Skip to main content
sharethis

แม้ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันมาจากกว่าทีมฟุตบอลชาย แต่กลับได้รับค่าจ้างต่ำกว่า ดังนั้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่บราซิล พวกเธอจึงใช้พื้นที่การแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อเรียกร้องการจ่ายค่าจ้างที่เสมอภาคในสโลแกน  "เล่นเท่ากัน ค่าจ้างเท่ากัน" (Equal Play, Equal Pay)

แฟ้มภาพ นักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐ ระหว่างรับเหรียญทอในการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอนปี 2012 (ที่มา: Wikipedia)

10 ส.ค. 2559 บทความของลิซา เบย์เลสส์ บรรณาธิการฝึกงานของนิตยสาร Yes! ระบุถึงชัยชนะของทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐฯ ที่มีต่อทีมชาติญี่ปุ่นในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศของฟุตบอลหญิงเวิร์ลคัพจัดโดยฟีฟ่าเมื่อปี 2558 ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือการยิงลูกจากระยะไกลของมิดฟิลด์ทีมชาติหญิงสหรัฐฯ ที่ชื่อ คาร์ลี ลอยด์ นักฟุตบอลหญิงฝีมือฉกาจผู้นี้ยังสามารถยิงได้ติดต่อกัน 3 ประตูในเกมเดียวกันภายในระยะเวลาสั้นๆ จนนับเป็นการทำแฮททริคได้อย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลไม่ว่าจะฟุตบอลชายหรือหญิงก็ตาม

ทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐฯ เอาขนะในเกมสุดท้ายของเวิร์ลคัพ 2558 ด้วยคะแนน 5-2 ทำให้เป็นทีมที่มีชัยชนะมากที่สุดสำหรับทีมฟุตบอลหญิง นอกจากนี้ยังเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่มีผู้ชมากที่สุดในประวัติศาสตรสหรัฐฯ คือมีผู้ชม 26.7 ล้านคน ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาอยากพูดเกี่ยวกับทีมฟุตบอลหญิงมากขึ้น ทั้งขบวนมาพาเหรดของนักกีฬาที่มีคนไปร่วมยินดีเป็นจำนวนมากและพวกเธอยังได้ลงนิตยสาร 25 ปก จากเดิมเมื่อ 5 ปีที่แล้วพวกเธอยังปรากฏในนิตยสารน้อยกว่าร้อยละ 5 ของนิตยสารรายสัปดาห์ทั้งหมด พวกเธอยังได้รับเชิญให้ไปที่ทำเนียบขาวเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในการกีฬามาไกลแค่ไหน

อย่างไรก็ตามยังมีความจริงที่ย่ำแย่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือการที่การแข่งขันของนักกีฬาฟุตบอลหญิงในสหรัฐฯ มีการแข่งขันกันบนสนามที่ไม่ได้มาตรฐานมืออาชีพ มีการใช้หญ้าเทียมและมีพื้นแข็งวัตถุดิบที่ทำจากพลาสติกก็ทำให้ควบคุมบอลยาก ทำให้เสี่ยงอันตรายสำหรับผู้เล่น โดยแม้ว่าในสหรัฐฯ จะมีการยกเลิกไม่ให้มีการแข่งขันฟุตบอลชายในสนามเช่นนี้แล้วแต่ยังมีการใช้ทีมหญิงลงแข่งในสนามเช่นนี้เกือบ 1 ใน 3 นัดมีผู้เล่นทีมหญิงส่วนหนึ่งรวมถึงศูนย์หน้าอย่างแอ็บบี้ แวมบาค ฟ้องร้องเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อฟีฟ่าและสมาคมฟุตบอลแคนาดา แต่พวกเขาก็ให้ยอมความกันและมีการข่มขู่ว่าจะสั่งพักการลงสนามหรือแบนผู้เล่นจากการเข้าร่วมการแข่งขัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายซึ่งเป็นประเด็นในระดับชาติของสหรัฐฯ ขณะที่ทีมชาติหญิงของสหรัฐฯ ได้รับค่าตอบแทนรวม 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการชนะเลิศในเวิร์ลด์คัพฟุตบอลหญิงปี 2558 ทีมชายที่ไม่เคยเล่นผ่านรอบรองชนะเลิศไปได้เลยมามากกว่า 80 ปี และไม่เคยชนะเลิศกลับมีค่าตอบแทนรวม 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 แม้จะแข่งแพ้ ส่วนทีมที่ชนะในปีนั้นคือเยอรมนีได้รับเงินถึง 35 ล้านดอลลาร์

ฟีฟ่าพยายามพูดปกป้องการจ่ายเงินให้นักกีฬาสองเพศต่างกันว่าเป็นเพราะความแตกต่างจากรายได้ที่ได้จากการจัดกีฬา อย่างไรก็ตามองค์กรฟีฟ่าซึ่งมีเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างหนักเมื่อปีที่แล้วก็มีประวัติลงทุนกับกีฬาผู้หญิงค่อนข้างน้อย ไม่นับว่าอดีตประธานฟีฟ่าอย่าง เซปป์ แบลตเตอร์ ที่อ้างตัวว่าเป็น "เจ้าพ่อฟุตบอลหญิง" เคยเสนออะไรในเชิงเหยียดเพศมาก่อนอย่างเสนอให้ผู้หญิงที่ลงแข่งใส่ชุดรัดรูปมากกว่านี้เพื่อหวังเพิ่มความนิยมจากการหลอกล่อด้วยรูปลักษณ์ แบลตเตอร์ยังยอมรับอีกว่ามีแรงต้านไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในวงการบริหารของฟีฟ่าด้วย

แม้แต่ในสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้จ้างวานทีมชาติหญิงก็ยังคงมีช่องว่างการจ่ายเงินค่าตัวนักกีซาชายหญิงอยู่มากทั้งที่ทีมฟุตบอลหญิงถูกประเมินว่าจะทำรายได้เข้าสหพันธ์ได้มากกว่าทีมชายเกือบ 2 เท่า โดยที่พวกเขาจ่ายค่าจ้างการแข่งขันนัดกระชับมิตรให้กับทีมหญิง 1,350 ดอลลาร์ถ้าหากชนะ แต่สำหรับทีมชายถ้าหากชนะจะได้รับมากถึง 17,625 ดอลลาร์ กรณีที่แพ้ทีมชายจะได้รับ 5,000 ดอลลาร์ แต่ทีมหญิงจะไม่ได้อะไรเลย และในกรณีที่นำทีมเข้าสู่ฟุตบอลโลกได้ทีมชายจะได้รับ 68,750 ดอลลาร์ ทีมหญิงจะได้เพียง 15,000 ดอลลาร์เท่านั้น

ถึงแม้ว่าฟุตบอทีมชาติหญิงของสหรัฐฯ จะมีฐานเงินเดือน 72,000 ดอลลาร์ และมีสวัสดิการบางอย่างที่ไม่มีในทีมชาย แต่ถ้าหากเมื่อเทียบกับการได้เล่นชนะในนัดกระชับมิตร 20 นัดแล้ว ฝ่ายหญิงจะได้รับเพียง 99,000 ดอลลาร์ (รวมฐานเงินเดือน) แต่ฝ่ายชายจะได้รับ 263,320 ดอลลาร์ รวมถึงการจ่ายค่าสปอนเซอร์ให้นักกีฬาหลายร้อยดอลลาร์ต่อการลงสนามแต่ละครั้งด้วย

เวโรนิกา อาร์เรโอลา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสตรีและเพศสภาพที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์แห่งชิคาโกกล่าวว่าผู้หญิงเหล่านี้ลงเล่นในเกมแบบเดียวกับทีมชายแต่กลับถูกให้คุณค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับทีมชาย

จากชัยชนะครั้งล่าสุดทำให้นักเตะหญิง 5 คนได้แก่ ลอยด์, อเล็ก มอร์แกน, โฮป โซโล, เบ็กกี เซาเออร์บรันน์ และเมแกน ราปิโน นำเรื่องฟ้องร้องคณะกรรมการเพื่อโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกันในกรณีการเลือกปฏิบัติด้านค่าแรงของสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐฯ เมแกนผู้เป็นศูนยืหน้ากล่าวว่ามันถึงเวลาแล้วที่ผู้จ้างวานพวกเธอต้องเล็งเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม เธอยังประกาศอีกว่าการฟ้องร้องในครั้งนี้ถือเป็นการทำเพื่อเด็กผู้หญิงทั่วประเทศและทั่วโลกที่ควรมีคนฟังเสียงพวกเธอด้วย

ถึงแม้ว่าพวกเธอจะได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากหลายที่ทั้งจากฮิลลารี คลินตัน และจาก บิลลี ยีน คิง ผู้นำการเรียกร้องค่าจ้างที่เท่าเทียมกันในกีฬาเทนนิส แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องค่แรงของพวกเธอโดยอ้างระบบที่ต่างกันของการจ่ายค่าแรงนักกีฬาชายและหญิง มีการโต้แย้งว่าฝ่ายหญิงจะได้รับประโยชน์จากตำแหน่งที่ได้เงินเดือนและมีค่าพยาบาลการบาดเจ็บและสามารถลาคลอดกับเลี้ยงดูลูกได้ขณะที่ฝ่ายทีมชายดูจะได้รับค่าจ้างจากตำแหน่งที่ไม่มั่นคงมากเท่า แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้เล่นทีมชายด้รับค่าจ้างทีสะดวกสบายจากฟุตบอลเมเจอรืลีคส์ ในขณะที่ลีคส์ฟุตบอลหญิงอเมริกันมีเงินเดือนที่ต่ำกว่าเส้นแบ่งระดับความยากจนของสหรัฐฯ ผู้เล่นหญิงจำนวนมากต้องอาศัยอยู่กับครอบครัวโฮสต์เพราะไม่สามารถเช่าอพาร์ทเมนต์อยู่เองได้

ทราวิส วาลดรอน เขียนไว้ในเดอะฮัฟฟิงตันโพสต์ว่าข้อถกเถียงเรื่องการทำรายได้ให้สหพันธ์จะฟังดูมีเหตุผลถ้าหากตลาดค้าแข้งในปัจจุบันมีโอกาสที่นักกีฬาผู้หญิงจะประสบความสำเร็จมากเท่านักกีฬาชายแต่ในความเป็นจริงพวกเธอไม่มีโอกาสมากเท่า วาลดรอนบอกอีกว่าเรื่องการทำรายได้ให้สหพันธ์นั้นยังเป็นปัญหาความเชื่อในสังคมที่หยั่งรากลึกคือความเชื่อว่ากีฬาที่ผู้หญิงแข่งน่าสนใจน้อยกว่าจึงมีการลงทุนพัฒนางานกีฬาหญิงน้อยกว่ามากถึงแม้ว่านักกีฬาหญิงจะมีประสิทธิภาพในการสร้างรายได้และความสำเร็จเช่นในเวิร์ลด์คัพหญิงปี 2558

อย่างไรก็ตาม เชอร์ริล คุกกี ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านอเมริกันศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพอดูมองว่าเรื่องการมองว่ากีฬาหญิงไม่น่าสนใจเท่าไม่ใช่ความจริงแต่เป็นแค่ความเชื่อที่ควรจะเป็นอดีตได้แล้ว ดี ซี แม็คอัลลิสเตอร์ ผู้เขียนบทความให้เดอะเฟเดอรัลลิสต์ก็บอกว่านักกีฬาหญิงควรได้รับการชื่นชมในฐานะความเก่งกาจทางการกีฬามากกว่านี้

ถึงแม้ว่าจะมีการเข้าร่วมของนักกีฬาหญิงมากขึ้นแต่การปรากฏตัวในสื่อโทรทัศน์ยังต่ำอยู่ ในงานวิจัยที่คุกกีร่วมเขียนด้วยระบุว่าในปี 2557 มีสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นช่องกีฬาร้อยละ 3.2เท่านั้นที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับนักกีฬาหญิง รายการสปอรืตเซนเตอร์ของช่องกีฬายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ESPN ยิ่งทำได้แย่มีการนำเสนอเกี่ยวกับนักกีฬาหญิงเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น หลังจากที่ Fox Sports ชนะการประมูลการออกอากาศเวิร์ลด์คัพฟุตบอลหญิง ESPN ถึงมีการเริ่มเปิดส่วนที่นำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิงโดยเฉพาะอย่าง espnW สื่อเว็บไซต์อย่าง CBS Sports ก็มีการนำข่าวเกี่ยวกับเวิร์ลด์คัพหญิงอยู่ในแถบ "เรื่องอื่นๆ"

"ในขณะที่ผู้นำข่าวสารการกีฬาของสหรัฐฯ นำเสนอเรื่องเชิงการศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของการกีฬาด้วยโปรดักชั่นที่ราคาสูงมาก แต่พวกเขาแทบจะกีดกันผู้หญิงออกไปอย่าสิ้นเชิง" เอเวอลีน ชูป เขียนในเดอะเดลีบีสต์

จากบทความวารสาร GLQ ของเจนนิเฟอร์ ดอยล์ ศาตราจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ระบุถึงกีฬานอกเหนือไปจากมุมด้านเศรษฐศาสตร์ด้วยว่ากีฬามักจะมีการสร้างเรื่องเล่าขึ้นมานอกเหนือจากที่อยู่ในสนาม บางครั้งก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่กว่าบางครั้งก็เป็นเรื่อเลวร้ายกว่าแต่มันก็สะท้อนจุดยืนของสังคมในขณะนั้นออกมาเช่นเรื่องการวางกรอบและการใช้ภาษาต่อการเล่าเรื่องข่าวเกี่ยวกับนักกีฬาหญิงเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพของสังคมนั้นออกมา ตัวอย่างคือคำถามในเชิงแบ่งแยก "นักกีฬาผู้หญิง" ออกจาก "นักกีฬา" ในการสัมภาษณ์นักเทนนิสเซเรนา วิลเลียมส์ ที่เธอตอบกลับไปว่าแทนที่จะยกย่องเธอเป็น "นักกีฬาที่เยี่ยมที่สุดในหมู่นักกีฬาหญิง" เธออยากได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักกีฬาที่เยี่ยมที่สุด" มากกว่า

ในเรื่องคดีเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางค่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลหญิงนั้น เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาศาลสหรัฐฯ ก็พิจารณาให้ยังคงค่าจ้างแบบเดิมไว้ตามสัญญาอยู่นั่นหมายความว่าทีมนักกีฬาหยิงจะต้องรอถึงเดือน ธ.ค. ซึ่งจะหมดสัญญาเดิมถึงจะสามารถขอเจรจาค่าจ้างได้อีกครั้ง ในช่วงนั้นเองวุฒิสมาชิกหญิงคนแรกของรัฐวอชิงตัน แพตตี้ เมอร์เรย์ นำเสนอมติที่ไม่มีผลผูกมัดต่อที่ประชุมวุฒิสภาที่เรียกร้องให้สหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐฯ ยกเลิกการทำตัวไม่เสมอภาคและปฏิบัติต่อทีมฟุตบอลหญิงด้วยความเคารพ มีการเห็นชอบผ่านมตินี้อย่างเป็นเอกฉันท์ เมอร์เรย์เคยกล่าวว่าการสนับสนุนการฟ้องร้องของนักฟุตบอลหญิงแสดงให้เห็นว่าบรรยากาศการเลือกปฏิบัติทางเพศในสหรัฐฯ ตอนนี้เป็นเช่นไร

ตอนนี้ทีมชาติหญิงของสหรัฐฯคงต้องพักเรื่องคดีความและหันมาอยู่กับเป้าหมายตรงหน้าอย่างการพยายามคว้าเหรียญทองโอลิมปิคเป็นครั้งที่ 5 ให้ได้ก่อน พวกเธอหวังว่าโอลิมปิคในครั้งนี้จะเป็นพื้นที่ให้พวกเธอส่งเสียงต่อชาวโลกในการเรียกร้องความเป็นธรรมค่าจ้างนักกีฬาผู้หญิงด้วยสโลแกนว่า "เล่นเท่ากัน ค่าจ้างเท่ากัน" (Equal Play, Equal Pay) ที่มีการตีพิมพ์ข้อความนี้ลงบนเสื้อยืดและเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งย้ำเตือนแฟนกีฬา สื่อ และฝ่ายบริหารกีฬาฟุตบอลให้ยอมสนับสนุนผู้หญิงเหล่านี้ทั้งในละนอกสนาม เซาเออร์บรันนืบอกว่า "พวกเราต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างที่ต้องเผชิญมาแล้วมันคงไม่น่าแปลกใจถ้าพวกเราจะต่อสู้กับประเด็นนี้จนกว่าจะใช้หมดแล้วทุกหนทาง"

ถึงแม้เสียงพวกเธออาจจะเด่นที่สุดในหมู่นักกีฬาหญิงอื่นๆ แต่เหล่านักกกีฬาหญิงอื่นๆ ก็ต่อสู้ในประเด็นเดียวกันไปพร้อมกับพวกเธอด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องโบนัสของนักฟุตบอลหญิงในคอสตาริกาถ้าหากพวกเธอผ่านเข้าสู่เวิร์ลด์คัพได้ การที่นักเตะหญิงโคลอมเบียร้องเรียนป่าวประกาศเรื่องที่เธอถูกงดจ่ายค่าจ้างในช่วงที่เธอเป็นประจำเดือนจนทำให้เธอถูกสั่งพักการลงสนาม และทีมลูกหนังหญิงออสเตรเลียก็หยุดงานประท้วงค่าแรงรายปีที่ต่ำกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อสื่อ espnW ถามทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐฯ ว่าพวกเธอต้องการอะไรจากการให้คนได้รับรู้เรื่องเกี่ยวกับคดีเรียกร้องค่าจ้าง ลอยด์ตอบสั้นๆ แบบสรุปรวบยอดได้ชัดเจนว่าพวกเธอต้องการให้เคารพในความเป็นมนุษย์ของพวกเธอ

 
 
เรียบเรียงจาก
 
“Equal Play, Equal Pay”: Female Athletes Play for Respect in Rio, Liza Bayless, Yes! Magazine, 08-08-2016 http://www.yesmagazine.org/people-power/equal-play-equal-pay-female-athletes-play-for-respect-in-rio-20160808
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net