สันติภาพกับการพัฒนา: หนทางที่รอคอยแห่งรัฐกะเหรี่ยง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเดินทางท่ามกลางสายฝนแห่งฤดูกาลเพื่อมุ่งสู่เมืองพะอัน (Hpa-An) ไม่ลำบากมากนัก เมื่อทางหลวงสายเอเชีย 1 (AH 1) ที่พาดผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ข้ามสะพานมิตรภาพไทย – พม่า ยังเมืองเมียวดี (Myawaddy) ไปถึงเมืองกอกะเร็ก (Kawkareik) ได้รับการปรับปรุงเส้นทางอย่างดีภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) และรัฐบาลไทย โดยมีบริษัทของประเทศไทยดำเนินการก่อสร้าง  ทั้งนี้เมืองเมียวดีถูกกำหนดให้เป็นเขตการค้าและเขตอุตสาหกรรมในการพัฒนาคู่ขนานไปกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ความพลุกพล่านของรถบรรทุกสินค้าจำนวนมากที่วิ่งเข้า – ออกเขตการค้าในเมืองเมียวดี เป็นภาพหนึ่งที่สะท้อนสถานะเมืองด่านการค้าสำคัญเชื่อมระหว่างประเทศไทยและพม่า เส้นทางถนนตัดใหม่ที่ทอดยาวพร้อมกับสองข้างถนนที่ตระเตรียมการปลูกสร้างกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รุกคืบเข้าใกล้เมืองพะอันทีละน้อยๆ ถัดจากนั้นมาเป็นเขตหมู่บ้านก่อนเข้าสู่ความเขียวชอุ่มของทุ่งนาและพื้นที่ราบลุ่มระหว่างเขา ทิวทัศน์ที่เบิกทางเข้าใกล้เมืองหลวงแห่งรัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) ขณะที่บางช่วงเป็นเส้นทางข้ามแม่น้ำลำคลอง เช่น สะพานแขวนที่ข้ามแม่น้ำจาย  ฝั่งน้ำมีเรือทอดซุง ผู้คน สินค้า เทียบท่าใกล้แถบนั้น

พะอันเป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยทิวเขาตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวินซึ่งแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลมาจากทางตอนเหนือของประเทศ   จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ว่ากันว่าพื้นที่แถบนี้เคยเป็นทะเลและเห็นเพียงยอดภูเขาที่ปรากฏขึ้นเหนือน้ำ นั่นคือ เขวกะบอง/แควกระบ่อง (Zwekabin) เชื่อกันว่าเขาลูกนี้ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าและเป็นสัญลักษณ์แห่งมาตุภูมิของชาวกะเหรี่ยง เนื่องมาจากพื้นที่แถบนี้มีคนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาเนิ่นนาน   เขวกะบองเป็นที่ตั้งของเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกโยงกับตำนานการสร้างเจดีย์ของเด็กกำพร้า และบริเวณแห่งนี้ยังเคยเป็นที่จาริกของพระสงฆ์นามว่า U Winaya ซึ่งได้รับความเคารพนับถือจากชาวกะเหรี่ยงหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะระหว่างเหตุการณ์ความไม่สงบและการไล่ต้อนชนกลุ่มน้อยจากทางฝ่ายทหารพม่า   บริเวณของวัดที่ตั้งเจดีย์เขวกะบองนี้รู้จักกันในนาม Kyauknalatt  หรือ Kyauk Kalap   สำหรับผู้ที่เดินทางมาถึงยอดเขาของเจดีย์จะสามารถเห็นทิวทัศน์จากมุมสูงที่รายรอบด้วยทะเลสาบได้อย่างงดงาม

ดินแดนพะอันยังประกอบไปด้วยโตรกผา ถ้ำ และป่าไม้   ซึ่งนอกจากที่อุดมด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ แล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหลายแห่งที่เชื้อเชิญผู้สนใจให้มาเรียนรู้อารยะธรรม อาทิ Kaw Ka Taung หนึ่งในถ้ำที่มีพุทธรูปเรียงรายทั่วทั้งบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปทรงศิลปะแบบพม่า อินเดีย และอยุธยา อันแสดงร่องรอยการบรรจบของศิลปะทางพุทธศาสนานับตั้งแต่อดีต โดยที่ด้านในสุดของถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุซึ่งต้องอาศัยการมองลอดแว่นขยายทำองศาที่เหมาะสมเพื่อจะชื่นชมพระธาตุในนั้นอย่างเต็มตา บริเวณด้านนอกของวัดเต็มไปด้วยรูปปั้นมากมาย ไม่ว่ารูปปั้นของบุคคล, ฤษี, สัตว์ในตำนาน และพระสงฆ์   สถานที่นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความศรัทธาในพุทธศาสนาที่ผสมผสานกับคตินิยมท้องถิ่น เช่น ความเชื่อเรื่องนัตท่ามกลางเจดีย์และพุทธสถานจำนวนมากในรัฐกะเหรี่ยงและประเทศพม่า   ขณะที่วัดอีกหลายแห่งในเมืองพะอันตั้งอยู่ใจกลางชุมชน เช่น วัดที่ตั้งของเจดีย์ Shwe Yin Myaw อันเป็นทั้งที่ท่องเที่ยว ทำบุญ และชุมนุมของเด็กและเยาวชนในละแวกใกล้เคียง คึกคักด้วยนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญที่มาถ่ายภาพริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ใกล้กันนั้นเป็นบริเวณท่าเรือที่จอดเทียบฝั่งรอการว่าจ้างสัญจรและย่านตลาดร้านค้าต่างๆ

ยุทธภูมิของเมืองพะอันไม่เพียงสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร เหมาะแก่การเพาะปลูก การทำประมง และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเมืองท่าสำคัญอย่างเมาะละแหม่งทางตอนใต้เท่านั้น แต่เป็นที่ตั้งของสนามบินและสถานที่ราชการต่างๆ ในฐานะเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงอีกด้วย โดยเฉพาะที่ว่าการจังหวัดและอำเภอ โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย อันจะสังเกตได้จากสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆ เหล่านี้ และยังมีสวนสาธารณะกลางเมือง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนมากหน้าหลายตามที่นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของเมืองพะอัน   หมุดหมายที่กล่าวไปเป็นภาพตัวต่อขนาดย่อของพื้นที่สำคัญๆ บางแห่งในเมืองพะอันที่สะท้อนวิถีชีวิตของเมืองเล็กๆ ที่ยังคงความเป็นชุมชนอันรายล้อมด้วยธรรมชาติ พรั่งพร้อมด้วยวัฒนธรรมหลากหลายแง่มุมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มใหญ่ที่อาศัยในรัฐแห่งนี้

หนึ่งในตัวแทนทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง นั่นคือ การขับ “ทา” ซึ่งเป็นบทร้องด้วยภาษากะเหรี่ยง และรัฐกะเหรี่ยงแห่งนี้ก็ยังเป็นที่พักอาศัยของครูเพลงที่มีชื่อโจษขานมายาวนานในสังคมกะเหรี่ยง นามว่า โจ ไล เซ่ย คำร้องและเครื่องดนตรีประเภทสาย “เตหน่า” ที่จรรโลงสุนทรียะทางดนตรีพร้อมกับการถ่ายทอดประวัติศาสตร์และเรื่องราวของคนกะเหรี่ยงได้อย่างกว้างขวางในผลงานของศิลปินผู้นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมประชานิยม (popular culture) ที่ยังคงร่วมสมัยในชีวิตของพี่น้องกะเหรี่ยงมากมายที่เผชิญความลำบากของการจากบ้านและการต่อสู้ ไม่ต่างไปจากพะอัน ศูนย์กลางแห่งรัฐกะเหรี่ยงที่ผ่านร้อนหนาวและการปะทะระหว่างฝ่ายต่างๆ มาหลายครั้งหลายคราวเช่นกัน

ภาพถนนหนทางที่ขนาบข้างด้วยต้นไม้ใหญ่ นักศึกษาที่สวมใส่ชุดประจำชาติมาร่ำเรียน อาหารและผลิตผลทางการเกษตรที่วางขายบนเพิงริมทางยังมีให้เห็นทั่วไปในเมืองพะอัน ฯลฯ กิจวัตรและทัศนียภาพเช่นนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปไม่ช้าก็เร็วในห้วงเวลาที่ประเทศพม่าก้าวสู่ยุคสมัยแห่งประชาธิปไตยและฟื้นฟูกำลังการพัฒนาประเทศ บนฐานความเชื่อว่าที่นี่คือศูนย์กลางของชาวกะเหรี่ยงแต่ความเป็นจริงการควบคุมพื้นที่บริเวณนี้ยังอยู่ภายใต้การจัดสรรปกครองของหลายฝ่าย ดังนั้นแล้วไม่ใช่เพียงเส้นทางแห่งการพัฒนาที่คืบคลานเข้าสู่เมืองหลวงแห่งรัฐ สันติภาพและความสงบสุขที่ประชาชนทุกคนรอคอยด้วยความหวังมาเนิ่นนานนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะเดินทางมาพร้อมกับการพัฒนาอย่างแท้จริง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท