Skip to main content
sharethis
 
เตือนภัยแรงงานไทยไปขุดทองเก็บเบอร์รี่
 
ช่วงประมาณปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นฤดูกาลเก็บผลเบอร์รี่ของประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ระยะเวลาดังกล่าว ไม่เพียงมีแรงงานไทยนับพันคน ยังมีแรงงานต่างชาติจากประเทศในเอเชีย ทั้งจีน เวียดนาม และบังกลาเทศ รวมทั้งยุโรปแถบรัสเซีย ยูเครน โปแลนด์ และเบลารุส ต่างมุ่งหน้าไปแสวงโชครับจ้างเก็บผลเบอร์รี่ป่านานาพันธุ์ เพื่อหวังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำกลับบ้านเกิด
 
ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เบอร์รี่ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ มีหลากหลายชนิด แต่ชนิดที่มีผู้นิยมทานและได้พัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมส่งออก หรือใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยาบำรุงสายตา วิตามิน เครื่องดื่ม อาหาร รวมทั้งอุปกรณ์เสริมความงามต่าง ๆ มีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ ได้แก่ cloud berry หรือที่แรงงานไทยเรียกกันว่า หมากเหลือง, lingon berry (หมากแดง), blueberry (หมากดำ) และ crow berry (หมากขี้กา) ซึ่งเป็นไม้พุ่มพันธุ์เตี้ย ออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูร้อนทุกปีที่สวีเดน และฟินแลนด์
 
อ.สุรีย์พรเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการที่คนไทยไปเก็บเบอร์รี่ เกิดจากการที่หญิงไทยบางคน ซึ่งไปแต่งงานกับชาวสวีเดน หรือฟินแลนด์ ได้ชักชวนให้ญาติชาวไทยไปเที่ยวและเก็บเบอร์รี่ที่ประเทศทั้งสอง ตั้งแต่ประมาณปี 2530 เป็นต้นมา และด้วยรายได้ที่น่าพึงพอใจ ทำให้มีการบอกต่อๆกันมานับตั้งแต่นั้น
 
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเริ่มมีปัญหา กรณีแรงงานไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าแรง รวมทั้งมีการประท้วงของแรงงานชาติต่างๆอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเมื่อปี 2553 ประเทศสวีเดน จึงได้หันมาใช้ระบบสัญญาการจ้างงานขึ้นเป็นครั้งแรก มีการระบุระยะเวลาและชั่วโมงการทำงานไว้สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง โดยมีค่าตอบแทนเดือนละ 80,000 บาท แต่ไม่มีรายละเอียดเรื่องการจ่ายเงินค่าล่วงเวลา หรือโอที
 
เทียบกับต้นทุนที่แรงงานไทยมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเก็บเบอร์รี่ ที่สวีเดน และอยู่กินด้วยตนเอง โดยทั่วไปตกคนละประมาณ 155,000-180,500 บาท ต่อฤดูกาล (75 วัน) ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วภายในเวลา 2 เดือนครึ่งนี้ แรงงานไทยจะมีเงินเหลือกลับบ้านแค่คนละ 20,000-30,000 บาทเท่านั้น แต่หลายคนเห็นว่าได้กำไรชีวิตในลักษณะของการไปทำงาน กึ่งได้ไปท่องเที่ยวหาประสบการณ์ในโลกกว้าง (Work & Travel)
 
ส่วนที่ฟินแลนด์ ดร.สุรีย์พรบอกว่า มีความต้องการและพึงพอใจกับการทำงานอย่างทุ่มเท และอดทนของแรงงานไทยเป็นอย่างมาก จึงมีแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลเบอร์รี่ที่นั่นเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551
ทางฟินแลนด์ยังได้ให้สิทธิแก่ชาวต่างชาติทุกคน สามารถเดินทางเข้าประเทศในลักษณะท่องเที่ยวเพื่อเก็บผลไม้ป่า ทั้งเบอร์รี่ เห็ด และดอกไม้บางชนิดได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน และไม่จำเป็นต้องมีนายจ้าง นอกจากนั้นรายได้ที่เกิดจากการขายของป่าเหล่านี้ ไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลฟินแลนด์
 
"ทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ ไปทำงานในฐานะนักท่องเที่ยวที่จ้างงานตัวเอง ทั้งๆที่ความเป็นจริง คือไปทำงานโดยแรงงานต้องเป็นผู้ยอมรับ ความเสี่ยงด้วยตนเองทั้งหมด โดยเฉลี่ยแรงงานไทยมีค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในฟินแลนด์ ตกหัวละประมาณ 138,500-149,500 บาท ต่อฤดูกาล"
 
ดร.สุรีย์พรเล่าว่า ต่อมาเริ่มมีการต่อต้านจากผู้ใช้แรงงานท้องถิ่น และสมาคมผู้เก็บเบอร์รี่ท้องถิ่นของฟินแลนด์ กระทั่งมีการออกกฎระเบียบ ห้ามเก็บเบอร์รี่ในพื้นที่ส่วนบุคคลใกล้บ้านเรือนประชาชน และเคร่งครัดกับเวลาการเปิด-ปิดประตู เมื่อเข้าไปยังเขตที่มีกวางเรนเดียร์
 
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คนงานเก็บเบอร์รี่ต่างชาติ ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บหมากเหลือง หรือ cloud berry เพราะเป็นเบอร์รี่ป่าที่มีราคาแพงซึ่งคนท้องถิ่นชอบเก็บกัน
 
การเดินทางของแรงงานไทยเพื่อไปทำงาน หรืออีกนัยหนึ่ง คือเป็นการไปเสี่ยงโชคมากกว่า เพราะผลผลิตผลไม้ป่าเหล่านี้ขึ้นกับสภาพภูมิ-อากาศในแต่ละปี รวมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแรงงานแต่ละคน ทำให้รายได้ของแรงงานแต่ละคนไม่แน่นอน และต่างกัน
 
"มีหลายคนที่โชคดี สามารถทำรายได้อย่างงาม แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่ต้องเป็นหนี้สินจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บางคนไม่มีทางออก เครียดจัด ถึงกับฆ่าตัวตาย ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้ก็ยังมีแรงงานไทยหน้าใหม่ ร่วมเดินทางไปแสวงโชคกับแรงงานหน้าเดิมๆอยู่ตลอด"
 
ดร.สุรีย์พรบอกว่า ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ในลักษณะของผู้ย้ายถิ่นชั่วคราว ซึ่งเป็นการศึกษาใน 11 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฟินแลนด์ เบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฮังการี ยูเครน ตุรกี จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย
 
เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงประเด็นการย้ายถิ่นชั่วคราว ระหว่างทวีปเอเชีย และสหภาพยุโรป ซึ่งหนึ่งในประเด็นการย้ายถิ่นนี้คือ การย้ายถิ่นตามฤดูกาลของแรงงานไทย
 
ผลจากการศึกษาพบว่า โดยมากแรงงานไทยเดินทางไปทำงานกันเป็นครอบครัว และพอใจที่สามารถเก็บเงินได้จำนวนมาก แม้ว่าจะต้องทำงานหนัก และมีความยากลำบาก แต่ทุกคนก็คิดว่าเป็นเพียงช่วงสั้นๆ และแม้จะมีประสบการณ์คนในครอบครัวตัดสินใจฆ่าตัวตายในขณะที่ไปทำงาน ก็ยังไม่คิดจะหยุดไปเก็บเบอร์รี่
 
ดร.สุรีย์พรยกตัวอย่าง แรงงานไทยผู้หนึ่งจาก จ.ขอนแก่น เดินทางไปแสวงโชครับจ้างเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดน เล่าให้เธอฟังว่า เขาไปเก็บผลไม้ป่าจากการชักชวนของบิดา ซึ่งมีประสบการณ์เก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์มาแล้ว 12 ปี เมื่อปี 2557 ผู้ใช้แรงงานบางรายได้เงินจากการเก็บเบอร์รี่ถึง 180,000 บาท ซึ่งหลังหักค่าใช้จ่าย และเงินที่กู้ยืมมาแล้ว สามารถใช้หนี้ผ่อนรถให้แก่น้องชาย และค่าใช้จ่ายของลูกสาวอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงาน และ นายจ้าง ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อความเป็นอยู่ของผู้เก็บเบอร์รี่อย่างมาก นายหน้าบางบริษัทมีการจัดหาที่พัก มีแม่ครัว และมีการทำประกันสุขภาพให้กับแรงงาน แต่บางนายหน้าก็ไม่ดีอย่างที่หวัง เช่น บริเวณที่พักมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว แต่มีคนอยู่รวมกัน 10 คน ซึ่งจะต้องแย่งกันใช้ห้องน้ำในตอนเช้า เพื่อเตรียมตัวรีบออกไปเก็บเบอร์รี่
 
นอกจากนี้ แรงงานบางรายยังมีปัญหาที่นายจ้างไม่โอนเงินค่าตอบแทนให้ตามที่กำหนด และยังมีกรณีคนที่ไปด้วยกันได้ฆ่าตัวตายเนื่องจากเครียด เพราะเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอกับการเป็นหนี้สิน ยังมีอีกหลายปัญหา ที่หลายคนต้องเผชิญ เช่น ถูกนายจ้างหักค่าใช้จ่ายรายวัน เป็นค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำมันรถ โดยไม่มีการบอกล่วงหน้า แถมยังมีการเอาเปรียบเรื่องการชั่งผลไม้ที่มีการปัดเศษกิโลฯออก เช่น ชั่งได้น้ำหนัก 9.5 กิโลฯ ปัดเศษทิ้ง 0.5 กิโลฯ จ่ายค่าแรงเก็บแค่ 9 กิโลฯ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ บางบริษัทยังได้ยึดหนังสือเดินทางของแรงงานไว้ ทำให้เมื่อแรงงานมีปัญหากับนายจ้าง จึงไม่สามารถต่อรอง หรือเดินทางกลับประเทศไทยได้เอง จนกว่าจะหมดเวลาตามสัญญาจ้าง ตั้งแต่ปี 2553 กระทรวงแรงงานไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการให้ความรู้ การเตรียมตัวก่อนเดินทาง รวมทั้งเจรจาเรื่องการกำหนดจำนวนผู้ที่จะเดินทางให้เหมาะสม กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศปลายทาง
แต่ดูเหมือนนักแสวงโชคชาวไทย ไม่ค่อยหวาดหวั่น เข้าทำนอง "ยังไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา"
 
ดร.สุรีย์พรทิ้งท้ายไว้ว่า จากการศึกษาครั้งนี้ จึงมีการเสนอให้กระทรวงแรงงานเจรจาเรื่องการเปิดบัญชีส่วนตัวของแรงงานในประเทศปลายทาง และเข้มงวดกับการคัดเลือกบริษัทนายหน้า และนายจ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้แรงงานไทยไม่ต้องเจอบทเรียนขื่นขม ถึงกับต้องฆ่าตัวตายกันอีก
 
 
ดัชนีผลผลิตภาคอุตฯต่ำสุดรอบ 2 ปีเหตุ 'รถยนต์-เสื้อผ้า-พลาสติก' ยอดขายหด
 
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐรองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน ก.ค. 2559 หดตัว 5.1% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 103.36 จากช่วงเดียวกับปีก่อนอยู่ที่ระดับ 108.91 เนื่องจากรัฐบาลประกาศให้มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน
 
ประกอบกับค่ายรถยนต์มีการปรับรูปแบบรถยนต์รุ่นใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา และได้เร่งทำการตลาดทำให้กำลังซื้อรถยนต์เร่งตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมทั้งการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดตะวันออกกลางลดลงจาก ผลกระทบราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้เดือน ก.ค.ภาพรวมการผลิตรถยนต์ ลดลง 8.41%
 
ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่า การหดตัวของเอ็มพีไอในเดือน ก.ค.จะเป็นการหดตัวเพียงระยะสั้นเท่านั้น ซึ่ง ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอยู่ที่ 62.34% จากช่วงเดียวกับปีก่อนอยู่ที่ 66.43% แต่เดือนถัดไปไม่มีปัจจัยเรื่องวันหยุดยาว ทำให้ไตรมาส 3 ของปี 2559 สศอ.คาดว่าเอ็มพีไอจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมในช่วงที่เหลือ 5 เดือนของปีนี้แนวโน้มเอ็มพีไอจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ โดยขยายตัวได้เดือนละ 2-3% ส่งผล ให้เอ็มพีไอทั้งปีโตได้ 1-2% ตามที่คาดการณ์ไว้
 
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ภาคการเกษตรยังได้อานิสงส์จากปริมาณน้ำฝนที่ตกตรงตามฤดูกาล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นผลดีต่อตลาดรถยนต์เพราะเกษตรกรมีกำลังซื้อรถปิกอัพใช้ขนส่งผลผลิตตามมา อีกทั้งหากแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การส่งออกรถยนต์ของไทยก็น่าจะปรับตัว ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
 
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้เอ็มพีไอมีการหดตัว ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ที่การผลิตเดือน ก.ค. ปรับตัวลดลง 8.41% และ 12.61% ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของรถปิกอัพ เสื้อผ้าสำเร็จรูปปรับตัวลดลง 24.62% เนื่องจากการชะลอตัวจากตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป ผลิตภัณฑ์พลาสติกปรับตัวลดลง 17.17% โดยเป็นการลดลงของสินค้าประเภทกระสอบพลาสติก และถุงพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ปรับตัวลดลง 12.05% โดยเป็นการลดลงของสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยางแผ่น และผลิตภัณฑ์ยางแท่ง
 
ขณะที่สินค้าที่ส่งผลให้เอ็มพีไอมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ที่การผลิตเดือน ก.ค. ปรับตัว เพิ่มขึ้น 45.05% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าประเภท คอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยล์ยูนิต เนื่องจากตลาดต่างประเทศ ขยายตัว น้ำมันปิโตรเลียมปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.23% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาโรงกลั่นหลายแห่งมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ในปริมาณที่สูง นอกจากนี้ยังมีสินค้ากลุ่มคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ ที่การผลิตเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.27% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีต การเดินหน้าโครงการของรัฐที่จะทำให้เม็ดเงินใช้จ่ายลงทุนของผู้บริโภคสูงขึ้น เป็นต้น
 
 
คสรท. ค้าน ก.แรงงาน ขึ้นค่าจ้างรายจังหวัด ชี้ ควรปรับเท่ากันทั่วประเทศ
 
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายแรงงาน เดินทางมายื่นหนังสือถึง ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง คัดค้านการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัด มีนายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นตัวแทนรับเรื่อง
 
นายชาลี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงแรงงาน ออกมาพูดถึงแนวทางการปรับค่าจ้างในปี 2560 ว่า อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอปรับค่าจ้างเพียง 13 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ สกลนคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส สระบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร อ่างทอง ส่วนอีก 64 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ไม่เสนอปรับขึ้น โดยให้ทุกจังหวัดกลับไปพิจารณา เพื่อนำเสนอในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ 15 ก.ย. เรื่องนี้เครือข่ายแรงงานไม่เห็นด้วย เพราะมติของอนุกรรมการค่าจ้างไม่ได้สะท้อนค่าครองชีพ และมติที่แท้จริงของลูกจ้าง ที่เรียกร้องมาตลอดหลายปี ให้มีการปรับเท่ากันทั่วประเทศ
 
นายชาลี กล่าวว่า ขอให้บอร์ดค่าจ้าง ทบทวนแนวทางการให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากมีการเสนอให้ปรับเพียง 13 จังหวัด ในอัตรา 4-60 บาท อยากถามว่าทำไมอีก 64 จังหวัด ไม่ได้รับการเสนอปรับ ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท มาหลายปีแล้ว จะอยู่รอดได้อย่างไร ที่ผ่านมา คสรท. ได้สำรวจอัตราค่าครองชีพและพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรจะอยู่ที่วันละ 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่บอร์ดค่าจ้างยื้อไปยื้อมาดึงเวลา เอาอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นข้ออ้างไม่เสนอปรับ โดยอ้างว่าในจังหวัดนั้นไม่เดือนร้อน มีการให้กลับไปพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก จนไม่มีการปรับขึ้นมานานกว่า 6 เดือน หากบอร์ดยังพิจารณาตามที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอ จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะรายรับไม่พอกับรายจ่าย จึงเรียกร้องให้ปรับในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ไม่แตกต่างกัน หากมีมติปรับค่าจ้างเป็นรายจังหวัด คสรท.จะออกมาเคลื่อนไหวแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ปรับเงินเดือนให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ จึงไม่ควรเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ลดความเป็นธรรม แรงงานภาคเอกชนไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ
 
ด้านนายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชุมชนเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีความเป็นอยู่และค่าครองชีพไม่ต่างกัน ค่าจ้างจึงควรเท่ากัน มีที่ไหนจังหวัดอยู่ใกล้กัน ค่าครองชีพเท่ากัน แต่ได้ปรับขึ้นแค่จังหวัดเดียว เพราะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่เสนอให้ปรับขึ้น จึงไม่ควรมีอนุกรรมการ เพราะมีแล้วคอยถ่วง ไม่มีเสนอให้ปรับตามความเป็นจริง แต่ก็มีหลายจังหวัดที่มีการเสนอขึ้น แต่เมื่อคณะกรรมการค่าจ้างจากส่วนกลางไม่เห็นด้วย การเสนอปรับก็ไม่เป็นผล อย่าไปมองว่าหากปรับขึ้นค่าจ้าง สินค้าจะปรับราคาสูงขึ้น เพราะทุกวันนี้ไม่ต้องปรับขึ้นค่าจ้าง ค่าครองชีพก็สูงอยู่ดี เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ที่ต้องไปดูแลแก้ไขให้อยู่รอดได้
 
 
ส่อลอยแพ 20 อาจารย์ มหา’ลัยอ้างไม่ประสงค์จ้างต่อ อ.โวย ชีวิตช่างตกอับ-ไม่มั่นคง
 
(31 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ.เสนีย์ เจริญสุข หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โพสต์ข้อความในกลุ่ม ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร้องเรียนว่าตนเองถูกแจ้งว่าไม่ได้รับการต่อสัญญาให้เป็นอาจารย์ต่อ โดยระบุว่า
 
“ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยฯ ช่างตกอับและไม่มีความมั่นคง..ไม่ต่อสัญญาจ้าง..อ้างแต่เพียงว่า..”ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้าง” แค่นี้หรือ!! ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ เป็นหัวหน้าสาขานิติศาสตร์ ผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในเกณฑ์ดี มีผลงานทางวิชาการครบคุณสมบัติในการต่อสัญญาตามประกาศ กบม. นั่นสิ ทำไม ไม่ต่อสัญญา”
โดยผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ สอบถามเพิ่มเติมไปยัง อ.เสนีย์ เปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อนนักวิชาการได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยไม่ประสงค์จะต่อสัญญาอีกต่อไป โดยให้ยุติการเป็นอาจารย์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ที่จะถึงนี้
 
โดยหัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ท่านนี้ ระบุว่า ตนเองรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ต่อสัญญาจ้างในครั้งนี้ โดยตนเองทำงานในตำแหน่งนี้มากว่า 6 ปี โดยครั้งนี้จะเป็นวาระการต่อสัญญาอีก 5 ปี แต่ก็ต้องพบกับข่าวร้าย ซึ่งที่ผ่านมาตนเองพยายามสร้างผลงานทางวิชาการ จนได้รับการประเมินอยู่ในสถานะที่ดี มีผลงานตีพิมพ์ระดับชาติ ตามเงื่อนไขของระเบียบมาโดยตลอด ทั้งยังได้รับเลือกเขาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยผลงานทั้งหมดเพิ่งส่งไปแต่กลับได้รับหนังสือแจ้งไม่ต่อสัญญา ขณะที่ยังคงมีภาระงานสอนนักศึกษาที่เพิ่งเปิดเทอมค้างไว้ ทั้งนี้ทราบว่าขณะนี้มีอาจารย์น่าจะมากกว่า 20 คนได้รับการแจ้งไม่ต่อสัญญาเช่นเดียวกับตน รวมถึงล่าสุดมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยประมาณ5 คน มาพูดคุยกับตน ว่าขอให้ช่วยทำหนังสือร้องเรียน ทั้งยังระบุอีกว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการต่อสัญญากว่า 50-60 คน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ตนก็ได้รับแจ้งว่าไม่ได้ต่อสัญญาเช่นกัน ซึ่งกังวลว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการจัดหลักสูตรการสอน เช่นตนเองที่เป็นหัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ หากยุติการสอนลง ก็จะส่งผลกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ ทำให้เป็นหลักสูตรที่มีปัญหาไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด โดยจำนวนอาจารย์ 20 คนนั้นเป็นการประเมินเบื้องต้นจากที่พูดคุยกัน ที่จริงน่าจะมากกว่านี้
 
นอกจากนี้ตนเองยังได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาเอก ซึ่งหากตนไม่ได้รับการต่อสัญญา มหาวิทยาลัยก็จะสูญเสียเงินไปฟรีๆ เพราะตนจะไม่ได้อยู่ชดใช้ทุนที่เรียนไป โดยจากการพูดคุยหลายคนสูญเสียกำลังใจ เพราะหลายคนมีภาระ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม คาดว่าในอนาคตตนจะไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาล และ กระทรวงศึกษาธิการต่อไป
 
ทั้งนี้ล่าสุดมีรายงานว่าจากกรณีดังกล่าวประธานสภาคณาจารย์ได้มีหนังสือถึงอธิการบดี ให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วนแล้ว
 
 
พาณิชย์เตือนผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์คุมมาตรฐานสากลด้านแรงงานและจริยธรรมธุรกิจหลังออสซี่หันนำเข้าจากที่มีรับรอง ILO
 
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านแรงงานและจริยธรรมทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งครอบคุลมถึงประเด็นกระบวนการผลิตและการใช้วัตถุดิบที่ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน เนื่องจากขณะนี้ออสเตรเลียเริ่มหันมานำเข้าสินค้าจากบริษัทที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization:ILO) หรือองค์กรที่รับรองด้านการปฏิบัติด้านจริยธรรมทางธุรกิจ (Ethical Business Practice) เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
 
โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้รายงานผลสำรวจขององค์การความร่วมมือ Baptist World Aid (BWA) เกี่ยวกับนโยบายและระเบียบการใช้แรงงานเด็กและการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างของบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในออสเตรเลียว่า ปัจจุบันชาวออสเตรเลียตระหนักถึงปัญหาการใช้แรงงานทาสเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มหันมานำเข้าสินค้าจากบริษัทที่ได้รับการรับรองจาก ILO หรือองค์กรที่รับรองด้านการปฏิบัติด้านจริยธรรมทางธุรกิจ (Ethical Business Practice) ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าไม่มีการสนับสนุนให้ผู้ผลิตมีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน
 
อย่างไรก็ดีมีหลายบริษัทไม่ให้ความร่วมมือและปฏิเสธการให้ข้อมูลรายละเอียดในประเด็นนี้ เนื่องจากบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าของตนไม่ได้มาจากการใช้แรงงานทาสหรือการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม โดยผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กว่า 50 บริษัทไม่มีสามารถแสดงหลักฐานที่มาของแหล่งวัตถุดิบได้ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 11 แสดงกระบวนการผลิตสินค้าของบริษัทไม่ครบทุกขั้นตอน และร้อยละ 57 สามารถแสดงหลักฐานได้เพียงกระบวนการผลิตขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น ทั้งนี้ในปี 2558 บริษัทที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการต่อต้านการใช้แรงงานทาสอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54 เป็นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งประกอบด้วย บริษัท Apple, Dell Electrolux, Microsoft, Panasonic, Dick Smith ASUS เป็นต้น
 
สำหรับประเทศไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังตลาดโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.59) มีมูลค่า 15,152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 4.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.4 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด ขณะที่ปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 32,591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 1.2
 
 
ร่อนแถลงการณ์จี้ ม.ราชภัฏเทพสตรี ทบทวนมติไม่ต่อสัญญาอาจารย์-จนท.
 
วันที่ 1 กันยายน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ในนาม ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (Coordinating Center for the Public Higher Education) หรือ CHES เรื่อง ขอให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ทบทวนมติของผู้บริหาร กรณีการไม่ต่อสัญญาจ้างพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีจำนวนมาก
 
ระบุว่า จากกรณีข่าวการศึกษาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ทราบว่า อ.ดร.เสนีย์ เจริญสุข หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โพสต์ข้อความในกลุ่ม ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร้องเรียนว่าตนเองถูกแจ้งว่าไม่ได้รับการต่อสัญญาให้เป็นอาจารย์ต่อและมีการเผยแพร่ข่าวออกทางสื่อมวลชน ซึ่งประเด็นที่น่าตกใจคือ มีการระบุว่า ขณะนี้มีอาจารย์น่าจะมากกว่า 20 คน ได้รับการแจ้งไม่ต่อสัญญา ทั้งยังระบุอีกว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการต่อสัญญากว่า 50-60 คน ซึ่งศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ และเป็นเรื่องใหญ่มากที่จะมีการเลิกจ้างคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในปีงบประมาณนี้ จึงขอออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ทบทวนหรือหยุดยั้งมติของผู้บริหารดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อความเป็นธรรม และขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหาร โปรดชี้แจงประเด็นดังกล่าวต่อสังคมเพื่อความเข้าใจต่อไป
 
 
กลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าสนับสนุนคนพิการ ลุยเทงบอีก 21 ล้าน จ้างผู้พิการ 5 จังหวัดให้มีรายได้
 
น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการกว่า 1.62 ล้านคน จากข้อมูลดังกล่าวบริษัทในฐานะองค์กรภาคเอกชนจึงมีแผนจะสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมและผลักดันให้มีบทบาททางสังคม
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการส่งเสริมผู้พิการด้วยการสร้างอาชีพภายใต้การปฎิบัติตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีผู้พิการที่บริการให้การสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพแล้วไม่ต่ำกว่า 868 คน รวมเป็นเงินสนับสนุนทั้งสิ้นกว่า 95 ล้านบาท
 
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2559 นี้ บริษัทได้ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ศึกษาและส่งเสริมกิจกรรมสังคม และองค์กรแกนนำคนพิการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี จัดทำโครงการเพิ่มโอกาสด้านประกอบอาชีพและการมีงานทำร่วมกับสถานประกอบการภายใต้การปฏิบัติตามมาตรา 35 ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่คนพิการ จำนวน 199 คน คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 21 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หลังจากเริ่มดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค. 2559 สามารถช่วยให้ผู้พิการมีรายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นสูงถึง 4-5 เท่าตัว
 
 
พนักงานออคิดไดมอนด์ โพลิสชิ่ง เวอร์คส์ แจ้งความถูกเลิกจ้างไม่ได้เงินชดเชย
 
เมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) เวลา 22.30 น.นางอิ่มจิตร พันธพรม พร้อมด้วยพนักงาน 300 คน ของบริษัท ออคิดไดมอนด์ โพลิสชิ่ง เวอร์คส์ จำกัด เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี หลังจากไปยืนหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี กรณีถูกบริษัท ออคิด ไดมอนด์ โพลิสชิ่ง เวอร์คส์ จำกัดเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ จึงต้องมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน
 
นางอิ่มจิตร บอกว่า พนักงาน 300 คน ถูกเลิกจ้างเพราะบริษัทขาดทุนจึงต้องปิดกิจการ ทำให้พนักงานไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานีและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปทุมธานี เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีที่บริษัทฯ สัญญาว่าจะชดเชยเงิน 11 เดือน ภายในวันที่ 31 ส.ค.2559 แต่เมื่อถึงกำหนดได้รับเงินเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่ตกลงกันไว้
 
พ.ต.ท.วิเชียร เหมือนสุวรรณ หัวหน้าพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรคลองคลวง กล่าวว่า จะประสานผู้บริหารบริษัทฯ และพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ในวันที่อังคาร 6 ก.ย.2559 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องเงินชดเชยการเลิกจ้างที่ยังไม่ได้รับ
 
 
แรงงานไทยเฮ! ญี่ปุ่นเตรียมเปิดตำแหน่งงาน พ่อครัว ฟันรายได้เดือนละแสน
 
วันที่ 2 ก.ย. 2559 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงผลการเดินทางไปเจรจาหาตำแหน่งงานให้คนไทยในญี่ปุ่น ว่า ได้นำข้าราชกร และสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ 20 บริษัท ไปหารือกับ JITCO (Japan International Training Cooperation Organization) หน่วยงานกลางที่รับแรงงานไปทำงานในญี่ปุ่น 80 แห่ง และบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นอีกกว่า 50 แห่ง ถึงการรับแรงงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นแจ้งว่า มีความต้องการแรงงานไทยเข้าไปทำงานหลายด้าน แต่ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายขยายตำแหน่งงาน เพื่อให้คนไทยที่เดินทางสามารถเข้าไปทำอาชีพอื่นได้ นอกเหนือจากไปฝึกงาน ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกล เครื่องกลต่างๆ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถ ให้กลับมาแล้ว สามารถทำงานในบริษัทของญี่ปุ่นที่มาลงทุนทำธุรกิจในไทยได้ โดยที่ผ่านมา ได้มีการส่งผู้ฝึกงานเทคนิคไปทำงานจนถึงเดือน ก.ค. 59 จำนวน 9,079 คน ในจำนวนนี้ จัดส่งโดย กกจ. 1,587 คน และบริษัทจัดหางาน 7,484 คน ต่อไปจะมีการเพิ่มงานดูแลผู้สูงอายุ ให้แรงงานไทยทำ คาดว่าการแก้ไขกฎหมายจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.
 
นายอารักษ์ กล่าวว่า งานด้านการก่อสร้าง การโรงแรม ที่พัก และการท่องเที่ยว กำลังเป็นที่ต้องการมาก เพราะญี่ปุ่นต้องเตรียมรองรับการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ปี ค.ศ. 2020 เมื่อแก้ไขกฎหมายเสร็จแล้ว ทางการญี่ปุ่นจะแจ้งถึงความต้องการแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพมายัง กกจ.
 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องภาษา เพราะจะไปทำงานต้องรู้ภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐาน แต่การเรียนภาษาญี่ปุ่นในไทยมีค่าใช้จ่ายสูง แรงงานไทยที่สนใจจะไปเรียนเพื่อรอทำงาน อาจจะยังไม่มั่นใจว่า เมื่อมีทักษะภาษาญี่ปุ่นแล้ว จะได้เดินทางไปทำงานในญี่ปุ่นหรือไม่ รวมทั้งขณะนี้ ทางญี่ปุ่นยังไม่ได้แจ้งสาขาอาชีพ และจำนวนความต้องการที่ชัดเจน กกจ. จึงได้ประสานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดหาแรงงานไทยไว้รองรับ
 
"งานพ่อครัวในญี่ปุ่นน่าสนใจมาก มีรายได้เดือนละเป็นแสน คนไทยเดินทางไปทำงานนี้ด้วยตัวเอง ปีละกว่า 500 คน กกจ. จะช่วยส่งเสริมพ่อครัวแม่ครัวไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับโครงการไทยซีเล็คท์ ของกระทรวงพาณิชย์ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ญี่ปุ่นกำลังเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพกีฬา โอลิมปิกปี 2020 งานก่อสร้าง และพ่อครัว แม่ครัว จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานจึงต้องเตรียมพร้อม และต้องรู้ภาษาพื้นฐาน" นายอารักษ์ กล่าว
 
 
แนะภาคแรงงานใช้"หุ่นยนต์"ทดแทนแรงงานตรงทักษะขาดแคลน-ตลาดซื้อขายหุ่นยนต์ในไทยโตสูงในเอเชีย
 
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 เวลา 10.00 น. ที่อาคารไบเทค บางนา มีการสัมมนาในหัวข้อ “Smart Robotic and Automation for SME” หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอัจฉริยะสำหรับ SME ยุคดิจิตอล ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเสวนาของงาน Thailand lighting fair 2016 จัดโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 
 
โดย ดร. สุภชัย วงศ์บุณย์ยง จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอัจฉริยะว่า ปัจจุบันในไทยยังไม่ค่อยเห็นโรงงานในภาคอุตสาหกรรมไหนมีการใช้ระบบอัตโนมัติ 4.0 อย่างสมบูรณ์ จะมีแค่ระดับ 3 ปลายๆ ที่ระบบอัตโนมัติทำงานได้จริง แต่อาจจะยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งการเปลี่ยนระบบอัตโนมัติเป็นระดับ 4.0 นั้นหากเปลี่ยนได้แล้วก็จะอยู่ยาว ถ้ายังไม่ปรับตัวก็อาจจะไม่รอด ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเมื่อ 10 ปีก่อนการใช้อีเมล์ยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่มายุคปัจจุบันการใช้อีเมล์มีประโยชน์ในด้านของการสื่อสารและช่วยลดระยะเวลาได้
"สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีหลายที่ในไทยยังไม่จำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติระดับ 4.0 มากนัก ยังสามารถใช้ระบบอัตโนมัติระดับ 2.0 อยู่ การปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติระดับ 4.0 ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ให้เลือกปรับเป็นบางจุดเท่านั้น เช่นการใช้ระบบสายพานแทนแรงงานคนที่สามารถช่วยให้การผลิตได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้วย"ดร.สุภชัยกล่าว
 
ดร.สุภชัย กล่าวด้วยว่า ในด้านของหุ่นยนต์ ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น และเยอรมนีนั้นมีอัตราการใช้หุ่นยนต์กับจำนวนคนอยู่ที่ 270-400 ตัว ต่อคน 10,000 คน แล้วยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยตามบริษัทหรือโรงงานไม่ได้มีปัญหาเรื่องค่าแรงที่ตอนนี้ในบ้านเรามีค่าแรงที่แพงขึ้น แต่การหาแรงงานมาทำงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการนั้นยากขึ้น หุ่นยนต์จึงเป็นตัวเลือกที่ตอบสนองมากที่สุด ราคาของหุ่นยนต์นั้นถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับงาน และคุณภาพ รวมถึงระยะเวลาที่ใช้งานได้
 
ทั้งนี้สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics)ได้ยกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีกำลังซื้อขายหุ่นยนต์ที่กำลังเติบโตในเอเชีย (Thailand is one of the readily growing robot market in Asia) เนื่องจากไทยมีการนำเข้าหุ่นยนต์ในปี 2015 โดยมีการนำเข้าถึง 4,200 ตัว และในปี 2016 มีการนำเข้ามากถึง 7,500 ตัว โดยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
 
สสส.-ก.แรงงาน-เสถียรธรรมสถานจัดงานแถลงข่าว“สตรี คือ สติ” หลังพบสตรีไทยมีความเครียด-ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นอันดับ1
 
วานนี้(1 ก.ย.59) กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเสถียรธรรมสถาน จัดงานแถลงข่าว “สตรี คือ สติ” โดยม.ล.ปุณฑริกา สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานสตรีถือเป็นแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์กรและประเทศ เพราะปัจจุบันมีแรงงานสตรีไทยถึง 27 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยที่มีจำนวน 60.5 ล้านคน
 
อย่างไรก็ตามความเครียดและโรคซึมเศร้ากำลังเป็นภัยเงียบของสตรีวัยทำงานที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงาน จากการสำรวจของสายด่วนกรมสุขภาพจิตปี 59 พบว่า ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวลเป็นปัญหาสำคัญอันดับ 1 ของสตรีวัยแรงงาน ตามด้วยปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรักและปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน นอกจากนี้ยังพบว่า โรคซึมเศร้ากลายเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการสูญเสียปีสุขภาวะจากความเจ็บป่วยและพิการของหญิงไทย
 
โดยนโยบายของกระทรวงแรงงานจึงเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของวัยแรงงานตามแนวคิดงานดีมีคุณค่าจึงร่วมกับสสส.ในฐานะหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพโดยเฉพาะการพัฒนาองค์กรแห่งความสุขร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในการผลักดันสร้างสุขภาวะแก่สตรีวัยแรงงาน
 
ด้านนพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส. กล่าวว่า แนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะสตรีวัยทำงานต้องทำคู่ขนาน 2 ด้านคือ 1.การสร้างการรับรู้และทัศนคติที่ดีในการพัฒนาคุณภาพแรงงานสตรีทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และกระทรวงแรงงานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทและลักษณะงานที่แตกต่างกัน และ 2.การส่งเสริมให้สถานประกอบการปรับปรุงสิ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีในที่ทำงาน สนับสนุนข้อมูลข่าวสาร ที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาสุขภาพกายและจิตที่สตรีสามารถเข้าถึงได้
 
สสส.จึงร่วมกับกระทรวงแรงงานและเสถียรธรรมสถาน จัดอบรมแกนนำจากภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนให้เกิดองค์กรต้นแบบด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานที่ดี โดยมีเป้าหมายในการสร้าง Health Promoter จำนวน 1,000 คน ใน 15 พื้นที่เป้าหมายพร้อมกับถอดบทเรียนองค์ความรู้พัฒนาเป็นเครื่องมือการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดไปยังกลไกการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต่อไป
 
 
อธิบดี กกจ." โต้ "ขสมก." ค้าน! จ้างแรงงานต่างด้าวขับรถเมล์ ชี้ผิดกฎหมาย
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงานบอกว่ากรณีปัญหาคนต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย โดยเฉพาะอาชีพค้าขายมีอยู่ในทุกพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา กกจ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจและจับกุมคนต่างด้าวทำผิด พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 โดยเฉพาะการทำงานผิดประเภทและผิดสถานที่มาอย่างต่อเนื่องล่าสุดกรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีแนวคิดที่จะนำแรงงานต่างด้าวมาเป็นพนักงานขับรถเมล์นั้น ทาง กกจ.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากงานขับขี่ยานยนต์หรือขับขี่ยานพาหนะเป็น 1 ใน 39 อาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย
 
 
ร่ำไห้ขอความเป็นธรรม! แรงงานเย็บผ้าบุรีรัมย์ร้องขอ นายทุนแสบย้าย รง.หนีไม่จ่ายชดเชย
 
(2 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 บ.พุทไธสง ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันออกมาถือป้ายประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่หน้าที่ว่าการอำเภอพุทไธสง หลังทางบริษัทได้ติดประกาศจะย้ายสถานประกอบกิจการไปยังกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของแรงงานที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ทำให้แรงงานไม่สามารถย้ายตามไปทำงานได้เพราะจะกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
 
