ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มองผลประชามติ

9 ส.ค. 2559 สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสามจาก 23 จังหวัด ที่คนส่วนใหญ่โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ตูแวดานียา ตูแวแมแง คนทำงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัด กล่าวว่า การโหวตไม่รับร่าง และจำนวนผู้ไปใช้สิทธิที่ต่ำ สะท้อนความรู้สึกที่ไม่ยอมรับคสช. ซึ่งตอกย้ำวาทกรรม “นักล่าอาณานิคมสยาม” ซึ่งถูกแสดงออกผ่านการไม่ไปใช้สิทธิลงประชามติ 

ผลการลงคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ: 

จ.นราธิวาส

  • ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 38.16% ไม่เห็นชอบ 61.84%
  • ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 37.37% ไม่เห็นชอบ 62.63%

จ.ปัตตานี

  • ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 34.86% ไม่เห็นชอบ 65.14%
  • ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 34.18% ไม่เห็นชอบ 65.82%

จ.ยะลา

  • ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 40.46% ไม่เห็นชอบ 59.54%
  • ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 39.72% ไม่เห็นชอบ 60.28%

อนึ่ง ตูแวดานียา ตูแวแมแง ภาคประชาสังคม ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ก่อนหน้านี้เขาได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า การใช้อำนาจของคสช. ในการจับกุมคนเห็นต่างนั้น “เข้าทาง” ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานี นั่นคือ เติมบรรยากาศของความรู้สึกแปลกแยกกับรัฐ กับการปกครอง ทั้งยังวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติว่าไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และไม่ได้การพูดถึงกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด ซึ่งควรเป็นวาระสำคัญของประเทศ

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ภาคประชาสังคม ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา

 

เสียงโหวดโนของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส) สามารถสะท้อนนัยยะทางการเมืองได้สองกรณีดังนี้

คนกลุ่มแรก โหวตไม่รับ เพราะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหากับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมของคสช.คนกลุ่มนี้พร้อมโหวตเห็นด้วย หากคสช. สามารถร่างรัฐธรรมนูญที่ดีตรงใจพวกเขา พวกผู้บริหารโรงเรียนทั้งหลายคิดอย่างนี้ ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้อึดอัดใจอะไรเท่าไหร่ เขาก็วางตัวเป็นกลาง เหนือความขัดแย้งการเมืองส่วนกลาง แต่คราวนี้มันกระทบผลประโยชน์ของเขาโดยตรง เขาก็เลยไม่รับ คนกลุ่มใหญ่ที่เข้าข่ายกลุ่มนี้คือ เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งมีมวลชนค่อนข้างเยอะ เท่าที่ผมทราบมาก็คือ ก่อนการประชามติ พวกเขารวมรวมตัวกันไปเจอ นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้นายกใช้ ม.44 ปรับจากให้การสนับสนุนการศึกษาจาก อนุบาลถึงม.ต้น เป็น จนถึง ม.ปลาย นายกฯ ก็บอกว่า ทำได้ ถ้าช่วยกันรณรงค์ให้คนในพื้นที่สามจังหวัดของคุณโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญด้วย คณะผู้บริหารก็รับปาก แต่พอกลับมา เมื่อไม่เห็นว่า นายกฯ จะทำตามสัญญาอย่างเป็นรูปธรรม ก็เลยปรับท่าทีเป็น โหวตไม่รับร่างฯ 

คนกลุ่มที่สองคือ โหวตไม่รับร่างเพราะหวังจะทำให้ คสช. ดูมีความชอบลดลง และนำไปสู่การคืนอำนาจให้กับประชาชน ด้วยการจัดการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่าง 

ทำไมจึงมีผู้ไปใช้สิทธิลงประชามติต่ำมาก เพียงประมาณ 30 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับเปอร์เซนต์ของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของสามจังหวัดในปีที่ผ่านๆ มาซึ่งค่อนข้างสูง (เช่น อัตราผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจ.ปัตตานีในปี 2554 ถึง 77.48 เปอร์เซนต์ สูงกว่าอัตราการออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 75.03 เปอร์เซนต์ ส่วนอัตราผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติจ.ปัตตานีในปี 2550 อยู่ที่ 55.48) นอกจากนี้ ความรุนแรง และกราฟฟิตี้โดยฝ่ายขบวนการที่แสดงออกว่า ไม่เอารัฐธรรมนูญไทย ในสัปดาห์ก่อนการลงประชามติ มีผลต่อการไม่ไปใช้สิทธิหรือไม่ 

ความรุนแรงในพื้นที่ และการเขียนข้อความ ก็คงมีอิทธิพลอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด คนที่มีความเห็นอกเห็นใจ หรือ คล้อยตามกับขบวนการ คนที่มีความเห็นอกเห็นใจ หรือเป็นแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็น ก็มองคสช. ไม่ต่างจากรัฐบาลที่แล้วๆ มา ก็คือ ไม่มีความชอบธรรมจะมาปกครองพวกเขา มองเป็นนักล่าอาณานิคมสยาม แต่เมื่อเป็นคสช. ซึ่งมีที่มายิ่งไม่ชอบธรรม ภาพของนักล่าอาณานิคมสยามก็ยิ่งชัดขึ้น 

ผมคิดว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ เขาต้องการแสดงออกว่า เขาไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. และร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ยึดโยงประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดโยงกับปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย  

มีการกดดันชาวบ้าน จากฝ่ายรัฐ หรือ ขบวนการให้ไปใช้สิทธิ หรือไม่ไปใช้สิทธิ อย่างไรบ้างหรือไม่ 

เท่าที่ผมสำรวจ สำหรับฝ่ายขบวนการ นอกจากการเขียนข้อความไม่เอารัฐธรรมนูญไทย ก็ไม่มีข้อมูลว่า ฝ่ายขบวนการข่มขู่คุกคามประชาชนไม่ให้ไปใช้สิทธิ ส่วนฝ่ายรัฐ ก็มีแค่ว่าผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ทุกองค์กรฝ่ายปกครอง ชี้นำประชาชนไปใช้สิทธิ ไปโหวตรับร่าง 

มองแนวโน้มความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพจากนี้ต่อไปอย่างไร

ความรุนแรงในพื้นที่น่าจะเข้มข้นหนักหน่วงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ หนึ่ง  สถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพไทยจะต้องเผชิญหน้ากับภัยความมั่นคงในเวลาเดียวกันสองทาง ทางแรกคือสถานการณ์การเมืองที่ส่วนกลาง ทางที่สองคือสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งโดยธรรมชาติของการรับมือกับสถานการณ์ล่อแหลมระดับความมั่นคงแห่งชาติจะต้องเดิมพันนั้น จะเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพในการรับมือและแก้ไขสถานการณ์อย่างมาก หากจะต้องเจอศึกสองด้านในเวลาเดียวกัน 2.ทางฝั่งขบวนการปฏิวัติปาตานีเอง เชื่อว่าก็จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความพยายามปิดเกมจากกองทัพไทยอยู่แล้ว และในการรับมือนั้นฃขบวนการปฏิวัติปาตานีก็ต้องมีความคาดหวังที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสอย่างแน่นอน 3.ปัจจัยของระดับความตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ย่อมจะต้องส่งผลโดยตรงกับเป้าหมายของวิสัยปกติของผู้ใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมประชาชนให้ยอมรับสภาพชะตากรรมในการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ โดยสรุปคือยิ่งภาคประชาชนตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความเป็นรัฐที่ใจแคบไม่เคารพเสียงประชาชนล่อแหลมที่จะใช้ความรุนแรงควบคุมสถานการณ์ได...

ส่วนกระบวนการสันติภาพหลังจากนี้ ถ้ามีขึ้นมาอีกนั้น ก็จะเป็นกระบวนการสันติภาพที่เป็นการสั่งสมความรู้ในด้านกระบวนการเพื่อเป็นบทเรียนไปเรื่อยๆ เพราะนิยามสันติภาพของรัฐไทยกับขบวนการปฏิวัติปาตานียังผูกมัดแน่นหนากับเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง อีกทั้งสถานการณ์โดยรวมของประสิทธิภาพทางการทหารของทั้งสองฝ่ายในปัจจุบันยังสามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทางการเมืองของตัวเองได้อย่างแข็งขัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท