สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17-23 ส.ค. 2559

เบรกหยุดยาว 24-27 ก.ย. หวั่นกระทบภาคการผลิต
 
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯเตรียมหารือกับกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการเพิ่มวันหยุดช่วงวันที่ 24-27 ก.ย.นี้ ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอเป็นมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายหลังเกิดเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้
 
"ทั้งนี้ จะรวบรวมแนวทางความคิดเห็นของทุกภาคส่วนก่อนสรุปใน 2 สัปดาห์ ส่วนตัวเคยอยู่ในภาคอุตสาหกรรม มองว่าหากมีวันหยุดบ่อยจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิต" นางกอบกาญจน์ กล่าว
 
นอกจากนี้ จะประสานกับผู้ถือลิขสิทธิ์โปเกมอน คอมปานี ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการปล่อยคาแรกเตอร์โปเกมอนที่หายาก และยิมให้มากขึ้นตามแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยกระทรวงจะจัดทำแผนที่และคู่มือ Infographic "เซียนโปเกมอน ต้องเล่นแบบนี้" เพื่อบอกตำแหน่งและข้อควรระวัง
 
 
ยธ.เร่งทำแผนดูแลผู้พ้นโทษทั่วประเทศ
 
กระทรวงยุติธรรม วันที่16 ส.ค.59 นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการปล่อยตัวผู้ต้องขังตามพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ว่า กระทรวงยุติธรรมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดทำแผนดูแลผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ โดยจะเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งทำข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อทราบหลักแหล่ง หรือกรณีที่จะมีการเปลี่ยนที่อยู่ จะไปอยู่ที่ใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนด้านคุณภาพชีวิตหลังพ้นโทษ เพื่อให้ทราบว่าต้องการได้รับความช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้แผนดังกล่าวดำเนินการเพื่อให้ผู้พ้นโทษมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมจะได้เกิดความเชื่อมั่นให้โอกาสกลับสู่สังคม
 
ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับการปล่อยตัวผู้ต้องขังตาม พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว คาดว่ามีประมาณ 12,000 คน ในจำนวนนี้จะเป็นกลุ่มที่รับสิทธิ์ปล่อยตัวทันทีจำนวน 7,780 คน เป็นผู้ต้องขังพิการ ทุพลภาพ ผู้ต้องขังสูงอายุ ผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกน้อย หรือคงเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มได้รับการลดโทษตามสัดส่วน ซึ่งหากลดโทษแล้วผู้ต้องขังจำคุกครบตามกำหนดโทษก็ได้รับการปล่อยตัว น่าจะมีประมาณ 5,000 คน อย่างไรก็ตาม การปล่อยตัวครั้งล่าสุดอาจมีจำนวนผู้ต้องขังเข้าเกณฑ์ไม่มากนักเนื่องจากตามพ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวกำหนดให้สิทธิประโยชน์เฉพาะผู้ต้องขังชั้นดีขึ้นไปเท่านั้น โดยเน้นผู้ต้องขังประพฤติดี ต่างจากที่ผ่านมาที่ให้สิทธิตั้งแต่ผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไป
 
“แผนติดตามผู้พ้นโทษมุ่งเน้นสนับสนุนด้านอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตหลังพ้นโทษ โดยจะเป็นไปตามความสมัครใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ต้องขังเพื่อให้ทราบความต้องการรับความช่วยเหลือ จึงขอแจ้งไปยังครอบครัวผู้ต้องขังที่รอการปล่อยตัวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการของเจ้าหน้าที่” ปลัดกระทรวงยุติธรรม
 
 
กระทรวงแรงงาน เผยความก้าวหน้าการทำงานร่วมกับ ILO
 
กระทรวงแรงงาน จับมือ ILO เดินหน้าโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล ยกระดับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก ให้ได้ระดับมาตรฐานสากล
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ให้การต้อนรับ Mr. Jason Judd ผู้จัดการโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล และคณะ ณ ห้องประชุมปลัดกระทรวง ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยเปิดเผยว่า Mr.Maurizio Bussi ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำกลุ่มประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว ได้นำ Mr. Jason Judd ผู้จัดการโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล มาแนะนำตัวโดยจะเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นเวลา 2 ปี พร้อมแจ้งว่าทางโครงการฯ ได้เตรียมการจัดตั้งสำนักงานในพื้นที่ในจังหวัดพังงา เพื่อดูแลโครงการดังกล่าว รวมทั้งได้หารือกันในประเด็นการดำเนินงานเรื่องความก้าวหน้าทางกฎหมาย การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ซึ่งนับว่ามีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามเรื่องการสำรวจแรงงานเด็ก (Child Survey) ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งในสัปดาห์หน้าทีมของ ILO กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีกำหนดหารือร่วมกันในการเดินหน้าโครงการดังกล่าว
 
“คณะที่เข้าพบได้หารือเรื่องการจัดระบบเพื่อรองรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 โดยจะมีการหารือกันระหว่างองค์การนายจ้าง – ลูกจ้าง แทนตัวนายจ้าง – ลูกจ้าง และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อเตรียมการศึกษาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานที่บูรณาการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน โดยจะสำรวจความต้องการและจัดทำหลักสูตรการอบรม ที่สอดคล้องกับประเด็นเรื่องค้ามนุษย์และประเด็นด้านแรงงานต่างๆ ด้วย” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการจัดการประชุมระหว่างประเทศ รวม 11 ประเทศ ในประเด็นการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก โดยเป็นการประชุมในรูปแบบไตรภาคี ซึ่งจะจัดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติ รวมถึงการจัดการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศในภูมิภาค ที่จะจัดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทยจะเข้าร่วมด้วย นอกจากนั้น เป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน ระหว่าง ILO กับกระทรวงแรงงานในระยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันพัฒนางานด้านการยกระดับและการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก จนได้จัดอยู่ในระดับมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น
 
 
บอร์ดต่างด้าวไฟเขียวต่างชาติลงทุนเดือน ส.ค. 28 ราย เพิ่มการจ้างแรงงานไทย 432 คน
 
บอร์ดต่างด้าวอนุญาตต่างชาติลงทุนในไทยเดือน ส.ค. จำนวน 28 ราย ลดลง 3% มีเงินเข้ามาลงทุน 652 ล้านบาท ลดลง 62% เหตุปีก่อนมีการอนุญาตธุรกิจใช้เงินลงทุนสูง โดยมีการจ้างแรงงานคนไทยเพิ่ม 432 คน
 
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยเดือน ส.ค. 2559 จำนวน 28 ราย ลดลง 3% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2558 โดยมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจจำนวน 652 ล้านบาท ลดลง 62% เนื่องจากเดือน ส.ค. ปีก่อนมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการกู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และการอนุญาตทำให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่ม 432 ราย
 
ส่วนการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยช่วง 8 เดือน ปี 2559 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวน 238 ราย ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,117 ล้านบาท ลดลง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ ในกลุ่มและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 245 ล้านบาท ได้แก่ บริการด้านการตลาดและส่งเสริมการขาย บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรม ซอฟต์แวร์ บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการตลาด และบริการให้เช่าพื้นที่อาคาร โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์
 
ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้าและคู่ค้า จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 102 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น
 
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการเป็นสำนักผู้แทน สำนักงานภูมิภาค จำนวน 9 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 27 ล้านบาท เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจการลงทุนให้สำนักงานใหญ่ และเป็นการให้คำแนะนำ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง
 
ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ คู่สัญญาเอกชน จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 239 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบ จัดหา และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม บริการจัดหา ก่อสร้างและติดตั้งสายส่งไฟฟ้าแรงสูง บริการตรวจสอบคุณภาพและเก็บรักษาท่อน้ำมัน โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์
 
ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่ง จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 39 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การค้าปลีกแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนโลหะของยานยนต์ การค้าส่งอุปกรณ์ระบบรักษาความปลอดภัยการเข้า-ออกประตูของสถานที่ต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี
 
 
ชาวไร่อีสาน-เหนือยืนยันไม่รับร่างพรบ.วอนนายกฯดูแลกฎหมายควบคุมยาสูบ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเครือข่ายชาวไร่ยาสูบภาคอีสาน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม กาฬสินธุ์ และ จ.สกลนคร และตัวแทนจากสมาคมชาวไร่ยาสูบจาก 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้มีการประกาศจุดยืนไม่รับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ เพราะจะสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบทั้งปลายน้ำและต้นน้ำ พร้อมระบุมีหลายมาตราที่ทำให้เกิดปัญหาบุหรี่เถื่อน บุหรี่ ปลอมกระทบกับอาชีพชาวไร่ และปริมาณ การรับซื้อใบยารวมถึงราคาใบยา
 
นายสัน หารสุโพธิ์ ประธาน เครือข่ายชาวไร่ยาสูบภาคอีสาน กล่าวว่า ตนจะช่วยเหลือดูแลพี่น้องภาคอีสานและเหนือต่อไป เพราะเห็นความยากลำบากของเราทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ ซึ่งเครือข่ายได้ติดตามความเคลื่อนไหว และร่วมต่อสู้ให้ภาครัฐรับฟังเสียงชาวไร่ในเรื่องกฎหมายข้อห้ามที่จะมาควบคุมอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของเรา โดยเราไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงขอวิงวอนให้ท่านนายกฯ ช่วยเหลือพวกเราในเรื่องนี้ด้วย
 
ด้านนายกฤษณ์ ผาทอง นายก สมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่มและผู้ค้าใบยาสูบ จังหวัดเชียงใหม่และผู้นำภาคียาสูบ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และเอ็นจีโอกำลังเพิกเฉยชาวไร่ยาสูบไทยกว่า 40,000 ครัวเรือนที่ยึดอาชีพนี้มาหลายชั่วอายุคน อีกทั้งยังมีกลุ่มคนที่ พึ่งพิงอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ อีกหลายแสนครัวเรือน ซึ่งชาวไร่ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ ส่งขายใบยาสูบ ให้กับโรงงานยาสูบถีงร้อยละ 95 ของผลผลิตทั้งหมด มาตรการต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการมุ่งเน้นลงโทษอุตสาหกรรมและมีความไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ควบคุมด้านสุขภาพ ตัวอย่างเรื่องซองบุหรี่แบบเรียบก็ยิ่งทำ ให้ซองปลอมง่าย ยิ่งซ้ำเติมปัญหาบุหรี่เถื่อน/ปลอมที่ระบาดไปทั่วอยู่แล้ว โดยภาคียาสูบขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการแก้ไขมาตรการต่างๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาและมีข้อขัดแย้งอยู่นี้ให้เรียบร้อยก่อนจะดำเนินการใดๆ
 
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บุกพบ รมว.แรงงาน ขอให้พิจารณาขึ้นเงินเดือน - แต่ไร้ผล ก่อนกลับบ่นน้อยใจ เตรียมกลับไปประชุมหาทางเคลื่อนไหวต่อ
 
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงานนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจหลากหลายองค์กร อาทิ การยางแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด กว่า 50 คน เดินทางมาเพื่อทวงถามและให้กำลังใจ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่จะมีการประชุมกันวันนี้ เพื่อขอให้ติดตามพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนแก่พนักงานรัฐวิสาหกิจ
 
นายสาวิทย์ กล่าวว่า การที่ สรส. เดินทางมาวันนี้เพื่อต้องการมาให้กำลังใจ รมว.แรงงาน เพื่อขอให้ติดตามความคืบหน้าการพิจารณาการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องกลับมาให้ทางกระทรวงฯ.พิจารณาอีกครั้ง แต่ด้วยเวลาที่เนินนานแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าจึงขอให้ทางกระทรวงเร่งรัดในการดำเนินการติดตามให้มีความก้าวหน้าโดยเร็ว
 
เลขาธิการ สรส. เปิดเผยอีกว่า ตามมติที่ทาง สรส. ได้ยื่นรายละเอียดการเสนอปรับขึ้นเงินเดือน ระบุว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนอยู่ที่ระดับ 43,890 บาท ถ้าต่ำกว่าจำนวนนี้ขอให้มีการพิจารณาปรับขึ้นอีก 4% หรือ เพิ่ม 1 ขั้น  หรือถ้ายอดเงินเดือนมากกว่า 43,890 บาทขอให้มีการปรับขึ้นเงินเดือน 2% หรือ เพิ่ม ครึ่งขั้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจให้มีกำลังใจในการทำงาน และทำให้อยู่ในสภาวะสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันได้
 
อย่างไรก็ตามเมื่อทางกลุ่ม สรส. ได้รอพบและมอบช่อดอกไม้แก่ทาง พล.อ.ศิริชัย จนถึงเมื่อเวลา 11.00 น.แต่ทางรัฐมนตรีฯไม่ได้เดินทางลงมาพบด้วยตนเอง เนื่องจากติดภารกิจ แต่จะมอบหมายให้นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงานลงมาพบแทน ดังนั้นทางกลุ่ม สรส.จึงเดินทางกลับอย่างสงบ พร้อมประกาศว่ารู้สึกน้อยใจที่ทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่ลงมาติดตามรับฟังปัญหา ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการนำกลับไปหารือว่าจะดำเนินการในทิศทางอย่างไรต่อไป
 
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บุกพบ รมว.แรงงาน ขอให้พิจารณาขึ้นเงินเดือน - แต่ไร้ผล ก่อนกลับบ่นน้อยใจ เตรียมกลับไปประชุมหาทางเคลื่อนไหวต่อ
 
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงานนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจหลากหลายองค์กร อาทิ การยางแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด กว่า 50 คน เดินทางมาเพื่อทวงถามและให้กำลังใจ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่จะมีการประชุมกันวันนี้ เพื่อขอให้ติดตามพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนแก่พนักงานรัฐวิสาหกิจ
 
นายสาวิทย์ กล่าวว่า การที่ สรส. เดินทางมาวันนี้เพื่อต้องการมาให้กำลังใจ รมว.แรงงาน เพื่อขอให้ติดตามความคืบหน้าการพิจารณาการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องกลับมาให้ทางกระทรวงฯ.พิจารณาอีกครั้ง แต่ด้วยเวลาที่เนินนานแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าจึงขอให้ทางกระทรวงเร่งรัดในการดำเนินการติดตามให้มีความก้าวหน้าโดยเร็ว
 
เลขาธิการ สรส. เปิดเผยอีกว่า ตามมติที่ทาง สรส. ได้ยื่นรายละเอียดการเสนอปรับขึ้นเงินเดือน ระบุว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนอยู่ที่ระดับ 43,890 บาท ถ้าต่ำกว่าจำนวนนี้ขอให้มีการพิจารณาปรับขึ้นอีก 4% หรือ เพิ่ม 1 ขั้น  หรือถ้ายอดเงินเดือนมากกว่า 43,890 บาทขอให้มีการปรับขึ้นเงินเดือน 2% หรือ เพิ่ม ครึ่งขั้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจให้มีกำลังใจในการทำงาน และทำให้อยู่ในสภาวะสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันได้
 
อย่างไรก็ตามเมื่อทางกลุ่ม สรส. ได้รอพบและมอบช่อดอกไม้แก่ทาง พล.อ.ศิริชัย จนถึงเมื่อเวลา 11.00 น.แต่ทางรัฐมนตรีฯไม่ได้เดินทางลงมาพบด้วยตนเอง เนื่องจากติดภารกิจ แต่จะมอบหมายให้นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงานลงมาพบแทน ดังนั้นทางกลุ่ม สรส.จึงเดินทางกลับอย่างสงบ พร้อมประกาศว่ารู้สึกน้อยใจที่ทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่ลงมาติดตามรับฟังปัญหา ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการนำกลับไปหารือว่าจะดำเนินการในทิศทางอย่างไรต่อไป
 
 
สศค.ชงรัฐให้เงินครัวเรือนจูงใจการออมทีดีอาร์ไอ แนะทำทวนภาษีแวตเพิ่มจัดเก็บรายได้
 
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างการเปิดงาน งานสัมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2559 ว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงการคลังจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบ ขณะนี้จึงต้องเร่งเตรียมการกำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบ โดยมีรูปแบบคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งดูแลธุรกิจประกัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบยังไม่ได้ข้อสรุป เบื้องต้นสหกรณ์ ชุมนุมยังคงอยู่ต่อไป รวมทั้งกรมตรวจสอบบัญชี กรมส่งเสริมสหกรณ์ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมและกำกับตรวจสอบบัญชี แต่จะปรับระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วงที่ผ่านมาจึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน
 
คณะผู้วิจัย นักเศรษฐศาสตร์ สศค.ได้เสนอผลงานวิจัยผ่านการพัฒนาการสร้างสินทรัพย์ เพื่อการออมสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ รัฐบาลควรทดลองใช้นโยบายการเงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่มีการออมเพื่อการศึกษาและพัฒนาเด็กในเขตกรุงเทพฯ เป็นอันดับแรก เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลสามารถให้เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่มีการออมเพื่อการศึกษา โดยรัฐบาลสมทบสูงสุดไม่เกิน 400 ต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 15 ปี นับว่าเป็นอัตราสมทบเท่ากับเด็กแรกเกิดในปัจจุบัน ขณะที่ภาคครัวเรือนต้องออมเงิน 400 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 15 ปี ภายใต้กลไกนี้เมื่อสิ้นปีที่ 15 จะทำให้เด็กมีเงินออม 122,400 บาท เป็นเงินต้นจากภาคครัวเรือน 72,000 บาท เป็นเงินสมทบของรัฐบาล 50,400 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขการจ่ายสมทบ สำหรับเด็กแรกเกิด 1-3 ปี รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 25 ของเงินออม เด็กอายุ 4-6 ปี รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 50 เด็กอายุ 7-9 รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 75 ของเงินออมครัวเรือน อายุ 10-15 จ่ายสมทบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเห็นว่าอัตราการเกิดในเขตกรุงเทพฯ ปี 2557 มีจำนวน 100,000 คน โดยรัฐบาลมีภาระงบประมาณจ่ายชดเชย 5,000 ล้านบาท คณะผู้วิจัยมองว่ามาตรการดังกล่าวช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณสำหรับกู้เงินผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
 
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จึงมอบหมายให้กรมจัดเก็บภาษีไปศึกษาการขยายฐานภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะกรมสรรพกรนับเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีผู้ยื่นแบบเสียภาษี 10.9 ล้านคน แต่มีการจ่ายจริงภาษีจริงเพียง 4 ล้านคน ขณะที่มีแรงงานในระบบมีจำนวนกว่า 39 ล้านคน หากสามารถขยายฐานภาษีให้ได้ 20 ล้านคน จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
 
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้มีภาคเอกชนยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีจำนวน 6 แสนราย แต่กลับเสียภาษีเพียง 4 แสนราย จากตัวเลขภาคเอกชนในประเทศไทยมีจำนวนหลายล้านราย ดังนั้น หากขยายภาษีได้เพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐลดข้อจำกัดในการหารายได้ และมีเงินสำหรับใช้จ่ายด้านต่างๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นในอนาคต กระทรวงการคลังจึงต้องศึกษาแนวทางขยายฐานภาษีให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศประมาณร้อยละ 20-21 ของจีดีพี จากปัจจุบันรายได้มีสัดส่วนร้อยละ 16-17 ของจีดีพี
 
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยด้านวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวทางการหารายได้ของรัฐบาลในปัจจุบันค่อนข้างจำกัด จึงแนะนำให้ทบทวนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะปัจจุบันไทยจัดเก็บร้อยละ 7 ยอมรับว่าเป็นอัตราต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ หากปรับขึ้นจะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลค่อนข้างต่ำ เพื่อต้องการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
 
กระทรวงแรงงานห้ามนายจ้างยึดพาสปอร์ต ลูกจ้างต่างด้าว
 
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่พบปัญหาร้องเรียนจากแรงงานต่างด้าวว่าถูกนายจ้างยึดพาสสปอร์ต เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานหรือเพื่อไม่ให้ลูกจ้างหนีไปทำงานที่อื่นว่า หากนายจ้างเก็บหรือยึดเอกสารลูกจ้างจะมีความผิดตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ที่ห้ามไม่ให้นายจ้างเรียก หรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากนายจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพงานของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้างได้
 
สำหรับความผิดตามมาตรา 10 จะมีอัตราโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะมีอัตราโทษสูงสุดเช่นเดียวกับกรณีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ แต่ถึงอย่างไรโทษดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้อัตราโทษสูงสุดทันทีหรือไม่ เพื่อความรอบคอบและเป็นธรรมต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนกันยายนนี้ แต่เบื้องต้นเมื่อ กสร.ออกระเบียบมารองรับ ก็สามารถให้พนักงานตรวจแรงงาน ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ทันทีไม่ต้องให้ กสร.ออกคำสั่งเหมือนเช่นที่ผ่านมา
 
 
ทนายสงกานต์ยื่นหนังสือร้อง! ดีเอสไอ แรงงานไทยโดนลอยแพในไต้หวัน นายจ้างยึดพาสปอร์ต ถูกลูกชายนายจ้างลวมลานกระทำอนาจาร
 
ทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมทีมทนายความ เข้ายื่นร้องหนังสือให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนกรณีที่ นางประนอม อินตะแสน โดนกลุ่มนายจ้างจัดหาแรงงานลอยแพขณะที่ไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน และถูกลูกชายนายจ้างลวมลานกระทำอนาจาร โดยทางผู้เสียหายได้ร้องขอความช่วยเหลือกับกรมแรงงานของไทยที่ไต้หวันแต่ยังไม่ได้รับความคืบหน้า และไม่สามารถกลับไทยได้เนื่องจากนายจ้างเก่ายึดหนังสือเดินทางเอาไว้ ทำได้แค่ติดต่อผ่านไลน์เท่านั้น ซึ่งการกระทำนี้เข้าข่ายกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ และผิด พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
 
 
หวั่นคนพิการสมัครเข้าทำงานตามนโยบายรัฐต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาล ต้องถูกโอนย้ายจากบัตรทองสู่ประกันสังคมจ่ายเงินสมทบทุกเดือน
 
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยว่า คนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หรือ UC จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พิเศษกว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองทั่วไป เรียกได้ว่าคนพิการจะมีบัตรทองพิเศษที่สามารถใช้บริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง แตกต่างกับผู้ใช้สิทธิบัตรทองทั่วไปที่ใช้บริการได้เฉพาะสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น
นพ.ยศ กล่าวว่า คนพิการจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษและบางครั้งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษซึ่งจะมีอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ฉะนั้นการให้สิทธิประโยชน์แก่คนพิการให้สามารถเลือกใช้บริการสถานพยาบาลใดก็ได้นั้นจะช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
"สิทธิประโยชน์นี้ทำให้คนพิการไม่ต้องเสียเวลารอกระบวนการส่งต่อจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่" นพ.ยศ กล่าว
 
นพ.ยศ กล่าวอีกว่า หากคนพิการอยู่เฉยๆ ก็จะได้รับเบี้ยยังชีพและยังได้รับการรักษาฟรีในทุกๆ สถานพยาบาล แต่หากคนพิการไม่อยากอยู่เฉยๆ แต่อยากทำประโยชน์ให้สังคมด้วยการไปสมัครงานตามนโยบายส่งเสริมการจ้างงานของรัฐบาล คนพิการเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนสิทธิเป็นประกันสังคม และได้รับสิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่าบัตรทอง
 
"เมื่อสมัครงานก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบประกันสังคม จากรักษาฟรีก็ต้องเริ่มจ่ายเบี้ยสมทบ มากไปกว่านั้นคือจะเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ผู้ประกันตนลงทะเบียนไว้เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงระบบการส่งต่อที่จะอนุมัติยากขึ้นมาก" นพ.ยศ กล่าว
 
นพ.ยศ กล่าวว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ง่ายมากด้วยการโอนคนพิการจากระบบประกันสังคมมาสู่ระบบบัตรทอง ซึ่งชัดเจนว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยที่ผ่านมาผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็เคยระบุเอาไว้ว่ายินดีจะโอนคนพิการจำนวนไม่กี่หมื่นคนพร้อมงบประมาณรายหัวมาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล และ สปสช.เองก็บอกว่ามีความพร้อมและยินดีดูแลคนกลุ่มนี้ให้ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่เกิดขึ้นจริง
 
"เรื่องนี้แก้ไขได้ง่ายมาก ทำได้ทันที และหากรัฐบาลหรือฝ่ายนโยบายดำเนินการจริง จะเกิดประโยชน์กับคนพิการในประเทศไทยอีกจำนวนมาก" นพ.ยศ กล่าว
 
 
หนุนใช้ 'e-Service' จัดส่งแรงงานไป ตปท.
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานเปิดประชุมการเตรียมความพร้อมการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหาร แรงงานไทยไปต่างประเทศ (Overseas Employment e-Service) ซึ่งกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศจัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างความรู้ ความเข้าใจในการ ปฏิบัติงานการให้บริการจัดหางานต่างประเทศ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่จัดหางานจังหวัด ทุกจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
 
นายอารักษ์ กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) มาใช้ในการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนหางาน บริษัทจัดหางาน และนายจ้างในการขออนุญาต ตรวจสอบ ติดตามสถานะและผลการพิจารณาอนุญาตได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายให้กับ ผู้รับบริการ ทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท