Skip to main content
sharethis
นักวิชาการ-กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ-ภาคประชาชน ร่วมสังเกตการณ์ใกล้ชิดรื้อชุมชน “ป้อมมหากาฬ” ด้านสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติออกแถลงการณ์ จี้ กทม.ชะลอรื้อ หวั่นกระทบวิถีชาวบ้าน หนุนเปิดพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ข้อสรุป กทม.-ชาวบ้าน รื้อ 13 หลัง คงบ้านไม้สักโบราณชุมชนป้อมมหากาฬ
 
 
 
 
รองผู้ว่าราชการ กทม. กำลังเจรจากับตัวแทนชุมชนเพื่อหาข้อชัดเจนในการรื้อชุมชน (ที่มาภาพ: เฟสบุ๊กชุมชนป้อมมหากาฬ) 
 
3 ก.ย. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาเริ่มการรื้อถอนบ้านที่สมัครใจ โดยมีชาวบ้านและนักวิชาการร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด อาทิ ผศ.ดร.ประภัสรร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งคัดค้านการไล่รื้อมาโดยตลอด รวมถึง ผศ.ดร.สุดจิต สนั่นไหว ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, นายฆนัท นาคถนอมทรัพย์ ผู้ผลิตสารคดีด้านประวัติศาสตร์, นางสุดารา สุจฉายา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสังเกตการณ์ด้วย ระหว่างการรื้อถอนมีฝนตกลงมา
 
เปิดรายชื่อบ้าน 'ป้อมมหากาฬ' ยอมให้กทม.เข้ารื้อ
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ภายหลังนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสุนีย์ ไชยรส อดีตรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ โดยนางอังคณา ได้เป็นคนกลางเจรจาระหว่างชาวบ้านกับกทม. ขณะที่ กทม.ยืนยันจะขอรื้อ 13 หลังที่แจ้งความประสงค์ขอให้กทม.ช่วยดำเนินการรื้อย้าย และจะรื้อย้ายตามความสมัครใจเท่านั้น แต่พบว่ามี 1 หลัง ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยที่จะอนุรักษ์ไว้ 
 
ทั้งนี้ ชุมชนที่แจ้งความประสงค์ให้ กทม. เข้ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างขณะนี้มีจำนวน 13 หลัง ประกอบด้วย 1.บ้านเลขที่ 49/1 นางอรชร ปทุมรัตน์ 2.บ้านเลขที่ 63 นายตอน ทนุวงศ์ 3.บ้านเลขที่ 95 ด.ต.ไพบูลย์ เล็กวิไล 4.บ้านเลขที่ 99 นางอุไรวัลย์ อึ้งภากรณ์ บ้านหลังนี้จะถูกอนุรักษ์ไว้ จะเก็บของภายในบ้ายเท่านั้น 5.บ้านเลขที่ 107/1-3นางมุ้ยเจ็ง แซ่จิว 6.บ้านเลขที่ 127 นางชะลอ ถิรายน(นางศรีสวาท เล็กวิไล อาศัย) 7.บ้านเลขที่ 161 นายทรวง เสริมสุขประเสริฐ 8.บ้านเลขที่ 167 นายเสกสรร จรรยาเลิศตระกูล 9.บ้านเลขที่ 187 นางสมจิตร์ ฉิมพสุ 10.บ้านเลขที่ 193 นางน้อย เปียสูงเนิน 11.บ้านเลขที่ 195 นางอำพร สำเภาเงิน 12.นางกี เปรมธีรวัรวัฒนชัย (บ้านไม่มีเลขที่ใกล้บ้าน 161) และ 13.นางสาววัชรา บุญศิริ เป็นบ้านที่ไม่มีเลขที่อยู่ใกล้บ้าน 161 
 
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการรื้อย้ายในระยะแรก กทม.จะจัดเจ้าหน้าจำนวน 5 ชุด ชุดละ 44 คน เข้ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 3 ก.ย.2559 เวลา 09.30 น. จำนวน 5 หลัง ประกอบด้วย บ้านเลขที่ 167 บ้านเลขที่ 161 บ้านเลขที่ 107/1-3 บ้านเลขที่ 99 บ้านเลขที่ 49/1 และในวันที่ 4 ก.ย.2559 จำนวน 5 หลัง ประกอบด้วย บ้านเลขที่ 193 บ้านเลขที่ 195 บ้านเลขที่ 127 บ้านเลขที่ 95 และบ้านเลขที่ 63 โดยการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงจะดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นรายหลังเฉพาะที่ทำการรื้อย้ายเท่านั้น 
 
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามหน้าที่ ตามกฎหมายและคำสั่งศาล เพราะหากกทม.ไม่ทำก็จะเป็นละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยการเข้ารื้อย้ายวันนี้จะใช้มาตรการปฏิบัติอย่างนิ่มนวลจากเบาไปหนัก และจะทำการรื้อเฉพาะบ้านที่แจ้งความประสงค์ร้องขอให้ กทม.ช่วยรื้อ จำนวน 13 หลังเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่ยินยอม กทม.ก็ยังไม่เข้าดำเนินการยทุจริตต่อหน้าที่ชัดเจน จึงขอให้นายกฯอย่าปล่อยให้ให้คณะกรรมการชุดนี้ทำให้นายกฯเสียหายเป็นอันขาด ตนยืนยันว่าถ้าปล่อยตามนั้นท่านเสียหายแน่นอน
 
“สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ” ออกแถลงการณ์ จี้ กทม.ชะลอรื้อ
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ยังรายงานว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง “หยุดการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ พัฒนาชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม” ว่า ตามที่กรุงเทพมหานครดำเนินการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน พ.ศ.2535 เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถาน สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติเห็นว่า การดำเนินการของกรุงเทพมหานครที่จะไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬโดยไม่ยอมรับฟังข้อเสนอจากชุมชน และข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมในการหาทางออก จะเป็นการสร้างผลกระทบให้กับประชาชน รวมทั้งทำลายวิถีชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อมรดกวัฒนธรรมของชาติ 
 
สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาของเครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ที่เสนอแนวทางการพัฒนากิจกรรมและรูปแบบพื้นที่สวนสาธารณะและโบราณสถาน โดยมีองค์ประกอบของพิพิธภัณฑ์บ้านไม้โบราณที่มีชีวิต ให้เป็นสถานที่พักผ่อน และเป็นแหล่งท่องเที่ยว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่อนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในเกาะรัตนโกสินทร์ และให้ชุมชนได้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาพื้นที่ ทำให้พื้นที่สวนสาธารณะ โบราณสถาน และชุมชนประวัติศาสตร์ป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 
 
จะเป็นประโยชน์กว่าการไล่รื้อชุมชน และทำเป็นสวนสาธารณะ แต่ควรเก็บรักษาพื้นที่มรดกที่มีชีวิตให้อนุชนรุ่นหลัง และสาธารณะได้เรียนรู้ กรุงเทพมหานครควรชะลอการรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬออกไปก่อน เพื่อพิจารณาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วม และทบทวนปรับปรุงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อรักษาชุมชนป้อมมหากาฬ พื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมือง ที่ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะและโบราณสถานที่มีวิถีชุมชนรวมอยู่ด้วย
 
ข้อสรุป กทม.-ชาวบ้าน รื้อ 13 หลัง คงบ้านไม้สักโบราณชุมชนป้อมมหากาฬ
 
ด้าน Thai PBS รายงานเมื่อเวลา 12.02 น. ว่าขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และตำรวจกองบังคับการปราบปราม เตรียมเข้าไปรื้อถอนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 13 หลัง ภายในชุมชนป้อมมหากาฬที่บริเวณประตูทางเข้าริมคลองโอ่งอ่าง ได้เกิดความชุลมุนโดยชาวบ้านนั่งรวมกลุ่มขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปภายในชุมชนและแสดงความไม่พอใจเจ้าหน้าที่จนต้องยุติการปฏิบัติการชั่วคราว หลังรื้อได้เพียงรั้วสังกะสีที่อยู่รอบนอก ไม่สามารถเข้าไปภายในชุมชนเพื่อรื้อถอนต่อไปได้ แต่ไม่มีความรุนแรง
 
จากนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าเจรจากับตัวแทนชาวบ้านบริเวณริมคลองหลอด ถนนมหาไชย ซึ่งอยู่ท้ายกำแพงของชุมชนป้อมมหากาฬ โดยนำเจ้าของบ้านที่ยินยอมให้กรุงเทพมหานครรื้อถอนบ้านเรือนเข้าร่วมเจรจาด้วย แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาตัวแทนชาวบ้านกับกรุงเทพมหานครหารือร่วมกันโดยมีนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นตัวกลาง ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า กรุงเทพมหานครยืนยันดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนการรื้อถอนจะดำเนินการเพียงบ้านเรือนที่ยินยอมและสมัครใจ 13 หลัง แต่จะคงบ้านไม้สักโบราณที่ตั้งอยู่กลางชุมชนและอนุญาตให้ชาวบ้านช่วยกันทำความสะอาดได้ แต่ไม่อนุญาตให้อยู่พักอาศัย ใช้เวลาดำเนินการ 2 วันและทยอยรื้อส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
 
ด้านตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ยินดีให้กรุงเทพมหานครรื้อถอน แต่เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการร่วมจากทุกฝ่ายเพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหา โดยมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมเป็นคณะกรรมการ
 
สำหรับการรื้อย้าย กรุงเทพมหานครจะจัดเจ้าหน้าที่ที่ 5 ชุด ชุดละ 44 คนเข้ารื้อถอน โดยจะประสานการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงดำเนินการตัดไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นรายหลังเฉพาะที่ทำการรื้อย้ายเท่านั้น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net