คำสารภาพของประชาสังคมไทย (คนหนึ่ง)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พรุ่งนี้ ได้รับคำขวนให้ไปวิพากษ์ขบวนการภาคประชาสังคมของไทย พร้อมข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์

แต่เนื่องจากผมเองก็เป็นภาคประชาสังคมคนหนึ่งด้วย คำชวนดังกล่าวจึงคล้ายกับการเชิญไปร่วมทำฮาราคีรี สารภาพความผิดของตนเอง ผมจึงต้องเตรียมตัวเขียนคำสารภาพความผิดของตนเองในคืนนี้

ผมคิดว่า พวกเราต้องเผชิญหน้ากับความจริง 5 ประการที่ไม่ค่อยจะโสภาสักเท่าไร

หนึ่ง พวกเราจำนวนไม่น้อยไม่ได้แคร์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน มากกว่าสิทธิเสรีภาพในประเด็นที่เราเคลื่อนไหวอยู่ หรือพี่น้องที่เราร่วมเคลื่อนไหวอยู่ ตัวอย่างเช่น พวกเราภาคประชาสังคมจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกเฉยๆ กับการคุมขังน้องไผ่ ดาวดิน ทั้งที่น้องเขาเพียงแค่รณรงค์เรื่องการลงประชามติ ซึ่งก็เหมือนกับเรารณรงค์เรื่อง GMOs เรื่องเหมืองทอง เรื่องพลังงาน เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ

การเพิกเฉยของพวกเรา (ส่วนหนึ่ง) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ทำให้พวกเรามีสภาพคล้ายแยกเป็นเสี่ยงๆ ตามแต่ละประเด็นที่เราแคร์ตรงกันเท่านั้น แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่หลักการ “ถ้วนหน้า” ที่เรายึดถืออีกต่อไป พลังของเราจึงค่อยๆ ลดทอนลง เหลือเพียงพลังของเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นและทำงานร่วมกัน

สอง พวกเรากำลังตกอยู่ในวังวงของระบบอุปถัมภ์ของภาครัฐมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแลกกับโอกาสในการผลักดันนโยบายและการได้รับการสนับสนุนตามกลไกของภาครัฐ การกล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ภาคประชาสังคมควรแยกตัวออกจากกลไกของรัฐ ผมเองก็เข้าร่วมกลไกของภาครัฐในหลายส่วนเช่นเรื่องปากมูล โรงไฟฟ้ากระบี่

แต่เราก็คงจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า เพื่อรักษาโอกาสที่ภาครัฐเปิดให้ พวกเราหลายคน (รวมถึงผมด้วย) ก็จำเป็นที่จะต้องเงียบเสียงลงในบางจังหวะ หรือเปล่งเสียงในท่าทีที่ไม่ดูสวนทางกับแนวทางของภาครัฐจนมากเกินไป หรือแม้กระทั่งบางท่านก็อาจจะพยายามนำท่อนฮุคในนโยบายของรัฐ (ช่วงนี้ก็ 4.0 และประชารัฐ) มาใส่ในคำพูดของตนเองให้บ่อยขึ้นและเนียนขึ้น เผื่อว่าจะได้รับโอกาสที่มากขึ้นจากภาครัฐ

แต่ในขณะที่เราพยายามรักษาโอกาสอันน้อยนิดของเราเอาไว้ กลับกลายเป็นสิ่งที่เราเคยเชื่อ และเคยชวนให้สังคมนี้ยึดถือเช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรียนฟรีและการศึกษาทางเลือก หรือการสร้างสุขภาวะองค์รวม กลับถูกภาครัฐตั้งคำถามและรุกคืบอย่างต่อเนื่อง ส่วนพวกเราหลายๆ คนก็ทำได้เพียง “ใจเย็นๆ” เพื่อรักษาโอกาสอันน้อยนิด และน้อยลงเรื่อยของเราเอาไว้

สาม พวกเรายังชอบอยู่ใน comfort zone อันทรงคุณค่าของพวกเรา เราจึงมีเวทีของเรา มีภาษาของเรา มีลีลาของเรา ที่แม้จะเปี่ยมด้วยคุณค่า (ที่เราเชื่อ) แต่เราก็แทบจะไม่ได้นำคุณค่านั้นไปแลกเปลี่ยนในเวทีและในรูปแบบที่เราไม่ถนัด เราแทบไม่เคยทำงานร่วมป็อบคัลเจอร์หรือวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างจริงจัง เราคุ้นเคยกับการตั้งคำถามต่อป็อบคัลเจอร์อยู่ห่างๆ (เช่น ทำไมต้องไล่จับโปเกม่อน?) มากกว่าการร่วมคิด/ร่วมเสนอถึงสิ่งที่เปี่ยมคุณค่ามากกว่านั้น (เช่น เราจะใช้เทคโนโลยี augmented reality ที่ใช้ในโปเกม่อนโก เพื่องานจิตอาสาได้อย่างไร?)

การอยู่ใน comfort zone ทำให้พวกเราแคบลงเรื่อยๆ ช้าลงเรื่อยๆ และเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในสังคมนี้

สี่ พวกเรายังมุ่งขยายความห่วงกังวล มากกว่าขยายความหวัง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อความเชิงห่วงกังวลของเรายังคงขายดีในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะที่ผู้เสนอขายความหวังกลับกลายเป็นภาครัฐ (เช่น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน) หรือภาคเอกชน (ผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า-ถ้ามีเงิน)

ผมเชื่อว่า สังคมเข้าถึงข้อความของเรามานานแล้ว และยังเข้าถึงอยู่เสมอ จนสังคมมองเราอย่างเข้าใจแล้วละว่า เราห่วงกังวล แต่สังคมไม่เข้าใจว่า “แล้วจะให้เขาทำอย่างไร” สังคมจึงพร้อมที่จะฝากความหวังไว้กับท่อนฮุคในนโยบายของภาครัฐ (ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่รัฐบาล คสช.) มากกว่า แม้จะรู้ดีว่า ส่วนใหญ่ก็ฝากความหวังไม่ได้เช่นกัน

เราคงจะต้องเริ่มคิดแล้วละว่า “เราจะขยายความหวังของเราได้อย่างไร?” และนั่นก็เป็นหนึ่งในพื้นที่นอก comfort zone ของเราเช่นกัน

ห้า สุดท้ายแล้ว ผมรู้สึกว่า แม้ว่าเราจะเรียกตนเองว่า “ประชาสังคม” แต่พวกเรา (ส่วนหนึ่ง) ไม่ได้เชื่อในอำนาจอัน “ชอบธรรม” ของประชาชนทุกคน เรา (บางคน) กลับคิดว่าภาค “ประชาสังคม” ทำหน้าที่เหมือนการขัดเกลาให้พวกเรามีสิทธิในอำนาจอัน “ชอบธรรม” นั้น แต่ประชาชนอื่นๆ ที่ยังไม่ผ่านการขัดเกลาอันทรงคุณค่าของเรา ยัง “ไม่มีความพร้อม” มากพอที่ได้รับอำนาจอันชอบธรรมนั้น พวกเราบางคนถึงขึ้นขวนขวายที่จะบัญญัติ “ความพร้อม” ในการได้รับอำนาจอันชอบธรรมนั้น ไว้ในรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ กัน

แต่ผมว่า การที่เรา “ยกระดับ” ตนเองออกมาจาก “ประชาชน” (ทั่วไป) กลับทำให้เราล่องลอยออกมาจากปัญหาที่แท้จริง ล่องลอยออกจากความรู้สึกที่แท้จริง ล่องลอยออกมาจากความหวังที่แท้จริง และล่องลอยออกมาจากพลังที่แท้จริงของสังคมนี้ จนพลังของเราน้อยลงเรื่อยๆ และต้องพึ่งพากับอุปถัมภ์ของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

ผมคิดว่า ภายใต้ความเป็นจริงทั้ง 5 ข้อ ลำดับแรก เราคงต้องตั้งหลักทบทวนกันใหม่ว่า อะไรคือหลักการ “ถ้วนหน้า” อันเป็นพื้นฐานของภาคประชาสังคมไทย คำว่าหลักการถ้วนหน้าแปลว่า ไม่ว่าคุณจะคิดต่างจากผมเพียงใด คุณจะเชียร์ฝ่ายการเมืองใด หรือจะดูกวนตีนเพียงใดก็ตาม ตราบใดก็ตามที่คุณยังใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักการ “ถ้วนหน้า” นี้ คุณย่อมจะได้รับการคุ้มครอง หรืออย่างน้อยก็รับกำลังใจและความปรารถนาดีจากภาคประชาสังคมไทย

หากปราศจากการทบทวนและการยึดมั่นในหลักการ “ถ้วนหน้า” ภาคประชาสังคมของเราก็คงไม่แตกต่างเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านเดียวกัน หรือรู้จักชอบพอกัน ได้มีโอกาสทำสิ่งดีร่วมกัน ภายใต้การอุปถัมภ์แบบจำกัดจำเขี่ยของภาครัฐ และภายใต้การเพิกเฉยของเพื่อนๆและประชาชนที่คิดต่างจากเรา (รวมถึงภาครัฐด้วย)

ลำดับถัดมา ผมคิดว่า เราคงต้อง “ดำดิ่ง” ลงไปในห้วงความคิดและความเป็นอยู่ของประชาชน ไปเรียนรู้และค้นหา กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างจากเรา จนกว่า “ความหวัง” และ “พลัง” มันจะ “ผุด” ขึ้นมา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เราคอยเฝ้า “ขัดเกลา” และหวังว่าจะส่งมอบทางออกในแบบแผนที่เราคุ้นเคยให้กับพวกเขา เหมือนที่ผ่านๆ มา

นั่นแปลว่า เราต้องก้าวออกจาก comfort zone ของเราบ้าง และลองทำงานกับผู้คนที่แตกต่างจากเรา ในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เราเคยทำมา ในเป้าหมายที่เราอาจยังไม่แน่ใจ และในผลลัพธ์ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ในตอนต้น (ไม่ใช่ทำงานเพื่อให้ได้ KPI เป็นหลัก แบบที่ภาครัฐพยายามชักชวนเรา)

สุดท้าย ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจกันใหม่ว่า การหวังพึ่งการอุปถัมภ์ของภาครัฐ แม้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้าม แต่ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หลักในการทำงานของเรา การได้รับการตอบรับจากประชาชน รวมถึงการระดมทรัพยากรจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ต่างหากที่เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของภาคประชาสังคม

แม้กระทั่ง การสนับสนุนของภาครัฐที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ไม่ควรเกิดจากความเมตตาปราณี หรือวิสัยทัศน์สุดล้ำของท่านผู้นำบางคน แม้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน เหมือนที่ภาครัฐกำลังกลับมากระทำอยู่กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการเรียนฟรี และอื่นๆ

เพราะฉะนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐที่ยั่งยืนสำหรับภาคประชาสังคมจะต้องเป็นการสนับสนุนที่เกิดมาจากความต้องการที่แน่ชัดและแรงผลักดันที่เปี่ยมพลังของ “ประชาชน” เท่านั้น

ประชาชนที่มีอำนาจอันชอบธรรมเท่าๆ กับเรา และเท่าๆกับทุกคนในสังคมนี้

 

ปล. ผมพร้อมแล้วสำหรับการสารภาพผิดในวันพรุ่งนี้ ขอบคุณมากครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท