Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงวิเคราะห์ถึงปัญหาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มติดอาวุธในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดล่าสุดเมื่อช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการทหารยังพยายามเอาแต่รักษาหน้ามากกว่าจะยอมรับและแก้ไขปัญหาการเจรจาสันติภาพอย่างจริงจัง

26 ส.ค. 2559 แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเขียนบทความในเว็บไซต์ Nikkei Asian Review ถึงกรณีการวางระเบิดในไทยช่วงกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา สำหรับเดวิสแล้วเรื่องนี้ชวนให้รู้สึก "เดจาวู" ราวกับได้เห็นภาพเหตุการณ์ซ้ำซ้อน มีสื่อวิเคราะห์ถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่กำลังอ่อนแรงลงหลังจากเฟื่องฟูมาเป็นเวลานาน มีการสันนิษฐานกันในโลกออนไลน์ไปต่างๆ นานารวมถึงความเป็นไปได้เรื่องการสมคบคิด การสาดโคลนใส่อีกฝ่าย แบบเดียวกับทุกครั้งหลังจากเกิดเหตุรุนแรงที่ไม่มีใครอ้างตนเป็นผู้ก่อเหตุ

แต่สำหรับเดวิสแล้วการที่หลังก่อเหตุประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะ "กลับไปทำมาหากินตามปกติ" ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ได้คำตอบว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุกันแน่เช่นนี้ เป็นสิ่งที่อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีการออกมากล่าวหาผู้ก่อเหตุด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยทันทีแม้จะมีหลักฐานเพียงเล็กน้อย การสืบสวนสอบสวนของตำรวจเองก็ดูเอาแน่เอานอนไม่ได้จากการพยายามมุ่งเป้าไปที่ทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากเกินไป อย่างเช่นมัวแต่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเสื้อแดง ทั้งที่ตามความคิดเห็นของเดวิสแล้ว ผู้ต้องสงสัยคือกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีหรือบีอาร์เอ็น เมื่อพิจารณาจากการวางแผนและเตรียมการให้เกิดเหตุต่อเนื่องเป็นจุดๆ และความสามารถในการดำเนินการ

กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ได้อ้างความรับผิดชอบการก่อเหตุในครั้งนี้ เช่นเดียวกับที่พวกเขาไม่เคยอ้างความรับผิดชอบกับการก่อเหตุในเขตจังหวัดแถวหน้าอย่าง ปัตตานี, นราธิวาส และยะลา เดวิสระบุว่าทางการไทยก็ไม่ค่อยชี้นิ้วไปที่บีอาร์เอ็นเช่นกัน แต่การที่พวกเขาไม่ทำเช่นนั้นก็ถือเป็นการเมินเฉยต่อการยกระดับการก่อเหตุรุนแรงและเป็นการปฏิเสธไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมือง

นอกจากมุมมองทางการเมืองแล้วเดวิสยังระบุถึงสาเหตุที่เขาสงสัยว่าเป็นฝีมือบีอาร์เอ็นจากหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องมือระเบิดที่ใช้ก่อเหตุที่มีรูปแบบเดียวกับที่ใช้ก่อเหตุสามจังหวัดภาคใต้ รวมถึงการตั้งเวลาจุดระเบิดก็มีลักษณะเดียวกับวิธีการของกลุ่มบีอาร์เอ็น ดีเอ็นเอที่ตรวจพบใกล้กับจุดเกิดเหตุในภูเก็ตก็ตรงกับผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในบันทึกกลุ่มติดอาวุธของทางการ เดวิสระบุว่าถึงแม้บีอาร์เอ็นมักจะก่อเหตุในเขตจังหวัดแถวหน้าเป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีบางครั้งที่ขยายผลการโจมตีนอกเขตของพวกเขา แม้ว่าจะไม่ได้จงใจวางเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวแต่การโจมตีเหล่านี้ก็ทำให้ชาวต่างชาติบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายครั้ง

เดวิสมองว่าแรงจูงใจอย่างหนึ่งในการโจมตีครั้งนี้น่าจะมาจากการต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ละเลยชาวมุสลิมในในสามจังหวัดในขณะที่ส่งเสริมพุทธนิกายเถรวาทอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังอาจจะมีแรงจูงใจที่กว้างกว่านั้นคือการเจรจาสันติภาพที่กระท่อนกระแท่นของรัฐซึ่งบีอาร์เอ็นไม่ยอมรับในกระบวนการ พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ต่อ Nikkei Asian Review ขณะที่พวกเขาอยู่นอกประเทศไทยว่าต้องการให้มีการเจรจากับทางการไทยแต่ต้องมีตัวกลางจากต่างประเทศด้วย แต่ทางการไทยไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องระดับนานาชาติโดยยืนยันว่าเป็นเรื่องภายในประเทศจึงมีกระบวนการหารือที่ล่าช้ากับกลุ่มย่อยอย่างมาราปาตานีที่ไม่ได้มีอิทธิพลควบคุมปฏิบัติการภายในประเทศไทย

เดวิสวิเคราะห์อีกว่าการที่บีอาร์เอ็นขยายผลการปฏิบัติการไปทางเหนือมากขึ้นเป็นการเสี่ยงทำลายเศรษฐกิจของประเทศทำให้บีอาร์เอ็นสามารถคำนวณว่าพวกเขาจะเรียกความสนใจจากทางการไทยได้ในเวลาไหน จุดนี้ถือว่าบีอาร์เอ็นถือไพ่เหนือกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากที่ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งในภาคใต้ที่มีมาเป็นเวลานาน 13 ปี การขยายวงก่อเหตุจึงเป็นการส่งสัญญาณแรงๆ ให้กับกลุ่มที่สนับสนุนขบวนการของพวกเขาและผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวมุสลิมมาเลย์ว่า พวกเขาเป็นกลุ่มอำนาจที่รัฐบาละเลยต่ออันตราย

นอกจากนี้เดวิสยังวิเคราะห์จากแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อเดือน ต.ค. อีกว่าการก่อเหตุในครั้งนี้น่าจะมาจากฝีมือของกลุ่ม "ยัง เติร์ก" ที่เป็นกลุ่มย่อยซึ่งมีการแบ่งแยกภายในผู้ที่ทนไม่ไหวกับการนำของขบวนการในสายการเมือง โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นมีทั้งกลุ่มที่ปฏิบัติการทางทหารและกลุ่มที่ปฏิบัติการฝ่ายการเมือง

เดวิสประเมินว่ารัฐบาลทหารของไทยน่าจะพยายามหลีกเลี่ยงการยอมรับว่าการก่อเหตุในครั้งนี้เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็นอย่างตรงไปตรงมาเพราะนั่นจะหมายถึงการยอมรับว่าพวกเขาล้มเหลวในด้านความมั่นคงเพราะไม่สามารถจำกัดวงความขัดแย้งในเขตสามจังหวัดไว้ได้ อีกทั้งยังอาจจะถูกตั้งคำถามจากผู้คนว่าพวกเขาจะปรับนโยบายใหม่กับการแก้ไขปัญหาหรือไม่ขณะที่อยู่ภายใต้การข่มขู่ของกลุ่มติดอาวุธ

อย่างไรก็ตามเมื่อดูท่าทีของรัฐบาลแล้ว เดวิสระบุว่าพวกเขาคงพยายามรักษาหน้าด้วยการอ้างว่ามีนักการเมืองที่ไม่ระบุชื่อซึ่งอาจจะเป็นชาวมุสลิมที่ไม่พอใจโรดแมป "การปฏิรูป" ของ คสช. จึงจ้างคนก่อเหตุ แต่การอ้างเช่นนี้เมินเฉยต่อความซับซ้อนของปฏิบัติการและการวางแผนเบื้องหลังที่ไม่ใช่ว่าจะจ้างใครก็ได้แต่ต้องเป็นทีมที่มีประสบการณ์และมีการฝึกฝนจากหน่วยปฏิบัติการและหน่วยสนับสนุนอย่างน้อย 30 คน แต่ที่รัฐบาลพยายามเบี่ยงเบนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของ "ผู้บงการเบื้องหลัง" ทางการเมือง เป็นการเล่นบทจากความเชื่อฝังหัวว่าการกระทำต่างๆ ต้องมาจากการจ้างวาน แทนที่จะยอมรับว่าเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางอุดมการณ์

เดวิสประเมินอีกว่ามาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหาการท่องเที่ยวตกต่ำและการเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัยชวนตั้งคำถามว่าเป็นแค่การทำแบบสร้างภาพเอาหน้าในขณะที่กลุ่มติดอาวุธดูมีการดัดแปลงยุทธวิธีและมีประสบการณ์มากกว่าหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารจะพูดยืนยันว่าจะมีการเจรจาสันติภาพอีกแต่ก็เป็นกระบวนการเดิมๆ ที่บีอาร์เอ็นเคยปฏิเสธมาแล้ว

 


เรียบเรียงจาก

Anthony Davis -- Denial not an option in Thai bombing aftermath, Anthony Davis, Nikkei Asian Review, 24-08-2016
http://asia.nikkei.com/Viewpoints/Viewpoints/Anthony-Davis-Denial-not-an-option-in-Thai-bombing-aftermath

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net