คำแถลงปิดคดี 'หมอเลี๊ยบ' (หุ้นชินคอร์ป) ยันขั้นตอนถูกต้อง ‘ความเสียหาย’แค่สันนิษฐาน

ยืนยันขั้นตอนอนุมัติถูกต้อง พิจารณา 307 วันไม่เร่งรัด อัยการสูงสุดให้ไอซีทีพิจารณาได้ ส่งเข้า ครม.แล้วแต่สำนักเลขาฯ ครม.ส่งคืนบอกไม่เข้าหลักเกณฑ์ ชี้คำเบิกความ ‘บวรศักดิ์’ บิดเบี้ยว พร้อมระบุ 12 ปีผ่านมาพิสูจน์แล้วชินคอร์ปฯ ลดสัดส่วนถือหุ้นในชินแซทฯ ปกติธุรกิจ ไม่กระทบผลประโยชน์-ความมั่นคงประเทศ

<--break- />อ่านข่าวคดีนี้ได้ที่นี่

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีหมายเลขดำ อม.66/2558

โจทก์ - คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

จำเลยที่ 1 - นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี๊ยบ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

จำเลยที่ 2 – นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที

จำเลยที่ 3 - ไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ อดีตปลัดกระทรวงไอซีที

คำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการการเจรจาระหว่าง บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น กับคณะกรรมการพิจารณาสัมปทาน จึงเป็นเรื่องของคุณสมบัติและความสามารถของผู้รับสัมปทานที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาและเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เป็นผู้รับสัมปทาน การแก้ไขสัญญาในเรื่องนี้จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี การที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้แก้ไขสัญญาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม.จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ เนื่องจากเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจการควบคุมบริหารจัดการอย่างเด็ดขาดและกระทบความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ ทั้งเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีขณะนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีส่วนได้เสียในการแก้ไขสัญญาอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทผู้รับสัมปทาน จำเลยที่ 3 ไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียดว่ารัฐจะได้รับผลกระทบหรือได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาอย่างไร และเมื่อเสนอเรื่องไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่ลงนามรับทราบโดยไม่ได้สั่งการให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนตามที่ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งไว้ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 อนึ่ง คดีนี้ยื่นฟ้องโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559 ศาลเริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2559 ไต่สวนพยานโจทก์ 9 ปาก พยานจำเลย 9 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 7 นัด คดีเสร็จการไต่สวนเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559

อนึ่ง คดีนี้ยื่นฟ้องโดย ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2558 ศาลเริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2559 ไต่สวนพยานโจทก์ 9 ปาก พยานจำเลย 9 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 7 นัด คดีเสร็จการไต่สวนเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559

สรุปคำแถลงปิดคดี จำเลยที่ 1-3

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยได้ร่วมกันพิจารณาอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ จากเดิมที่กำหนดให้ บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นใน บมจ. ชินแซทเทลไลท์ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 เป็น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 โดยไม่นำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งที่ทั้งสามทราบว่าอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตว่าโครงการนี้เดิมได้รับอนุมัติจาก ครม. เป็นโครงการของประเทศ (National Project) จึงควรที่ไอซีที ต้องส่ง ครม.พิจารณาก่อน เนื่องจากเรื่องการถือครองหุ้นดังกล่าวเป็นนัยสำคัญประการหนึ่งที่ ครม. อนุมัติให้สัมปทานกับ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น การอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เป็นการลดทอนความมั่นคงและมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมอันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและมั่นคงในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้สามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

จำเลยทั้งสามขอชี้แจงว่า  เมื่อบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่นมีหนังสือถึงไอซีที เมื่อ 24 ธ.ค.2546 ขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ได้มีบันทึกข้อความถึงปลัดไอซีที ผ่านจำเลยที่ 2 ผ่านนิติกร 9 ของกระทรวง และผ่านเลขานุการรัฐมนตรีเพื่อเสนอข้อพิจารณาและความเห็นต่อจำเลยที่ 1 ว่า

1) การลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น จะยังคงรับผิดชอบการดำเนินการตามสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมฯ ได้ต่อไป

2) การลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว บมจ.ชินแซทเทลไลท์ ยังรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลสัญชาติไทยโดยไม่ขัดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

3) หากไอซีทีอนุมัติการลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ก็ควรต้องแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ ซึ่งสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติได้แก้ไขร่างสัญญาแนบมาด้วยแล้ว

4) เพื่อความรอบคอบควรหารืออัยการสูงสุดในประเด็นข้อพิจารณาของสำนักงานกิจการอวกาศฯ และหากเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาแก้ไขดังกล่าวให้ก่อน

ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดตามคำแนะนำ สำนักงานอัยการสูงสุดมีบันทึกตอบกลับแจ้งผลการพิจารณาว่า บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ยังคงเป็นคู่สัญญาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกันกับผู้รับสัมปทานโดยไม่เปลี่ยนแปลง และบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่นยังเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยรายใหญ่ที่สุดในบริษัทผู้รับสัมปทาน ซึ่งสามารถควบคุมการดำเนินงานของบริษัทผู้รับสัมปทานอยู่ตามเจตนารมณ์ของสัญญา นอกจากนี้การแก้ไขสัญญาไม่ได้ลดภาระหน้าที่ของริษัทผู้รับสัมปทานและไม่ได้ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐลดลง จึงไม่มีกรณีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ และเห็นว่ากระทรวงไอซีทีสามารถที่จะใช้ดุลยพินิจที่จะพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าวด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดให้ข้อสังเกตว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญานี้เป็นสาระสำคัญของสัญญาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่มาของการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี จึงควรนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาก่อนลงนามสัญญา

ไอซีทีจึงได้นำเสนอหนังสือถึงสำนักเลขาธิการ ครม.เพื่อให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว สำนักเลขาธิการ ครม.ได้มีหนังสือส่งเรื่องดังกล่าวคืนไอซีทีโดยให้เหตุผลว่า เรื่องไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอ ครม.พิจารณา ประกอบกับ ครม.มีนโยบายจะลดเรื่องที่จะเสนอครม. จึงขอส่งเรื่องคืน

สำนักกิจการอวกาศฯ จึงทำหนังสือเสนอ รมว.ไอซีทีพิจารณา ดังนี้

1.อนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา และกำหนดวันเวลาลงนามร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างไอซีทีกับบริษัททั้งสอง พร้อมกันนี้สำนักกิจการอวกาศฯ ได้เสนอร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดมาด้วย

2.ให้ปลัดไอซีที และรองปลัดไอซีที ลงนามในฐานะพยานฝ่ายกระทรวงไอซีที

จำเลยที่ 1 ในฐานะ รมว.ไอซีที สั่งการให้หารือสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้งในข้อสังเกตต่อท้ายและที่สำนักเลขาธิการ ครม.เห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา เพื่อที่กระทรวงไอซีทีสามารถใช้ดุลยพินิจโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้าครม.ต่อไป

เมื่อส่งเรื่องไปสำนักอัยการสูงสุดก็ได้ตอบกลับมาว่า เมื่อสำนักเลขาธิการ ครม. เห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอ ครม.พิจารณา ไอซีทีจึงมีดุลยพินิจที่จะแก้ไขสัญญาตามร่างที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจแก้ไว้ได้

จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ลงนามอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน และได้มีการลงนามแก้สัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547

จำเลยขอแถลงว่า คดีมีประเด็นปัญหาสำคัญต้องพิจารณาเป็นลำดับ ดังนี้

1. เงื่อนไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

ปัญหาข้อนี้ได้ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จริงของโจทก์ว่า อนุกรรมการไต่สวนของโจทก์ได้ทำการสอบปากคำนายวันชัย ศารทูลทัต ในฐานะประธานกรรมการร่างสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเพื่อพิจารณาปัญหานี้ไว้แล้ว สรุปความได้ว่า "การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาภายหลังนั้น โดยหลักการแล้วสัญญาแก้ไขได้ภายหลัง ส่วนหลักเกณ์การแก้ไขอยู่ที่เหตุผลและความจำเป็นของคู่สัญญา" ในทางพิจารณาของโจทก์โจทก์ก็ยอมรับว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวสามารถจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่มีข้อโต้แย้งในส่วนของขั้นตอนกระบวนการในการอนุมัติแก้ไขสัญญาของจำเลยทั้งสามเท่านั้น อีกประการคือ ก่อนมีการพิจารณาอนุมัติแก้ไขก็ปรากฏว่า ไอซีทีก็ได้หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ส่วนว่าการลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ทำได้หรือไม่ตามระเบียบราชการซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาและได้มีหนังสือตอบกลับความว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวก็ยังทำให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่นยังเป็นคู่สัญญาที่ยังต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกันกับผู้รับสัมปทานโดยไม่เปลี่ยนแปลง และยังเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยรายใหญ่ที่สุดในบริษัทผู้รับสัมปทาน สามารถควบคุมการดำเนินงานของบริษัทผู้รับสัมปทานอยู่ตามเจตนารมณ์ของสัญญา การแก้ไขสัญญาไม่ได้ลดภาระหน้าที่ของบริษัทผู้รับสัมปทาน และไม่ได้ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐตามสัญญาลดลง จึงไม่มีกรณีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ ไอซีทีสามารถใช้ดุลยพินิจอนุมัติการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวได้ และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาแล้ว ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงเห็นว่า ในทางคดีสามารถพิจารณาเป็นหลักการเบื้องต้นได้แล้วว่า สัญญาดังกล่าวสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

2. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ จะต้องนำเรื่องเสนอ ครม.ก่อนลงสัญญาหรือไม่

ในการฟ้องนั้นอ้างอิงข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดที่มีถึงไอซีทีว่าให้ส่งครม. เรื่องนี้พยานโจทก์นายวีรพล ปานะบุตร อธิบดีอัยการฝ่ายที่ปรึกษา และนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้พิจารณาตรวจร่างสัญญาและตอบข้อหารือแก่ไอซีที ได้เบิกความอธิบายต่อศาลสรุปความได้ว่า ข้อสังเกตที่สำนักงานอัยการสูงสุดตอบไอซีทีไปว่า โครงการนี้เดิมได้รับอนุมัติจากครม.เป็นโครงการของประเทศ ก็ควรที่ไอซีทีจะต้องนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาก่อนลงนามอนุมัติให้แก้ไขสัญญานั้น เป็นเพียงข้อสังเกตในหลักการทั่วไป มิได้อ้างอิงจากระเบียบกฎเกณฑ์เรื่องใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งไอซีทีมีดุลยพินิจที่เสนอให้ ครม.พิจารณาหรือไม่ก็ได้เนื่องจากเป็นเพียงข้อสังเกต เรื่องนี้ปรากฏข้อเท็จจริงในทางคดีว่า ไอซีทีได้มีเจตนานำเรื่องการขอแก้ไขสัญญาส่งไปยังสำนักเลขาธิการ ครม.เพื่อให้ ครม.พิจารณาตามข้อสังเกตของอัยการสูงสุดแล้ว แต่สำนักเลขาธิการ ครม.แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ต้องให้ ครม.พิจารณาจึงส่งเรื่องคืน เมื่อพิจารณาหนังสือตอบกลับของสำนักเลขาธิการ ครม.ดังกล่าวประกอบกับคำเบิกความของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เบิกความตอบศาล เมื่อดูมติ ครม.เรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศแล้วอธิบายว่า ในมติ ครม.ไม่ได้พูดถึง 51% ครม.ประชุมปรึกษาเมื่อ 4 มิ.ย.รับทราบผลการเจรจาเรื่องเพิ่มรายได้ขั้นต่ำเป็น 1,415 ล้านบาท ลดระยะเวลาผูกขาด 30 ปีเป็นคุ้มครอง 8 ปีและเห็นชอบตามคณะกรรมการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจทั้ง 3 ข้อ และเบิกความอธิบายต่อมาว่า เอกสารที่อ้างประกอบการเสนอไม่ถือว่าเป็นมติ ครม. นอกจากนี้พยานปากดังกล่าวยังเบิกความอธิบายหลักการในเรื่องที่ต้องเสนอครม.ต่อศาลอีกว่า ถ้าครม.มีมติเรื่อง 51% ต้องเสนอให้ครม.พิจารณา ครม.ไม่ลงไปดูข้อสัญญาทุกข้อ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ถ้าเป็นหลักสำคัญแล้วอยู่ในมติครม. อันนั้นถือว่าเป็นมติ แต่ถ้ามติไม่ได้ระบุถึง 51% เลย แต่ไปอยู่ในเอกสารสัญญาก็จะถือเป็นมติ ครม.ไม่ได้ แม้จะเป็นความเห็นกระทรวงการคลังก็ตาม ก็ถือไม่ได้ต้องขึ้นกับ มติ ครม.นั้นเป็นอย่างไร

จำเลยทั้งสามขอเรียนว่า เมื่อพิจารณามติ ครม.ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นมติครม.และมติคณะกรรมการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการอนุมัติให้บมจ. ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น) เป็นผู้ได้รับสัมปทาน สาระสำคัญคือ ให้บมจ.ดังกล่าวเป็นผู้รับสัมปทานตามเงื่อนไขสัมปทานของกระทรวงคมนาคมในข้อกำหนดทำข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ โดยรายละเอียดของข้อกำหนดการทำข้อเสนอขอรับสัมปทานดังกล่าว รวมทั้งมติ ครม.และมติกรรมการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการกำหนดในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ในบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่แต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงเห็นว่ากรณีนี้ต้องถือว่า ครม.ไม่เคยมีมติกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ว่าต้องถือหุ้นใน บมจ. ชินแซทเทลไลท์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไทยคม) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 มาก่อน ดังนั้น การเสนอขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาจึงไม่ใช่เรื่องต้องทบทวนมติ ครม.แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือของสำนักเลขาธิการ ครม. เทียบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อครม. จะเห็นได้ว่าเรื่องการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาในลักษณะตามฟ้องก็ไม่เข้าในหลักเกณฑ์เรื่องที่ให้เสนอต่อครม.ตามที่กำหนดในระเบียบดังกล่าว

ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น) เบิกความอธิบายข้อความคำว่า "ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอครม.พิจารณา" ตามปรากฏในหนังสือของสำนักเลขาธิการ ครม.นั้น หมายถึง เมื่ออ่านข้อความเรื่องที่เสนอให้ครม.พิจาณาแล้วไม่อาจเข้าใจได้ว่าจะให้ครม.มีมติอย่างไร จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องให้ครม. กับอ้างว่า ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียม นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ จึงไม่อาจจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาได้ โดยแจ้งทางโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 1 ทราบพร้อมกับให้ถอนเรื่องกลับ ส่วนการที่สำนักเลขาธิการ ครม.มีหนังสือตอบกลับดังที่กล่าวไปแล้วนั้นเป็นการตอบทางเทคนิค เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีและรักษาหน้าจำเลยที่ 1 ในฐานะรมว.ไอซีทีเท่านั้น จำเลยทั้งสามของเรียนกว่า เมื่อพิจารณาคำอธิบายของพยานปากอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาข้อความของหนังสือตอบกลับของสำนักเลขาธิการ ครม.ที่ระบะว่า "ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอครม.พิจารณา" แล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายวีรพล ปานะบุตร นายชัยเกษม นิติสิริ คุณหญิงทิพาวี เมฆสวรรค์ แม้กระทั่งอนุกรรมการไต่สวนของโจทก์เอง ทุกคนต่างก็เข้าใจความหมายของข้อความดังกล่าวเป็นอย่างเดียวกันว่า หมายถึง ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของเรื่องที่จะต้องเสนอให้ครม.พิจารณา ไม่ได้หมายความถึง หนังสือที่นำส่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอเรื่อง ดังความหมายที่นายบวรศักดิ์กล่าวอ้างอธิบายต่อศาล

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากคำพยานของนายบวรศักดิ์ ที่ตอบคำถามค้านทนายความจำเลยทั้งสามเมื่อให้พยานดูหนังสือเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีของไอซีทีเปรียบเทียบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อครม. พยานก็รับว่า หนังสือนำเสนอเรื่องต่อ ครม.ดังกล่าวมีสาระของข้อความตรงตามหลักเกณฑ์ที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งหากสำนักเลขาธิการ ครม.เห็นว่า สาระของหนังสือเสนอเรื่องต่อครม.ฉบับนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนประการใด ตามระเบียบดังกล่าวก็ได้กำหนดวิธีปฏิบัติไว้ว่าให้สำนักเลขาธิการครม.แจ้งหน่วยงานที่เสนอเรื่องแก้ไขให้ถูกต้อง หรือแจ้งให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่สงสัย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสำนักเลขาธิการครม.ได้ดำเนินการเช่นนั้นแต่อย่างใด การที่นายบวรศักดิ์เบิกความกล่าวอ้างว่าหนังสือนำเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาของไอซีทีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องจึงส่งเรื่องคืนนั้น จำเลยทั้งสามเห็นว่า คำเบิกความส่วนนี้ขัดกับข้อเท็จจริงและเหตุผล ทั้งยังมีลักษณะการเบิกความให้แตกต่างจากความหมายของข้อความในหนังสือราชการที่ตนได้ทำไว้ตามอำนาจหน้าที่อีกด้วย จำเลยจึงขอให้ศาลได้โปรดรับฟังคำพยานของนายบวรศักดิ์ด้วยความระมัดระวัง

ส่วนเรื่องที่นายบวรศักดิ์ กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า ขณะที่มีการเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาให้ครม.พิจารณา นายทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ในขณะนั้นเคยเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ไม่สามารถเสนอเรื่องได้นั้น จำเลยทั้งสามขอเรียนเป็นข้อพิจารณาว่า ขณะที่มีการเสนอเรื่องการขอแก้ไขสัญญาตามคดีนี้ให้ครม.พิจารณานั้น จะถือว่า นายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นคู่สัญญากับรัฐ อันมีลักษณะห้ามมิให้ดำเนินการดังที่นายบวรศักดิ์อ้างจริงหรือไม่นั้น จำเลยทั้งสามเห็นว่า กรณีนี้ปรากฏข้อเท็จริงตามสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมโดยชัดแจ้งแล้วว่า ในขณะที่ลงนามทำสัญญาฉบับดังกล่าว (เมื่อปี 2534) นายทักษิณ ชินวัตร ได้ลงนามในฐานะเป็นผ้แทนของ บมจ. ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น มิได้ลงนามเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐเป็นการส่วนตัว อีกทั้งก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วว่ามิได้มีฐานะเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ นอกจากนี้ตามแผนผังการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับชื่อบริษัท ผู้ถือหุ้น กรรมการผู้บริหาร และการถือครองหุ้นของบมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น และ ชินแซทเทลไลท์ ก็ปรากฏว่า นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มีฐานะเป็นการรมการบริษัททั้งสองมาตั้งแต่ปี 2537 และไม่ได้มีส่วนเป็นผู้ถือหุ้นในบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ดังนั้น กรณีต้องถือว่าในขณะที่ไอซีทีนำส่งเรื่องการแก้ไขสัญญาไปยังสำนักเลขาธิการครม. ข้อเท็จจริงย่อมเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า นายทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ในขณะน้ันมิได้มีฐานะเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐทั้งตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนั้น ข้อที่นายบวรศักดิ์อ้างเหตุดังกล่าวเพื่อปฏิเสธไม่นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.ตามที่ไอซีทีนำส่งและส่งเรื่องคืน จึงไม่มีเหตุที่มีอยู่ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแต่อย่างใด อีกทั้งหากเรื่องที่เสนอมีลักษณะต้องห้ามตามที่นายบวรศักดิ์กล่าวอ้างจริงก็ชอบที่นายบวรศักดิ์จะต้องมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องหรือเหตุต้องห้ามตามกฎหมายให้แก่ไอซีทีได้ทราบอย่างถูกต้องตรงตามระเบียบปฏิบัติราชการ มิใช่มากล่าวอ้างถ้อยคำให้แตกต่างจากข้อความหนังสือราชการที่ตนทำขึ้นยามเมื่อเกิดปัญหาพิพาทในภายหลัง

3. การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นเป็นการลดทอนความมั่นคงความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียม บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น อันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและมั่นคงในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐหรือไม่

เรื่องนี้ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่า เมื่อลดสัดส่วนการถือครองหุ้นแล้ว บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ยังคงมีฐานะของการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในอันที่จะสามารถควบคุมการดำเนินงานของ บมจ.ชินแซทเทลไลท์ ตามเจตนารมณ์เดิมของสัญญาได้อีกหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ จำเลยทั้งสามได้นำสืบอธิบายต่อศาลแล้วว่า ก่อนจะมีการพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขสัญญา สำนักกิจการอวกาศฯ ได้ทำการศึกษาปัญหาและส่งเรื่องหารือปัญหาดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดตามระเบียบราชการแล้ว สามารถสรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้ว่า แม้จะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ใน บมจ. ชินแซทเทลไลท์ จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด แต่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ก็ยังคงมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยรายใหญ่ที่สุดในบมจ. ชินแซทเทลไลท์ และยังคงสามารถควบคุมการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวได้ตามเจตนารมณ์ของสัญญาอยู่ ซึ่งนับตั้งแต่แก้ไขสัญญามาเป็นเวลากว่า 12 ปีจนปัจจุบัน บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และยังคงสามารถจะควบคุมการดำเนินงานของ บมจ. ชินแซทเทลไลท์ หรือ บมจ.ไทยคม ได้ตามข้อพิเคราะห์ในหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงานอัยการสูงสุดทุกประการ มิได้มีผลให้เป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียม และมิไม่ได้มีผลให้ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ต้องสูญเสียอำนาจการควบคุม บริหาร จัดการในบมจ. ชินแซทเทลไลท์ อีกทั้งมิได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมดังที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงส่วนนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายสือ ล้ออุทัย อดีตปลัดไอซีที พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ภายหลังมีการแก้ไขสัญญาดังกล่าว กระทรวงไอซีทีไม่ได้รับผลกระทบจากการบริหารสัญญาจากกรณีที่มีการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าว

นอกจากนี้ยังได้ความจากนายวันชัย ศารทูลทัต อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการร่างสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ และกรรมการประสานงานตามที่ระบุในสัญญา และนายวีรพล ปานะบุตร อธิบดีอัยการฝ่ายที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด หนึ่งในคณะกรรมการตรวจร่างสัญญาที่ได้เบิกความต่อศาลและให้ถ้อยคำต่ออนุกรรมการไต่สวนของโจทก์ รับฟังได้ในทำนองเดียวกันว่า ถึงแม้จะลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลงไปแต่ความรับผิดชอบ ตลอดจนสิทธิหน้าที่ตามสัญญาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังคงเดิมทุกประการ ไม่มีกรณีใดถูกกระทบและสัญญาก็กำหนดบังคับไว้แล้ว่า ในการจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งก็คือ บมจ.ชินแซทเทลไลท์นั้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ยังจะต้องร่วมรับผิดชอบกับบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นต่อคู่สัญญาฝ่ายรัฐในลักษณะร่วมกันและแทนกัน ดังนั้น ถึงแม้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ยังมีเสียงข้างมากในการบริหารอยู่ โดยไม่มีผลกระทบต่ออำนาจควบคุมบริหารจัดการของบริษัทแต่อย่างใด สอดคล้องกับการให้ถ้อยคำของพยานผู้บริหารระดับสูงในบริษัท และการชี้แจงจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศที่ว่า หลังลดสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด รองลงมาได้แก่ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้นสูงสุดในปี 2551 ร้อยละ 9.2 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดแต่ก็ไม่มีผลในการลงคะแนนเสียงต่อบริษัท และยังเป็นเช่นนั้นจนปัจจุบัน

ปัจจุบันนับแต่การแก้ไขสัญญาเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวเป็นเวลา 12 ปีแล้วยังไม่เคยปรากฏข้อเท็จจริงยืนยันในทางใดได้เลยว่า บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ได้สูญเสียความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของตนไปจริงหรือไม่ อย่างไร หากแต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในทางตรงกันข้ามว่า บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ยังคงฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของ บมจ.ไทยคมได้อยู่เช่นเดียวกับตอนก่อนที่ยังไม่ได้แก้ไขสัญญาทุกประการ ดังนั้น เหตุที่โจทก์หยิบยกมาเป็นข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับจำเลยจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐษนเท่านั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะนำมายืนยันเจตนากระทำความผิดของจำเลยทั้งสามได้ตามกฎหมาย อีกทั้งในทางคดีโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบพิสูจน์สนับสนุนประเด็นข้อกล่าวหานี้ต่อศาลได้โดยชัดแจ้ง และข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็หักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์แล้วว่า รัฐไม่ได้เสียเปรียบทั้งในเชิงกฎหมายและเชิงธุรกิจจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นตามการแก้ไขสัญญาดังกล่าว โดยพยานผู้บริหาร บมจ.ไทยคม ได้ระบุว่า นับแต่ปี 2534 ที่เริ่มต้นดำเนินการตามสัญญาจนปัจจุบัน สามารถนำส่งรายได้จากการดำเนินงานตามสัญญาฯ ต่อไอซีทีแล้วรวมกว่า 8,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2553 อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าร้อยละ 40 ของรายได้นำส่งดังกล่าวเป็นรายได้จากการให้บริการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์)

4.จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันพิจารณาอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญา โดยมีเจตนาทุจริต หรือเจตนาเอื้อประโยชน์ให้แก่บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ไทยคม หรือไม่

โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามทราบเหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขัน ให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยโจทก์ได้กำหนดกรอบการใช้ดุลยพินิจของจำเลยที่ 1 สำหรับพิจารณาเรื่องนี้ไว้ 3 ประการ คือ ใช้ดุลยพินิจไม่อนุมัติให้แก้ไขสัญญา, ไม่ใช่ดุลยพินิจ หรือชะลอการใช้ดุลยพินิจออกไป

จำเลยทั้งสามขอเรียนกว่า สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ มีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ รัฐประสงค์จะให้ประเทศไทยมีดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเป็นของตนเอง แต่ให้บริษัเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้้งสิ้น โดยกำหนดข้อตกลงในรูปแบบสัญญาร่วมมการงานแบบสร้าง โอน และให้บริการ Build-Transfer-Operate (BTO) คือ เมื่อรัฐให้สัมปทานแก่บริษัทแล้ว ทรัพย์สินอันเกิดจากความร่วมมือตามสัญญา ได้แก่ ดาวเทียมที่บริษัทจัดส่งขึ้นไปตลอดจนสถานีภาคพื้นที่ดินที่บริษัทสร้างขึ้นจะโอนกรรมสิทธิให้กับกระทรวง และกระทรวงจะทำการส่งมอบให้คู่สัญญา คือ บริษัท นำทรัพย์สินดังกล่าวไปบริหารและดำเนินกิจการของบริษัทโดยบริษัทตกลงให้ผลตอบแทนรายปีแก่กระทรวง เนื่องจากขณะนั้นยังมีความเสี่ยงสูงในการลงทุนและการดำเนินกิจการดังกล่าว รัฐจึงกำหนดระยะเวลาให้สัมปทานแก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี และมอบให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจดำเนินการและลงนามในสัญญสัมปทานที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจแก้แล้วแทนรัฐบาล ซึ่งในปี 2545 ภาระนี้ได้โอนไปให้กระทรวงไอซีทีแทน ทั้งนี้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดของสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาแต่อย่างใด เมื่อบมจ.ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสัญญสัมปทานเสนอขอแก้ไขสัญญาโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ในบมจ.ชินแซทเทลไลท์ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขัน ให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น คำร้องในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่คำร้องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด หากแต่เป็นการดำเนินงานปกติทั่วไปขององค์กรทางธุรกิจที่ต้องปรับปรุงองค์กรและเพิ่มศักยภาพของตนให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ประกอบกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ เองก็จัดทำขึ้นตั้งแต่ 11 ก.ย.2534 โดยมีอายุของสัญญาเป็นเวลาถึง 30 ปี ซึ่ง ณ วันที่บริษัทร้องขอลดสัดส่วนการถือครองหุ้นนั้นระยะเวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วกว่า 12 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาดังกล่าวภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริษัทผู้รับสัมปทานได้เปลี่ยนแปลงไปจากวันที่มีการจัดทำสัญญาอย่างมาก อีกทั้งบริษัทผู้รับสัมปทานทั้งสองก็แปรสภาพจากบริษัทเอกชนมาเป็นบริษัทมหาชน จึงทำให้โครงสร้างและสัดส่วนของผู้ถือหุ้นตลอดจนเงินทุนและการบริหารจัดการของบริษัทมีข้อแตกต่างไปจากวันทำสัญญา เมื่อบริษัทผู้รับสัมปทานเห็นว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่กำหนดไว้เดิมตามสัญญาไม่มีความสอดคล้องกับสภาพการบริหารจัดการและลักษณะการแข่งขันของบริษัทในปัจจุบัน จึงได้ร้องขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการบริหารจัดการและการแข่งขัน กรณีจึงมิได้เรื่องผิดปกติวิสัยของการดำเนินงานตามสัญญาสัมปทานลักษณะนี้แต่ประการใด และสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้พิจารณาแล้วว่าการแก้ไขสัญญาตามคำร้องขอไม่ได้กระทบต่อวัตถุประสงค์เงื่อนไขสำคัญในสิทธิประโยชน์ ความรับผิดชอบตามสัญญา การกำกับ การดูแล การบริหารจัดการ และมิได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และหากพิจารณาในภารวมแล้วย่อมถือว่าเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐกับบริษัทผู้รับสัมปทาน กล่าวคือ รัฐสามารถผลักดันโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ได้สำเร็จทำให้ประเทศมีดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ในการสื่อสาร ส่วนบริษัทผู้รับสัมปทานก็สามารถระดมทุนไปจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ให้แก่รัฐตามวัตถุประสงค์ของสัญญา

ในกระบวนการส่งเรื่องดังที่ได้เรียนไปในตอนต้น จำเลยทั้งสามได้พิจารณาคำขอของบริษัทตามขั้นตอนของระเบียบราชการ สิ้นระยะเวลาในการพิจารณาคำขอของบริษัททั้งหมด 307 วัน การพิจารณาดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบการพิจารณาวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักเลขาธิการ ครม. จำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาที่จะพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศในลักษณะขัดกับกฎหมายแต่ยอย่างใด

อ่านฉบับเต็มได้ในไฟล์แนบด้านล่าง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท