สาเหตุ 6 ข้อ ที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผลจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ของเมื่อวันวาน ไม่ได้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจเลย แม้ก่อนหน้านี้ จะหวังแบบเหนือจริง หรือ surrealism อยู่บ้างก็ตาม จากการสังเกตการณ์บริบททางการเมืองไทยก่อนถึงวันลงประชามติ และการรับฟังแนวคิดของผู้อื่น รวมไปถึงการมีส่วนร่วมเองด้วยในบางเรื่อง ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้เขียนมาตรึกตรองถึงสาเหตุที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติในครั้งนี้ ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 6 ข้อหลัก ดังต่อไปนี้ (หลายสาเหตุคงเหมือนกับที่ใครหลายคนคิดมาแล้ว)

1.กฎหมายเข้ม

กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 ถูกจำกัดบทบาทอย่างมาก จากพระราชบัญญัติการลงประชามติ ซึ่งมีกลยุทธ์ซ่อนเร้น นั่นคือ สกัดไม่ให้มีการรณรงค์ หรือปลุกระดมมวลชนเพื่อแสดงการไม่เห็นด้วยมากกว่าการเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ  หากเราสังเกตดูว่าที่ผ่านมาการปลุกระดมมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องมีการใช้คำรุนแรงและเปี่ยมด้วยอารมณ์เหมือนดังม็อบเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือ กปปส. แต่ตัวกฎหมายที่เน้นคุณสมบัติผู้ดีทำให้ผู้ไม่เห็นด้วยไม่สามารถโน้มน้าวใจมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากแสดงจุดยืนของตัวเองและการวิพากษ์รัฐธรรมนูญยังต้องแสดงออกบนหลักวิชาการ ซึ่งจำกัดในการส่งผลต่อความคิดของสาธารณชนในวงกว้าง อีกทั้งผู้ไม่เห็นด้วยยังต้องระวังว่าความเห็นของตนจะเปิดช่องให้ถูกโจมตีว่าบิดเบือนเนื้อหารัฐธรรมนูญ ซึ่งกลายเป็นความผิดทางกฎหมายอีก เช่นเดียวกับการแจกแผ่นพับที่แสดงถึงด้านลบของรัฐธรมนูญก็อาจถูกใส่ร้ายว่าเป็นการปลุกระดมได้  ผู้เขียนเห็นว่าผลของการลงประชามติครั้งนี้ยังสะท้อนถึงขีดจำกัดของสื่อโซเชียลมีเดียซึ่งฝ่ายไม่เห็นด้วยพยายามใช้ประโยชน์อย่างมาก เพราะสื่อนี้ยังจำกัดอยู่แต่ชนชั้นกลางซึ่งมักเป็นคนรุ่นใหม่อย่างเช่นเฟสบุ๊คมากกว่ามวลชนโดยเฉพาะชาวรากหญ้าซึ่งจำนวนไม่น้อยรับรู้ข่าวสารผ่านเครื่องกระจายเสียงที่ติดอยู่บนเสาไฟฟ้าในหมู่บ้าน  เช่นเดียวกับการที่โซเชียลมีเดียถูกควบคุมโดยรัฐอย่างแน่นหนาผ่านกฎหมายแม้แต่มาตรา 112  ซึ่งสามารถถูกดึงมาใช้ได้ หากอีกฝ่ายก้าวล้ำเขตมาเพียงนิดเดียวเท่านั้น

2.รัฐทุ่มทุน

ในทางกลับกัน ภาครัฐกลับใช้กลไกราชการทุกส่วนไม่ว่าผ่านส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและยังสามารถร่วมกับองค์กรส่วนท้องถิ่นซึ่งถูก คสช.เข้าควบคุม และข่มขู่ (ผ่านการเชือดไก่ให้ลิงดู เช่น การดำเนินคดีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายก่อนหน้านี้) ในการโน้มน้าวใจมวลชนไม่ว่าทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้าผ่านสื่อทุกอย่าง ไม่ว่าแบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ (ซึ่งอ้างว่าไม่ได้บิดเบือนเนื้อหา แต่ย่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญให้เห็นเฉพาะด้านดีของรัฐธรรมนูญ) โปสเตอร์ เครื่องกระจายเสียงตามหมู่บ้าน จนไปถึงแบบใหม่ คือ โซเชียลมีเดียที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินดำเนินคดีเท่ากลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย  การรณรงค์ของรัฐนั้นผู้เขียนเห็นว่าเป็นแบบศรีธนญชัย คือ พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยละเว้นประโยคที่ว่า “ขอให้ท่านรับร่างรัฐธรรมนูญ” เพียงประโยคเดียว นอกนั้นใช้วิธีการชักแม่น้ำทั้ง 5 สาย ผ่านข้อดีสารพัดเพื่อให้คนฟังรู้สึกอยากรับร่าง ผ่านบุคลากรทุกระดับของรัฐซึ่งมีอำนาจและดูน่าเชื่อถือไม่ว่านายกรัฐมนตรี (ที่ประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าเป็นความคิดเห็นของประชาชนคนหนึ่ง) ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ที่อ้างว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน)  รัฐมนตรี   ผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. ปลัดจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ ครู อาจารย์ หรือแม้แต่นักศึกษาวิชาทหาร จนมีการมองว่าเป็นความพยายามของรัฐในการจัดรูปแบบทางสังคมและการเมืองใหม่ ที่สำคัญรัฐยังอำพรางเจตนาที่แท้จริงของตนโดยสำทับผ่านประโยคที่ว่า “แล้วแต่ท่านว่าจะรับหรือไม่รับ” ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเพราะสมองของประชาชนเอาทุกอย่างที่ผ่านหูผ่านตามาเชื่อมโยงกันไปเสียแล้วว่ารัฐสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้รัฐยังพยายามโต้ตอบกับฝ่ายตรงกันข้ามที่โจมตีว่าไม่เปิดใจกว้างให้มีการถกเถียงกันถึงข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญโดยเปิดให้มีการเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญที่จัดโดยหน่วยราชการในจังหวัดต่างๆ ซึ่งจากการเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย (ดังเขียนในบล็อค) ผู้เขียนจึงได้พบว่าเป็นปาหี่หรือการจัดฉากเพราะนอกจากการเอากฎหมายมาข่มขู่ผู้เข้าร่วมงานล่วงหน้าแล้ว ยังพยายามจัดบรรยากาศในการกดดันไม่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญมีโอกาสในการแสดงออกมากนัก  แต่รัฐก็สามารถนำมาใช้อ้างว่าตัวเองสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยมาแล้วก่อนการลงประชามติอันจะทำให้รัฐธรรมนูญมีความถูกต้องชอบธรรมยิ่งขึ้น  ในขณะงานเสวนาหรือสัมมนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดโดยนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมกลับถูกรัฐสั่งห้ามไปมากกว่าสิบครั้ง

กระนั้นมีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญ ถึงร้อยละ 38.60 และไม่มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 45.39 ไม่นับบัตรเสียอีกเป็นจำนวนมาก ก็สามารถสะท้อนให้เห็นว่าการรณรงค์ หรือปลุกระดมมวลชนของรัฐไม่น่าจะประสบความสำเร็จมากเหมือนกับบทความของ ลม เปลี่ยนทิศ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ใช้คำน่าละอายใจว่าเป็น “ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของคสช.”  หากเราเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนที่รัฐทุ่มไปกับผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากนี้ ชัยชนะดังกล่าวยังยิ่งใหญ่ไม่ถึงระดับนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปซึ่งแสดงท่าทีด้านลบต่อผลการลงประชามติครั้งนี้ อันไม่น่าประหลาดใจเท่าไรนักเพราะสื่อต่างประเทศที่ผ่านมาล้วนเสนอภาพของการลงประชามติครั้งนี้แตกต่างจากสื่อที่รัฐไทยควบคุมทั้งสิ้นและก็เป็นความจริงเสียด้วย

3.การป้ายสี

ผู้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญยังถูกป้ายสีหรือสร้างภาพว่าเป็นพวกไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง เป็นพวกเสื้อแดงหรือเป็นพวกนักการเมือง ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่มซึ่งเคยเข้าร่วมกับกปปส.จะประกาศว่าไม่รับร่างก็ตามแต่การประกาศของพวกเขาก็มีพื้นที่หรือได้รับความสนใจไม่มากนักจากสื่อมวลชนกระแสหลัก สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของรัฐในการผลิตซ้ำภาพของกลุ่มสีขาว (ตัวเอง) และกลุ่มสีดำ (ผู้เห็นต่าง) อยู่เสมอ  ในเวลา 2 ปีที่ผ่านมาคนจำนวนมากจึงเข้าใจว่าคสช.กำลังสร้างบ้านใหม่ซึ่งหลังเก่าถูกเผาเป็นจุลโดยพวกนักการเมืองผู้ชั่วร้าย (เป็นเรื่องตลกร้ายว่าถึงแม้ฉากหรือ scenario ของกลุ่มกปปส.จะยังคงสดๆ ร้อนๆ อยู่ แต่ความทรงจำของพวกเขาก็จะข้ามเลยไปยังพวกเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมืองอยู่เสมอ จากการกล่อมเกลาของรัฐที่ต่อต้านทักษิณ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าเหตุใดการดำเนินคดียิ่งลักษณ์ในเรื่องจำนำข่าวจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ห่างจากวันลงประชามติไม่กี่วัน)   นอกจากนี้เรายังเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญโฆษณาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง”  และสื่อซึ่งเป็นบริวารของคสช.ก็มักลักไก่โดยประณามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นนักการเมืองและลิ่วล้อที่กลัวเสียผลประโยชน์ หรือนักวิชาการกลายเป็นนักวิชาเกินที่รับเงินของทักษิณมาก่อความวุ่นวาย ทำให้คนจำนวนมากมองว่าคนกลุ่มนี้เหมือนกับผู้ร้ายที่กลับมาพยายามเผาบ้านหลังใหม่อีกครั้ง

สำหรับพรรคการเมืองนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าถึงแม้จะประกาศจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากชื่อเสียงจะย่อยยับจากการโจมตีแบบโหมกระหน่ำของรัฐข้าราชการ ดังเช่นพรรคเพื่อไทยซึ่งถูกป้ายสีว่าเป็นปีศาจ คสช.ยังสามารถแทรกแซงความสัมพันธ์ของพรรคเหล่านั้นต่อนักการเมืองในท้องถิ่นและมวลชนได้อย่างมาก ผ่านบทบาทของกองทัพและข้าราชการ ที่สำคัญพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้มีความเข้มแข็ง หรือจุดยืนอันมั่นคงในเรื่องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คำประกาศของพวกเขาจึงขาดพลังไปอย่างมาก

4.การบิดเบือนความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้เป็นเรื่องจริงที่ว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่ว่าฉบับไหนจะเต็มไปด้วยมาตราต่างๆ ยาวเหยียดจนน้อยคนนักที่อ่านจนจบ และมีอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ ผู้เขียนยังเชื่ออยู่เสมอว่าคนไทยพร้อมจะมีความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญเสมอหากรัฐจริงใจในการเผยแพร่สาระและใจความที่สำคัญของรัฐธรรมนูญจริงๆ  แต่ด้วยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นปีที่เผด็จการทหารเข้ายึดครองประเทศเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ ชีวิตและความคิดของคนไทยจึงถอยห่างจากรัฐธรรมนูญซึ่งถูกฉีกทิ้งและร่างใหม่โดยรัฐบาลทหารและกลุ่มอำมาตย์ ทำให้พวกเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่ต่างจากข้อสัญญาที่รัฐมีไว้กับประชาชนว่าจะมอบอะไรให้พวกเขาบ้างเหมือนซานตาคลอส โดยไม่ต้องใส่ใจรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเพราะรัฐนั้นย่อมปรารถนาดีต่อประชาชนเสมอ อันทำให้ประชาชนลืมมองความยิ่งใหญ่ของรัฐธรรมนูญว่าแท้ที่จริงรัฐธรรมนูญคือการจัดวางโครงสร้างอำนาจของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดอำนาจของรัฐไปพร้อมกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้รัฐมาล่วงละเมิดให้มากที่สุด รัฐธรรมนูญที่แท้จริงมีคุณค่ามากไปยิ่งกว่าการแจกของ ดังเช่น การรักษาพยาบาล หรือการเล่าเรียนฟรี

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ถือได้ว่าล่วงละเมิดความยิ่งใหญ่ของรัฐธรรมนูญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากที่มาจะไม่ได้มาจากประชาชนแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้เปลี่ยนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทยให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐไม่ว่าเรื่องการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและการศึกษา การตัดเอาข้อความเกี่ยวกับการกระจายอำนาจอย่างชัดเจนออก โดยใช้ประโยคที่ระบุการมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นอันคลุมเครือเข้ามาแทน อีกทั้งยังซ่อนเร้นให้นายกฯ หรือ หัวหน้าของสภาท้องถิ่นสามารถมาจากคนนอกก็ได้โดยเฉพาะเขตปกครองพิเศษ (แน่นอนว่าย่อมเป็นการขู่นักการเมืองคนสำคัญให้หาเสียงหรือมีท่าทีภายใต้อาณัติของรัฐไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้เป็นหัวหน้าของสภา) อันส่งผลให้รัฐมีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังสามารถส่งพวกของตัวเองเข้ามาปกครองท้องถิ่นได้ หากไม่ได้นักการเมืองตามความต้องการของตน กระนั้นด้วยความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากซึ่งคุ้นชินกับระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  เช่นเดียวกับการไม่คุ้นเคยกับประชามติซึ่งในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้มีเพียงครั้งเดียวคือปี 2550  คงส่งผลให้คนไทยรู้สึกสับสนระหว่างเลือกตั้งกับการลงประชามติรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและความเป็นรัฐ รัฐไทยในอนาคตจึงกลายสภาพเป็นองค์กรที่มอบทุกอย่างให้คนไทย ยกเว้นการเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตที่กำหนดด้วยตัวเองและการมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกัน ตอนผู้เขียนเห็นมาตราที่ว่าให้รัฐเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในร่างรัฐธรรมนูญก็อดสงสัยไม่ได้ว่าไม่รู้ว่ารัฐจะเน้นย้ำหรือโฆษณาจุดนี้ทำไม ในเมื่อสาระแทบไม่ต่างอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ และในความเป็นจริงรัฐไทยก็ไม่เคยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แม้แต่เรื่องขั้นพื้นฐานอย่างเช่นสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ไม่เช่นนั้นก็คงไม่เกิดกรณีสังหารหมู่กลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน กระนั้นก็น่าจะมีคนอีกจำนวนมากไม่ใส่ใจความสำคัญในประเด็นนี้ของรัฐธรรมนูญดังคำพูดที่เรามักได้ยินว่า พวกเขาสนับสนุนรัฐบาลชุดไหนก็ได้ ที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องของประชาชน
           

5.ความหวังจอมปลอม

นอกจากการบิดเบือนความสำคัญของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐไทยยังสร้างความหวังจอมปลอม เช่น คำสัญญาว่าจะได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังได้กล่าวข้างบน โดยยังไม่คำนึงถึงกฎหมายลูกที่จะถูกร่างขึ้นมาตอบรับกับรัฐธรรมนูญรวมไปถึงบริบทอื่นๆ เช่น การเมืองและเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะสามารถทำให้คำสัญญานั้นเป็นจริงมากน้อยเพียงใด การรับร่างรัฐธรรมนูญยังถูกอ้างว่าจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นนั้นในระยะยาวเพราะต้องอาศัยปัจจัยอื่นเหมือนกัน บางคนหลงคารมของรัฐว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญยังทำให้มีการเลือกตั้งไว ๆ ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังดูดีแต่ถ้าพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน้อยมาก อีกทั้งนายกรัฐมนตรีก็มีโอกาสที่จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย  จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเน้นปราบโกงนักการเมืองซึ่งไม่สามารถผลักดันนโยบายอะไรใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง และคงไม่มีใครทุ่มทุนหรือพลังในการลงเลือกตั้งเพื่อที่จะมาเป็นหุ่นเชิดเพราะตระหนักว่าตนจะต้องถูกแทรกแซงและครอบงำจากองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผสมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีผสมกับหลักจริยธรรมที่ถูกองค์กรเหล่านั้นสร้างขึ้นมาซึ่งเป็นการใช้คำอันสวยงามแต่คลุมเครือ ขึ้นอยู่กับผู้ตีความเอง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงกลายเป็นแค่แพะรับบาปและเป็นเป้าหมายของความไม่พอใจของประชาชน หากการบริหารงาน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจล้มเหลว อีกทั้งกลุ่มขวาอำมาตย์นิยมยังใช้การเลือกตั้งมาอ้างว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย (แม้จะยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นครึ่งใบ แต่ดูเหมือนคนไทยจำนวนมากก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร) นอกจากเอาไว้เอาใจตะวันตกแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องเพื่อระบายความคับข้องในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจของคนไทย แทนที่จะออกมายังท้องถนนเหมือนกับการลุกฮือที่อาหรับเมื่อปี 2011 หรือถ้ามีคนออกมาประท้วงรัฐบาลกันจริงๆ กลุ่มขวาอำมาตย์นิยมก็สามารถเปลี่ยนโฉมเป็นวีรบุรุษในการเข้ามาไกล่เกลี่ยและยุติความขัดแย้งเหมือนดังกองทัพเมื่อ 2 ปีก่อน ผู้เขียนยังเกรงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แท้ที่จริงจะสนับสนุนการโกงโดยกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งเพราะผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศที่แท้จริงคือภาคราชการนั้นยังคงใช้ระบบตรวจสอบแบบเดิมๆ คือตรวจสอบกันเองผ่านศาล หรือองค์กรอิสระ(เฉพาะในนาม) โดยมีประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมากเหมือนในอดีต และก็ไม่มีเครื่องรับประกันว่าองค์กรอันทรงอิทธิพลอย่างเช่นกองทัพกับศาลจะสามารถมีการทำงานที่โปร่งใสและปลอดการทุจริตเพราะถูกตรวจสอบจากกลุ่มภายนอกที่เชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งเราก็สามารถเห็นได้จากกรณีอุทยานราชภักดิ์

6.ความสิ้นหวังทางการเมือง

สุดท้ายนี้หากเราจะอุปมาการลงประชามติในครั้งนี้ก็คงเหมือนกับแมวกำลังเล่นตะปบหนูคือปล่อยให้หนูวิ่งหนีไปมาในวงแขน ก่อนจะกัดหนูซึ่งกำลังมีความหวังให้ตายอย่างน่าอนาถ นั่นคือ ถ้าประชามติผ่าน กลุ่มขวาอำมาตย์นิยมก็ได้ประโยชน์ดังเหตุผลข้อ 5  แต่ถ้าไม่ผ่าน พวกเขาก็ได้ประโยชน์อยู่ดี (แม้จะเสียหน้าหรือทำลายความชอบธรรมของคสช.ไปได้บ้าง แต่คงไม่สามารถลุกลามไปถึงการล้มของรัฐบาลทหารได้เหมือนกับหลายคนคิด ด้วยกองทัพพร้อมจะเข้ามาควบคุมสื่อมวลชนและประชาชนได้ทันท่วงทีเสมอผ่านกลไกทางอำนาจที่ถูกผลิตซ้ำเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา)  และผู้สูญเสียอย่างแท้จริงคือคนไทยซึ่งต้องเสียภาษีเพื่อให้เป็นทุนรอนสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่นเดียวกับเสียเวลาที่ปล่อยให้คสช.สามารถเตะถ่วงเพื่อรอเวลาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปเรื่อยๆ และแช่แข็งการเมืองไทยจนประเทศกลายสภาพเป็นรัฐเผด็จการทหารที่เข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ  

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามีผู้ไม่ไปใช้สิทธิลงประชามติถึงกว่าร้อยละ 45.39  สิ่งนี้กลายเป็นปัจจัยทางอ้อมคือช่วยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปได้แม้จะไม่สง่างามเท่าไรนัก จึงเป็นเรื่องดีที่จะทำโพลสำรวจถึงเหตุผลของคนเหล่านั้นอันอาจจะทำให้ทราบว่ามีผู้สิ้นหวังต่อประชาธิปไตยของไทยด้วยเหตุผลข้างบนกี่คน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะมีมากจนน่าตกใจเลยทีเดียว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท