Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ช่วงนี้มีคนถามหา “นักสันติวิธี” กันมาก หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “นักสันติวิธี” ยังไม่เห็นออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับกรณีการอดข้าวประท้วงของ ไผ่ ดาวดิน ข้าพเจ้าเองแม้ไม่ใช่ “นักสันติวิธี” เป็นแต่เพียงนักเรียนรัฐศาสตร์ที่สนใจเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็อยากจะลองพยายามรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงจากนักวิชาการสันติศึกษา ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อ ไผ่ ดาวดิน มาไว้ในบทความนี้ดู รวมไปถึง ตั้งข้อสังเกตของตนเองไว้บางประการ

ประเด็นแรกของบทความนี้จะให้ความสำคัญไปที่ปัญหาเกี่ยวกับการพูดถึงการอดอาหารประท้วงด้วยการจดจ่อไปที่ มหาตมะ คานธี เพียงคนเดียว ทั้งที่การอดอาหารประท้วงเป็นขนบทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้นมาก จะทำความเข้าใจต่อกรณีการอดอาหารประท้วงของ ไผ่ ดาวดิน เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาสันติวิธีให้กว้างไกลไปกว่าการศึกษาคานธีคนเดียว ประเด็นที่ว่านี้ไม่ใช่ประเด็นที่ข้าพเจ้าคิดเอาเอง แต่เป็นประเด็นที่ข้าพเจ้าจะอ้างอิงจากบทความและข้อเขียนของคณาจารย์ทางด้านสันติศึกษามาอีกทอดหนึ่ง

ประเด็นต่อมาของบทความนี้จะให้ความสำคัญไปที่อำนาจของการอดอาหารว่ามีมากน้อยเพียงใด และอำนาจของการอดอาหารอยู่ภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง และเมื่ออยู่ในกรณีศึกษาของ ไผ่ ดาวดิน อำนาจของการอดอาหารประท้วงจะอยู่ตรงไหน แล้วเงื่อนไขในปัจจุบันจะเอื้อให้เป้าหมายบรรลุผลได้มากน้อยเพียงใด เพื่อตอบคำถามที่ว่านี้ ข้าพเจ้าจะอาศัยการสังเคราะห์เนื้อหาเอาจากวรรณกรรมที่ศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของ Gene Sharp ซึ่งเป็นหนึ่งในนักทฤษฎีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 จากการอภิปรายใน 2 ประเด็นหลักนี้ ข้าพเจ้าหวังว่าบทความชิ้นนี้คงจะสามารถตอบโจทย์เกี่ยวกับการอดอาหารของ ไผ่ ดาวดิน จากมุมมองของสันติวิธีได้ไม่มากก็น้อย


ประวัติศาสตร์ของการอดอาหารประท้วง

ในประเด็นแรก ขอเริ่มจากการยกคำของ อ.ชาญณรงค์ บุญหนุน แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เขียนอยู่ในบทความเรื่อง “แด่. . .ไผ่ ดาวดิน การอดอาหารประท้วง สันติวิธีที่ผิดที่ผิดทาง ?”[1] ซึ่งมีเนื้อหาไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารประท้วงของขึ้นมา ดังนี้:

“อาการเพิกเฉยต่อการอดอาหารของไผ่นั้นเป็นเรื่องปกติที่สุด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร จะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้วก็ควรจะพูดว่า การเลือกอดอาหารประท้วงเป็นวิธีที่ผิดตั้งแต่แรกแล้ว ทำไม ? เราอาจนึกถึงพลานุภาพของการอดอาหารประท้วงของมหาตมา คานธี เราอาจรู้สึกทึ่งในความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอินเดียที่คน ๆ หนึ่งสามารถนำเรื่องการอดอาหารมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองอย่างได้ผล มีบางอย่างที่นักสันติวิธีชาวไทยหรือใครก็ตามที่รับรู้เรื่องราวการอดอาหารประท้วงของมหาตมา คานธีนั้นเข้าใจผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ก็ยังไม่ได้พิจารณาประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ให้ดี”[2]

หลังจากตั้งข้อสังเกตดังกล่าวแล้ว อ. ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า “การพิจารณาประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ให้ดี” นั้น จะต้องเข้าใจเงื่อนไขของการประท้วงของคานธีด้วย ซึ่งมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ (1.) “ความรักอันบริสุทธิ์ใจ” ที่มีต่อกันระหว่างผู้อดอาหารประท้วงและผู้ที่ถูกประท้วง ซึ่ง อ. ชาญณรงค์ เสนอว่า เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด และ (2.) “ส่วนใหญ่แล้ว คานธีไม่ได้อดอาหารประท้วงศัตรู” แต่ “อดอาหารประท้วงพวกเดียวกัน” จากการประมวลเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว อาจารย์ ชาญณรงค์ จึงเสนอความเห็นว่า ไผ่ ดาวดิน ควรเลิกอดอาหารและรักษาชีวิตเอาไว้ดีกว่า เพราะคณะรัฐประหารที่ ไผ่ ดาวดิน กำลังสู้อยู่ ไม่ได้มีความรักอันบริสุทธิ์ใจต่อเขาแต่อย่างใด แถมยังเป็นศัตรูอีกด้วย[3]

อย่างไรก็ตาม จากการอ่านบทความเรื่อง “จริยธรรม กับ การอดอาหารประท้วง” ของ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งลงไว้ในรัฐศาสตร์สาร ตั้งแต่ ปี 2535 ข้าพเจ้าเห็นว่าเราสามารถนำเนื้อหาจากบทความชิ้นนี้มาแย้ง อ.ชาญณรงค์ ได้ใน 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก การที่ อ.ชาญณรงค์ กล่าวว่า “มีบางอย่างที่นักสันติวิธีชาวไทยหรือใครก็ตามที่รับรู้เรื่องราวการอดอาหารประท้วงของมหาตมา คานธีนั้นเข้าใจผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ก็ยังไม่ได้พิจารณาประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ให้ดี”[4] นั้น หาก อ.ชาญณรงค์ ถือว่า อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คือ “นักสันติวิธี” คนหนึ่ง (ซึ่งข้าพเจ้าคิดเอาเองว่าน่าจะเข้าข่ายเป็น “นักสันติวิธี” ในความหมายของ อ.ชาญณรงค์) แล้ว “นักสันติวิธี” คนนี้ก็ไม่ได้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากที่ อ.ชาญณรงค์ เสนอแม้แต่น้อย โปรดดูที่ อ.ชัยวัฒน์ เคยกล่าวไว้ดังนี้:

“ที่รู้จักกันทั่วไปคือเป็นวิธีอดอาหารประท้วงแบบของคานธี ซึ่งเรียกว่า “สัตยาเคราะห์”  สัตยาเคราะห์คือพลังแห่งสัจจะ (Truth Force) คานธีเคยเตือนไว้ว่าไม่ใช่ใคร ๆ ก็จะอดอาหารในกรอบของอหิงสาแบบคานธีได้ เพราะมีเงื่อนไขหลายประการ เงื่อนไขสำหรับการอดอาหารประท้วงที่สำคัญแบบของคานธีก็คือ บุคคลที่ถูกประท้วงจะต้องรักผู้ประท้วง ความรักเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ผู้ประท้วงไม่สามารถใช้การอดอาหารเพื่อเรียกร้องอะไรจากเขา แต่ทำเพื่อจะไปปฏิรูปตัวเขา คานธียกตัวอย่างสมมติว่าพ่อของเราดื่มเหล้า และเราอดอาหารประท้วง เพื่อให้ท่านเปลี่ยนพฤติกรรม อันนี้เป็นวิธีการอดอาหารแบบของคานธี”[5]

นอกจากนี้ อ.ชัยวัฒน์ ยังได้ขยายความเอาไว้ในอย่างละเอียดในหนังสือเรื่อง “ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (ฉบับปรับปรุงใหม่)” ด้วยว่า นอกจากเงื่อนไขเรื่องความรัก ผู้กระทำและเป้าหมายของการกระทำจะต้องถูกต้องตามหลักศีลธรรมด้วย เช่น “ผู้อดอาหารประท้วงจะต้องปลอดจากการกระทำผิดชนิดที่ตนตั้งใจประท้วงอยู่” และ “จะต้องไม่กระทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนใด ๆ” เป็นต้น[6]

จะเห็นได้ว่า ที่ อ.ชาญณรงค์ กล่าวว่า “...นักสันติวิธีชาวไทยหรือใครก็ตามที่รับรู้เรื่องราวการอดอาหารประท้วงของมหาตมา คานธี...เข้าใจผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ...” นั้น ไม่เป็นความจริงเลยในกรณีของ “นักสันติวิธี” เพราะหาก “นักสันติวิธี” รวมถึง อ.ชัยวัฒน์ด้วยแล้ว ข้อเสนอของ อ.ชัยวัฒน์ ก็สอดคล้องกับที่ อ.ชาญณรงค์ เสนอทุกประการ ส่วนกรณีของ “ใครก็ตาม” ที่ว่านั้น อาจจะเป็นจริงอย่าง อ.ชาญณรงค์ เสนอก็ได้

ประเด็นที่สอง ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ อยู่ตรงที่ว่า อ.ชาญณรงค์ พิจารณาเรื่องการประท้วงอดอาหารด้วยการจดจ่ออยู่ที่คานธีมากเกินไป ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาของบทความทั้งชิ้นที่อุทิศให้กับการทำความเข้าใจเงื่อนไขการประท้วงอดอาหารของคานธีทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงการประท้วงอดอาหารในบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ในประเด็นที่ว่านี้ อ.จันจิรา สมบัติพูนศิริ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในสเตตัสเฟซบุ๊กว่า:  

“...มีความเชื่อว่าผู้ที่อดอาหารประท้วงจะบรรลุเป้าประสงค์ของตนได้ต้องเป็นบุคคลที่สังคม 'รัก' ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยคือตอนคานธีอดอาหารประท้วงความรุนแรงระหว่างชุมชนฮินดูและมุสลิมหลังอินเดียประกาศเอกราช

ความเชื่อเช่นนี้มีปัญหาเพราะสุดท้ายไปไม่พ้นจากคานธี และละเลยประวัติศาสตร์อันยาวนานของการอดอาหารประท้วงโดยคนตัวเล็กตัวน้อย (ที่ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลที่โดดเด่นอย่างคานธี) เช่นในธรรมเนียมอินเดีย การอดอาหารประท้วงเก่าแก่กว่าคานธี โดยมักกระทำโดยเจ้าหนี้ซึ่งอดอาหารประท้วงหน้าบ้านลูกหนี้เพื่อให้ลูกหนี้รู้สึกผิด หรือในไอร์แลนด์ (ยุคก่อนศาสนาคริสต์) ไพร่ติดที่ดินสามารถประท้วงอดอาหารเจ้าที่ดินเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้ ปฏิบัติเช่นนี้ยังแพร่หลายในช่วงที่ไอร์แลนด์เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ นักต่อสู้เพื่อเอกราชซึ่งถูกจจำอดอาหารประท้วงพร้อมกันในคุก

ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย นักโทษซึ่งถูกจองจำเพราะคิดต่างจากผู้มีอำนาจมักใช้วิธีการอดอาหารประท้วงเพื่อปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมหรือต่อต้านความไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นในคิวบาหรือตุรกี ล่าสุดนักโทษในคุกกวนตานาโมก็อดอาหารประท้วงสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติต่อตนอย่างไม่เป็นธรรม...” [7]

อ.ชัยวัฒน์ ได้พูดถึงรูปแบบการประท้วงอดอาหารที่หลากหลายเอาไว้เช่นกันว่า “การอดอาหารประท้วงมีหลายแบบ เวลาคนเห็นอดอาหารประท้วงมักคิดในใจว่าเหมือนคานธี แต่วิธีของคานธีเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการอดอาหารประท้วงเท่านั้น ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของโลก มีผู้คนที่ลุกขึ้นมาอดอาหารประท้วงในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ...”[8] หลังจากนั้น อ. ชัยวัฒน์ ก็ได้ยกตัวอย่างที่ “โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐ ฯ อดอาหารประท้วงอังกฤษเมื่อ ปี ค.ศ. 1774” เพราะไม่เห็นด้วยที่ “อังกฤษต้องการจะปิดท่าเรือแห่งหนึ่งที่เมืองบอสตัน”[9] นอกจากนี้ อ.ชัยวัฒน์ ก็ได้ยกตัวอย่างเพิ่มอีกในหนังสือ “ท้าทายทางเลือก” เช่น การถือศีลอดขอความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าในคัมภีร์พันธะสัญญาเก่า การอดอาหารประท้วงลูกหนี้ในไอร์แลนด์ การนั่ง “ทุรนา” ในอินเดีย การอดอาหารของนักโทษเพื่อร้องเรียนความไม่เป็นธรรมในคุกอังกฤษ การอดอาหารประท้วงของ ลีออน ทรอสกี้ ในรัสเซีย รวมไปถึง กรณีของ ดานิโล โดลชี่ ชาวอิตาลี ที่อดอาหารประท้วงเพื่อทำให้รัฐบาลและประชาชนหันมาสนใจปัญหากรณีเด็กขาดอาหาร และปลุกเร้าให้ชาวอิตาเลียนกล้าไปขึ้นให้การในศาลจะได้จัดการกับปัญหามาเฟียครองเมืองได้ เป็นต้น[10]

จากตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นได้ว่าการอดอาหารประท้วงเป็นขนบทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งทอดกันเรื่อยมาอย่างยาวนาน ไม่ได้จำกัดอยู่ที่คานธีเพียงคนเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจและเงื่อนไขความสำเร็จของการอดอาหารประท้วงจึงไม่สามารถจำกัดอยู่ที่เรื่อง “ความรักอันบริสุทธิ์ใจ” หรือ “การอดอาหารเพื่อประท้วงพวกเดียวกัน” ซึ่งมาจากกรณีศึกษาของคานธีได้ ที่จริงแล้ว แม้แต่คานธีเองก็กล่าวว่า “วิธีการอดอาหารประท้วงแบบที่เขาทำ เป็นวิธีสุดท้ายในกระบวนสันติวิธีทั้งหมดที่จะทำ และมีเงื่อนไขที่ประสบชัยชนะหรือทำให้พ่ายแพ้มากมาย”[11] ดังนั้น คำถามที่ตามมา ก็คือ เราจะเข้าใจอำนาจของการอดอาหารประท้วงและเงื่อนไขความสำเร็จของการอดอาหารประท้วงได้อย่างไร


อำนาจของการอดอาหารประท้วง

เพื่อตอบคำถามข้างต้นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรใช้ทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของยีน ชาร์ป มาวิเคราะห์อำนาจและเงื่อนไขความสำเร็จของการอดประท้วง ข้อดีของทฤษฎีที่ว่านี้อยู่ตรงที่มันเป็นทฤษฎีเชิงปฏิบัติและเป็นทฤษฎีทางโลกียะซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ฉะนั้น จึงสามารถวิเคราะห์การอดอาหารประท้วงได้โดยไม่จำเป็นต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลวิธีคิดของคานธีซึ่งมาจากความเชื่อทางศาสนาเป็นหลัก

Gene Sharp เสนอว่า อำนาจของรัฐบาลมาจากความยินยอมของประชาชนทั้งหมด ถ้าหากประชาชนทั้งหมดรวมตัวกันปฏิเสธรัฐบาล สิทธิอำนาจ ทรัพยากรวัตถุ ทรัพยากรบุคคล ทักษะความรู้ อำนาจอุดมการณ์ และอำนาจในการลงโทษของรัฐบาลก็จะหมดไป จนเผด็จการก็ถูกโค่นล้มไปในที่สุด[12] เป้าหมายอาจจะเล็กกว่าการโค่นล้มเผด็จการก็ได้ เช่น เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษ แก้ พ.ร.บ. กฎหมาย หรือเรียกร้องความเป็นธรรมอื่น ๆ เป็นต้น การจะถอนความยินยอมของประชาชนออกมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองดังกล่าวเหล่านี้ ก็สามารถกระทำได้ด้วยวิธีการมากหลายถึง 198 วิธี และวิธีการอดอาหารก็คือหนึ่งในวิธีการเหล่านั้น

ปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้ง 198 วิธี จะมี “กลไกการสร้างความเปลี่ยนแปลง” ซ่อนอยู่ แต่ละกลไกจะมีอำนาจมากน้อยวัดได้ทั้งหมด 4 ระดับ[13] ได้แก่:

(1.) การเปลี่ยนทรรศนะ (conversion) หมายถึง การโน้มน้าวให้เผด็จการเปลี่ยนใจยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ต่อสู้ โดยไม่มีสภาพบังคับ เป็นกลไกที่มีอำนาจน้อย

(2.) การโอนอ่อนตาม (accommodation) หมายถึง การที่เผด็จการไม่ได้เปลี่ยนใจ แต่ยอมต่อรองและบรรลุข้อตกลงตามข้อเรียกร้องของผู้ต่อสู้ เพราะเสียอำนาจไปในบางระดับ เป็นกลไกที่มีอำนาจปานกลาง

(3.) การบังคับโดยไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent coercion) หมายถึง การที่ฝ่ายเผด็จการต้องยอมจำนน เพราะสูญเสียอำนาจถึงระดับที่เป็นภัยต่อการดำรงอยู่ เป็นกลไกที่มีอำนาจมาก

(4.) การแตกสลาย (disintegration) หมายถึง การที่ฝ่ายเผด็จการไม่สามารถยอมจำนนได้ เพราะล่มสลายลงหรือไม่มีอำนาจมากพอแม้แต่จะขอยอมแพ้อีกต่อไปแล้ว เป็นกลไกที่มีอำนาจที่สุด

จากการพิจารณาดูจากมาตรวัดดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่าการอดอาหารประท้วงด้วยตัวมันเองแล้วส่วนใหญ่พลวัตอำนาจจะอยู่ในระดับที่ 1 ซึ่งล้นมาอยู่ในระดับที่ 2 เป็นบางครั้ง และมีโอกาสน้อยมากที่จะขยายผลมาถึงระดับที่ (3.) หรือระดับที่ (4.) ในความเห็นข้าพเจ้า การอดอาหารประท้วงเป็นกิจกรรมที่เน้นเปลี่ยนทรรศนะของผู้คน และก่อให้เกิดแรงกดดันทางสังคมให้เกิดการโอนอ่อนตาม มากกว่าที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะนำไปสู่การบังคับโดยไม่ใช้ความรุนแรง หรือ การแตกสลายของเผด็จการ และเนื่องจากการอดอาหารประท้วงไม่สามารถก่อให้เกิดสภาพบังคับต่อเผด็จการได้มากนัก อำนาจของการอดอาหารประท้วงจึงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ในระดับที่ 1 ซึ่งอำนาจน้อยนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าการอดอาหารประท้วงเป็นการเน้นไปที่การกระตุ้นให้เกิด “มโนธรรมสำนึก” ของผู้พบเห็นหรือผู้ที่ได้ทราบข่าวในสังคม และชี้ให้สาธารณชนเห็นว่าตนถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมอย่างไร พลวัตของการอดอาหารประท้วงจึงอยู่ที่การเปลี่ยนทรรศนะของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือประชาชนธรรมดาก็ตาม ให้ปฏิบัติตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วง แม้ว่าอาจจะได้ผลกับประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่จากที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ออกมาบอกแล้วว่า “ช่างเขาสิ เขาทำตัวเอง” ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการอดอาหารไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนทรรศนะต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้[14]

Gene Sharp เสนอว่า การคาดหวังกับการเปลี่ยนทรรศนะเป็นเรื่องยากด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะไม่สามารถสร้างสภาวะบังคับต่อรัฐบาลได้[15] ข้าพเจ้าอยากเสริมเช่นกันว่า สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่การประท้วงด้วยการอดอาหารไม่สามารถเปลี่ยนทรรศนะของคนได้มากนัก เป็นเพราะเงื่อนไขทางสังคมของไทยที่ทำให้มโนธรรมสำนึกไม่ได้รับการส่งเสริมมากนัก หนึ่งในเงื่อนไขทางสังคมที่สำคัญอย่างมากซึ่งขัดขวางมโนธรรมสำนึกไม่ให้ถูกขับเน้นออกมาเต็มที่ ก็คือ ลัทธิชาตินิยมที่อ่อนแอและลดหลั่นในสังคมไทย หากเริ่มจากความคิดเชิงศาสนาของคานธีไล่มาว่า “ความรักอันบริสุทธ์” ในระดับส่วนบุคคลเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จของการอดอาหารประท้วง เมื่อคิดต่อยอดขยายสู่ระดับสังคมในทางโลกแล้ว “ความรักที่คนในชาติมีต่อกัน” ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การอดอาหารประท้วงประสบความสำเร็จ เนื่องจากลัทธิชาตินิยมของไทยไม่ได้ปลูกฝังว่าทุกคนเป็นคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน แต่ปลูกฝังว่าบางคนเป็น “ไทย” มากกว่าอีกคนหนึ่ง แถมประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้บันทึกเรื่องราวความผูกพันธ์ระหว่างกันของคนเล็กคนน้อยเอาไว้มากนัก ความรักกันของคนในชาติจึงมาบ้างไม่มาบ้าง คนที่ถูกกระตุ้นในเชิงมโนธรรมสำนึกจึงจำกัดอยู่กับคนกลุ่มเดียวในสังคมที่รู้สึก “ไทย” น้อยกว่าคนอื่น และรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนกับผู้ที่ประท้วงอดอาหารเสียมากกว่า  

ในระดับที่ 2 ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ ถ้าประชาชนได้รับการปลุกเร้ามโนธรรมสำนึกหรือเปลี่ยนทัศนะไปเพราะการอดอาหารประท้วงจำนวนมากพอ พวกเขาอาจจะรวมตัวกันเพื่อริเริ่มกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม ทำให้เกิดกระแสกดดันต่อเผด็จการมากขึ้น รัฐบาลก็อาจจะมีโอกาสยอมโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องได้มากขึ้น เช่น ในประเทศกรีซ หลังจากนาย Michalis Maragakis ถูกจำคุกเพราะต่อต้านการเกณฑ์ทหาร เขาก็ได้เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1988 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 1988 หลังจากนั้น นาย Thanasis Makris ก็ได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนาย Maragakis ด้วยการต่อต้านเกณฑ์ทหารจนถูกจับกุมและอดอาหารประท้วงในเรือนจำเช่นกัน ระหว่างที่อดอาหารอยู่นั้น ประชาชนทั้งในประเทศกรีซและในยุโรปจำนวนมาก ได้ส่งจดหมายเข้าไปในเรือนจำหลายพันฉบับ เพื่อสนับสนุนการกระทำของผู้คัดค้านการเกณฑ์ทหารทั้ง 2 คน นอกจากนี้ ประชาชนที่อยู่ข้างนอกเรือนจำก็ยังจัดคอนเสิร์ตและอีเวนท์อีกหลายสิบครั้งเพื่อสนับสนุนผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารทั้ง 2 คนด้วย เมื่อรัฐบาลถูกกดดันมากเข้า จึงต้องลดโทษจำคุกของผู้คัดค้านการเกณฑ์ทหารทั้ง 2 คนลง และออกกฎหมายให้ผู้คัดค้านการเกณฑ์ทหารสามารถทำงานเชิงพลเรือนเพื่อทดแทนการเกณฑ์ทหารได้ในที่สุด[16] ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบทบาทของประชาชนภายนอกเรือนจำที่พยายามสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อกดดันหรือบีบบังคับให้รัฐบาลยอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้อง ก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันที่จะทำให้การประท้วงด้วยการอดอาหารประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เงื่อนไขที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของกรณีในประเทศกรีซ ก็คือ การสนับสนุนจากประชาชนและสถาบันต่างประเทศในสหภาพยุโรปที่เห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม

หากย้อนกลับมาดูกรณีของ ไผ่ ดาวดิน จะเห็นว่าเนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับชาตินิยมที่อ่อนแอและลดหลั่น มโนธรรมสำนึกของคนในสังคมจึงไม่ได้รับการปลุกเร้ามากนัก ยังไม่รวมว่า บรรยากาศการปราบปรามขบวนการนักศึกษาและประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้จำนวนประชาชนนอกเรือนจำที่พร้อมจะทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการกระทำของ ไผ่ ดาวดินน้อยยิ่งลงไปอีก ดังที่เราเห็นได้ประปรายจากบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์ บทความของคนอื่น ๆ ที่ออกมาสนับสนุน และกิจกรรมจดหมายลูกโซ่ที่เล่นกันอยู่ในเฟสบุ๊ค นอกจากนี้ หากดูในบริบทของภูมิภาคแล้ว เพื่อนและสถาบันต่าง ๆ ในละแวกอาเซียนด้วยกันก็ยังคาดหวังความช่วยเหลือในเชิงสิทธิมนุษยชนได้น้อยกว่าในทวีปยุโรปอีกเหนือคณานัป ถ้าจะมองในแง่ดีที่สุด การอดอาหารประท้วงอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ลุกลามไปถึงการปฏิวัติ อย่างที่การจุดไฟเผาตัวเองก่อให้เกิดการโค่นล้มระบอบเผด็จการในตูนีเซีย ซึ่งจัดอยู่ในพลวัตอำนาจระดับที่ (3.) หรือ (4.) ก็ได้ แต่กระนั้น ความเป็นไปได้ที่ว่านี้ยังดูห่างไกลอยู่มากโข     

ในฐานะนักเรียนที่สนใจเกี่ยวกับสันติวิธี ข้าพเจ้าเห็นว่าอำนาจของการประท้วงอดอาหารมีอยู่จำกัด เนื่องด้วยธรรมชาติของกิจกรรมด้วยตัวมันเอง และบริบทเงื่อนไขต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรคำนวนเป้าหมายทางการเมืองให้เหมาะสมกับเครื่องมือสันติวิธีที่กำลังใช้อยู่ ถ้าหากคาดหวังจะให้ประชาชนลุกฮืออย่างที่เกิดขึ้นในกรณี 14 ตุลา โอกาสที่การอดอาหารจะสามารถเป็นชนวนไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นไปได้น้อยมาก แต่หากต้องการจะเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว การอดอาหารประท้วงก็เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมอยู่ไม่น้อย ที่ผ่านมารัฐบาลทหารก็ปล่อยนักศึกษาที่ต่อสู้เรียกร้องอยู่เป็นระยะ เพราะกลัวกระแสกดดันของสังคมอยู่แล้ว หากจะอดอาหารปลุกเร้ามโนธรรมสำนึกของเจ้าหน้าที่ทหาร หรือต้องการสร้างกระแสกดดันรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง โอกาสที่จะได้รับการปล่อยตัวก็อาจจะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่มืดมนกว่าก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน เพราะการสร้างกระแสกดดันอาจจะยิ่งทำให้รัฐบาลต้องปรับท่าทีให้แข็งกร้าวขึ้นเพื่อรักษาภาพลักษณ์ขึงขังของตัวเอง ไผ่ ดาวดิน อาจเสี่ยงจะไม่ได้รับการปล่อยตัวเสียอีก ดังนั้น ในสภาวะเช่นนี้ ผลจะออกหัวหรือก้อยก็ยังไม่สามารถทำนายได้แน่ชัด


บทสรุป

ในบทความนี้ ข้าพเจ้าได้รวบรวมข้อมูลจากคณาจารย์ทางด้านสันติวิธีเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงเอาไว้ในสองประเด็น ประเด็นแรกเกี่ยวกับการศึกษาทำความเข้าใจการอดอาหารประท้วงให้พ้นไปจากคานธี ด้วยการพิจารณาถึงกรณีศึกษาอื่น ๆ ในบริบทประวัติศาสตร์ที่กว้างขว้างและยาวนานกว่า ประเด็นต่อมาเป็นการพิจารณาอำนาจและเงื่อนไขความสำเร็จของการประท้วงอดอาหาร ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารประท้วงของ ไผ่ ดาวดิน เพราะเป็นห่วงสุขภาพของเขา ถ้ารักษาชีวิตเอาไว้ โอกาสจะสู้ในวันข้างหน้าก็ยังมี แต่กระนั้น เมื่อได้ตัดสินใจไปแล้ว ข้าพเจ้าก็เคารพการตัดสินใจของ ไผ่ ดาวดิน แต่อีกด้านหนึ่ง ในฐานะนักเรียนที่สนใจทางด้านสันติวิธี เห็นว่าควรชี้ให้เห็นสภาพเงื่อนไขของการต่อสู้ทีเป็นอยู่ของ ไผ่ ดาวดิน อย่างเป็นจริง ด้วยการชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการอดอาหารประท้วงและสภาพเงื่อนไขในปัจจุบันที่ทำให้ประชาชนนอกเรือนจำสนับสนุนได้ไม่มากนัก ในส่วนสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากทิ้งประเด็นเพิ่มเติมเอาไว้ 2 ประเด็น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการเอาชนะข้อจำกัดที่ว่านี้ได้

ประเด็นแรก ข้าพเจ้าอยากชี้ให้เห็นว่า เราสามารถที่จะอดอาหารหลายๆ ครั้งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหารครั้งเดียวจนล้มป่วยอย่างสาหัส ในกรณีของประเทศกรีซ กว่าที่ Michalis Maragakis จะต่อต้านการเกณฑ์ทหารจนประสบความสำเร็จ ต้องอดอาหารประท้วงถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 71 วัน ครั้งที่ต่อมาจำนวน 50 วัน และครั้งสุดท้ายจำนวน 21 วัน ส่วน Thanasis Makris กว่าจะได้ชัยชนะก็อดอาหารไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก 51 วัน และครั้งต่อมา 33 วัน มิพักต้องกล่าวว่า หลังจากกฏหมายต่อต้านการเกณฑ์ทหารของกรีซออกมาแล้ว การละเมิดสิทธิ์ของคนต่อต้านการเกณฑ์ทหารก็เกิดขึ้นตามมาให้สู้กันอีกหลายยก[17] เมื่อตระหนักได้ว่าการสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่ต้อง “สู้ยาว” แล้ว ก็อยากให้คำนวนการต่อสู้ให้ดี ๆ เคล็ดลับในการอดอาหารก็ได้มีคนตั้งข้อสังเกตไว้บ้างแล้ว

ประเด็นต่อมา ข้าพเจ้าอยากยกข้อความของ อ.จันจิรา สมบัติพูนศิริ มาดังนี้:      

“เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์การอดอาหารประท้วงในฐานะเครื่องเตือนใจทางศีลธรรม โดยเฉพาะของคนตัวเล็กตัวน้อยต่อผู้มีอำนาจ จะเห็นบริบทการอดอาหารประท้วงของไผ่ แม้เป้าหมายสำคัญคือต้องการให้รัฐบาลปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไขเพราะถือว่ากฎหมายที่ใช้จับขัดกับมโนธรรมสำนึก แต่ปฏิบัติการนี้มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์อันสำคัญคือช่วยเตือนใจคนในสังคมซึ่งอ่อนล้ากับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมว่ายังมีหนทางการต่อสู้อยู่ โดยผู้ต่อสู้เสี่ยงชีวิตตนมากกว่าต้องการเอาชีวิตผู้อื่น”[18]

               
ถ้าการอดข้าวประท้วงของ ไผ่ ดาวดิน เป็นเครื่องเตือนใจว่าเรามีทางเลือกในการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงอยู่ เราก็ไม่ควรจะสิ้นหวังแม้ว่าสถานการณ์จะชวนให้สิ้นหวังขนาดไหนก็ตาม คำถามที่อยากชวนให้คิดก็คือ ในฐานะประชาชนที่อยู่ข้างนอกเรือนจำ เราจะช่วยกันคิดสร้างสรรค์กิจกรรมที่จะส่งเสริมให้คนตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ได้อย่างไร และการต่อสู้ของเราซึ่งควรจะให้ความสำคัญกับปัญหาเฉพาะหน้า โดยเรียกร้องให้ ไผ่ ดาวดิน สามารถออกมาจากเรือนจำให้ได้ก่อนนั้น จะสามารถต่อยอดขยายผลในระยะยาวด้วยการสร้างแนวร่วมให้กว้างขวางขึ้น จัดระบบการสมัครรับคนมาเข้าร่วมให้มากขึ้น จัดให้มีการฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการต่อสู้ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น และจัดองค์กรขบวนการแนวระนาบให้เป็นระบบขึ้น เพื่อให้สามารถโค่นล้มเผด็จการจริง ๆ ได้อย่างไร แม้ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีจะไม่ได้มีคำตอบสำเร็จรูปให้ แต่ก็อาจช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่น้อย แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาช่วยกัน คิดช่วยกันแก้ และสร้างบทสนทนาใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน  

0000

 

เชิงอรรถ

[1] ชาญณรงค์ บุญหนุน, ‘แด่. . .ไผ่ ดาวดิน การอดอาหารประท้วง สันติวิธีที่ผิดที่ผิดทาง ?’, ประชาไท, http://www.prachatai.com/journal/2016/08/67509, (เข้าถึง 18 สิงหาคม 2559)

[2] อ้างแล้ว

[3] อ้างแล้ว

[4] อ้างแล้ว

[5] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ‘จริยธรรม กับ การอดอาหารประท้วง’, รัฐศาสตร์สาร,  ปีที่ 18, ฉบับที่ (1 ม.ค. – เม.ย. 2535), หน้า 44-48.

[6] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ‘ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรง (ฉบับปรับปรุงใหม่)’, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ของเรา, 2557), หน้า 148-149

[8] สถาอานันท์, ‘จริยธรรม กับ การอดอาหารประท้วง’, หน้า 44-48.

[9] อ้างแล้ว

[10] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ‘ท้าทายทางเลือก’, หน้า 151-153

[11] สถาอานันท์, ‘จริยธรรม กับ การอดอาหารประท้วง’, หน้า 44-48.

[12] Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy: A Conceptual Framework for Liberation (East Boston, The Albert Einstein Institution, 2010), pp. 17-21 

[13] อ้างแล้ว, หน้า  35-37

[14] "บิ๊กตู่" ไม่สนใจ "ไผ่ ดาวดิน" อดข้าวประท้วงจนป่วย บอก "ช่างเขาสิ เขาทำตัวเอง’ , http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1471422274 (เข้าถึง 18 สิงหาคม 2559)

[15] อ้างแล้ว, หน้า 35

[16] Alexia Tsouni and Mechalis Maragakis, ‘Refusing to serve in the army for reasons of conscience in Greece’, in, Özgür Heval Çınar and Cos¸kun Üsterci, ed., Conscientious Objection : Resisting Militarized Society (London and Newyork : Zed Books, 2009), p. 161

[17] อ้างแล้ว

[18] อ้างแล้ว, เข้าถึงได้ที่ https://www.facebook.com/jsombatpoonsiri/posts/10154391897769501

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net