Skip to main content
sharethis
สพฉ. เตรียมกระจายติดตั้งเครื่อง AED จำนวน 20 เครื่องในพื้นที่สาธารณะ ให้ประชาชนได้ใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน นำร่อง ติดตั้ง สนามบิน สนามกีฬา สถานีรถไฟ เปิดข้อมูลทุก ๆ 1 ชั่วโมงมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน ระบุหาก CPR ควบคู่กับใช้งานเครื่อง AED ภายในระยะเวลา 4 นาทีจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ประชาชนได้มากขึ้น
 
 
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมกมลทิพย์ 1 โรงแรมสุโกศล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดงานแถลงข่าวพิธีมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ AED จำนวน 20 เครื่อง โดย บริษัท แอลโคเทค จำกัด โดยมีพลเอกชูศิลป์ คุณาไทย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าร่วมเป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ “หยุดวิกฤตหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในแม่สูงวัยด้วยการเรียนรู้การปั้มหัวใจ และการใช้งานเครื่อง AED” โดยวิทยากรจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หน่วยงานภาคเอกชน และดารานักแสดงเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดสาธิตการช่วยฟื้นชีพ (CPR) และการใช้งานเครื่อง AED ด้วย
 
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า โรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่ทุกเวลา ซึ่งอัตราของประชาชนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีจำนวนมากพอๆ กับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทั้งนี้จากสถิติในแต่ละปีนั้นประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คนเท่ากับว่าในทุก ๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และหากผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือโดยการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (CPR) ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้
 
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้บริษัทแอลโคเทค จำกัด จึงได้ทำการมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ AED จำนวน 20 เครื่องให้กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะนำเครื่อง AED ที่ได้รับมอบในครั้งนี้ไปกระจายติดตั้งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอาทิ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร สนามบิน บนเครื่องบิน บนรถไฟ สนามแข่งขันวิ่งมาราธอน สนามกีฬาที่มีคนจำนวนมาก สนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หน่วยบริการของราชการ สถานที่สำคัญ รวมทั้งโรงงานที่มีคนงานจำนวนมาก และสถานที่ท่องเที่ยวที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้เครื่อง AED ได้ถูกใช้งานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยในเบื้องต้นเราได้นำเครื่อง AED ไปติดตั้งแล้วที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล สถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน สถานีขนส่งหมอชิต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินดอนเมือง สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เราจะนำไปติดตั้งเพิ่มเติมในสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ กรมบัญชีกลาง สวนสัตว์ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางศาสนา เรือหลวงจักรีนฤเบศร สนามกีฬาธูปะเตมีย์ สนามบินสุราษฏร์ธานี สถานีขนส่งสายใต้ และสถานีรถไฟอีกด้วย
 
ด้าน นพ.ชายวุฒิ สรวิบูลย์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์วชิระพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจจึงทำให้ต้องประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยตนเองไม่รู้ตัว ซึ่งจากสถิติมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เสียชีวิตกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นอกโรงพยาบาล โดยเราสามารถช่วยผู้ป่วยได้ภายในระยะเวลา 4 นาทีเท่านั้น ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรที่จะเรียนรู้แนวทางในการช่วยชีวิตฉุกเฉิน และหมั่นตรวจสอบสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ นอกจากนี้แล้วผู้สูงอายุก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและในโอกาสวันแม่ที่จะถึงนี้ จึงอยากแนะนำบุตรหลานควรที่จะประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะพาแม่ไปเที่ยวในสถานที่ไกลๆ เพราะหลายคนอาจคิดว่าท่านอาจแข็งแรงแต่จริง ๆ แล้วท่านอาจจะมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซ่อนอยู่ก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะพาแม่ไปเที่ยวควรพาไปตรวจร่างกายประจำปีก่อน รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ไกล ๆ หรือมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ควรวางแผนการเดินทางให้ดีพักผ่อนให้เพียงพอ และเตรียมยาประจำตัวให้พร้อมด้วย
 
ด้าน น.ส. อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล หรือน้องกรีนนักร้องนักแสดง กล่าวว่า ในการแสดงมีหลายครั้งที่ต้องรับบทที่เกี่ยวข้องกับฉากปั้มหัวใจ ทั้ง จมน้ำ เป็นลม หรือหายใจไม่ออก ตอนนั้นที่แสดงก็ไม่ทราบว่าได้ทำถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ เพราะทำตามคำบอกเล่าของคนในกองถ่าย แต่จากนี้ไปเมื่อได้ชมการสาธิต และ ได้เรียนรู้การใช้เครื่อง AED ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถทำได้อย่างถูกต้อง และ ยังสามารถช่วยผู้ป่วยได้จริงอีกด้วย
 
“เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ออกทีวีไปความถูกต้องมีไหม ไม่สามารถบอกได้ แต่เมื่อได้เรียนรู้และฝึกการ CPR และใช้งานเครื่อง AEDแล้วก็ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น แม้ว่าเราไม่ได้มีความรู้ด้านการแพทย์ ก็สามารถที่จะกล้าช่วยเหลือคนอื่นได้เพราะเครื่อง AED ใช้งานง่าย บอกขั้นตอนในการทำงานที่ชัดเจน”
 
ด้านนายธนภาค จิระเดชดำรง ผู้บริหารจากบริษัท แอลโคเทค จำกัดซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย AED ยี่ห้อ defibtech จากสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ภายหลังจากที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมารณรงค์อย่างต่อเนื่องให้มีการติดตั้งเครื่อง AED และประกาศให้เครื่อง AED กลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นซึ่งเมื่อเครื่อง AED กลายมาเป็นอุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นประชาชนทุกคนจึงจะต้องเข้าถึงการใช้งานให้ได้อย่างง่ายที่สุด โดยเครื่อง AED ที่เราได้ทำการมอบให้กับ สพฉ.ในครั้งนี้นั้นมีระบบการทำงานที่เข้าใจง่ายเพราะมีระบบสั่งการด้วยวีดีโอ ภาพ เสียง และข้อความบนหน้าจอ รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อนำไปติดตั้งในสถานที่ชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติที่อยู่ในบริเวณสถานที่เหล่านั้นก็สามารถใช้งานเครื่อง AED ได้ง่ายไม่เกิดความสับสน เพราะวีดีโอที่สาธิตการใช้งานเครื่อง AED จะสอนผู้ใช้งานให้ใช้ได้อย่างถูกวิธี
 
ตัวแทนจาก บริษัท แอลโคเทค จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่หลายประเทศใช้แล้วสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาลได้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเราจะใช้การปฐมพยาบาลด้วยการ CPR เพียงอย่างเดียว จึงทำให้ตัวเลขการรอดชีวิตของผู้ป่วยในประเทศไทยระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาลมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่รอดชีวิตเช่นกัน อย่างไรก็ตามในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้มีงานวิจัยออกมาอย่างชัดเจนว่าเมื่อนำเครื่อง AED มาใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินสลับกับการทำ CPR ระหว่างรอนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลนั้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
 
“โรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยไม่สามารถรู้ตัวได้ว่าจะเกิดอาการขึ้นกับตนเองเมื่อไหร่และสถานที่ไหน ดังนั้นอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกคนเตรียมตัวรับมือให้พร้อมหากเราเจอผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันให้รีบโทรหาสายด่วน 1669 และช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นด้วยการ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้แน่นอน” นายธนภาคกล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net