อีกทั้งขณะนี้นายจ่างยังไม่ยอมจ่ายค่าแรงที่ค้าง และเงินชดเชยตามอายุการทำงานให้แก่แรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยอ้างว่าทางบริษัทขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการโดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับแรงงาน
 
โดยนางรังสรรค์ จริงไธสง หนึ่งในแรงงานที่มาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ถึงกับร่ำไห้วอนขอความเห็นใจจากนายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าแรงที่ค้าง และเงินชดเชยให้แก่แรงงานตามกฎหมายด้วย เพื่อจะได้นำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ หรือใช้จ่ายในครอบครัว เพราะทำงานที่บริษัทแห่งนี้มากว่า 10 ปีแล้ว และปัจจุบันก็อายุมากกว่า 50 ปีแล้ว ไม่รู้ว่าไปสมัครทำงานที่อื่นจะมีใครรับหรือไม่ และไม่รู้ว่านานแค่ไหนจะได้งานทำ
 
เช่นเดียวกับ นายสิริชัย สมศรี อายุ 44 ปี แรงงานบอกว่า ได้ทำงานที่โรงงานแห่งนี้มา 11 ปีแล้ว ที่ผ่านมา ได้ย้ายตามบริษัทมา 4 ครั้งแล้ว แต่ก็ย้ายอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไม่ได้ออกต่างจังหวัด แต่ครั้งนี้ทางบริษัทประกาศจะย้ายสถานประกอบกิจการไปไกลถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่สามารถที่จะย้ายตามไปได้
 
ทั้งตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศย้ายสถานประกอบกิจการของทางนายจ้างครั้งนี้เป็นการเลี่ยงกฎหมาย และกดดันแรงงานทางอ้อม เพราะหากใครไม่สมัครใจตามไปทำงานก็ถือว่ายอมหยุดทำงานเองโดยที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร และการเจรจาครั้งนี้ผู้บริหารบริษัทไม่ได้มาด้วยตัวเอง เพียงส่งตัวแทนมาเจรจา จึงไม่สามารถตัดสินใจ หรือให้คำตอบอะไรได้
 
จึงได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาแนวทางช่วยเหลือแรงงานด้วย และหลังจากนี้ ทางแรงงานก็จะพากันไปยื่นร้องต่อศาลแรงงานที่ จ.นครราชสีมา ให้ช่วยเหลือในอีกทางหนึ่งด้วย
 
ด้าน นายสมยศ รักษกุลวิทยา นายอำเภอพุทไธสง กล่าวภายหลังเป็นผู้แทนในการเจรจาระหว่างแรงงานกับนายจ้าง กรณีที่นายจ้างประกาศจะย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าว โดยมีตัวแทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมาร่วมรับฟัง และหาแนวทางช่วยเหลือด้วย แต่ทางบริษัทกลับส่งตัวแทนมาเจรจาทำให้ไม่สามารถให้คำตอบอะไรแก่แรงงานได้ จึงได้แนะนำให้แรงงานไปยื่นร้องต่อศาลแรงงานที่ จ.นครราชสีมา เพื่อร้องขอความเป็นธรรมในอีกทางหนึ่ง ส่วนทางอำเภอเองจะประสานกับหน่ายงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อหามาตรการรองรับช่วยเหลือแรงงานที่อาจจะว่างงานในกรณีดังกล่าวด้วย
 
 
คลังชงกองทุนเลี้ยงชีพภาคบังคับเข้า ครม.สร้างหลักประกันลูกจ้าง
 
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงาน PVD Mini Symposium for Emoloyers “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกุญแจสู่ความสำเร็จของการวางแผนเกณียณอายุ”ว่า ความคืบหน้าการผลักดันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆนี้ และกระบวนการแก้ไขกฏหมาย ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งกฤษฏีกาต้องพิจารณาร่วมด้วย
 
"ดังนั้นต้องผลักดันกฎหมายออกมาก่อน ส่วนรายละเอียดต่างๆ เช่น การกำหนสัดส่วนเงินออม จะกำหนดเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติม"
 
การผลักดันออกกฎหมายนี้ เป็นประโยชน์มากในการสร้างหลักประกันมีเงินเพียงพอในยามเกษียณอายุ เพราะการออมเงินรองรับยามเกษียณในภาคเอกชน ยังไม่มีการบังคับ จะมีผลกระทบต่อลูกจ้างไม่มีเงินพอใช้ หลังเกษียณอายุโดยปัญหานี้เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายรับรู้มานานแล้ว
 
ขณะที่มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจปัจจุบัน มีเม็ดเงิน 970,000 ล้านบาท มีจำนวนสมาชิกกองทุน 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบประชากรวัยทำงาน และระบบการทำงานภาคเอกชน
 
อีกทั้งการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยอมรับว่า ยังมีประเด็นต้องพิจารณา 3 เรื่องในการให้ความสำคัญมากขึ้น คือ 1.“ออมพอหรือไม่” เพราะเงินที่นายจ้างสมทบให้ ต้องเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร จึงจะทำให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณได้ 2.“เมื่อออมพอแล้วลงทุนถูกต้องหรือไม่” โดยเฉพาะการลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ ส่วนใหญ่ยังลงทุนตราสารหนี้สัดส่วน 85% หากมองไปข้างหน้า ผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุนตราสารหนี้ระดับสูงขึ้นในระยะยาวยิ่งเป็นไปได้ยากฉะนั้นการออมเช่นนี้จึงไม่เพียงพอยามเกษียณ
 
3.“ความรู้ความเข้าใจของลูกจ้างยังมีไม่มากพอ” แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีหลายนโยบายให้เลือก แต่ลูกจ้างส่วนใหญ่ ไม่สามารถเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง ดังนั้นการลงทุนที่เป็นแบบ Target Date ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนสมดุลตามอายุ (Life Path) ที่การลงทุนผันแปรตามอายุของผู้ลงทุน จนถึงวัยเกษียณจะเป็นทางออกเข้าตอบโจทย์นี้ได้ ทำให้การลงทุนของลูกจ้างถูกหลัก เหมือนขับรถเกียร์อัตโนมัติขับไปถึงเป้าหมายโดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์เอง
 
“แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างจะมีนั้น จะเป็นแบบ Employee's choice มีนโยบายลงทุนหลากหลายแผนให้ลูกจ้างเลือก ปัจจุบันไม่มีกำหนดสัดส่วนการลงทุนเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังขึ้นอยู่กับสมาชิกกองทุนเลือกลงทุนเป็น และถูกต้องกับเป้าหมายเพื่อหลังเกษียณ จะมีเงินใช้ได้พอหรือไม่
 
"ผมอยากฝากทางทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าเรื่องนี้ให้สมาชิกกองทุน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังเข้ามาสู่กองทุนในอนาคต คือคนที่กำลังเข้าสู้ระบบการทำงาน เริ่มมีเงินเดือน เพราะการออมเงินผ่านการลงทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย และออมเงินให้มากสุด เพื่อใช้หลังเกษียณ หากเอาเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตที่ได้จากการเกษียณ มาลงทุนในตลาดที่มีความผันผวนแนะนำเอาเงินไปฝังตุ่มดีกว่า”
 
 
รมว.แรงงานปลื้ม 2 หนุ่มสาวผู้ประกันตนตัวแทนประเทศไทยแข่งกีฬาพาราลิมปิก บราซิล
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชื่นชม 2 หนุ่มสาวผู้ประกันตน ซึ่งประสบอันตรายจากการทำงาน และเข้ารับการดูแลจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ซึ่งหน้าที่ของศูนย์ฯนี้ คือการดูแลลูกจ้างที่ได้รับอันตรายจากการทำงานที่สูญเสียอวัยวะ พิการ หรือทุพพลภาพด้วยการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบองค์รวม ประกอบด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ด้านอาชีพ ด้านจิตใจและสังคม เพื่อให้กลับสู่สังคมด้วยใจที่มีพลัง พร้อมที่จะทำงานและเป็นแบบอย่างในความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต ซึ่งนอกจากสามารถทำงานได้เช่นคนทั่วไปแล้ว 
 
บางรายยังมีความสามารถเป็นนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ครั้งที่ 15 ปี 2016 ณ ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 7-18 ก.ย.นี้ด้วย
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่าสำหรับผู้ประกันตน 2 ราย ที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ประกอบด้วย นายหาญฤชัย เนตศิริ เป็นผู้ทุพพลภาพ ประสบอันตรายจากสาเหตุรถจักรยายนยนต์ล้มเป็นผลให้เป็นอัมพาตท่อนล่างเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง) หวังจะให้ตนเองมีสมรรถภาพร่างกายแข็งแรง และฝึกอาชีพงานสำนักงาน เพื่อจะกลับไปประกอบอาชีพอิสระ เมื่อเข้ารับการฟื้นฟูฯ แล้วได้มีโอกาสฝึกซ้อมกีฬายิงธนูคนพิการ จึงรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านการเล่นกีฬายิงธนู ได้รับรางวัลเป็นจำนวนมากจากการเล่นกีฬายิงธนูคนพิการ รางวัลที่เขาภาคภูมิใจ คือ รางวัลจากการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ คือ 2 เหรียญทอง ณ เมืองโซโล ประเทศอินโอนีเซีย ปี 2554 และ 3 เหรียญทอง ณ เมืองเนปิดอร์ ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ปี 2557 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง) รับผิดชอบดูแลผู้เข้ารับการฟื้นฟูในส่วนงานกิจกรรมบำบัด กลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ สำหรับอีก 1 ราย คือนางสาวสุรางค์ คำสุข ประสบอันตรายจากสาเหตุเครื่องปั๊มกระป๋องกระแทกทับมือเป็นเหตุให้มือข้างซ้ายขาดถึงใต้ศอก ขณะที่กำลังฟื้นฟูฯ ได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรมฯ เล่นกีฬาหลายชนิดที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้ค้นพบศักยภาพของตนเองว่ามีความสามารถด้านกีฬา รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมด้านกีฬาจากศูนย์ฟื้นฟูฯ โดยสามารถเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในฐานะนักกีฬาประเภทลานตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบัน รางวัลที่เธอภาคภูมิใจคือ 1 เหรียญทอง เอเชียนพาราเกมส์ สาธารณรัฐเกาหลี ปี 2557 และเอเชียนพาราเกมส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ปี 2558 ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่งานธุรการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี และได้นำทักษะและประสบการณ์ด้านกีฬาคนพิการมาสอนรุ่นน้องที่รักการเล่นกีฬาต่อไปด้วย จึงขอให้ประชาชนชาวไทยเป็นกำลังใจให้นักกีฬา 2 ท่านนี้ พร้อมทั้งคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 4/9/2559
 
