สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10-16 ส.ค. 2559

ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชายแดนใต้ร้องรัฐแก้ไขงานบริหารบุคคลและค่าเสี่ยงภัย
 
(10 ส.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชายแดนใต้ ประมาณ 50 คน ได้เดินทางขอเข้าพบ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขา ศอ.บต.ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลแก้ไขงานบริหารบุคคล และค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้
 
ส่วนที่ทางชมรมเรียกร้องคือ ขอปรับตำแหน่งบุคลากรสาธรณสุข ทันตสาธารณสุข เภสัชกรรม ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น และขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์เสี่ยงภัยชายแดนใต้จัดสรรให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ เพราะทุกวิชาชีพต่างมีความเสี่ยงภัย และไม่ควรอ้างความขาดแคลนของบางวิชาชีพ เพราะปัจจุบันบางวิชาชีพในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ขาดแคลน หรือบางวิชาชีพมี FTE เกินแล้ว และความขาดแคลนถูกนำมาอ้างในการปรับค่าตอบแทนเหมาจ่าย
 
ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการจัดสรรค่าตอบแทน ฉ.10 ให้ทุกวิชาชีพ โดยทุกวิชาชีพควรได้รับในเรตเดียวที่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน การแก้ไขปัญหาเงินเดือนเหลื่อมล้ำสำหรับบุคลากรสาธารณสุข และข้าราชการพลเรือนในจังหวัดชายแดนใต้ที่เงินเดือนเต็มขั้น ให้ปรับบัญชีอัตราเงินเดือน และสามารถเลื่อนไหลเงินเดือน เช่นเดียวกับครู หรือข้าราชการอื่นๆ ที่มีบัญชีเงินเดือน หรือการเลื่อนไหลเงินเดือนที่ดีกว่าข้าราชการพลเรือน
 
 
ธอส.ศึกษาระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัยของเยอรมนี เล็งนำมาปรับใช้ส่งเสริมคนไทยมีบ้านของตนเอง
 
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญด้านการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) จึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ "Bausparkassen : A Prospective Scheme Promoting Home Ownership in Thailand" หรือ "ระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัยของเยอรมนี : แนวทางการส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในประเทศไทย" ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธอส. กับสมาคม Bausparkassen แห่งประเทศเยอรมนี (The German Association of Private Bausparkassen)
 
งานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อศึกษาแนวคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัย (Bauspar System) ซึ่งเป็นระบบรากฐานทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องนานกว่าร้อยปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศเยอรมันนี โดยมีการดำเนินการผ่านสถาบันการเงินที่เรียกว่า "Bausparkassen" ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 22 แห่งในประเทศเยอรมนี ดำเนินการโดยภาครัฐ 10 แห่ง และภาคเอกชน 12 แห่ง มีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสูงประมาณ ร้อยละ 20
 
ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวยังได้ขยายสู่หลายประเทศในภาคพื้นยุโรป อาทิ ออสเตรีย โครเอเชีย สาธารณรัฐเชค ฮังการี คาซัคสถาน ลักเซมเบิร์ก โรมาเนีย และสโลวาเกีย นอกจากนี้ยังเริ่มนำแนวทางนี้เข้ามาสู่ประเทศจีนอีกด้วย
 
"ดังนั้นความรู้ที่ได้จากงานสัมมนาในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมทางสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ๆ สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยของประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น" รมช.คลัง กล่าว
 
พร้อมระบุว่า ตามแนวคิดดังกล่าวของสถาบัน Bausparkassen ประเทศเยอรมนี ที่มีการส่งเสริมให้มีการออมเพื่อที่อยู่ศัยในอนาคต ด้วยหลักการให้มีการรวมกลุ่มกันของประชาชน เพื่อออมเงินให้ได้ตามสัดส่วนที่ต้องการ และจะได้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น แนวคิดดังกล่าวอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะต้องการให้คนไทยมีวินัยในการออมเพิ่มขึ้น และลดส่วนหนี้ความเสี่ยงการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงจากปัจจุบันที่คนไทยนิยมการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่มีการออมเริ่มต้น จึงทำให้ NPL สูง และมีผลต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
 
อย่างไรก็ดี ต้องศึกษาให้เหมาะสมว่าในประเทศไทยสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงถึง 80% หากต้องมีการออมเพื่อที่อยู่อาศัยในอนาคตด้วย อาจทำได้ยาก ฉะนั้นต้องให้ ธอส.ไปหาแนวทางในการดำเนินการก่อน
 
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ธอส.พร้อมที่จะเป็นกลไกหลักของภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านที่อยู่อาศัย โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถมีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งที่อยู่อาศัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ จากแนวคิดระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัย (Bauspar System) ของประเทศเยอรมนี นับเป็นนวัตกรรมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแบบใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายยิ่งขึ้น
 
ปัจจุบัน ธอส.ให้ความสำคัญเรื่องการออมเพื่อการมีที่อยู่อาศัยในอนาคต มุ่งเน้นส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับประชาชนตามนโยบายรัฐบาลจึงได้จัดทำ "โครงการ ธอส.โรงเรียนการเงิน" ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และวินัยทางการเงินให้กับคนไทยที่ต้องการมีบ้าน รวมถึงแนะนำการเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อาทิ นักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ง่ายในอนาคต หากได้ประกอบอาชีพและมีแหล่งที่มาของรายได้อย่างต่อเนื่องชัดเจน
 
ซึ่งธนาคารจะสามารถนำแนวทางของ Bausparkassen มาพัฒนาและใช้ประยุกต์ต่อยอดรูปแบบการเงินที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ หรือ กลุ่มที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน และสามารถส่งเสริมให้กลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการ เพื่อปลูกฝังและฝึกฝนวินัยการเงินผ่านการออม โดยมีเป้าหมายที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอนาคตได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นการสร้างโอกาสแก่คนรุ่นใหม่ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอนาคตได้มากด้วย เป็นการสร้างฐานอุปสงค์ในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
 
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยพันธกิจที่จะทำให้คนไทยมีบ้าน ธนาคารยังคงเดินหน้านำนวัตกรรมด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่มาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จากแนวคิดดังกล่าว ธอส.จึงได้ร่วมมือกับสมาคม Bausparkassen จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานของ Bausparkassen เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไทยในการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้อย่างมั่นคง โดยมีจุดเด่นคือการสร้างให้คนไทยมีการวางแผนและการสร้างวินัยการออม
 
สำหรับประชาชนที่ต้องการกู้เงินจะต้องเริ่มต้นจากการทำสัญญา "การออมเพื่อการกู้ในอนาคต" โดยจำนวนเงินออมจะสัมพันธ์กับจำนวนเงินที่ต้องการขอกู้ในอนาคต ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน Bausparkassen เพื่อซื้อบ้านเป็นของตนเอง
 
จุดเด่นอีกประการหนึ่ง คือ ระบบ Bausparkassen จะเป็นระบบการเงินแบบปิด (Closed System) ที่นำเงินที่ได้จากเงินออมของผู้ต้องการซื้อบ้านมาบริหารจัดการในปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในรูปแบบของระบบเงินกองทุน ซึ่งผู้ต้องการซื้อบ้านจะต้องทำสัญญากับ Bausparkassen ใน 3 ส่วน คือ 1.ส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการฝาก (Savings Phase) เช่น จำนวนเงินฝาก อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาฝาก 2.ส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดสรรเงินให้กับสมาชิก (Allocation) เช่น จำนวนเงินกู้ที่จะได้รับ ราคาของที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อ 3.ส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการกู้เงิน (Loan Phase) เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวนเงินผ่อนชำระ ระยะเวลาผ่อน เป็นต้น ซึ่งการทำสัญญาทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องทำตั้งแต่เริ่มต้นและระบุอัตราดอกเบี้ยที่สัมพันธ์กัน
 
ดังนั้น แนวทางเช่นนี้อาจจะส่งผลให้การบริหารเงินกองทุนของ Bausparkassen มีต้นทุนต่ำกว่าระบบการเงินแบบอื่น และอาจไม่ต้องอ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินได้ ทำให้ Bausparkassen สามารถปล่อยสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด หากบริหารต้นทุนเงินฝากได้ดี รวมถึงผู้ที่ต้องการกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยสามารถรับรู้ภาระและความสามารถในการผ่อนชำระล่วงหน้าได้อีกด้วย
 
"สำหรับประเทศไทย ธอส.ได้ตระหนักถึงแนวคิดและหลักการของ Bausparkassen ว่าจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการออมและภาคสินเชื่อในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะทำให้โครงการสร้างพื้นฐานทางสังคม เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย" นายฉัตรชัยกล่าว
 
พร้อมระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำระบบการออมเงินดังกล่าวมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยในเบื้องต้นจะนำร่องในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่หรือวัยเริ่มต้นทำงานที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ออมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย แต่จะเป็นการออมเงินแบบกลุ่มลักษณะใกล้เคียงการเล่นแชร์ ซึ่งคาดว่าจะปล่อยกู้ในช่วงแรกวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจะเจรจากับกองทุนประกันสังคมเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยของโครงการดังกล่าวกับผู้กู้ต่ำกว่า 2% ในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในปีนี้
 
ทั้งนี้ หลักในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ธนาคารจะเป็นตัวกลางในการรวมกลุ่มของประชาชนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันเพื่อให้ออมเงินร่วมกัน โดยจะกำหนดวงเงินการออมตามที่ธนาคารกำหนด หรือ 40% ของเงินสินเชื่อที่ต้องการ จากนั้นธนาคารจะมีการกำหนดเงื่อนไขวงเงินสินเชื่อที่ได้รับ และลำดับก่อนหลังผู้ได้รับสินเชื่อในกลุ่ม ซึ่งผู้ที่รวมกลุ่มกันไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน โดยธนาคารจะเป็นผู้กำหนดกลุ่มให้ เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์สินเชื่อ ทั้งนี้หากในกลุ่มมีรายใดได้รับสินเชื่อแล้ว ให้ผันเงินที่เคยออมดังกล่าวไปเป็นเงินจ่ายคืนสินเชื่อต่อไป
 
นายฉัตรชัย ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะกลุ่มดังกล่าวจะเป็นผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยในอนาคตจริง ไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร และไม่ได้มีจำนวนมากจนกระทบต่อการเติบโต แต่จะช่วยลด NPL ที่จะเกิดขึ้นได้มากกว่า
 
 
จัดอบรมกฎหมายแรงงานทางทะเลพัฒนาการคุ้มครองสู่มาตรฐานสากล
 
กระทรวงแรงงานจัดอบรมให้ความรู้ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 5 เม.ย.2559 เพื่อให้คนประจำเรือรู้สิทธิ์ของตนเอง รวมทั้งป้องกันการค้ามนุษย์ พัฒนากิจการพาณิชยนาวีของไทย และพัฒนาการคุ้มครองแรงงานสู่มาตรฐานสากล
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สภาพการจ้าง สภาพการทำงานบนเรือเดินทะเลมีความเสี่ยง เนื่องจากมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้ปัจจุบันไม่ครอบคลุมถึงคนประจำเรือ รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 เพื่อกำหนดมาตรฐานสภาพการทำงาน สภาพการจ้าง ความปลอดภัยและสุขอนามัยของคนประจำเรือ รวมทั้งการคุ้มครองด้านประกันสังคม โดยกำหนดมาตรการให้มีการออกใบรับรองแรงงานทางทะเลแก่เรือที่ชักธงไทย เพื่อรับรองว่าคนประจำเรือจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
 
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงแรงงาน โดยได้มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักกลไกประชารัฐมาบูรณาการความร่วมมือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการขนส่ง การคุ้มครองแรงงานทางทะเล และพัฒนากิจ การพาณิชยนาวีของประเทศไทย
 
และเพื่อให้การทำงานของคนประจำเรือเป็นกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเป็นไปตามมาตรฐานสากล ประเทศไทยจึงให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 หรือ Maritime Labour Convention, 2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2559
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และเผยแพร่สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าวให้แก่ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานทั้ง 4 กระทรวง รวมถึงฝ่ายเจ้าของเรือ ฝ่ายคนประจำเรือ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยมุ่งเน้นการห้ามมิให้มีแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้บนเรือเดินทะเล
 
ด้าน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ว่าเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการทำงานบนเรือ เงื่อนไขการจ้าง สวัสดิการ การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยบนเรือ การออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลแก่เรือขนส่งทางทะเลที่ชักธงไทยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล 2549
 
โดยมีสาระสำคัญคือ ห้ามเจ้าของเรือใช้คนประจำเรือที่อายุต่ำกว่า 16 ปีทำงาน และต่ำกว่า 18 ปีทำงานในเวลากลางคืน เว้นแต่จะได้รับการฝึกอบรม ห้ามใช้งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัย ต้องมีข้อตกลงการจ้างงานเป็นหนังสือ อาทิ วันเริ่มและวันสิ้นสุดสัญญา จำนวนวันลาป่วยที่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้าง และวันหยุดประจำปี ต้องจัดหาคนประจำเรือในจำนวนเพียงพอกับงาน จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 1.25 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง จัดให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง มีสิทธิ์ลาขึ้นฝั่ง ลาคลอดได้ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษสูงสุด ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนประจำเรือหรือแรงงานที่ทำงานบนเรือเดินทะเล จะได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของเรือ เพราะการออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลแก่เจ้าของเรือ ก็จะเป็นการรับรองว่าแรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการถูกกักเรือที่เดินทางระหว่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมพัฒนาการพาณิชยนาวีของไทยด้วย
 
อธิบดี กสร.กล่าวต่อไปว่า ได้ดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยคุณ สมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนฝ่ายเจ้าของเรือ และผู้แทนฝ่ายคนประจำเรือ 2.คำสั่งกระทรวงแรงงาน เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 และ 3.ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้ม ครองแรงงาน เรื่องประเภทของงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนประจำเรือซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ โดย กสร.จะส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
 
 
อดีตลูกจ้างร้องเอาผิด "พล.ร.อ.บรรณวิทย์" แจ้งความเท็จ
 
(10 สค.59) นางสาวจุฑาลักษณ์ พุทธสารวงษ์ ,นางสาวกรรณิการ์ พุทธสารวงษ์ ,นางสาววรัญญรดา วิทูรวรรธนา อดีตพนักงานขาย บริษัท เสียงประชาชนไทย จำกัด นำเอกสารหลักฐานเข้ายื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพฯใต้ เพื่อให้ดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความและให้ข้อมูลอันเป็นเท็จกับเจ้าพนักงานให้ได้รับโทษทางอาญา กับพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และบริษัทเสียงประชาชนไทย จำกัด ที่เป็นอดีตนายจ้าง เนื่องจากถูก พล.ร.อ.บรรณวิทย์ แจ้งความเอาผิดในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง เป็นโทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร มูลค่ากว่า 200,000 บาท ทั้งที่ไม่เป็นความจริงและลาออกจากบริษัทตั้งแต่ปี 2558 จากนั้นจึงถูกแจ้งความดำเนินคดี
 
นายเจริญ แก้วยอดหล้า ทนายความ เปิดเผยว่า จากหลักฐานมั่นใจว่า ผู้เสียหาย ไม่ได้กระทำความผิดจริง และเชื่อว่า น่าจะมีทางต่อสู้ในข้อกฏหมาย จึงนำหลักฐานมายื่นฟ้องต่อศาลเอง ส่วนสาเหตุที่ผู้เสียหายถูกอดีตนายต้าง แจ้งความเอาผิดเชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งภายในของพนักงานบริษัทบางคนกับเจ้าของบริษัท ซึ่งในรายละเอียดคงไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะจะกระทบต่อรูปคดี
 
ด้านพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เปิดเผยว่า ทั้ง 3 คนเป็นอดีตพนักงานของบริษัทจริง ได้ออกจากบริษัทไปโดยไม่ได้ลาออกซึ่งหลังทั้ง 3 คนออกไปพบว่าได้ขโมยทรัพย์สินไปด้วย โดยมีพยานหลักฐานชัดเจนซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล และยืนยันว่าการฟ้องในครั้งนี้เป็นการฟ้องผิดคน เพราะขณะนี้ตัวเองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวแล้ว แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดขอให้ไปต่อสู้กันในชั้นศาล
เบื้องต้นศาลอาญากรุงเทพใต้รับคำร้องพร้อมนัดคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายไกล่เกลี่ยในวันที่ 26 ต.ค. นี้
 
 
ก.แรงงาน เผยแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วง 10 ปี ภาพรวมลดลงถึงร้อยละ 16 
 
พันตำรวจตรีหญิงรมยง สุรกิจบรรหาร ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน บอกว่า ปี 2558 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศกว่า 1.1 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วง10 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานไทยไปทำงานลดลงร้อยละ16 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนไต้หวันยังมีแรงงานไทยที่สนใจไปทำงานอยู่ในหลายอาชีพ เช่น ช่างเทคนิค งานเกษตร ประมงโดยปี 2558 ส่งเงินกลับประเทศกว่า 8.1 หมื่นล้านบาททั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะศึกษาถึงความคุ้มค่าเพื่อนำข้อมูลมาให้คำแนะนำแก่แรงงาน เนื่องจากแรงงานไทยส่วนหนึ่งแล้วพบปัญหากรณีนายจ้าง สภาพแวดล้อมในการทำงาน และสุขภาพ รวมทั้งยังพบว่ามีกระบวนการหลอกลวงแรงงานอยู่มาก
 
 
ก.แรงงานปรับเกณฑ์ประสบการณ์กุ๊กไทยไปญี่ปุ่น
 
นายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รมว.แรงงาน ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานบูรณาการเพื่อส่งเสริมกุ๊กไทยไปทำงานต่างประเทศให้มากขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเน้นย้ำมาตรฐานรสชาติอาหารที่คงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งด้านกรมการจัดหางานมีการดูแลทั้งปริมาณความต้องการและการเดินทางไปทำงาน ทั้งระบบ โดยเฉพาะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและอำนวยความสะดวกในทุกด้านด้วย เพราะในแต่ละประเทศจะมีเงื่อนไขการเดินทางไปทำงาน ที่แตกต่างกัน
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศที่นิยมไปทำงานมากที่สุด 10 ลำดับแรก คือญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ อังกฤษ นิวซีแลนด์ เกาหลี อิสราเอล เยอรมนี มาเลเซีย และสวีเดน โดยในปี 2558 สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น มีการรับรองเอกสารสัญญาจ้างผู้ปรุงอาหารไทยแล้ว จำนวน 110 คน และในปี 2559 ตั้งแต่ ต.ค.58-มิ.ย.59 ไปทำงานแล้ว 86 คน ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยเพื่อมุ่งเน้นพัฒนาทักษะทั้งด้านบริการและมาตรฐานของรสชาตินั้นจะต้องเน้นการฝึกทักษะเรื่องภาษาให้สามารถสื่อสารกับนายจ้างให้เข้าใจกันด้วย
 
นายธีรพล เปิดเผยด้วยว่า รมว.แรงงงาน มอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงเป็นเจ้าภาพหลัก หารือทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การเดินทางไปทำงานของกุ๊กไทยในแต่ละประเทศ มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งบางประเทศไม่ได้กำหนดประสบการณ์ แต่บางประเทศกำหนดประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นจากเดิมผู้เดินทางไปทำงานพ่อครัว-แม่ครัว (กุ๊ก) จะต้องมีประสบการณ์ 10 ปี แต่ปัจจุบันก็ได้ปรับลดให้เหลือ 5 ปีแล้ว และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อแรงงานไทยเป็นอย่างมาก
 
 
กระทรวงแรงงานเผย ‘6 ยุทธศาสตร์’แผนแม่บทด้านแรงงาน ปี 60-64
 
กระทรวงแรงงาน เปิดเผย 6 ยุทธศาสตร์ (ร่าง) แผนแม่บทด้านแรงงาน (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อรองรับวาระการขับเคลื่อน การปฏิรูปและทิศทางการพัฒนาในระยะยาวตามนโยบายรัฐบาล ตอบสนอง ต่อแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี ที่ต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิพากษ์ (ร่าง) แผนแม่บทด้านแรงงาน (พ.ศ. 2560-2564) ณ ห้องคริสตัล โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ วันนี้ (11 ส.ค. 59) ว่า แผนแม่บทหรือแผนยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องจัดทำ เพราะเป็นเครื่องมือชี้นำกำหนดทิศทางขององค์กร และเชื่อมโยงภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดอื่นๆ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านแรงงาน อันจะทำให้เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งการจัดทำแผนแม่บทด้านแรงงาน มีกระบวนการหลายขั้นตอนที่สำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงาน เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิจำนวนมากจากแหล่งข้อมูลต่างๆ สำหรับกระบวนการในครั้งนี้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิพากษ์ (ร่าง)แผนแม่บท ด้านแรงงาน (พ.ศ. 2560-2564) และรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ และคณะทำงาน ซึ่งจะได้นำไปปรับปรุง (ร่าง) แผนแม่บทด้านแรงงาน ให้มีความครบถ้วนและสามารถนำไปเป็นเครื่องมือนำทางในการดำเนินภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
 
กระทรวงแรงงาน ได้กำหนด (ร่าง) แผนแม่บทด้านแรงงาน (พ.ศ. 2560-2564) ไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การเพิ่มศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจ และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 2) การคุ้มครองและเสริมสร้างความมั่นคง หลักประกันในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดี 3) การบริหารจัดการด้านแรงงานระหว่างประเทศ 4)การพัฒนากลไกในการสร้างความสมดุลของตลาดแรงงาน เพื่อสร้างความยั่งยืน ให้ภาคแรงงาน 5) การบริหารจัดการองค์กร บุคลากร ด้วยหลักธรรมาภิบาล และเสรมสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กร และ 6) การพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อบูรณาการสารสนเทศที่ทันสมัย มีเสถียรภาพ
 
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือของทุกคน ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับวาระการขับเคลื่อน การปฏิรูปและทิศทางการพัฒนาในระยะยาวตามนโยบายรัฐบาล ตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี ที่ต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ต่อไป”
 
 
สปส.เผยครม.ไฟเขียวร่างแก้ไขกม.เพิ่มค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ-ตาย
 
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน แถลงหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และเสนอเข้า ครม. เห็นชอบอีกครั้ง ก่อนที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ โดยให้เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้ สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และตาย จากร้อยละ 60 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ซึ่งวงเงินสูงสุดในการจ่ายไม่เกิน 20,000 บาท อีกทั้งเพิ่มค่าจัดทำศพจากเดิมในอัตรา 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด เป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดตามประกาศกระทรวงแรงงาน ซึ่งวงเงินที่จ่ายสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
 
นอกจากนี้เพิ่มระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่ายไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี เช่น หากไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เลยก็จะจ่ายให้ตลอดชีวิต และกรณีตาย จ่ายค่าทดแทนจากเดิม 8 ปี เป็น 10 ปี
 
เลขาฯ สปส. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ร่างพ.ร.บ. ยังกำหนดให้ลดค่าปรับกรณีนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน จากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 2 ให้เท่ากับพ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม และให้จ่ายค่าปรับไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย รวมทั้งงดการคิดค่าปรับกรณีนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน กรณีอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง หรือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ให้ขยายความคุ้มครองไปถึงพนักงานราชการและลูกจ้างทั้งประจำและชั่วคราวของส่วนราชการทุกประเภท รวมทั้งเพิ่มโทษนายจ้างในกรณีเช่น แจ้งเอกสารเท็จในการจ่ายเงินสมทบ โดยเพิ่มโทษจากปรับ 10,000 บาทเป็น 20,000 บาท และจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับ
 
นอกจากนี้ ให้สปส. เป็นผู้กำหนดชนิดโรคซึ่งเกิดจากการทำงานเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการวินิจฉัยและส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษา ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง และกำหนดโรคที่เกิดจากการทำงานให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานมีการร้องเรียนจากแรงงานที่ป่วยเป็นโรค เช่น มะเร็งปอด โดยระบุว่า เป็นผลเกิดจากการได้รับฝุ่นละอองจากสถานที่ทำงานสะสมในร่างกาย หรือทำงานเป็นเวลาหลายปีแล้วได้รับสารเคมีจากสถานที่ทำงานแล้วเกิดอาการป่วย ซึ่ง สปส. จะมีการออกประกาศ สปส. โดยมีการระบุชื่อโรคแนบท้าย และจะมีการปรับปรุงและกำหนดรายชื่อโรคเป็นระยะ รวมทั้งจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาวินิจฉัยโดยเฉพาะ รวมทั้งขยายคลินิกโรคที่เกิดจากการทำงานให้มากขึ้น
 
 
“ซีทีเอช” ประกาศเลิกจ้างพนักงานร่วม100 ชีวิต 31 สิงหาคมนี้ จ่ายชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
 
หลังจากบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ประกาศยุติการให้บริการนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 เป็นต้นไป ล่าสุดพบว่า ซีทีเอชได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดเกือบ 100 คนโดยให้ปฏิบัติงานวันสุดท้ายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ โดยซีทีเอชจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ขณะที่พนักงานบางส่วนที่เหลือ (ฝ่ายธุรกิจและฝ่ายสตูดิโอ) ยังคงทำงานต่อเนื่องอีก 3 เดือนเพื่อจัดการปัญหาที่ค้างอยู่
 
ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากบมจ. ซีทีเอช กล่าวยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันที่ 31 สิงหาคมนี้ ซีทีเอชจะเลิกจ้างพนักงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกทั้งหมดตั้งแต่ระดับสูงจนไปถึงพนักงานทั่วไปเกือบ 100 คน โดยการเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ เป็นชุดสุดท้ายที่ซีทีเอชได้กระทำ จากก่อนหน้านี้ที่ทยอยเลิกจ้างพนักงานตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ช่วงที่ซีทีเอชขยายงานและจับมือเป็นพันธมิตรกับแกรมมี่ ถือเป็นช่วงที่มีพนักงานมากที่สุดคือราว 400-500 คน ก่อนที่จะลดคนเพื่อลดต้นทุน จากปัญหาด้านสภาพคล่องและการทำงานที่ไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้
 
อย่างไรก็ดี การยุติการให้บริการของซีทีเอช ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกที่มีอยู่เกือบ 5 หมื่นรายนั้น ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หรือกสท. กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า กสทช. จะขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์กับบมจ.ซีทีเอช เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง ไม่ให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ทำผิดและเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นเดียวกับหลายองค์กรในอดีตที่ปิดกิจการทันทีโดยไม่คำถึงความรู้สึกของผู้บริโภค โดยกสทช. จะนำเสนอมาตรการในการจัดการต่อซีทีเอช ในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคมนี้
 
“ที่ผ่านมาเมื่อผู้ประกอบกิจการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ส่วนใหญ่ก็จะหนีปัญหาโดยการเลือกปิดกิจการทันทีและไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้บริโภค และกสทช.ก็ทำได้แค่ตักเตือน ซึ่งไม่เพียงพอ และเป็นกฎข้อบังคับที่อ่อนมาก ดังนั้นส่วนตัวมองว่าจากนี้กสทช.ต้องปรับกฎระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ เช่นการติดแบล็กลิสต์”
 
สำหรับการขึ้นแบล็กลิสต์ดังกล่าวเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการระวังการทำผิดและการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการรายใดที่ติดแบล็กลิสต์ในบันทึกของกสทช.จะไม่สามารถประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ได้อีกต่อไป รวมถึงจะเสียเครดิตประกอบกิจการต่างๆด้วย ขณะเดียวกันจะมีการเสนอให้กสทช. คัดเกณฑ์การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบการรายใดที่ต้องการใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์จะต้องมีหลักทรัพย์มาวางค้ำไว้ก่อนเพื่อกันไม่ให้ผู้ประกอบการทำผิดและทิ้งผู้บริโภคไปทันที
 
ด้านพ.อ. ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาซีทีเอชได้ส่งแผนเยียวยามาแล้วต่อเนื่อง แต่เนื่องจากในคณะทำงานยังมีความเห็นในเรื่องแผนเยียวยาไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะเรื่องการชดเชยสำหรับการยุติการให้บริการ ซึ่งมองว่าแผนเยียวยาที่เหมาะสมควรต้องเห็นใจทุกฝ่ายทั้งในด้านของผู้ประกอบการและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด
 
ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การประกาศยุติการให้บริการช่องรายการในทุกแพลตฟอร์มของซีทีเอช บริษัทต้องออกมารับผิดชอบต่อผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคขณะเดียวกันยังขอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)เข้ามาช่วยเป็นตัวแทนผู้บริโภคฟ้องซีทีเอชต่อศาล เป็นการฟ้องร้องในลักษณะที่เจ้าทุกข์เป็นกลุ่ม ส่วนเรื่องอำนาจของกสทช.มองว่ากรณีนี้คือการเยียวยาในส่วนของการยกเลิกกิจการ ซึ่งกสทช.มีอำนาจตรวจสอบเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้
 
อนึ่ง บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นรายย่อย ตั้งขึ้นในปี 2553 ก่อนที่จะขยายธุรกิจโดยมีนายวิชัย ทองแตง นักลงทุนรายใหญ่เข้าถือหุ้น และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 50 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท พร้อมแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ นายวิชัย ทองแตง นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล และที่เหลือเป็นผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น ซีทีเอช เดินหน้าสรรหาคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อสร้างเป็นจุดขายให้กับสมาชิก ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ลีกฟุตบอลอันดับ 1 ของโลกที่มีผู้ชมจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทย โดยซีทีเอช ตั้งเป้าที่จะใช้พรีเมียร์ลีก เป็นคอนเทนต์หัวหอกในการขยายสมาชิกให้เพิ่มขึ้น 100% จาก 3.5 ล้านรายเป็น 7 ล้านบาท พร้อมกับใช้เป็นฐานในการสร้างชื่อ “ซีทีเอช” ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ จึงยอมทุ่มเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทเพื่อคว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ตัดหน้าทรู วิชั่นส์ เจ้าของลิขสิทธิ์เดิมที่ผูกขาดมาเกือบ 10 ปี
 
แต่แล้วเส้นทางธุรกิจของซีทีเอช ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จำนวนสมาชิกไม่ได้เพิ่มขึ้นดังคาด ขณะที่เม็ดเงินลงทุนกับลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก กลับไม่ได้รับผลตอบรับด้านรายได้ มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ในการถ่ายทอดน้อย ส่งผลให้ต้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น จนปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี โดยพบว่าในปี 2557 ซีทีเอช มีทรัพย์สินรวม 9,228 ล้านบาท หนี้สินรวม 14,195 ล้านบาท รายได้ 2,671 ล้านบาท ขาดทุน 4,455 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2558 และ 2559 พบว่า ซีทีเอชยังมีการลงทุนทั้งในเรื่องของคอนเทนต์ โครงข่ายเคเบิลทีวี ฯลฯ ทำให้คาดการณ์ว่าจนถึงปัจจุบันซีทีเอช มีหนี้สินรวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
 
 
กลุ่มอุตเฟอร์นิเจอร์ไม่ห่วงปรับค่าแรงกลุ่มฝีมือเพิ่ม เชื่อส่งผลดีในภาพรวม ดึงดูดกลุ่มอุตสาหกรรมต่างชาติ
 
นายไชยยงค์ พงษ์สุทธิมนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ร้อกเวิธ (Rockwort) ระบุถึงการปรับค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ใน 20 สาขาอาชีพใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วัน ที่10 ส.ค. 2559 และกระทรวงแรงงานเตรียมพิจารณาการปรับค่าจ้างเพิ่มในอุตสาหกรรมอื่น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์นั้น มองว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เพราะปัจจุบันมีการให้ค่าแรงในอัตราใกล้เคียงกับที่กระทรวงแรงงานประกาศออกมาใหม่อยู่แล้ว แต่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กบางส่วน เพราะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ในภาพรวมเชื่อว่า ผู้ประกอบการปรับตัวได้ เนื่องจากในภาพรวมจะส่งผลดี เพราะทำให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะฝีมือมากขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพและมาตรการการผลิต ทำให้ขายสินค้าได้ราคาดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างดังกล่าว แรงงานจะต้องผ่านการทดสอบฝีมือในระดับขั้นต่างๆ กับกระทรวงแรงงานก่อน เพื่อนำใบรับรองจากกระทรวงแรงงาน มาขอเพิ่มค่าจ้าง รวมทั้งมองว่าหากไทยมีแรงงานที่มีฝีมือทักษะมากขึ้น จะส่งผลดีต่อนโยบานดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาในไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องใช้แรงงานมีทักษะสูง
 
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ที่กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพิ่ม ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2559 ประกอบด้วย 20 สาขาวิชาชีพ ใน 5 กลุ่มอุตสากรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่มโลจิสติกส์ โดยกลุ่มเหล่านี้จะมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 340 บาทขึ้นไปจนถึงวันละ 550 บาทต่อวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะงาน นอกจากนี้คณะกรรมการค่าจ้าง อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มในอีก 12 สาขา เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และพลาสติก
 
 
"สุวพันธุ์" เผยวิป 3 ฝ่าย เล็งปฎิรูปแรงงานข้ามชาติ-การแพทย์-ปรับโครงสร้างตำรวจ
 
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมรวม 3 ฝ่ายประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 10 สิงหาคมว่า ในการประชุมวันนี้ วิป 3 ฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการดำเนินงานด้านการปฏิรูปประเทศซึ่งจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต อาทิ การจัดทำกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการยกร่างและพร้อมรับความเห็นและประเด็นจากสปท. สนช.รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการจัดตั้งกลไกด้านการปฏิรูปที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตทั้งเรื่องการปฏิรูปการศึกษา กระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจ เป็นต้น นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบการที่สนช.แห่งชาติตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งทบทวนข้อบังคับการประชุมสภาเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินงาน รวมทั้งมีการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมความพร้อมและปรับแนวทางปฏิบัติงานเพื่อทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี สนช. และ สปช.เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
 
นายสุวพันธุ์กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิรูปที่ สปท.ส่งมานั้น วิปรวม 3 ฝ่ายพิจารณา 3 เรื่อง เรื่องแรกเสนอการเสนอให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่จุดผ่านแดนถาวร เพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างชาติเข้าให้เข้าสู่ระบบ โดยเสนอให้มีการเปิดจดทะเบียนที่จุดผ่านแดนถาวรได้ตลอดทั้งปีเป็นการเฉพาะกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา วิปรวม 3 ฝ่ายเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของแรงงามข้ามชาติ รวมทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ จึงจะเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณาต่อไป รวมทั้งส่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาข้อสังเกตเรื่องความมั่นคง และการทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต
 
นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งเสนอให้มีหมายเลขฉุกเฉินเพียงหมายเลขเดียว และให้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียวครอบคลุมด้านการแพทย์ ด้านอาชญากรรม เหตุฉุกเฉินที่ต้องการกู้ภัย และเหตุฉุกเฉินจากอัคคีภัย ซึ่งจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ขณะนี้ร่างได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพ มุ่งคุณภาพและมาตรฐานให้นักเรียนเรียนรู้จริง ทำได้จริง และจดจำได้ วิปรวม 3 ฝ่ายเห็นว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความสำคัญในการรักษาชีวิตให้ทันเวลาและสามารถลดความสูญเสียและความพิการได้ จึงจะเสนอให้พิจารณาขับเคลื่อนต่อไป
 
"สุดท้ายเป็นเรื่องการวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ สปท. เสนอให้ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ และปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดลำดับอาวุโสสำหรับแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยให้ยึดหลักอาวุโสประกอบความรู้ความสามารถและความประพฤติ เฉลี่ยน้ำหนักเท่าๆ กัน รวมทั้งให้กำหนดชั้นของกองบัญชาการ กองบังคับการ และสถานีตำรวจ สำหรับการแต่งตั้งเป็นสองระดับ เพื่อให้การเจริญเติบโตของข้าราชการตำรวจเป็นระบบ มีการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์จากหน่วยงานที่มีปริมาณงานน้อยไปมาก ซึ่งในเรื่องนี้วิปรวม 3 ฝ่ายเห็นว่ายังมีความเห็นต่างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบางประเด็น ประกอบกับใน มาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านการลงประชามติ บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม จะนำข้อเสนอของ สปท. และข้อสังเกตของวิปรวม 3 ฝ่าย กราบเรียนนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป" นายสุวพันธุ์กล่าว
 
 
ก.แรงงานศึกษาระบบการจัดการผู้สูงอายุญี่ปุ่น เตรียมนำร่องจ้างงานใหม่ผู้สูงอายุ
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวง แรงงาน เปิดเผยว่า Mr.Tomoaki Katsuda ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ด้านแรงงานระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่องการส่งเสริมการจ้างงาน ผู้สูงอายุ พร้อมเสนอความร่วมมือและยินดีให้ข้อมูลเพื่อการพัฒนา ระบบการจัดหางานผู้สูงอายุ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงอายุ โดยให้ความสำคัญกับการให้ คนสูงอายุได้มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิต ที่ดี โดยมีศูนย์ Hello Work มีระบบประกันสังคม บำนาญผู้สูงอายุ การคุ้มครอง และพัฒนาทักษะที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงผู้สูงอายุในชุมชนที่เรียกว่า Silver group โดยส่งเสริมการทำงานทั้งในชุมชน และเขตเมือง
 
ญี่ปุ่นได้มีการแก้ไขกฎหมายการเกษียณอายุเป็น 60 ปี และพยายาม ส่งเสริมให้สามารถทำงานจนถึงอายุ 65 ปี ในงานประเภทที่ยังทำได้ และงานในชุมชน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการจัดการระบบเงินชราภาพหรือเงินบำนาญที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตทั้งครอบครัวด้วย ซึ่งเป็น ต้นแบบที่ดีและจะนำมาปรับใช้ โดยจะมอบให้สำนักงานประกันสังคมนำไปศึกษาและเจาะลึก และมอบให้กรมการจัดหางานไปศึกษารูปแบบและการทำงานของศูนย์ Hello Work
 
อีกทั้งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ กระทรวงแรงงานจะจัดให้มีการลงนามความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และอีก 16 บริษัท เพื่อจัดทำโครงการนำร่องส่งเสริมการจ้างงานใหม่ผู้สูงอายุ และในวันที่ 26 กันยายนนี้ กระทรวงแรงงานร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยจัดประชุมปฏิบัติการ Worker Shop เรื่อง การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้กรมต่างๆ ได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นในการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุ พร้อมทั้งให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาเรื่องของอัตราค่าจ้างสำหรับการจ้างงานผู้สูงอายุแบบรายชั่วโมง รวมถึงทางกระทรวงการคลังยังได้มีแผนที่จะออกมาตรการสนับสนุนด้านภาษีการจ้างงาน ผู้สูงอายุ โดยสามารถหักภาษีได้ 2 เท่า และ เงินอุดหนุนการจ้างงานผู้สูงอายุรายละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10% ด้วย
 
 
เตือนนายจ้างห้ามหักค่าจ้างแรงงานต่างด้าว นอกเกณฑ์ที่กำหนด
 
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ชี้แจงทำความเข้าใจกรณีนายจ้างหักค่าจ้างแรงงานต่างด้าว เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานในไทย เช่น ค่าเช่าบ้านค่าอาหาร ว่า กรณีเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเข้าข่ายผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ซึ่งกำหนดไม่ให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดแรงงาน ยกเว้น 5 กรณี คือ การหักเพื่อชำระภาษีเงินได้ตามที่กฎหมาย การหักค่าบำรุงสหภาพแรงงาน การหักชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ การหักค่าหลักประกัน หรือค่าชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับทรัพย์สิน และหักเป็นเงินสะสมเพื่อเข้ากองทุนสะสม เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
"ขอเตือนไปยังนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากไปหักค่าจ้างกรณีอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อยกเว้น 5 กรณีที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการหักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ค่าใช้จ่ายเดินทางเข้ามาทำงานในไทยจะเข้าข่ายแรงงานขัดหนี้ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมสวัสดิการฯ ได้มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกพื้นที่เพื่อให้ตรวจสอบและดูแลในเรื่องนี้แล้ว"อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าว
 
 
กสร.เผย 10 เดือน 99 บริษัทเลิกจ้าง 7,125คน
 
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลิกจ้างระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 กรกฎาคม 2559 พบว่ามีสถานประกอบการจำนวน 99 แห่ง และลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 7,125 คน ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง รักษาความปลอดภัย ยานยนต์ โรงพยาบาล และ อิเล็กทรอนิกส์ โดยส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดทุนและยอดคำสั่งซื้อลดลง
 
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว กสร.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการด้านแหล่งเงินทุน และตลาดใหม่ๆ เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างพนักงานในอนาคต ขณะเดียวกันได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และพนักงานตรวจแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หากสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า จะต้องจ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนตามอัตราเงินเดือน และค่าจ้างค้างจ่ายให้กับลูกจ้าง รวมทั้งต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามอายุงาน โดยอายุงาน 120 วัน ต้องได้รับเงินชดเชย 1 เดือน อายุงาน 1-3 ปี ได้รับค่าชดเชย 3 เดือน อายุงาน 4-5 ปี ได้รับค่าชดเชย 5 เดือน ส่วนอายุงาน 6-10 ปีได้รับค่าชดเชย 8 เดือน และกรณีที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 10 เดือน
 
 
กสร.เผยยังไม่พบ สัญญาณอุตสาหกรรมยานยนต์เตรียมปรับลดพนักงานเพิ่ม-พร้อมเฝ้าติดตามต่อเนื่อง
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ บอกถึงการประเมิณสถานกาณ์เลิกจ้างแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ขณะนี้ว่า หลังเกิดกรณีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด ขณะนี้ยังไม่พบว่าบริษัทใดในอุตสาหกรรมยานยนต์อื่นมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติม ส่วนสาเหตุที่ทำให้ก่อนหน้านี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องมีนโยบายเลิกแรงงานมองว่า น่าเป็นผลกระทบมาจากโครงการรถยนต์คันแรก ที่ทำให้จำนวนการผลิตมีสูงกว่าความต้องการ จนทำให้ช่วงหลังบริษัทรถต้องหยุดการผลิตเนื่องจากรถยนต์ขายไม่ออก รวมถึงมีการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องมีนโยบายปรับสถานการณ์แรงงานให้เหมาะสมแต่ถึงอย่างไรการลดพนักงานของบริษัทโตโยต้าช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการนำลูกจ้างภายในองค์กรออก แต่เป็นในส่วนของแรงงานจ้างรับเหมาช่วงเท่านั้น และได้มีการชดเชยสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแล้ว แต่ถึงอย่างไรทางผู้บริหารของโตโยต้า ยืนยันว่าพร้อมรับแรงงานที่เลิกจ้างให้กลับเข้ามาทำงานใหม่ หากมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น พร้อมจะให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างไรทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกพื้นที่ ก็ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีบริษัทใดมีโอกาสเข้าข่ายที่จะปรับลดพนักงาน เช่น เริ่มตัดค่าทำงานล่วงเวลา ก็จะให้เจ้าหน้ากรมสวัดิการฯ ที่ลงไปติดตามโดยวิธีทำความเข้าใช้กับนายจ้าง ให้ใช้หามาตราทางอื่นก่อนที่จะใช้วิธีการเลิกจ้างซึ่งเป็นวิธีสุดท้าย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย
 
 
กรมจัดหางาน แนะ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรประจำตัวสัญชาติไทย หากอยากเปลี่ยนงาน ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานก่อน
 
แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) และมีความประสงค์จะเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนท้องที่ทำงาน หรือสถานที่ทำงาน ต้องขอรับใบรับรองการอนุญาตจากกรมการจัดหางานก่อน หากฝ่าฝืนนายจ้าง/สถานประกอบการต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน แรงงานต่างด้าวต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2559 – วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งมีความประสงค์จะเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนท้องที่ทำงาน หรือสถานที่ทำงานจากนายจ้างรายเดิมที่ได้ขอไว้ในบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) กรมการจัดหางานขอแจ้งว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) และมีความประสงค์จะเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนท้องที่ทำงาน หรือสถานที่ทำงาน จะต้องแจ้งกรมการจัดหางานเพื่อขอรับใบรับรองการอนุญาตก่อนจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงนายจ้างหรือสถานที่ทำงานใหม่ได้ โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่จะออกหนังสือรับรองการอนุญาตไว้เป็นหลักฐานก่อน จากนั้นให้นายจ้างประสานศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัดหรือสาขากรุงเทพมหานครเพื่อขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวฯได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 เป็นต้นไป ซึ่งหากตรวจพบนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ได้อนุญาตให้ทำงานกับตนเอง จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ส่วนคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานแต่ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดไว้ คือ ไม่ทำงานตามประเภทหรือลักษณะงานและกับนายจ้าง ณ ท้องที่ หรือสถานที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
กรมการจัดหางานขยายเวลานำส่งเงินกองทุนส่งกลับคนต่างด้าวถึงปี 61
 
กรมการจัดหางาน ขยายระยะเวลาการหักเงินค่าจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ที่ครบกำหนด 25 มิถุนายน 2559 ออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2561 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของแรงงาน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ขยายระยะเวลาการหักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2559 ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2559 – 24 มิถุนายน 2561 โดยให้เริ่มหักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของแรงงานที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนซึ่งกระทบกับค่าครองชีพของลูกจ้าง และจากรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลผ่านกฎกระทรวงที่กำหนดให้นายจ้างหักเงิน ซึ่งขอคืนได้จากเงินค่าจ้างของแรงงานเพื่อส่งเข้า“กองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร”การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเช่นนี้ ตลอดจนการประกาศใช้ข้อกำหนดทางราชการเพิ่มเติมกับแรงงานต่างด้าวและกระบวนการที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากมีการหักเงินค่าจ้างเพื่อนำส่งกองทุนฯ อีกจะเป็นการเพิ่มภาระของแรงงาน
 
กรมการจัดหางาน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างและลูกจ้างแรงงานต่างด้าวทราบโดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สำนักงานกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
ห่วงแรงงานไทยถูกตุ๋นเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์-สวีเดน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.-ก.ย.ของทุกปี ซึ่งมีประชาชนสนใจเดินทางไปทำงานกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงอาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีชักชวนไปทำงานโดยอ้างว่ามีรายได้ดีและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงกว่ากำหนดได้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้คนหางานเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงจ่ายเงินแล้วไม่ได้เดินทางหรือเดินทางไปแล้วไม่ได้ทำงานตามที่ประสงค์ กรมการจัดหางานจึงขอแจ้งเตือนคนหางานว่าการไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ นั้น เป็นงานที่หนัก และเสี่ยงอันตราย เนื่องจากผลไม้ป่าจะขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ลาดชันเป็นภูเขา
 
บางครั้งต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลในท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด และบางครั้งมีปัญหาอากาศแปรปรวนทำให้ผลไม้มีจำนวนน้อย ไม่สามารถเก็บมาขายได้ตามจำนวนที่ต้องการ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน อีกทั้งยังต้องถูกหักค่าใช้จ่ายจากรายได้ที่ได้จากการทำงานอีกประมาณวันละ 1,000 บาท เพื่อเป็นค่าที่พัก ค่าเช่ารถยนต์ ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน เชื้อเพลิง และอื่นๆ ซึ่งต้องเก็บผลเบอร์รี่ให้ได้มากกว่า 50 กิโลกรัมต่อวัน จึงจะคุ้มค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่ในสวีเดนและฟินแลนด์ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการเก็บผลไม้และมีร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น
 
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้อำนาจในการพิจารณาวีซ่าเป็นของทางการสวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่ง สถานเอกอัครราชทูต ไม่สามารถรับรองได้ว่าผู้ยื่นขอวีซ่า จะผ่านการพิจารณาทุกคนหากมีการสมัครไปทำงานกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไม่ได้รับการอนุมัติวีซ่าก็ไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ โดยในปีนี้ประเทศสวีเดนกำหนดโควตาคนงานเก็บผลไม้ จำนวน 3,327 คน ซึ่งขณะนี้ครบจำนวนแล้ว ส่วนประเทศ ฟินแลนด์กำหนดโคว์ตาจำนวน 3,503 คน ขณะนี้รับแจ้งยอดแล้วจำนวน 1,861 คน สำหรับผลไม้ที่นิยมเก็บมี 3 ชนิด คือ ยู่ตรอน บลูเบอร์รี่ และลินง่อน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประเทศ สวีเดนรวมแล้วไม่เกินคนละ 75,000 บาท ประเทศฟินแลนด์จำนวนคนละ 65,000 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง เช่น ค่าวีซ่า ค่าเดินทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ค่าประกันต่างๆ เป็นต้น จึงขอให้คนหางานศึกษาข้อมูลการทำงานให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเดินทาง
 
นายอารักษ์กล่าวด้วยว่า การเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนจะดำเนินการในรูปแบบนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่ฟินแลนด์จะดำเนินการในรูปแบบการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง โดยจะมีหนังสือเชิญจากบริษัทที่รับซื้อผลไม้ป่าในต่างประเทศ ซึ่งคนงานไม่ต้องเสียภาษีใดๆ มีระยะเวลา ในการทำงานอยู่ในช่วงประมาณ 60-75 วัน ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมาคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนมีรายได้เฉลี่ยคงเหลือประมาณ 105,400 บาท ประเทศฟินแลนด์มีรายได้เฉลี่ยคงเหลือประมาณ 100,000 บาท มีรายได้ส่งกลับประเทศโดยรวม 297,562,399 บาท และในปี 2559 นี้หากสถานการณ์การเก็บผลไม้ป่าอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่า คนงานไทยจะมีรายได้เฉลี่ยคงเหลือจำนวนคนละประมาณ 100,000-130,000 บาท ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทย ไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ชั้น 10 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2245-6708 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
ผอ.สสปท.คนแรกชูนโยบายนำเอกชน-เทคโนโลยีช่วยพัฒนาด้านความปลอดภัย
 
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญา ระหว่างนายอาทิตย์ อิสโม ประธานกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กับ นายชัยธนา ไชยมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อแต่งตั้งให้นายชัยธนา เป็นผู้อำนวยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน คนแรก โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 ต.ค.นี้
 
น.ส.พรรณี กล่าวว่า สสปท.เป็นองค์กร ที่ลูกจ้างเรียกร้องมานาน เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สิน และสถานประกอบการของไทยกว่า 92% ที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ขาดความรู้และต้นทุนด้านความปลอดภัย ซึ่ง สสปท.จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ด้านวิชาการ เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้น และ กสร.จะนำไปผลักดันให้เกิดกฎหมายเข้ามากำกับดูแลควบคู้กันไป ทั้งนี้มั่นใจว่าผู้อำนวยการ สสปท.คนแรก จะเข้ามาสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและสร้างความหน้าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ เมื่อเกิดปัญหาความปลอดภัยจะได้นึกถึงและปรึกษา สสปท.เป็นที่แรกได้
ขณะที่ นายอาทิตย์  กล่าวว่า การบริหารงานด้านความปลอดภัยจะสำเร็จไม่ได้ หาก กสร.และ สสปท.ไม่ร่วมมือกันขับเคลื่อนงาน ซึ่งคณะกรรมการ สสปท.มีหน้าที่เพียงเป็นสื่อกลางในการเชื่อมภารกิจทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน และกำกับให้ สสปท.ปฏิบัติงานได้ตรงตามนโยบายของรัฐบาล โดยเชื่อว่าผู้อำนวยการคนใหม่จะสามารถผลักดันให้ สสปท.เป็นสถาบันความปลอดภัยที่ดี มีมาตรฐาน และทำให้ภารกิจคุ้มครอง ป้องกันความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานสำฤทธิ์ผล
 
ด้าน นายชัยธนา กล่าวว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์ด้านความปลอดภัยมากว่า 25 ปี ใน 5 ประเทศ พร้อมมองว่านโยบายการบริหาร สสปท.ต่อจากนี้จะต้องเริ่มปรับภาพลักษณ์ให้เป็นสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ในการพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศ โดยจะมีการดึงภาคเอกชน และระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องนำเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อพัฒนาความปลอดภัยให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วมสนับสนุน
 
นอกจากนี้มองว่างานด้านโลจิสติกส์ เป็นอีก 1 กลุ่มที่ต้องเข้าไปดูเรื่องความปลอดภัย เพราะปัจจุบันมีการขนส่งสารเคมีอันตรายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น สสปท.ต้องเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมกำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อลดเป้าหมายการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยลง เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานกว่า 2 แสนคนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตกว่า 400-600 คน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักที่ สสปท.จะต้องเข้ามาดูแลให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยที่สุด
 
 
จี้นายจ้างจ่ายสมทบ 3% เร่งตั้ง “กบช.” ช่วยคนมีเงินใช้หลังเกษียณ
 
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างกำหนดสัดส่วนการส่งเงินสะสมของลูกจ้าง และการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง โดยเบื้องต้นลูกจ้างต้องจ่ายเงินสะสมอัตรา 3% ของเงินเดือน และนายจ้างต้องจ่ายสมทบเท่ากันที่ 3% แต่หลังจากปีที่ 4-6 เพิ่มขึ้นเป็น 5% และตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป ปรับเพิ่มเป็น 7% ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดและจะไม่เพิ่มอีกแล้ว กบช.จะไม่เป็นภาระแก่ลูกจ้างและนายจ้าง เพราะอัตราจ่ายเงินสะสมเท่ากัน ส่งผล ให้ลูกจ้างที่ทำงานนาน จะมีเงินสะสมบวกเงินสมทบ รวมถึงเงินผลประโยชน์จากการลงทุน ทำให้ มีเงินกองทุนใหญ่ขึ้น และเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในช่วงเกษียณได้ในระดับหนึ่ง
 
ส่วนกรณีของนายจ้าง จะบังคับให้ทุกบริษัทที่อยู่ในระบบ มีแรงงานเกิน 100 คนขึ้นไป ต้องเป็นสมาชิก กบช. เช่นเดียวกับการเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม โดยเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ลูกจ้าง หักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ไม่ต้องจัดตั้ง กบช. เพราะมีลักษณะเหมือนกัน ต้องร่างกฎหมาย กบช.ให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอให้ ครม.อนุมัติและเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกเป็นกฎหมายในปีนี้
 
นายสมชัยกล่าวถึงยอดการลงทะเบียนคนจนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.59 ว่า ประเมินว่าจะมีคนลงทะเบียน 5.5 ล้านคน จากคนจนทั้งประเทศ 10 ล้านคน พิจารณาจากรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี จากนี้จะนำข้อมูลส่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อออกแบบมาตรการช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด คาดว่าน่าจะได้มาตรการช่วยเหลือต้นปีงบประมาณ 60 หรือเดือน ต.ค.59
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท