Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากการก่อรัฐประหารมาแล้วกว่า 12 ครั้งในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า บรรดานายพลทั้งหลายของไทยไม่ได้เป็นมิตรกับประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก ดังนั้นมันจึงดูขัดแย้งกันเมื่อรัฐบาลทหารชื่นชมคนไทยที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับกองทัพหนุนหลังในการประชามติที่มีการควบคุมอย่างหนัก ในขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ได้ยืนกรานว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยุติความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเกือบทศวรรษ และปูทางไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งความจริงแล้ว มันไม่สามารถสมานความแตกแยกอันฝังลึกในประเทศได้เลย แต่กลับทำให้สถานการณ์หนักขึ้นไปอีก

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 จะทำให้ทหารอยู่ในอำนาจได้อีกหลายปี และจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ซึ่งจะถูกบงการโดยหน่วยงานต่างๆ ที่ประกอบด้วยคนที่เป็นแนวร่วมของรัฐบาลทหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน เพื่อทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลใดก็ตามจะไม่ออกนอกแนวทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ ส.ว. ยังมีหน้าที่โน้มน้าวสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพียง 1 ใน 4 ของสภาเพื่อเลือกนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. มาก่อน (คำถามพ่วงที่ผ่านความเห็นชอบ ระบุว่า ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทั้งนี้ รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. 500 คนและ ส.ว. 250 คน ดังนั้น หาก ส.ส. 1 ใน 4 คือ 125 คน เลือกนายกฯ คนเดียวกับ ส.ว. 250 คน จะทำให้บุคคลดังกล่าวได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (375) และได้เป็นนายกฯ-ประชาไท) ในขณะที่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นสิ่งต้องห้าม

ผลประชามติครั้งนี้สร้างความงุนงงให้กับกลุ่มสิทธิพลเมืองและนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยที่เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยผลประชามติออกมาว่า คนไทยมากกว่า 61 % รับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ภาคอีสานที่มีการต่อต้านทหารอย่างหนัก และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนมาช้านานไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ผลคะแนนนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า ชนชั้นกลางไทยจำนวนมากรับได้กับการปกครองของทหารหากพวกเขาได้ประโยชน์ คนเมืองมากมายมีความปรารถนาเดียวกันกับรัฐบาลทหารที่จะขจัดอิทธิพลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ปัจจุบันลี้ภัยในต่างประเทศ พวกเขาเชื่อว่าทักษิณปกครองโดยทุจริต แต่กลับได้รับความนิยมจากคนยากจนในชนบท อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าจะทำให้พรรคของทักษิณที่ชนะการเลือกตั้งมาตลอดตั้งแต่ ปี 2544 เสียเปรียบจากกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ ในขณะที่กลุ่มต่อต้านรัฐประหารถูกเตือนว่าการโนโหวตอาจจะทำให้ทหารบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่พวกเขาไม่อยากได้เลย ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ 59% สะท้อนว่าคนไทยไม่เห็นตัวเลือกทางการเมืองที่ดีเท่าไหร่นัก
ประชาชนผู้ใช้สิทธิส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างจำกัด ในขณะที่ คสช.ออกคำสั่งห้ามผู้ที่เห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์ร่าง โดยมีกรณีที่อาจมีโทษจำคุกถึง 10 ปี และยังมีการจับกุมนักศึกษาที่พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญนี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากผลประชามติ รัฐบาลทหารดูเหมือนว่าจะไม่ตระหนักถึงชัยชนะที่ว่างเปล่า หรือความโกรธที่สะท้อนในผลโหวตท่ามกลางการวิจารณ์ที่ถูกปิดปาก แต่กลับออกแถลงการณ์ว่า ผลโหวตนี้เป็นสัญญาณเดินหน้าประเทศ

สองพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ออกมายอมรับกับผลประชามติ หลังจากนี้จะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ปี 2560 หาก คสช. ไม่มีข้ออ้างที่จะเลื่อนการเลือกตั้งต่อไปอีก

ผลของการทำประชามติในครั้งนี้อาจจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่อ่อนแอซึ่งต้องฟังเสียงกลุ่มผลประโยชน์อันทรงอิทธิพลนั้นยากที่จะหาทางยกระดับประเทศขึ้นมาได้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยช้าลงจาก 5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็น 3 เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอและการส่งออกจะลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกันในปีนี้ กำลังแรงงานที่มีอยู่เริ่มสูงอายุและมีค่าแรงแพงขึ้น ขณะที่การพัฒนาประเทศไปสู่ “เศรษฐกิจฐานความรู้” กลายเป็นเรื่องน่าขันเพราะมีการเซ็นเซอร์และสอดส่องออนไลน์อย่างหนัก

วงจรการเลือกตั้ง การประท้วง และการทำรัฐประหารจะยังคงวนเวียนในการเมืองไทยไปอีกสักระยะ อย่างไรก็ตาม ในระบบการเมืองภายใต้การนำของรัฐบาลทหารนั้นจะทำให้พวกเขามีอำนาจในการควบคุมการเมืองโดยที่ไม่ต้องเอารถถังออกมา ถึงกระนั้น นี่ก็ไม่ใช่แนวทางที่จะแก้ปัญหาต้นตอความขัดแย้งของประเทศ ที่เกิดจากการปกครองแบบรวมศูนย์ซึ่งปล่อยให้คนใหญ่คนโตในกรุงเทพฯ กวาดเอาอำนาจและทรัพยากรไป การทำประชามติทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ถาวร โดยที่แค่ซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมเท่านั้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net