รมว.แรงงาน เผยแผนแก้ไขการค้ามนุษย์และปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งงานคนไทย
 
รมว.แรงงาน เปิดเผยแผนการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย 6 ประเด็น ได้แก่ 1) ด้านกฎหมาย 2) ด้านพันธกรณีระหว่างประเทศ 3) ด้านช่องทางการร้องเรียน 4) ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล 5) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย 6) ด้านอื่นๆ พร้อมกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (กันยายน – ธันวาคม 2559) และ ระยะยาว (ภายในปี 2560)
 
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ครั้งที่ 4/2559 ณ ห้องประชุม ประสงค์ รณะนันทร์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (5 ก.ย. 59) โดยที่ประชุมได้พิจารณาแผนการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 6 ประเด็น คือ 1) ด้านกฎหมาย ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การออกกฎหมายควบคุมผู้รับอนุญาตจัดหาแรงงานต่างด้าวให้กับนายจ้างในประเทศ การแก้ไขกฎระเบียบให้นายจ้างใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย และเพิ่มโทษการใช้แรงงานเด็ก 2) ด้านพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ การขับเคลื่อนการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้ามนุษย์แห่งอาเซียน การจัดตั้งศูนย์ตามแนวชายแดนเพื่ออบรมให้ความรู้ เตรียมความพร้อมก่อนเดินทางมาทำงาน และเป็นศูนย์ประสานระหว่างนายจ้าง ต่างด้าว และประเทศต้นทาง และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง 3) ด้านช่องทางการร้องเรียน โดยเพิ่มช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ 4) ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล โดยจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยน ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย การเร่งรัดดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ 6) ด้านอื่นๆ ได้แก่ การประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การสำรวจข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางรากฐานการป้องกันปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือแรงงานประมงที่ตกสำรวจอินโดนีเซีย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแผนดังกล่าว โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา คนต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย เพราะส่งผลกระทบต่อคนไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องทั้งในและนอกประเทศด้วย
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพ คนไทยเป็น 2 ระยะ คือ 1) ระยะเร่งด่วน (กันยายน – ธันวาคม 2559) โดยกรมการจัดหางานประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฯลฯ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 100 ออกตรวจปราบปราม การลักลอบการทำงานของคนต่างด้าวในเขตกรุงเทพฯ ควบคู่กับคำสั่ง คสช. ที่ 101 ดำเนินการพื้นที่จังหวัด โดยใน เขตกรุงเทพฯ มี หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงาน และต่างจังหวัด มีผู้ราชการจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมทั้งกำหนดมีการออกตรวจอย่างน้อย 20 ครั้ง โดยเน้นกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ เช่น ค้าขาย รปภ. ธุรกิจท่องเที่ยว โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของกลุ่มที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ รวมทั้งจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษา วิเคราะห์ความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถบังคับใช้และป้องปรามการกระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ
 
2) ระยะยาว (ภายในปี 2560) มอบให้หน่วยงานด้านความมั่นคง และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ดำเนินการตรวจบังคับใช้กฎหมายตามแผนการตรวจของชุดเฉพาะกิจตามคำสั่ง คสช. ที่ 100 และ 101 เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น และปฏิบัติการข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนร่วมมือกันเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่ซื้อสินค้า เป็นต้น
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าของตลาด เจ้าของห้างสรรพสินค้า พ่อค้าแม่ค้าคนไทย รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยกันตรวจสอบดูแล โดยเฉพาะเจ้าของตลาดและห้างสรรพสินค้า ควรมีส่วนรับผิดชอบหากปล่อยให้คนต่างด้าวมาค้าขายในพื้นที่ อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯ จะมีแนวทางการแก้ปัญหาและบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายพิจารณา รวมทั้งกรณี คนต่างด้าว ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เข้ามาทำงานหรือค้าขายในไทย ก็จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ วางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาด้วย
 
 
นวนครยัน "เหตุการณ์เพลิงไม้" โรงไฟฟ้านวนคร ไม่กระทบบริษัท
 
บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) NNCL ชี้แจงว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันจันทร์ที่ 5 ก.ย. 2559 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้จากหม้อแปลงระเบิดอยู่ในอาคารบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ของโรงงานแห่งหนึ่งที่อยู่ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม นวนคร ปทุมธานี เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้สกัดเปลวเพลิงไหม้ ไม่ให้ลามไปถึงตัวอาคารอื่น
 
การควบคุมเพลิงอยู่ในวงจำกัดและรวดเร็ว ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต อีกทั้งไม่กระทบต่อโรงงานอื่นใด และกระแสไฟฟ้าภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี ยังใช้งานได้ตามปกติ การเกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทฯ และบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด แต่อย่างใด
 
 
หนุนใช้ 'ม.44' นำนักบินเกิน 60 ปีกลับเข้าทำงาน
 
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทย" ที่โรงแรม รามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2559 ว่า ได้เสนอให้ทาง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จัดหาแนวทางการนำนักบินที่มีอายุเกิน 60 ปี ให้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในฐานะครูฝึกด้านการบิน โดยในส่วนของภาคเอกชนจะสามารถรับครูฝึกบินที่มีอายุเกิน 60 ปี เข้าทำงานได้ทันที แต่ในส่วนราชการต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถนำนักบินที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถกลับเข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจได้ ซึ่งกระบวนการในการแก้ไขกฎหมายในการนำนักบินที่มีอายุเกิน 60 ปี กลับเข้ามาทำงานในระบบราชการนั้น หากต้องใช้ระยะเวลามากก็อาจใช้มาตรา 44 เข้ามา แก้ไขปัญหา เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ รวดเร็ว มากขึ้น
 
ทั้งนี้นักบินที่อายุเกิน 60 ปี และมีศักยภาพพร้อมจะเป็นครูฝึกบินมีกว่า 100 คน โดยจะต้องมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อให้มีความพร้อมก่อนออกบินมากกว่านักบินทั่วไป ซึ่งครูฝึก 1 คน สามารถผลิตนักบินได้เฉลี่ยปีละ 5 คน หากเร่งกระบวนการจัดหาครูฝึกบินก็จะสามารถทำให้ปัญหาการขาดแคลนนักบินของไทยลดลง สำหรับปัจจุบันจำนวนนักบินมีที่ทำการบินประจำในประเทศไทยประมาณ 5,200 คน จาก 51 สายการบิน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับอุตสาหกรรมทางด้านการบินจึงต้องเร่งเพิ่มบุคลากรการบินอีกมากกว่า 50% เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร
 
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การให้นักบินที่อายุเกิน 60 ปี เข้ามาเป็นครูฝึกบินนั้นตามเงื่อนไขของรัฐวิสาหกิจพนักงานจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี ซึ่งทางสายการบินไทยสไมล์ได้ขออนุญาตเพิ่มอายุงานนักบินอีก 3 ปี เป็น 63 ปี เนื่องจากขาดแคลนนักบิน ซึ่งโดยพื้นฐานนักบินสามารถทำการบินได้จนถึงอายุ 65 ปี โดยในส่วนของครูฝึกการบินนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือว่าจะนำนักบินที่อายุเกิน 65 ปี เข้ามาบรรจุในตำแหน่งดังกล่าวอย่างไร โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้พิจารณา และอาจจะต้องมีการแก้กฎหมายโดยใช้ มาตรา 44 เข้ามาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว
 
 
เริ่มใช้ 'พ.ร.ก.นำคนต่างด้าวมาทำงาน' เปิดให้นายจ้างยื่นขออนุญาตใน 60 วัน
 
กรมการจัดหางาน เผยเริ่มใช้ พ.ร.ก.นำคนต่างด้าว เปิดให้บริษัท-นายจ้างยื่นขออนุญาตนำเข้าได้ ขณะที่บริษัทเหมาแรงงาน 400 แห่งต้องยื่นเป็นบริษัทจดทะเบียนนำเข้าคนต่างด้าวภายใน 60 วัน ยันไม่ลดวงเงินหลักประกัน 5 ล้านบาท ชี้ให้วางเงินไว้ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวกรณีนายจ้างผิดสัญญาจ้าง
 
เมื่อเร็วๆ นี้ นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวหลังการเป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงวิชาการเรื่อง "พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย พ.ศ.2559" ว่า พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการใช้แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้และการค้ามนุษย์ มีสาระสำคัญคือ ใช้กับการนำเข้าคนต่างด้าวภายใต้บันทึกความตกลงความเข้าใจที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 4 ประเทศคือ เมียนมา กัมพูชา ลาวและเวียดนาม หรือตามนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจ้างงานมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ในงานกรรมกร ประมง แปรรูปสัตว์น้ำ และผู้รับใช้ทำงานในบ้าน
 
โดยนายจ้างและบริษัทนำเข้าคนต่างด้าวสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตนำเข้าคนต่างด้าวได้ โดยต้องมีการทำสัญญากับนายจ้างที่ขอให้นำแรงงานต่างด้าว และกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจนำต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน บริษัทนำเข้าคนต่างด้าวต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท มีมาตรการควบคุมทางทะเบียนสำหรับผู้ได้รับอนุญาต และให้มีการวางเงินค้ำประกันการประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็นเงินไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท รวมทั้งกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น และห้ามเรียกเก็บเงินค่าบริการคนต่างด้าวไม่ว่ากรณีใดๆ
 
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่บริษัทเหมาแรงงานเรียกร้องถึงการเรียกเก็บเงินหลักประกันของบริษัทผู้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าว จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ตาม พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ให้มีการกลับไปใช้หลักประกันเดิมจำนวน 1 แสนบาทนั้น คงทำไม่ได้ สาเหตุที่มีการกำหนดวงเงินหลักประกันไว้ถึง 5 ล้านบาท
 
เนื่องจากเป็นการนำเข้าคน ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบ หากเกิดปัญหา เช่น นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ผิดสัญญาจ้าง ก็สามารถนำเงินหลักประกันมาจ่ายชดเชยได้ รวมทั้งเงินประกันดังกล่าวสามารถขอคืนภายหลังเมื่อเลิกกิจการได้ ซึ่งอัตราเงินหลักประกันเป็นการอ้างอิงจากการดูแลแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ที่บริษัทจัดส่งจะต้องดูแลตั้งแต่การจัดส่งจนกลับประเทศ พร้อมมองว่าอัตราไม่สูงเกินไปหากเทียบกับแรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามาเป็นจำนวนมาก
 
ทั้งนี้ บริษัทเหมาแรงงานเป็นบริษัทจัดหางานภายในประเทศ ที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานและขอนำเข้าแรงงานต่างด้าว ประมาณ 400 แห่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้ พ.ร.ก.ดังกล่าว กำหนดให้ต้องมาจดทะเบียนเป็นบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใน 60 วันหลัง พ.ร.ก.บังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2559 หรือภายในวันที่ 15 ต.ค.2559
 
ส่วนกรณีนายจ้างที่จะยื่นขออนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าวด้วยตัวเอง จะต้องวางเงินหลักประกัน 1,000 บาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คน แต่ต้องไม่เกิน 99 คน หากนำเข้าตั้งแต่ 100 คน ต้องวางเงินหลักประกันไม่เกิน 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มองว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอแก้ไข พ.ร.ก.ดังกล่าว ส่วนใบอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าวของบริษัทฯ มีอายุ 2 ปี และมีนายจ้างได้เพียงรายเดียวเท่านั้น
 
"ที่ผ่านมาเกิดปัญหาบริษัทเหมาแรงงาน รับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแล้วปล่อยปละละเลย มีการนำส่งไปทำงานกับสถานประกอบการต่างๆ และเกิดปัญหาแรงงานไม่รับค่าจ้าง และสวัสดิการตามสัญญาจ้าง เมื่อมี พ.ร.ก.ออกมา จึงกำหนดให้บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าว ต้องวางเงินหลักประกัน" อธิบดี กกจ.กล่าว
 
 
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดให้เจ้าของสถานประกอบการกู้ยืมเงินไปฝึกอบอรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ได้สูงสุด 1 ล้านบาทและไม่มีดอกเบี้ยเริ่ม 12 ม.ค.60
 
นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กพร.ได้เปิดให้เจ้าของสถานประกอบกิจการสามารถยื่นขอกู้ยืมเงินจาก กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปฝึกอบรม และพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน และลดต้นทุนการผลิตในสถานประกอบกิจการต่างๆ
 
เงินกู้ดังกล่าวจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับสถานประกอบกิจการ กู้เงินไปเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม การพัฒนาฝีมือแรงงาน และ เป็นค่าใช้จ่ายฝึกอบรม ฝีมือแรงงาน หรือการทดสอบมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานใน 7 สาขาอาชีพ โดยสามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 12 มกราคม 2560 โดยกู้ได้สูงสุดถึง 1 ล้านบาท ไม่มีดอกเบี้ย และมีระยะเวลาชำระคืนภายใน 12 เดือน นอกจากสถานประกอบกิจการ จะนำเงินส่วนนี้ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมได้เต็มตามจำนวนแล้วยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมอีกร้อยละร้อย ขณะเดียวกันจำนวนพนักงาน/ลูกจ้างที่ได้รับการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สามารถนำไปยื่นประเมินเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้อีกด้วย
 
สำหรับขั้นตอนการยื่นเรื่องกู้ก็ไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาพิจารณาไม่นาน เพียงนำหลักฐานของสถานประกอบกิจการ พร้อมคำขอกู้ยืมเงินมายื่นที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ หรือ ที่กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0-2643-6039 หรือ ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.dsd.go.th
 
การส่งเสริมการฝึกอบรมแรงงาน ภายใต้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นอีกหนึ่งกลไกประชารัฐ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบกิจการ และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานควบคู่กันไป นับเป็นอีกเครื่องมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่ง และ มีการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน
 
 
ยอดคนรับเงิน “บำนาญ” พุ่ง!! สปส.เล็งขยายอายุเกษียณ-เพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 บาท
 
(5 ก.ย.) นางพรพรรณ ศุภนคร รองเลขาธิการสำนักงานประกันกัสงคม (สปส.) กล่าวภายหลังเปิดงานประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2559 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสึนามิประชากร คือ มีผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีผู้ประกันตนที่เกษียณอายุเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากข้อมูลเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่ สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญ หลังจากกองทุนบำนาญเริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2542 พบว่า มีผู้ประกันตนเกษียณรับเงินบำนาญจำนวน 2 หมื่นคน ปี 2558 มีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หรือ 6 หมื่นคน ขณะที่ปี 2559 ยังไม่ถึงครบปีกลับมีผู้ประกันตนรับบำนาญแล้วถึง 100,000 คน มากกว่าปี 2558 ทั้งปี โดยปี 2560 คาดว่า จะมีคนรับบำนาญเกือบ 200,000 คน และในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า คนรับบำนาญจะเพิ่มถึงหลัก 1 ล้านคน เรียกได้ว่าจ่ายเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
“แม้คนทั่วไปจะมองว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ มีเงินจำนวนมาก แต่การจ่ายเงินบำนาญเช่นนี้ ตั้งแต่เกษียณไปจนตลอดชีวิตเงินย่อมร่อยหรอลง เพราะจำนวนคนรับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมีจำนวนน้อยลง โดยปัจจุบันอัตราคนทำงานต่อผู้สูงอายุอยู่ที่ 6:1 หรือคนทำงาน 6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ใน 10 ปีข้างหน้า อัตราดังกล่าวจะลดลงเหลือ 4:1 และ 20 ปีข้างหน้าจะลดลงไปอีกเหลือ 2:1 เงินย่อมไม่เพียงพอ” รองเลขาธิการ สปส. กล่าว
 
นางพรพรรณ กล่าวว่า สปส. ต้องมีการปรับตัวและปฏิรูประบบบำนาญ ซึ่งการจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน เห็นว่า ตัวเลขเงินบำนาญเพิ่มทวีคูณแค่ไหน จึงชวนลูกจ้างและผู้ประกันตนมาร่วมให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพื่อตัดสินใจเพื่ออนาคตของลูกหลานในวัยเกษียณและความยั่งยืนของกองทุน โดยแนวทางปฏิรูประบบบำนาญเบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ 1. การขยายอายุเกษียณ ซึ่งปัจจุบันอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี หากจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 15 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญไปตลอดชีวิต แต่หากขยายอายุเกษียณไปเป็น 60 ปี เหมือนกลุ่มคนทั่วไปในคราวเดียวนั้น อาจกระทบกับผู้ที่อายุใกล้เกษียณ ซึ่งอาจมีวางแผนเรื่องการเงินไว้ จึงอาจมีการปรับอายุเกษียณแบบขั้นบันได เช่น อายุ 53 - 54 ปี ไม่มีการปรับอายุเกษียณ อายุ 50 - 52 ปี อาจปรับอายุเกษียณเป็น 57 ปี และขยับไล่ลำดับลงไปเรื่อย ๆ เป็นต้น และ 2. การปรับสูตรคำนวณบำนาญ จากปัจจุบันคิดจากค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินสมทบ 5 ปีสุดท้าย เปลี่ยนเป็นคิดจากค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินสมทบตลอดอายุการทำงาน ทำให้ได้เงินบำนาญมากขึ้น และ 3.การปรับเพดานฐานค่าจ้าง เนื่องจากใช้ฐาน 15,000 บาท มากว่า 20 ปีแล้ว โดยอาจปรับเป็น 20,000 บาท ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ 1,650 บาท อาจปรับเพิ่มเป็น 3,600 บาท หรือ 4,800 บาท ซึ่งที่ผ่านมา เคยพยายามจะปรับเพดานหลายครั้ง แต่นายจ้างจะได้รับผลกระทบเพราะต้องจ่ายสมทบเพิ่ม แต่ครั้งนี้คิดว่าต้องมีการปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากไม่มีการปฏิรูปเลยเงินกงอทุนจะใช้ได้ถึงปี 2597 แต่หากมีการปฏิรูปก็จะช่วยให้กองทุนมีความยั่งยืนขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะปฏิรูประบบบำนาญนั้นจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อน
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบด้วยหรือไม่ นางพรพรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 5% จากค่าจ้าง ซึ่งเพดานสูงสุดคือ 15,000 บาท โดย 3% เก็บไว้เป็นเงินออมชราภาพ ซึ่งอาจมีการปรับเฉพาะเงินออมชราภาพเพิ่มขึ้นเป็น 5% แต่ต้องมีการหารือก่อน
 
นายนูโน มีรา ไซมอส คุนฮา (Mr.Nuno Meira Simoes Cunha) ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กล่าวระหว่างบรรยายเรื่อง “มุมมองสถานะกองทุนชราภาพปัจจุบันและแนวทางเพื่ออนาคต” ตอนหนึ่งว่า กองทุนเงินออมชราภาพในหลายประเทศมีปัญหาเรื่องความยั่งยืนและเสถียรภาพเช่นกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าในประเทศไทยนั้น หากจะให้เงินกองทุนดังกล่าวมีความยั่งยืน อาจย้ายสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนไปอยู่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ส่วนการจ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือนนั้นก็เข้าสู่กองทุนเงินออมชราภาพเพียงอย่างเดียว ส่วนการขยายอายุเกษียณ การปรับเพดานค่าจ้าง หรือการปรับสูตรคำนวนเงินบำนาญ จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านและข้อดีข้อเสียก่อน
 
 
ก.แรงงาน ระดมข้อคิดเห็นกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่ม 12 สาขา
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 12 สาขาอาชีพ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องการพัฒนาประเทศจากประเทศไทย 3.0 ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่เป็น "Value-Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" เพื่อนำพาให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศรายได้สูง ทั้งนี้ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจะบังเกิดผลดีในวงกว้าง มิใช่มีเพียงการพัฒนาทางตรงคือ การพัฒนาความรู้ ทักษะฝีมือ และความสามารถเท่านั้น ซึ่ง "การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เป็นแรงจูงใจส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางอ้อมด้วย เพราะการมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะเป็นเสมือนหนึ่งการมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ของลูกจ้างตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (Unskilled labour) จนกระทั่งถึงช่างฝีมือ (Skilled labour) ทำให้ลูกจ้างมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพ ลูกจ้างและนายจ้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้า และบริการที่มีคุณภาพ และในที่สุดประโยชน์โดยรวมก็จะตกอยู่กับประเทศไทย
 
ทั้งนี้ เชื่อว่านายจ้างมีความพร้อมจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่มีฝีมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กำหนดสมรรถนะความสามารถในสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้แรงงาน พัฒนาตนเองให้มีทักษะที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่าการพัฒนาคนด้วยมาตรฐานจะทำให้ผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) ดียิ่งขึ้น สินค้าที่ผลิตก็จะมีคุณภาพด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยก็จะมีศักยภาพแข่งขันได้ในตลาดโลก” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ใน 12 สาขาอาชีพ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว จะนำเข้าคณะอนุกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง เพื่อพิจารณาจัดเข้าระบบตามสูตรการคำนวณ ก่อนจะนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาในลำดับต่อไป โดยคาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถประกาศบังคับใช้ได้
 
ปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน มีผลบังคับใช้แล้วใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 55 สาขา อาทิ ช่างซ่อมรถยนต์ ผู้ประกอบอาหาร ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นต้น มีอัตราค่าจ้าง ตั้งแต่ 320 บาท ถึง 775 บาท ตามระดับความสามารถ สำหรับ 12 สาขาอาชีพ ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1). อุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเขียนแบบเครื่องกล/ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ/ช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง/ช่างเทคนิคไฮโดรลิก 2). อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น/ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่/ช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก/พนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ 3). อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จำนวน 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ /ช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม/ช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัดอีดีเอ็ม/และช่างขัดเงาแม่พิมพ์ โดยมีร่างอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 385 บาท จนถึง 550 บาท ในมาตรฐานฝีมือ 2 ระดับ
 
 
กรมการจัดหางานแจ้งเตือน มีแก๊งตบทรัพย์ผู้ประกอบธุรกิจแรงงานเมียนมา หลอกให้แรงงานออกจากงาน แล้วไปแบล็คเมล์นายจ้าง เรียกรับผลประโยชน์
 
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.59 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลออกแถลงข่าวที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวหาว่าทางการไทยจับกุมและส่งกลับแรงงานเมียนมากว่า 10,000 คน ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานเห็นว่าอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อคนหางาน เนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีพฤติการณ์ชักจูงแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานแบบ MOU ให้ออกจากงานด้วยเหตุต่าง ๆ แล้วไปขู่เรียกรับเงินบริษัท จัดหางานที่เป็นผู้จัดส่งแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยว่า หากไม่ทำตามจะนำแรงงานเมียนมากลับประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ส่งคนงาน และนายจ้างได้รับความเสียหาย อันเป็นพฤติการณ์ "ตบทรัพย์"กับผู้ประกอบธุรกิจ/แรงงานเมียนมา และในกลุ่มที่เป็นภัยเหล่านี้มีหลักฐานน่าเชื่อว่าเป็นแรงงานต่างด้าวและ จดทะเบียนเป็นแรงงาน และลักลอบประกอบธุรกิจเปิดร้านขายของชำ คุมวินรถตู้ในจังหวัดที่มีแรงงาน เมียนมามาก บางคนในแก๊งมีหลักฐานถือบัตรประจำตัวประชาชนไทยและพาสปอร์ตไทยด้วย
 
"จึงขอเตือนให้ผู้กระทำการดังกล่าวในแก๊งนี้ทราบว่ากรมการจัดหางานจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจะประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบังคับการปราบปราม เพื่อดำเนินการตรวจสอบขบวนการดังกล่าว หากมีความผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นหรือทราบว่ากลุ่มนี้ดำเนินการใดๆ ให้รีบแจ้งกรมการจัดหางานที่สายด่วน โทร. 1694" นายอารักษ์กล่าว
 
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีสำนักข่าวบางแห่งบิดเบือนข้อมูล ซึ่งกรมการจัดหางานได้ตรวจสอบจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยแล้วปรากฏว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กล่าวคือทางสถานทูตฯ เพียงแต่แจ้งเตือนแรงงานเมียนมาที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเตรียมเอกสารแสดงตนติดตัวตลอดเวลาให้พร้อมรับการถูกตรวจจากเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งไม่ได้มีการจับกุมหรือกลั่นแกล้งแต่อย่างใด
 
 
กสม. ชี้ฟาร์มไก่ลพบุรีไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนใช้แรงงานทาส แต่เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานไม่จ่ายค่าแรงตามกฎหมาย
 
หลังจากอุตสาหกรรมไก่ของไทยตกเป็นข่าวไปทั่วโลกจากการถูก The Guardian และเครือข่าย NGO เปิดโปงว่ามีการใช้แรงงานทาส และแรงงานก็นำเรื่องไปฟ้องร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกสม. ปรากฏว่าล่าสุด กสม.มีมติยืนยันว่าจากการสอบสวน พบว่าฟาร์มไก่ในลพบุรีที่แรงงาน 14 คนซึ่งเป็นต้นข่าวเคยทำงานอยู่ ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนข่ายใช้แรงงานทาส หรือกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานในประเด็นการไม่จ่ายค่าแรงตามกฎหมาย และไม่จ่ายค่าล่วงเวลาวันหยุดตามที่กฎหมายกำหนด
 
ผลการวินิจฉัยของกสม. สอดคล้องกับผลการตรวจสอบของคณะทำงานพิเศษ นำโดยผู้กำกับการสภ.โคกตูม จังหวัดลพบุรี เจ้าของพื้นที่ที่ตั้งฟาร์ม ที่มีความเห็นว่าลูกจ้างทั้งหมดที่ฟ้องร้องฟาร์ม ไม่ใช่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ แต่เป็นความผิดตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
 
แรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คนเป็นแรงงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ของบริษัทธรรมเกษตร ทั้งหมดร้องเรียนไปยังหลายองค์กรทั้งในไทยและต่างชาติว่าถูกละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง เนื่องจากต้องทำงานตั้งแต่เวลา 7.00 -17.00 น. และต้องทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เวลา 19.00 – 05.00 น.โดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดประจำปี ได้รับค่าจ้างวันละ 230 บาท และถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางออกจากฟาร์มได้เพียงสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ซึ่งต้องอยู่ในการควบคุมของผู้แทนนายจ้างตลอดเวลา โดยนายจ้างได้ยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานทั้ง 14 คน ไม่อนุญาตให้ถือเอกสารประจำตัวด้วยตนเอง ทั้งนี้ ยังมีการหักค่าเช่าห้องพักอีกคนละ 1,600 บาท หักค่าน้ำ-ค่าไฟ ไม่มีประกันสังคม และไม่มีค่าล่วงเวลา
 
อย่างไรก็ตาม เจ้าของบริษัทธรรมเกษตรได้ให้ข้อมูลกับ Voice TV ในทิศทางตรงกันข้าม ยืนยันว่าไม่เคยมีการกักขังแรงงาน คนงานทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างดี มีที่อยู่ที่เหมาะสม และมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี การทำงานถึงวันละ 20 ชั่วโมงก็เป็นไปไม่ได้ เพราะไก่ต้องนอนวันละ 8 ชั่วโมง จึงไม่มีงานใดๆให้แรงงานทำถึง 20 ชั่วโมง นอกจากนี้ทางบริษัทยังดำเนินการตามมาตรฐานยุโรป เพราะทำธุรกิจส่งออกไก่ไปยังยุโรป จึงเป็นไม่ได้ที่จะมีการละเมิดแรงงานร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา
 
ทางฟาร์มยังยืนยันว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับทางแรงงานและเครือข่าย NGO ฐานทำให้กิจการต้องถูกปิด ได้รับความเสียหายวงเงินเกินกว่าร้อยล้านบาท โดยระบุด้วยว่า MWRN และเครือข่าย ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงาน ต้องการทำลายชื่อเสียงของอุตสาหกรรมไก่ไทยโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เหมือนที่เคยทำมาแล้วกับอุตสาหกรรมประมง สับปะรด และอ้อย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net