ในปี 2014 ขึ้นเป็นอันดับที่ 77 ในปี 2016 ขึ้นมาหลายอันดับ จาก 102 เป็น 77 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ทั้งหมดที่ประเมิน ก็ถือได้ว่าUN ให้ความยอมรับนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลนี้ในเรื่องการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนยกระดับกลไกภาครัฐในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา

(2) มหาวิทยาลัย Waseda(วา-เซ-ดะ) ของญี่ปุ่นประกาศผลการจัดอันดับ e-Government เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในปี 2016 นี้ประเทศไทยได้อันดับที่ 21 จาก 65 ประเทศ ขยับ “ดีขึ้น”2 อันดับ จากปี 2014 ได้อันดับที่ 23 ขึ้น 2 อันดับนี่ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยรวมถึงภาพความก้าวหน้า สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายภาครัฐของไทยนั้นดีขึ้นจากการจัดอันดับของ2 สถาบันหลักซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติในด้านนี้และ

(3) สถาบันและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ก็ได้ประเมินว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทย ในสายตานานาชาติ ว่า “ดีที่สุด” ในรอบ 6 ปี มีภาพลักษณ์โปร่งใส “ดีที่สุด” ในรอบ 10 ปี เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น

คสช.และรัฐบาล ต้องขอบคุณที่ 2 ปีมานี้ ประชาชนโดยทั่วไปต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี กระตือรือร้นช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย แก้ไขปัญหา และพัฒนาประเทศ ช่วยเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาลดังที่ผมได้รับข่าวจากพี่น้องทั้งหลาย ทั้งจากศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ร้องทุกข์อื่น ๆ สื่อออนไลน์ และจดหมายที่ส่งตรงถึงผมทุกวันซึ่งผมได้อ่านทุกฉบับที่ส่งมา ทั้งภาคเอกชนเองก็ร่วมจับมือกันริเริ่มโครงการพัฒนาเรียกว่าสานพลังแนวทาง “ประชารัฐ”เพื่อช่วยเสริมโครงการของรัฐในด้านที่ตนถนัด รัฐบาลต้องขออภัย ที่ 2 ปี มานี้อาจทำให้สิทธิเสรีภาพบางอย่างของท่าน ไม่อาจใช้ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็นที่ท่านต้องการ แต่ขอยืนยันว่าเราได้ทำเท่าที่จำเป็น และอยู่ภายใต้กรอบของหลักนิติธรรม ไม่ได้อยากทำอะไรตามอำเภอใจเพื่ออำนาจ เพื่อสร้างความหวาดกลัว หรือปราศจากเหตุผล หรือกลั่นแกล้งผู้ใดเลย ถ้าไม่มีเรื่องก็ไม่ต้องใช้หรอก เพราะเป็นการยากที่รัฐบาลจะอธิบายเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวแก่ท่านทุกคนให้เข้าใจตรงกันในเวลาเดียวกัน เพราะแต่ละคนยังไม่เปลี่ยนแปลงตนเอง

ขอร้องไปโหวตกันให้มากที่เป็นประวัติศาสตร์ ไปให้ถล่มทะลาย

อย่างที่ท่านทราบอยู่แล้วว่าวันนี้ที่เราเข้ามาทำอะไร รัฐบาลทราบทุกอย่างประชาชนอาจจะยังไม่ทราบทั้งหมด ซึ่งผมก็ไม่อาจจะสามารถเอามาพูดได้ทั้งหมดในเวลานี้ ผมคิดว่าท่านเข้าใจและคงคิดอย่างเดียวกับรัฐบาล ในขณะเดียวกันโดยส่วนตัวแล้ว ผมต้องขออภัยพี่น้องประชาชน เพื่อนร่วมงาน ข้าราชการและสื่อมวลชนด้วย ที่บางครั้งด้วยนิสัยของผมในความเป็นทหารด้วยความตั้งใจ ความมุ่งมั่นและความรู้สึกว่าต้องทำงานแข่งกับเวลา อาจทำให้ผมแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสม หงุดหงิดอารมณ์เสียไปบ้าง ก็ต้องขอโทษด้วยแล้วกัน ไม่มีเจตนาอะไรกับใครทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การเดินหน้าการหน้าทำงานตามนโยบายของ คสช. และรัฐบาล ไปได้โดยเร็ว

ในเรื่องสำคัญก็คือเราจำเป็นต้องจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อสำหรับใช้เป็นกติกา ก็ยกตัวอย่างเช่น เราจะเล่นกีฬาอะไรก็ตาม ไม่มีกติกามันเล่นไม่ได้ เริ่มต้นให้ได้ก่อนกติกาว่ายังไง วันนี้มีกติกาดีกว่าไม่มีแล้ว เพราะไปแก้ไขอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ต่อจากนั้นจึงค่อยพูดกันถึงคนเล่นว่าจะทำยังไงกันต่อไป จะปรับให้มีแท็คติกอะไรกันต่าง ๆ กฎข้อห้ามก็ต้องตามมาอีก รัฐธรรมนูญก็ต้องมีกฎหมายลูก กฎหมายอื่น ๆ กฎหมายกระทรวง ระเบียบสำนักนายก ที่ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดเองทั้งหมด กรอบกว้าง ๆ จากนั้นกฎหมายทุกกฎหมายก็ตามมาจากรัฐธรรมนูญ วันนี้ทุกคนให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญถูกต้อง แต่ไม่สนใจกับกฎหมายที่รองรับอยู่ข้างล่างหรือกฎหมายทั่วไป แบบนี้มันไม่ใช่ เพราะทุกกฎหมายมันต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าท่านเคารพรัฐธรรมนูญท่านก็ต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายทุกฉบับด้วย

เพราะนั้นคือประเด็นสำคัญของผม ตอนนี้เป็นการร่างในครั้งที่ 2 ครั้งแรกได้มอบคณะกรรมการชุดอาจารย์บวรศักดิ์เป็นผู้ยกร่างกติกาเหล่านี้ ก็ทั้งหลายอย่างก็อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงแม้จะไม่ผ่านความเห็นชอบก็ตาม จึงต้องจัดทำใหม่แล้วก็ให้คณะกรรมการ แล้วก็ให้คณะกรรมการชุดอาจารย์มีชัยเข้ามา ทั้ง 2 คณะก็มีความตั้งใจอย่างสูงยิ่งในการที่จะทำให้บ้านเมืองพ้นผ่านไปได้ จะเห็นว่ามีกติกาหลายอย่างขึ้นมา กติกาเหล่านั้นเกิดมาจากอะไร ก็ต้องเกิดมาจากสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต เพื่อจะสร้างอนาคตให้ได้ก่อนในช่วงนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ได้ เรากำลังจะลงประชามติกันในอีก 2 วันนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่านที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปออกไปใช้สิทธิลงประชามติ ให้ไปถล่มทะลาย ผมไม่ต้องการเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เท่านี้เปอร์เซ็นต์ ไปให้มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมขอร้องท่าน ไปให้เต็มไม่ต้องกลัว แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่แล้วใครก็ตามที่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย อลหม่าน เกิดการบาดเจ็บสูญเสียหรืออะไรก็แล้วแต่จะลงโทษอย่างเด็ดขาดในทุกอำนาจที่ผมมีอยู่ ท่านจะลงมติอย่างไรก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของท่าน ตามความพอใจของท่าน แต่กรุณาคิดถึงบ้านเมือง คิดถึงอนาคต นึกถึงลูกหลานของเรา นึกถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาล นึกถึง RoadMap อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ อย่าใช้อารมณ์ความรู้สึกที่มีคนพยายามสร้างภาพกลับไปกลับมากันอยู่ตอนนี้อย่าสับสน

รบ.รับได้ทุกอย่าง ผ่านก็ใช้ ไม่ผ่านก็ทำใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเลือกตั้งไม่ได้

รัฐธรรมนูญมีถึง 279 มาตรา มันก็ดีขึ้นเท่าที่ผมศึกษามานะทุกอันนั้นล่ะ มีจุดมุ่งหมายวัตถุประสงค์หลายอย่างด้วยกัน แน่นอนมีคนที่พอใจและไม่พอใจ ผมเห็นประชาชนส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน เดือดร้อนอยู่ไม่กี่กลุ่มคงไม่ใช่ใช้อ้างประชาชนได้ทั้งหมด ต้องมีสมหวังและผิดหวังกันบ้าง ท่านมีชัยก็ได้ออกมาชี้แจ้งแล้ว ทาง สนช. ท่านประธาน สนช. ได้ออกมาชี้แจ้งแล้วทั้งในเรื่องของรัฐธรรมนูญ เรื่องคำถามพ่วงอะไรเหล่านี้ ก็ฟังอยู่ผมก็คิดแล้ว ใช่ไม่ใช่ แต่ผมว่าก็ดีนะ แล้วแต่ท่านจะคิดเอาแล้วกัน ผมไม่ได้ชี้นำ คิดแบบที่ผมคิดกันบ้าง 1 คน 1 เสียง ผมก็มี 1 เสียงเท่าท่านนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ออกมาพูดแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ผมก็ไม่ได้ห้ามอะไร เพราะฉะนั้นท่านจะมาห้ามนี้โน้นกับผมตลอดเวลามันก็ไม่ได้ เราจะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้มันก็ต้องมีกติกากันบ้างนะ การลงประชามติเป็นโอกาส อย่าให้โอกาสนี้เป็นประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ เป็นวิกฤติการณ์ทำร้ายประเทศ

รัฐบาลยอมรับได้ทุกอย่างและขอให้ทุกท่านยอมรับเช่นเดียวกัน ว่าจะเกิดอะไรตามมา ถ้าหากผ่านหรือไม่ผ่าน บ้านเมืองของเราจะเดินต่อไปอย่างสงบสุขได้หรือไม่ นี้คือกติกา และถ้า “ผ่าน” ก็จะมีการประกาศใช้ มีการจัดทำกฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง ตาม RoadMap ที่ผมเคยแถลงหลายครั้งแล้ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็คือภายในปี 2560 ถ้า “ไม่ผ่าน” เรายังมีความจำเป็นต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ดี จะร่างใหม่ก็ต้องไปเสียเวลากันอีกครั้งหนึ่ง ก็แล้วแต่ท่าน คิดว่าจะได้ดีกว่านี้ก็เอา ไม่อย่างนั้นก็จัดการเลือกตั้งตามปี 60 ไม่ได้ เพราะเป็น RoadMap จะต้องทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่ให้กระทบกับ RoadMap ซึ่งหลายคนจับจ้องตรงนี้ ถ้าตรงนี้ไปไม่ได้ ก็ถึงตรงโน้นไม่ได้ และท้ายสุดก็ต้องกดดันรัฐบาล คสช. อยู่ดี

ผมขอให้พี่น้องทุกท่านอย่าได้วิตกกังวลกับสถานการณ์ของประเทศชาตินั้น จะเปลี่ยนแปลงด้วยประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ ด้วยความขัดแย้งด้วยวิกฤติต่าง ๆ ไม่ได้เลย ผมไม่ยอมอยู่แล้ว ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามนี้ ถึงอย่างไรประโยชน์ของบ้านเมืองก็ต้องมาก่อน ประโยชน์ส่วนบุคคลมีได้อย่างถูกกฎหมายแต่ต้องมาทีหลัง การทำงานถ้าไม่มีกรอบเดินหน้าไม่ได้ ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน บ้านเมืองของเราก็ยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก ก็ต้องรอรัฐบาลหน้าแล้วค่อยทำไม่ได้ ที่ผ่านมาเราก็รอมานานแล้ว เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการบรรเทาทุกข์เกษตรกรที่เป็นความยั่งยืน เรายังจะต้องผลักดันการปฏิรูปประเทศหลาย ๆ ด้าน ลดความเหลื่อมล้ำ การดูแลเด็ก ดูแลผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส การศึกษา การรักษาพยาบาล มากมายไปหมด งบประมาณก็จำกัด มันจะต้องพัฒนาไปหมดนั้น ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายใน ปรับโครงสร้างการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน ต้องวางรากฐานการจัดการศึกษา การรักษาพยาบาลให้มันดีขึ้นกว่าเดิม แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจน ขจัดการคอร์รัปชั่นให้ได้มากที่สุด ไม่ได้แก้ง่าย ๆ ต้องแก้ทั้งระบบ หลายคนเกี่ยวข้อง สั่งไปอย่างเดียวก็ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ต้องติดตาม ดำเนินคดีมากมายไปหมด มันเป็นภาระที่รุงรังอยู่ขณะนี้

ยันไม่มีสืบทอดอำนาจ และไม่ยอมให้ใครฉวยโอกาสก่อความวุ่นวาย

ดังนั้นไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน เราก็คงต้องรักษาคำพูดว่า เราจะอยู่เคียงคู่พี่น้องประชาชนต่อไปเท่าที่เวลาเปิดโอกาสให้ทำ เพื่อจะดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองตราบจนกระทั่งสามารถส่งต่อภารกิจให้รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งได้เรียบร้อยโดยไม่มีการสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างจะเป็นไปโดยวิถีทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับนี้หรือฉบับไหนก็ตาม และจะไม่ยอมให้ผู้ใดก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย ฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย สร้างความขัดแย้ง หรือขัดขวางการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศเป็นอันขาด เมื่อผลการออกเสียงประชามติปรากฏชัดเจนไม่ว่าจะเป็นประการใด คสช. และรัฐบาลจะได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้ทราบเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าโดยราบรื่น พี่น้องทั้งหลายจะได้คลายกังวลว่าทุกอย่างยังอยู่ใต้การดูแลเป็นปกติเหมือนสองปีที่ผ่านมาที่ท่านไว้ใจเรา และผมจะได้ชี้แจงแนวทางดังกล่าวผ่านทางสื่อมวลชนให้ท่านทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณอีกครั้งในความร่วมมือทุกประการของทุกคน ร่วมมืออกมาให้เต็มบ้านเต็มเมืองเลยนะครับ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net