Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

6 ก.ย. 2559 เวลา 15.30 น. ภายหลังการเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28 และ 29 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28 (Plenary) ณ ห้องประชุม 2 ศูนย์ประชุม NCC เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียนตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางในอนาคตของประชาคมอาเซียน โดยในที่ประชุมมีการรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1) แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 3 และ 2) แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025

โดยพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญในส่วนของไทย และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการทำหน้าที่ประธานประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นปีแรกที่ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน หลังรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และแผนงานประชาคม ค.ศ. 2016-2025 ของสามเสาหลักของอาเซียนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยไทยเห็นว่าอาเซียนควรเร่ง “เปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม” โดยเร็วเพื่อความเป็นเอกภาพและมั่นคงของประชาชนอาเซียน โดยการสร้างความสมดุลเพื่อนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 3 ด้าน

ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนรักษาความสมดุลระหว่างการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ให้ประชาชนได้รับการดูแลและใช้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่งถึงและเท่าเทียม มีการใช้นวัตกรรม ปัจจุบันไทยมีนโยบาย 4.0 ที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมวิสาหกิจเกิดใหม่ (Start-Ups) การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) 5 สาขา โดยที่ยังคงให้การดูแลอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) รวมทั้ง ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร การแก้ไขปัญหาหมอกควัน และการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยในการประชุมสุดอาเซียนครั้งนี้ ไทยพร้อมจะร่วมรับรองแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 3 (ค.ศ. 2016-2020) และไทยจะปฏิบัติหน้าที่ผู้ประสานงานอาเซียนเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 อย่างแข็งขัน เพื่อช่วยให้อาเซียนดำเนินการตามวาระที่สำคัญทั้งสองไปพร้อม ๆ กัน และส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไทยเสนอการพัฒนาศักยภาพของคนทุกวัยอย่างมีความสมดุล ทั้งเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่ 4 ด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพจากรัฐ ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต เพื่อส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและคงความมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งในครั้งนี้ไทยได้เสนอแถลงการณ์อาเซียนบวกสามว่าด้วย “สูงวัยอย่างมีศักยภาพ” เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นที่จะรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและเพื่อให้ผู้สูงอายุในภูมิภาคมีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียน

ด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความเชื่อมโยงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียนควบคู่กับการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพภายในภูมิภาค เพื่อให้การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนเป็นอย่างราบรื่นทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้อาเซียนเร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงใน 5 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน นวัตกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ไร้รอยต่อ ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียบ และการเคลื่อนย้ายประชาชน สำหรับไทยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน และส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องของไทยในประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะ 1+1 เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการรับมือกับสิ่งท้าทายและผลกระทบเชิงลบจากความเชื่อมโยง เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบใหม่ ปัญหายาเสพติด การเคลื่อนไหวที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง อาเซียนจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการป้องกัน สกัดกั้น และระงับยับยั้งการกระทำผิดกฎหมาย ในการบริหารจัดการชายแดนและการรับมือกับภัยคุกคามแบบเก่าและใหม่ ซึ่งในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาบัตรผ่านแดนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจัดระบบการผ่านแดนของประชาคมอาเซียนที่มีประสิทธิภาพและประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข่าวกรองเป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า แม้อาเซียนจะเผชิญกับสิ่งท้าทายในรูปแบบต่างๆ แต่อาเซียนจะมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อให้ประชาคมอาเซียนพัฒนาไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีประชาชนเป็นศูนย์รวม โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมพิธีลงนามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค (One ASEAN, One Response) และการประกาศแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 และแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน

สำหรับ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลทั้งในและนอกภูมิภาค โดยมีสาระสำคัญ คือ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะดำเนินการร่วมกันในการตอบโต้ต่อภัยพิบัติในภูมิภาคอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หาช่องทางระดมทรัพยากรและเสริมสร้างการประสานงานที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งย้ำถึงความสำคัญของความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net